ณัฐกาญจน์ เสนเนียม พลิกวิกฤตราคายางพารา เสริม”ความรู้”เกษตรกรสู่เส้นทาง”นวัตกรรม” (คลิป)

ณัฐกาญจน์ เสนเนียม

ด้วยการปลูกฝังจากครอบครัว ตลอดการใช้ชีวิตของเธอคนนี้จึงอยู่บนเส้นทางของการ “คิด” และ “ทำ” เพื่อช่วยเหลือสังคม ฉะนั้นเมื่อชาวสวนยางเจอวิกฤตเรื่องราคา เธอจึงนำความรู้และสิ่งที่มีเข้าช่วย โดยหวังว่าจะสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร

กำลังพูดถึง ณัฐกาญจน์ เสนเนียม หนึ่งในนักธุรกิจรุ่นใหม่จากภาคเอกชนผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กลุ่มเอกชน เกษตรกร ตลอดจนภาคการศึกษา เพื่อช่วยเหลือทั้งด้านการออกแบบ ค้นคว้า วิจัย และทำการตลาดยางพารา

นั่นคือการสนับสนุนให้เกิดการใช้ยางในประเทศ เป็นการแก้ปัญหาราคายางพาราได้เป็นอย่างดี

ณัฐกาญจน์ เกิดและโตที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรสาวของ ถาวร เสนเนียม กับ พล.ต.หญิง จันทิมา เสนเนียม มีพี่สาว 1 คน คือ พิมจันทร์ เสนเนียม และน้องชายอีก 1 คนคือ สิทธินนท์ เสนเนียม

Advertisement

จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนราชินี และมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

“ตอนเด็กคุณพ่อเป็นอัยการจะย้ายไปประจำจังหวัดต่างๆ ส่วนคุณแม่เป็นทหารอยู่ กทม. เป็นคนเลี้ยงดู ก็เป็นเด็กที่ค่อนข้างซนและดื้อ ยังไม่สนใจอะไรเป็นพิเศษ จนเข้ามัธยมก็เริ่มสนใจทำกิจกรรม”

ในช่วงนี้เองชีวิตของณัฐกาญจน์ได้เกิดจุดเปลี่ยนขึ้น เมื่อมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนลูกเสือโลกที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนระยะสั้นกับเอเอฟเอส ที่ประเทศออสเตรเลียและแคนาดา

“จริงๆ เป็นคนที่ไม่อยากไปเรียนต่างประเทศเลย แต่คุณพ่อกับแม่ช่วยกันผลักดันว่าลองไปดูสิ มันน่าจะมีอะไรดี ซึ่งการไปต่างประเทศทำให้เราได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ไปอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ในเมืองที่ไม่มีคนไทยเลย ทำให้เราช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น อย่างเรื่องภาษาก็ต้องดิ้นรน จากที่พอพูดได้นิดหน่อย ก็ต้องพูดได้เพื่อสื่อสารและเข้าเรียนกับทุกคนให้ได้ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเป็นคนกล้าคิด กล้าทำ”

“ตอนเรียนจบ ม.6 คุณพ่ออยากให้เรียนนิติศาสตร์ อยากให้มีคนเหมือนเขาสักคนหนึ่ง เราก็ได้ลองเรียนแล้วเกือบปี แต่ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเรา ถามว่าเรียนจนจบได้ไหมก็เรียนได้ แต่ถ้าต้องทำสิ่งที่เราไม่ได้รักไปตลอดชีวิตเราจะมีความสุขไหม แล้วเรียนอย่างอื่นมันก็ทำประโยชน์ได้เหมือนกัน”

Advertisement

เธอจึงเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกับเริ่มงานเพื่อสังคมกับศูนย์พิทักษ์สิทธิและส่งเสริมอาชีพคนหูหนวก หลังเรียนจบก็ทำงานด้านนี้อย่างเต็มตัว

จนกระทั่งได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารการตลาดระหว่างประเทศ ที่อังกฤษ และเข้าทำงานกับบริษัทตัวแทนจำหน่าย (Trading) จากนั้นเครือไทยเบฟเวอเรจตั้งบริษัทใหม่ที่อังกฤษ คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจ โฮลดิ้งส์ จึงได้เข้าไปร่วมงานเป็นคนไทยคนแรกในบริษัท

ทำงานที่ InterBev co., ltd. ในอังกฤษประมาณ 1 ปี ณัฐกาญจน์ได้กลับเมืองไทย และเริ่มทำธุรกิจมีเดียเอเยนซี่ (ณัฐเวิลด์ มีเดีย) ของตัวเอง ในด้านงานมีเดีย งานโฆษณา งานพรินติ้ง งานอิงค์เจ็ต งานบูธ งานพีอาร์ และอีเวนต์ โดยมีทีมการผลิตของตัวเอง

ขณะเดียวกันก็ทำงานช่วยเหลือสังคมในเรื่องต่างๆ ไปด้วย รวมถึงเรื่องยางพารา ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

เริ่มทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่ตอนเรียน?

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เริ่มช่วยคุณพ่อเดินหาเสียง และช่วยงานศูนย์พิทักษ์สิทธิและส่งเสริมอาชีพคนหูหนวก เริ่มจากว่าน้องชายเป็นคนหูหนวก เรียนที่โรงเรียนปกติ ไม่ได้เรียนโรงเรียนแยกที่เป็นภาษามือ ก็รู้สึกว่าคนหูหนวกเขาอาจจะต้องการสิทธิบางอย่าง หรือการส่งเสริมการเรียนบางอย่างนอกเหนือจากที่เขาได้รับในปัจจุบัน พอเรียนจบก็ดูเรื่องคนหูหนวกค่อนข้างเต็มตัว มาช่วยอาจารย์ ร.ร.คนหูหนวกที่โสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ และได้เข้ามาอยู่ในกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยช่วยผลักดันเรื่องคนพิการ เรื่องอาชีพ เรื่อง กม.คนพิการ

จุดเริ่มต้นทำงานยางพารา?

มาจากคุณพ่อ เพราะตั้งแต่เด็กจนโตเราอยู่กับคุณพ่อ จะเห็นคุณพ่อลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านมาโดยตลอด ต้องเรียกว่าจุดต่างๆ มาจากการมีคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่ว่าเขาบอกให้เราทำ แต่เราซึมซับจากจากการที่เราฟังเขาพูด เราเห็นเขาทำ

แล้วที่มาเลือกยางพาราเพราะเห็นว่าชาวสวนยางมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำเป็นเวลา 3-4 ปีติดต่อกัน เลยมองว่าเราต้องทำอะไรบ้าง แล้วก็มองไปถึงเรื่องการแปรรูป แต่ทุกวันนี้ก็มีการแปรรูปกันอยู่แล้ว เป็นถุงมือ เป็นรองเท้า เป็นหมอน เลยมองอะไรที่มากกว่านั้น จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมด้านความปลอดภัยและด้านอื่นๆ ซึ่งตอนนี้กำลังคิดว่าจะทำอะไรต่อไปอีกได้บ้าง โดยไม่ได้ตั้งเป้าแค่การขายกับหน่วยราชการ หรือเอกชนภายในประเทศเท่านั้น แต่เราต้องการขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศจีนด้วย

มองทางออกของปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำอย่างไร?

ควรเป็นความร่วมมือทั้งรัฐและเอกชนช่วยกันในเรื่องของการทำตลาดของประเทศ ต้องมองดูว่าตลาดโลกต้องการอะไร เช่น ภาครัฐก็อาจช่วยสนับสนุน ภูมิภาคนี้ดินฟ้าอากาศเหมาะกับการปลูกอะไร ใช้ภายในประเทศกี่เปอร์เซ็นต์ ส่งออกไปตลาดประเทศไหนบ้างและกี่เปอร์เซ็นต์ โดยทำการแมตชิ่งธุรกิจให้กับเกษตรกรที่ปลูก

ส่วนภาคเอกชนก็อาจจะช่วยสนับสนุนเรื่องความรู้ เรื่องเทคโนโลยี เพื่อเป็นการพัฒนาโดยร่วมมือกัน หากทำได้ก็จะทำให้ประเทศไทยเติบโตไปพร้อมกันได้ ไม่ใช่การเติบโตเฉพาะเอกชนเจ้าใหญ่เพียงอย่างเดียว เกษตรกรตัวเล็กๆ ก็มีโอกาสที่จะยั่งยืนได้

ทำไมถึงเลือกเข้ามาจับมือกับภาคสหกรณ์ ?

เพราะเรามองว่าเอกชนมีความสามารถอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เงินทุน และกำลังคน กำลังในการผลิตก็ตาม แต่ภาคสหกรณ์เขาอาจจะไม่มีความรู้ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีคนที่ทำตลาดให้เขาเลย คิดว่าเขาขาดตรงนี้อยู่เลยเข้าไป อีกอย่างหนึ่งคือสหกรณ์ เขารับยางพารามาจากชาวสวนยางจริงๆ

ยากไหมที่จะดึงเขาให้มามองเรื่องเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม?

ยากค่ะ แล้วทุกอย่างมันเป็นการลงทุน ซึ่งภาคสหกรณ์เขาเป็นนิติบุคคลที่มีคณะกรรมการ การที่เขาจะเอาเงินมาลงทุนเขาก็ต้องคิดแล้วว่าจะต้องไปได้ไกล แต่การทดลอง วิจัยต้องใช้เวลาและการสนับสนุน ดังนั้นการเข้าไปทำความเข้าใจเลยต้องใช้เวลา บางรายก็เข้าใจ บางรายก็ไม่เข้าใจ

อย่างชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ หรือสหกรณ์บ้านนาเดิม เป็นแห่งหนึ่งที่เข้าใจและทำงานร่วมกับเรา สู้กับเรามาโดยตลอด

จากการทำงานและประสานกับภาคส่วนต่างๆ ตรงไหนที่ยากที่สุด?

ยากทุกส่วนเลยค่ะ (หัวเราะ) เนื่องจากเป็นโปรดักต์ใหม่แล้วยางพาราเป็นสินค้าที่มีราคา แต่แน่นอนว่าราคามันก็มาพร้อมกับคุณภาพและการใช้งานในระยะยาว

สิ่งที่ยากมีตั้งแต่เรื่องของนวัตกรรมที่เราจะต้องมาคิดค้นอะไรใหม่ๆ ตลอดจนการนำเสนอหน่วยราชการว่าทำไมต้องใช้นวัตกรรมนี้ ทำไมไม่ใช้ของเดิมซึ่งอาจจะเป็นพลาสติกหรือคอนกรีตที่ถูกกว่า

การตัดสินใจเลือกแปรรูปดูจากอะไร?

ตั้งแต่การเอายางพารามาแปรรูป เราต้องมาคิดก่อนว่าต้องการประโยชน์อะไรจากมัน แล้วเรื่องราคาเราต้องรับได้นะว่าจะสูงจากเดิมเท่าไหร่ ตรงนี้แหละที่จะมีปัญหา เพราะนวัตกรรมหลายอย่างเมื่อเปลี่ยนจากของเดิมที่มีมาเป็นยางพาราแล้วมันมีราคาแพงกว่าเดิม 3-4 เท่าตัว

แต่การลงทุนเพิ่มคุณสมบัติก็เพิ่มนะ เช่น ใช้งานได้นานขึ้น ความคงทนเพิ่มมากขึ้น อย่างพลาสติกเมื่อตากแดดนานๆ มันก็เปราะแตก ส่วนความปลอดภัยก็ดีขึ้น อย่างหัวเราชนเข้ากับยางกับชนเข้ากับคอนกรีต ก็คงไม่เหมือนกันอยู่แล้ว การใช้ยางยังช่วยในเรื่องเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

ในเมื่อยากแล้วอะไรเป็นแรงผลักดันให้ทำต่อ?

เพราะเราสามารถดึงทั้งภาคเอกชนด้วยกัน ภาคสหกรณ์ และภาครัฐมารวมกันได้หมด ยังสามารถนำอาจารย์ที่คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาได้ ถ้าเราไม่สู้ เราไม่ทำแล้วใครจะทำ แล้วถ้าทุกคนคิดเหมือนกันว่ายาก อย่าทำเลย หรือคิดว่ามันเสียเวลา แล้วเมื่อไหร่ประเทศจะพัฒนา เมื่อไหร่ราคายางจะดีขึ้น

แล้วเราไม่เคยอยากจะเลิกทำ เพราะคิดว่าความยากต้องมีในทุกงานอยู่แล้ว

นอกจากยางยังมีอะไรที่อยากทำอีกบ้าง?

ก็มีต่อยอดส่วนของต้นกล้วย ที่เวลาเอากล้วยไปขายหรือส่งออกแล้ว ส่วนที่เป็นต้นกล้วยเราทิ้งเยอะมาก เลยคิดว่านอกจากจะทำเป็นแกงหรืออาหารสัตว์แล้วเราทำอะไรได้อีกบ้าง ก็ได้ไปคุยกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทักษิณและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ช่วยทำวิจัย อาจารย์ก็บอกว่าตัวต้นกล้วยสามารถเอามาแปรรูปเพิ่มแวลู เช่น ทำเป็นปกสมุดโน้ตไดอารี ทำเป็นวอลเปเปอร์ แล้วเอายางพารามาโคทติ้งทับ

แล้วยางพารายังมีการต่อยอดอะไรอีกบ้าง?

มีคุยกับน้องที่อยู่ในกลุ่มวายอีซี หรือ Young Entrepreneurs” Chamber of Commerce (YEC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ในหอการค้า ที่จะมาช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาชุมชน น้องคนนี้ทำเกี่ยวกับสิ่งทอ ผ้าทอพื้นเมือง ก็ได้ติดต่อเข้ามาว่าสามารถเอายางมาทำเกี่ยวกับผ้าได้ไหม ตรงนี้ก็กำลังดูอยู่ว่าจะเอามาร่วมทำอะไรได้บ้างระหว่างยางกับผ้า ต่อไปก็อาจจะมีความร่วมมืออื่นๆ อีก

ส่วนตัวณัฐก็อยู่ในกลุ่มวายอีซีของหอการค้ากรุงเทพฯ และหอการค้าสงขลา ตอนนี้มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่อยู่ในโครงการเยอะมาก เป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งเสน่ห์ของกลุ่มคือสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายกันได้ เพราะวายอีซีมีอยู่ทุกจังหวัดและทุกประเทศ โดยร่วมมือผนึกกำลังกันเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจโตขึ้น พร้อมกับทำภารกิจเพื่อสังคมด้วย เช่น โครงการปันกัน ภายใต้มูลนิธิยุวพัฒน์ ที่ผ่านมาก็มีเปิดรับบริจาคสิ่งของแล้วนำไปขายเพื่อนำเงินมาเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาสทั่วประเทศ

มองการทำธุรกิจในปัจจุบันอย่างไร?

เมื่อก่อนเราอาจจะมองว่าโอกาสสำคัญที่สุด แต่ตอนนี้สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยง การมีความร่วมมือมีคอนเน็กชั่น ถ้าเราไม่มีเพื่อน เราไม่มีการทำงานร่วมกันก็อาจจะต่อยอดได้ยาก ตัวใครตัวมันเราโตไม่ได้หรอกค่ะ และที่สำคัญที่จะต้องไม่ลืมกลับมาตอบแทนสังคม

ทำไมการตอบแทนสังคมถึงเป็นเรื่องสำคัญ?

อาจจะเป็นเพราะเราโตมากับครอบครัวที่ปลูกฝังเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อเติบโตมาจากครอบครัวที่ยากจน คุณแม่มาจากครอบครัวที่รับราชการทหาร เราเห็นสังคมในทุกระดับเลยมีความรู้สึกว่า ถ้าเราใส่โอกาสให้คนที่ยังขาดโอกาส หรือใส่ความรู้ให้กับคนที่ขาดความรู้ ทุกคนก็สามารถเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขึ้นมาได้

ดังนั้นต้องกระจายโอกาสเข้าไป ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ไม่ได้เป็นของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว อย่าผลักภาระไปให้รัฐ เพราะประเทศชาติเป็นของเราทุกคน

ทำงานเยอะแล้วแบ่งเวลาพักผ่อนอย่างไร?

เวลาพักผ่อน คือเวลาออกกำลังกาย เช่น โยคะ ขี่ม้า พายเรือ ต่อยมวย ฯลฯ อย่างชกมวยเริ่มเรียนมาตั้งแต่สมัยมัธยม เพราะว่าชอบที่มันเป็นศิลปะการต่อสู้และอยากลองชกมวยอยู่แล้ว เราคิดว่าการเป็นผู้หญิงไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนอ่อนแอ เราเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งก็ได้ เราต่อสู้ได้ แต่ปัจจุบันนี้เรามองมวยอีกรูปแบบหนึ่งด้วย คือเป็นศิลปวัฒนธรรมที่สามารถทำให้ประเทศโด่งดังและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้

นอกจากชกมวยก็ยังทำงานเรื่องมวย คือเป็นที่ปรึกษานายกสมาคมมวยหญิง เร็วๆ นี้ก็จะมีการจัดไทยไฟต์ที่สงขลา เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดดีขึ้น จากเดิมสงขลาเคยเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของภาคใต้ แต่อาจจะซบเซาลงเพราะราคายางตกต่ำ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนน้อยลง รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมาเลเซียตกต่ำเลยทำให้การจับจ่ายและการท่องเที่ยวของคนมาเลเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักลดลง เราก็เลยตั้งใจจะจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

มองกระแสสังคมที่อยากให้คนรุ่นใหม่เล่นการเมืองยังไง?

เห็นด้วยค่ะ คนรุ่นใหม่ก็จะมีมุมมองที่อาจจะเอาสิ่งใหม่มาพัฒนาประเทศได้ แต่ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าก็ยังจำเป็นอยู่มาก ที่ยังจะต้องเอามาผสมผสานร่วมกัน ไม่ใช่จะมีแต่สิ่งใหม่ มีแต่ประสบการณ์จากประเทศ หรือมีแต่เทคโนโลยี

เคยคิดอยากจะเล่นการเมืองไหม?

เป็นคำถามที่ทุกคนถามมาตั้งแต่เด็ก จนทุกวันนี้ทุกคนก็ยังถามอยู่ (หัวเราะ) คือการจะเป็นนักการเมือง สำหรับตัวเราเองเป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ แต่อยากทำอะไรให้สังคมให้ประเทศชาติมากกว่า แล้วมองว่าการที่เราทำอะไรตอบแทนสังคมไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองก็ได้

แล้วเราไม่อยากเป็นนักการเมือง ถ้าเราได้สิ่งนั้นมาด้วยการที่คนบอกว่า ณัฐกาญจน์ได้เป็นนักการเมืองเพราะเป็นลูก ถาวร เสนเนียม ถ้าจะเป็นนักการเมืองต้องเป็นด้วยตัวของตัวเอง ไม่ใช่เพราะเป็นลูกสาวนักการเมือง เลยเป็นทายาททางการเมือง เพราะการเป็นนักการเมืองไม่จำเป็นต้องมีทายาท

มองการเมืองไทยและนักการเมืองไทยอย่างไร?

การเมืองไม่ได้มีแต่ด้านลบ สิ่งที่เป็นด้านบวกก็มี ด้านเสียสละก็เยอะ ส่วนตัวมองการเมืองเป็นเรื่องของการเสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวมมากกว่า เพราะเห็นคุณพ่อทำงานมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืนเวลาส่วนตัวแทบไม่มี ตลอดทั้งวันที่ชาวบ้านมาขอพบ มาขอความช่วยเหลือ

คนทำงานตรงนี้อาจจะต้องทิ้งธุรกิจของครอบครัว ต้องทิ้งเวลาส่วนหนึ่งที่จะมีให้กับครอบครัวไปให้กับส่วนรวม ซึ่งเป็นความเสียสละ ใครที่ไม่อยู่ตรงนี้ไม่มีวันเข้าใจ

แล้วเชื่อไหมว่าทุกคนมักจะบอกว่า เป็นลูกนักการเมืองจะต้องรวยแน่เลย ต้องได้รับสิทธิพิเศษอะไรแน่นอน แต่ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนโตจนเข้าทำงาน ก็ทำทุกอย่างเหมือนคนปกติทั่วไป เข้าเรียนก็เข้าตามระบบสอบเข้า แล้วก็ทำงานเหมือนคนธรรมดา ทำด้วยความพยายามของตัวเอง ทุกวันนี้ก็มีหนี้ ก็มีกู้เงินตามระบบเหมือนคนที่ทำธุรกิจทั่วไป

คิดว่าตอนนี้ประสบความสำเร็จหรือยัง?

ตอนนี้ยังค่ะ การประสบความสำเร็จ ถ้าเป็นความสำเร็จในเรื่องการเงิน คือ เมื่อเราสามารถเลี้ยงครอบครัว ทุกคนมีความสุข ให้ทุกคนอยู่แบบสบายไม่ต้องทำงานได้ และความสำเร็จในเรื่องการงาน เรื่องสังคม คือ เมื่อเรามีโอกาสได้เป็นผู้ให้

ซึ่งเป้าหมายของเราหลังจากนี้ก็คงจะทำงานเพื่อสังคมเรื่อยๆ คงจะไม่หยุด เพราะคิดว่ามันเป็นตัวเรา ตั้งแต่เด็กก็ทำอะไรเพื่อสังคม เราชอบที่จะมาในทางนี้ ชอบที่จะแบ่งปัน ชอบที่จะให้คนอื่นได้รับโอกาส ได้รับความรู้ ได้รับความยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image