ในความหมายของการเป็นครู ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ‘ซีส์’ ไปต่อได้ ‘ถ้ายังเข้าใจว่าตัวเราเป็นอะไร’

หากเปรียบ โครงการซีส์ หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (SEAS) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระการครบรอบปีที่ 20 เป็นชีวิตคน โครงการซีส์คงเป็นคนวัยเรียน เป็นวัยเดียวกับนักศึกษาทั้ง 4 ชั้นปี ที่กำลังศึกษาอยู่ที่อาคารริมน้ำเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ เป็นวัยแสวงหาปรารถนา ที่จะออกแบบชีวิตตัวเอง แล้วรอให้วันที่เงื่อนไขเพียบพร้อมมาถึง เพื่อก้าวไปสู่ชีวิตที่เป็นจริงในการหาเลี้ยงชีพได้อย่างภาคภูมิใจ

ทว่าด้วยวัยที่เป็นรอยต่อระหว่างความเป็นเด็กกับความเป็นผู้ใหญ่ แม้จะเป็นวัยที่มีพละกำลังสูงจากร่างกายของคนหนุ่มสาวที่กำยำแข็งแรง พร้อมจะมุ่งพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสที่ความเร็วสูงนั้น จะทำให้คนวัยนี้ “หลงทาง” จนกระทั่งไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา

เช่นเดียวกับ “โครงการซีส์” ที่แม้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะผลิตบัณฑิตให้กับสาธารณะถึง 16 รุ่น ร่วมนับ 1,000 ชีวิตแล้ว แม้ระหว่างทางผู้บริหารที่สลับกันเข้ามาต่างจะปรับปรุงหลักสูตรนี้ ให้ทันยุคสมัยอยู่เสมอแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า พันธกิจแรกที่ปรารถนาหวังมุ่งสร้างบัณฑิต ที่รอบรู้ในเรื่องภูมิภาค เพื่อสนองความต้องการของโลกไร้พรมแดนนั้น เป็นสิ่งแรกๆ ที่บุคลากรของโครงการซีส์ในแต่ละยุคในทุกๆ ระดับจะพึงปรารถนาเหมือนกันหมด

ดังนั้น ในโอกาสที่ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 20 จึงเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการทบทวนตัวเอง โดยเฉพาะจากมุมมองผู้อาวุโส ที่ไม่ใช่เพียงฐานะผู้ก่อตั้งโครงการซีส์ หลักสูตรปริญญาตรีด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งแรกของประเทศ แต่ต้องเป็น “อาจารย์” อาจารย์ในความหมายที่เป็นครู ซึ่งคลุกคลีอยู่กับนักศึกษาโครงการซีส์ตั้งแต่ปี 1 ในทุกๆ รุ่นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

ย้อนอ่าน : 2 ทศวรรษ โครงการ ‘ซีส์’ สร้างคนคุณภาพ เปิดพรมแดนความรู้ เพราะ ‘อุษาคเนย์’ ต้อง ‘มูฟออน’

ในวันที่ริมเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ เนืองแน่นไปด้วยผู้คน …อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ ฝั่งธนบุรี บนห้องทำงานชั้น 2 ของที่มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในวัย 78 ปี รับนัดพวกเราไว้ เพื่อมาร่วมทบทวนตัวเองในรอบ 20 ที่ผ่านมาว่า ได้ดำเนินการไปตามเป้าหมายที่ปรารถนาไว้หรือไม่ รวมไปถึงแนวทางที่โครงการซีส์ควรจะดำเนินการในอนาคตต่อไปอย่างไร

จงติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน

Advertisement

 

อยากให้มองย้อนโครงการซีส์กลับไประหว่างทางตลอด 20 ปีที่แล้ว?

คนจำนวนไม่น้อยก็คงงงๆ อยู่เหมือนกันว่า โครงการซีส์เกิดขึ้นมา และอยู่มาได้อย่างไรถึง 20 ปี โดยที่ยังมีจำนวนนักศึกษาต่อรุ่นราวๆ 100 คนตลอดมา แต่ในขณะที่โครงการ หรือหลักสูตรในทำนองเดียวกันเป็นจำนวนมาก มันล้มลุกคลุกคลาน บางแห่งก็ปิดไปเลย ทั้งที่ก็ทำคล้ายๆ กับโครงการซีส์ แต่ก็ไปไม่รอด นี่คือสิ่งที่ผมภูมิใจ

นักศึกษาโดยรวมที่เข้ามาเรียนที่นี่ ล้วนเป็นนักเรียนที่เรียนปานกลาง ไม่ใช่ระดับท็อปๆ แต่เมื่อเรียนจบแล้ว บัณฑิตของโครงการซีส์ไปต่อไปเยอะมากๆ ที่สำคัญเห็นนักศึกษาที่นำองค์ความรู้เกี่ยวกับอุษาคเนย์ไปต่อยอดได้ด้วย ผมจึงถือเรื่องนี้เป็นความภูมิใจมากเป็นพิเศษ

ในโลกของวิชาการเริ่มเห็นปัญหาของรูปแบบทางการศึกษาแบบ อาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) เพราะไม่สามารถศึกษาในประเด็นเฉพาะได้ อาจารย์เห็นปัญหานี้กับโครงการซีส์บ้างหรือเปล่า ?

คำกล่าวที่บอกว่า Area Studies มีปัญหา ผมได้ยินมาน้านนานแล้วนะ ตั้งแต่ทศวรรษ 1980s เพราะเจ๊งกันไปเยอะ บางที่เงินทุนก็ไม่ค่อยมี ที่สำคัญคนไม่อยากเรียน ผมถึงประหลาดใจว่า ทำไมถึงอยู่ได้ที่ธรรมศาสตร์ แม้จะไม่ถึงอยู่ได้ระดับน่าพอใจ ขนาดที่สามารถคิดการใหญ่ด้วยการยกระดับเปิดเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอกได้ก็ตาม ผมจึงไม่ค่อยวิตกอะไรว่าจะถึงขนาดไม่มีคนเรียน เพราะถ้าเรายังเข้าใจว่าตัวเราเป็นอะไร โดยไม่คิดว่า ต้องเป็นแบบพวกพาณิชยศาสตร์และการบัญชี พวกหมอ วิศวะ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เรียนจบแล้วต้องเป็นมหาเศรษฐีแน่ๆ เราก็คงไม่มีปัญหาเท่าไหร่ เพราะถ้าวิชาการแน่น นักศึกษาอ้าปากพูดออกมาแล้วรู้สึกว่ามีสติปัญญา ผมคิดว่ายังไงเราก็ไปต่อได้

ที่ผ่านมา ผมมักได้ยินพวกนักศึกษาที่ชอบคิดว่า จะเรียนไปเพื่อ “เมกมันนี่” อย่างเดียว ซึ่งน่าเสียดายสำหรับวัยเยาว์ เพราะในความเป็นมนุษย์ หรือหนึ่งชีวิตที่เรามี ทำไมไม่เรียนเพื่อให้เกิดความรู้และสติปัญญา

วันนี้เรากล้าพูดไหมว่า ที่โครงการซีส์อยู่มาได้ถึง 20 ปี เป็นเพราะมีจุดแข็งในเรื่องความเป็นวิชาการ ?

ก็ไม่เชิงนะ ผมไม่กล้ายืนยันถึงขนาดนั้น เพราะบางอย่างก็อยู่นอกเหนืออำนาจ ความสามารถ และการควบคุมของเรา อย่างวิชาพื้นฐาน หรือพวกวิชาปี 1 ก็เปลี่ยนไปเรื่อย อยู่ที่ว่าใครขึ้นมาบริหาร แล้วคนเหล่านั้นมีวิสัยทัศน์อย่างไร ซึ่งแต่ละชุดก็มีความแตกต่างหลากหลายมาก นักศึกษาโครงการซีส์แต่ละรุ่นประมาณ 100 คน มันจะมีคนเก่งสัก 5 คน 10 คนก็พอแล้ว นี่เป็นเรื่องปกติ คนที่มีสติปัญญาจะขึ้นมานำทางความคิดได้ มันมีไม่มากหรอก เหมือนกับการลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงประเทศ เปลี่ยนแปลงสังคม แต่ละครั้งมันเกิดขึ้นจากคนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ที่มีสติปัญญา มีความฝันความหวังและมีแรงบันดาลใจ

ผมมักพูดเสมอนะ เมื่อคนอายุ 18 เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย เขาจะเยาว์ เขลา และทึ่ง ถือเป็นวัยที่ต้องการจะเรียนรู้ ป้ายที่หน้าธรรมศาสตร์ แถวๆ ท่าพระจันทร์ เคยบอกว่า “ที่นี่ มีแต่ความว่างเปล่า ถ้าเธอไม่แสวงหา” ซึ่งผมว่า จริง เพราะต่อให้เขาและเธอไปเรียนในสถาบันที่ดีแค่ไหน ถ้าเขาไม่แสวงหา จบออกไปก็เท่านั้น บางคนไปเรียนตั้งออกซ์ฟอร์ด แต่กลับมาผมก็ได้แต่เอ๊ะ! สงสัยจังว่า ไปมาจริงหรือเปล่า ทำไมดูจืดเหมือนเรียนที่เมืองไทยได้ขนาดนี้

การจัดการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการของโครงการซีส์ มันมีความสำคัญในการตอบโจทย์การแสวงหาความรู้ของนักศึกษาอย่างไร ?

สหวิทยาการเป็นแขนงหนึ่งของการศึกษา ไม่ใช่วิชาเฉพาะทาง หรือวิชาชีพ แม้จะไม่ขลังเท่ากับสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่มันคือวิชาซึ่งเกี่ยวพันกับความเป็นมนุษย์แบบมหาศาล แล้วคนที่เรียนรู้เกี่ยวกับสหวิทยาการ จะได้เปรียบมากๆ เหมือนกับว่า นอกจากจะนำศาสตร์บางศาสตร์มาใช้แล้ว ขณะเดียวกับมันก็เป็นศิลปะด้วย ตรงนี้แหละที่ทำให้คนที่สามารถพิชิตการเรียนแบบสหวิทยาการได้ จะได้เปรียบมากๆ

อ.คึกฤทธิ์ ปราโมช คือคนรุ่นเก่าที่ชัดเจนมากในความเป็นปัญญาชน เป็นแสงสว่าง และยังเป็นตัวแทนของระบบ ระบอบเดิมตามประเพณีของไทย แต่สิ่งที่มหัศจรรย์มากของสังคมไทยคือ ชนชั้นนำเดิมไม่สามารถสร้างตัวแทนใหม่ๆ ได้เลย ในขณะที่คนซึ่งเป็นตัวแทนของความคิดใหม่มันมีไม่น้อย แต่ก่อนเหมือนกับว่า คนต้องเป็นอนุรักษนิยม ฝ่ายขวา เพราะถ้าเดินเอียงซ้ายจะตายโหง แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า คนไม่เดินเส้นเก่า จนไม่มีคนที่ออกมาเป็นปากเสียงของความเป็นอนุรักษนิยมเลย จะมีก็เป็นพวกเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการทั้งหลายที่ไม่มีความเป็นมนุษย์เพียงพอ น่าแปลก แล้วก็น่าสงสารมาก

อะไรคือผลสัมฤทธิ์ของวิชาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ ซึ่งอาจารย์รับผิดชอบอยู่ และตั้งใจให้นักศึกษาได้เรียน ?

มันเป็นวิชาที่ผมตั้งใจให้มันไปสะกิดต่อมอะไรบางอย่าง โดยปลุกให้นักศึกษาอยากรู้อยากเห็น ไม่มองข้ามสิ่งซึ่งเราคิดว่า เรารู้แล้ว ฉะนั้น เวลาออกภาคสนามนักศึกษาหลายคนก็อาจคิดว่า มาทำไม เราน่าจะไปเดินเล่นแถวปารีสมากกว่า นี่คือทัศนคติคนไทยทั่วไปนะ ชอบมองข้ามหัวเพื่อนบ้านไป ดูถูกว่าเป็นพวกเมืองขึ้นเก่า ขี้ข้าฝรั่ง นักเรียน นักศึกษาไทยโตมากับการเรียนที่ถูกสั่งสอน ต้องแบบนั้นแบบนี้ ผมไม่ชอบวิธีนี้ เพราะเด็กสมัยนี้มันชอบคนที่เล่านิทาน มากกว่าคนที่ชอบมาสั่งสอน เทศนา

แต่นักศึกษางี่เง่ามันก็มี เป็นเรื่องธรรมชาติ ผมชอบไปท้า บางทีก็สบประมาท บางคนโกรธผมไปเลยก็มี เพราะไปสบประมาทความเป็นไทย ลูกผู้ดีมีสกุล (หัวเราะ) ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่โตเป็นนักเรียน นักศึกษาที่ตามไปกับกระแสของสังคม แต่พอเวลาผ่านไป เราเริ่มคิด และเห็นอะไรมากกว่าที่ตาเห็นแยะเลย แล้วยิ่งความเป็นคนสอนหนังสือ เราหยิบสิ่งนั้นสิ่งนี้มาเผยแพร่ พอมีคนรับและเอาไปคิดต่อ ทำให้นักศึกษามองสังคมไทยในมุมที่เป็นจริงมากขึ้น มองเพื่อนบ้านหรือแม้แต่คนอื่นที่ไม่ใช่เราด้วยสายตาที่เข้าใจกันมากขึ้นได้ก็น่าพอใจมากแล้ว

มีเหตุการณ์ความขัดแย้งใดในระดับภูมิภาคในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ที่องค์ความรู้แบบโครงการซีส์ ได้เข้าไปมีบทบาทและช่วยสร้างมุมมองใหม่ให้กับสังคมไทยบ้างไหม ?

ผมว่าเราผ่านเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุด สำคัญที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นวิกฤตนำไปสู่สงครามได้ นั่นคือ กรณีปราสาทเขาพระวิหาร เพราะแม้แต่ในหมู่นักศึกษาโครงการซีส์ก็เสียงแตก คนที่เชื่อ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” คนเสื้อเหลืองก็มาก นักศึกษาที่งงๆ ก็มีเยอะ ตอนนั้นมันเหมือนกับเป็นความบังเอิญที่คนที่เกี่ยวข้องกับโครงการซีส์รวมทั้งผม เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้ ซึ่งคนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นเรื่องระดับชาติ มันควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และกองทัพ แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะเคยผ่านเรื่องนี้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มาแล้ว แล้วก็รับรู้ และเรียนรู้มาแล้วว่า สิ่งที่เราเชื่อกันในเมืองไทย มันไม่ใช่เลย สังคมไทยพูดความจริงในเรื่องปราสาทเขาพระวิหารกันไม่หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสนธิสัญญาก็ดี เขตแดนก็ดี ดังนั้น โดยไม่รู้ตัว ผมจึงหลุดเข้าไปเกี่ยวพัน รวมทั้งใช้พื้นที่ในวิชาที่รับผิดชอบบ้าง จัดสัมมนา เสวนาอธิบายความจริง ที่ยังไม่ถูกพูดถึงในกรณีนี้ ตอนนั้นถือเป็นกระแสมากทีเดียว

กรณีเขาพระวิหาร วันนี้ก็เป็นอย่างที่ทุกคนรู้แล้ว ความเสียหายมันเกิดขึ้นกับประเทศไทยโดยส่วนรวม เขตแดนตรงนั้นจากที่เคยเปิด ก็ถูกปิดตายไปแล้ว และผมก็เข้าใจว่าจะไม่มีการเปิดอีกแล้ว ผลประโยชน์ที่คนอีสานใต้จะได้รับก็หายไปหมดแล้ว ถ้าอยากขึ้นเขาพระวิหาร ก็ต้องไปขึ้นฝั่งโน้น เสียค่าผ่านประตูให้ทางการกัมพูชา

รวมความแล้ว โดยผลประโยชน์ก็เสีย โดยเกียรติภูมิก็เสีย ยิ่งตอนที่กัมพูชานำเรื่องเข้าไปร้องเรียนใหม่ แล้วมันมาแสดงผลกันในช่วงนักศึกษาโครงการซีส์ รุ่นศาลโลก ในปี 2556 หรือซีส์รุ่น 14 โดยที่ระหว่างนั้นการเมืองภายในเรา ก็ฉวยเอาเรื่องนี้มาปนเพื่อล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และยังมาใช้เป็นชนวนล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่ออีก ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

แต่มาวันนี้เรื่องเงียบไปแล้ว และผมเชื่อว่าสังคมไทยคงไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้อีกแล้ว ไม่ว่า จะเป็นพวกบรรดาพันธมิตรเสื้อเหลือง หรือพวกผู้รักชาติ แต่ละคนเงียบไปหมด เพราะรู้ทั้งรู้ว่าตัวเองพลาด ก็เลยก็ไม่พูดถึง

ในกระแสโลกาภิวัตน์ ‘ความเป็นไทย’ มันจะสามารถเคลื่อนตัวไปตามการเคลื่อนย้ายของคน สิ่งของได้หรือเปล่า ?

ได้สิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชนชั้นสูงในสังคมไทย ที่สามารถปรับตัวกับอะไรใหม่ๆ ได้อย่างดี แต่ทัศนคติยังเหมือนเดิม ไม่ค่อยปรับตามโลก พูดง่ายๆ คือเขาปรับเฉพาะ “ลุค” เท่านั้น ต้องเข้าใจนะว่า “ความเป็นไทย” มันถูกใช้โดยคนที่มีอำนาจ ต้องการรักษาอำนาจ ไม่ต้องการแชร์อำนาจกับคนอื่น เมื่อถึงจุดหนึ่ง หากเขารู้สึกว่า จะต้องสูญเสียอำนาจไป ก็อาจจะถูกกระทืบเอาก็ได้ “ความเป็นไทย” จึงน่ากลัว

“…ป้ายที่หน้าธรรมศาสตร์บอกว่า
‘ที่นี่ มีแต่ความว่างเปล่า ถ้าเธอไม่แสวงหา’
ซึ่งผมว่า จริง
เพราะต่อให้เขาและเธอไปเรียนในสถาบันที่ดีแค่ไหน
ถ้าเขาไม่แสวงหา จบออกไปก็เท่านั้น…”

มองปรากฏการณ์การเคลื่อนย้ายของผู้คนในยุคสมัยใหม่อย่างไร โดยเฉพาะคนอื่นๆ ที่ย้ายเข้ามาในภูมิภาคของเรา ?

ต้องยอมรับว่า วันนี้มีการอพยพเคลื่อนย้ายกันเยอะมากจริงๆ ถามว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ถึงกับใหม่ เพราะมนุษย์ล้วนเคลื่อนย้ายไปหาที่ที่ดีกว่าเสมอ เพียงแต่ในยุคนี้ มันเคลื่อนย้ายง่าย มีเงินก็บินได้ ไม่ต้อง “เสื่อผืนหมอนใบ” การเคลื่อนย้ายแบบนี้ ด้านหนึ่งมันคือความน่ากลัว โดยเฉพาะประเด็นในภูมิภาคของเรา ไม่ว่าจะในลาว กัมพูชา รวมไปถึงเมืองไทย ที่ล้วนอยู่ในข่ายของการข้ามเข้ามาของคนกลุ่มใหญ่จากจีน รวมไปถึงฮ่องกงที่ต้องประสบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศ

ในฮ่องกง เราพอยังเห็นปัญหา จากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในจีนนี่สิ ดูผิวเผินเป็นประเทศใหญ่ที่เจริญมากๆ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้คนก็เคารพ กลายเป็นมหาอำนาจเบอร์สองของโลก แต่ทำไมยังได้ยินข่าวแปลกๆ ที่คนจีนพยายามหนีออกนอกประเทศเป็นระยะๆ บางคนถึงขนาดลงทุนหลบเข้าไปในเครื่องซักผ้า ถ้ามันดีจริง ทำไมต้องหนี

ถ้ามองในเชิงวัฒนธรรม การอพยพเคลื่อนย้ายไปสู่ถิ่นใหม่ ก็ถือเป็นการเชื่อมโยงจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งหรือเปล่า?

มันก็ใช่ ดูในกรุงเทพฯสิ เป็นตัวอย่างได้เลย เป็นเมืองที่ “จี๊นจีน” แม้เราจะเคยชินว่านี่ คือ “ความเป็นไทย” แต่ความจริงมันไม่ใช่เลย เพื่อนสิงคโปร์เมื่อเขามากรุงเทพฯครั้งแรกๆ เขาพูดกับผมว่า Bangkok is very Chinese. เพราะดูคุ้นเคยมาก แต่เป็นสิงคโปร์ในยุคที่ยังไม่พัฒนามากนักนะ (หัวเราะ) ดังนั้น การเคลื่อนย้ายมาของสิ่งใหม่ มันทำให้ของเดิมเปลี่ยนแน่นอน ลาวจึงน่าห่วง เพราะประชากรเขาน้อย หากเทียบกับไทย ยังมีประชากรมาก อีกทั้งคนระดับบนๆ ของสังคมไทยก็เป็นจีนเสียมาก ดูสิจะคีบตะเกียบได้ดีหรือไม่ ไม่รู้ แต่ผู้คนในไทยต่างใช้ตะเกียบเป็นทั้งนั้น จึงเป็นที่ดึงดูดให้จีนใหม่เข้ามา

นอกจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนแล้ว อะไรเป็นเรื่องน่าห่วงกับสิ่งที่กำลังจะเกิดกับภูมิภาคเรา ?

ไม่ว่าจะสถานการณ์ในไทย หรือแม้แต่ประเทศรอบบ้านเรา ล้วนมีประเด็นที่ทำให้คนที่สนใจจะศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ยกตัวอย่างแม่น้ำโขง แค่แม่น้ำสายเดียว แต่มันมีเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่โตมโหฬารมากๆ เพราะกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล เมื่อ 20 ปีที่แล้วเริ่มมีการต่อต้านการสร้างเขื่อน แต่วันนี้ไปดูตั้งแต่จีนลงมา เขื่อนสร้างเสร็จเต็มไปหมด นี่คือสัจธรรมที่น่าเศร้า และเป็นชะตากรรมไม่แม้แต่ภูมิภาคเรา แต่เป็นชะตากรรมของทั้งโลกที่คนตัวเล็กๆ มักจะสูญเสีย ชีวิตพังพินาศ เหมือนกับการรุกป่าในบ้านเรา คนที่มีอำนาจบารมี อำนาจเงิน ก็รุกเข้าไปได้

ถามว่าจะหมดหวังกับสิ่งเหล่านี้ไหม ผมคิดว่าในช่วงหลังๆ แม้แต่ในบ้านเราคนลุกขึ้นมาต่อสู้กันกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวที่มีพลังถึงขนาดทำให้คนชราในบ้านเราถึงกับอาละวาด เพราะที่ผ่านมาเคยตัว เอาแต่สั่งสอน ทำตัวเป็นคนรู้ดีกว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน ทั้งๆ ที่สมัยก่อนจะอาบน้ำร้อนต้องต้ม แต่เด็กสมัยนี้กดปุ่มเดียว น้ำก็ร้อนแล้ว

ประเด็นเหล่านี้ ถือเป็นความท้าทายที่น่าเป็นห่วง สำหรับการเรียนการสอนของโครงการซีส์หรือเปล่า ?

ผมไม่รู้ว่าจะไปห่วงมันทำไม บางทีก็ต้องปล่อยไป เพราะไม่ใช่ปัญหาของเรา (หัวเราะ)


 

Make Love Not War และ ‘ความเป็นไทย’ ที่เราเคยหลง

เป็นอีกหนึ่งคน ที่นำประโยค Make Love Not War มาใช้เสมอ สำหรับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ต้องมาถามกันในวันนี้ว่า ตลอด 20 ปีผ่านไป ข้อความนี้สามารถเปลี่ยนมุมมองของนักศึกษา หรือคนในสังคมที่มีต่อเพื่อนบ้านได้แค่ไหน ?

“เอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้ซีเรียสกับคำๆ นี้เท่าไหร่ ใช้มันในบางจังหวะเวลาของสังคม อาจจะใช้บ่อยๆ เมื่อวิกฤตการณ์เรื่องปราสาทเขาพระวิหาร เพราะผมถือว่ามันเป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยสงครามเวียดนาม ถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมว่าไม่นะ แค่อาจจะถูกใจคนจำนวนหนึ่ง แต่สังคมไทยยังไม่มีอะไรเป็นเรื่องเป็นราวเท่าไหร่ ยิ้มสยาม ไม่เป็นไร นะ คิคุ โนะเนะ อะไรแบบนี้ แต่ลึกๆ มันเป็นสังคมที่รุนแรง เต็มไปด้วยการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ถ้ามีเงินก็จะส่งเสียงดัง”

ผู้ก่อตั้งโครงการซีส์บอกอีกว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ก็มาจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูง ดังนั้น จึงค่อนข้างยากที่เขาจะมองเห็นและยอมรับว่า มนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เกรงอกเกรงใจ ไม่ใช้อำนาจข่มขู่ หรือใช้กำลัง

ขณะที่ในแง่ของสังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะชนชั้นสูง ก็ไม่ค่อยมีบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของความยากลำบาก ความเจ็บปวด

“ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ของความยากลำบากแสนเข็ญ ที่ฝังอยู่ในทัศนคติของคนในสังคมไทยก็โน่นเลย ต้องย้อนกลับไปถึง 200 ปีที่แล้ว คือการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ที่ยังหลงอยู่ในนิยายประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นก็ ‘ยิ้มสยาม’ กันได้อย่างสบายใจ (หัวเราะ) เพราะผ่านมาด้วยดีจากความโชคดีมากๆ มาในระยะหลังนี้แหละ ที่ความแตกต่างทางสังคม ช่องว่างระหว่างคน ความแตกต่างกัน คนจะเอื้ออาทรกันไหม การแสวงหาผลประโยชน์กันอย่างหน้ามืดตามัว อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน แต่ก่อนมันไม่ถึงขนาดนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า มันดีไปหมดนะ เพราะสังคมไทยชอบทำสงครามกันอย่างไม่ประกาศ แต่ปัจจุบันไม่ใช่ สงครามได้ประกาศแล้ว จากที่เคยเชื่อว่า เคยฝัน เคยหลงกับความเป็นไทย ความจริงมันไม่ใช่เลย

บางทีมันอาจโหดร้ายทารุณกว่าที่เราคิดแยะเลย”

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image