ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ เส้นทางชีวิตผู้พิทักษ์ผืนป่า เมื่อ’เสือ’ถูกล่า สัตว์ป่าถูกฆ่าตาย (คลิป)

เป็นประเด็นร้อนสะเทือนทั้งประเทศไทย หลังเปรมชัย กรรณสูต ผู้บริหารอิตาเลียนไทย ตกเป็นผู้ต้องหาลอบล่า “เสือดำ” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสังคมเป็นวงกว้าง

เพราะมีคนจำนวนมากที่มองว่า “การล่าสัตว์” เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเสือเป็นสัตว์นักล่าที่ทรงคุณค่าของผืนป่าใหญ่

รวมถึง “ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ” หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะผู้ทำงานและศึกษาวิจัยเรื่องเกี่ยวกับป่าและสัตว์ป่ามากว่า 30 ปี และยึดถือเรื่องการอนุรักษ์เป็นสิ่งสำคัญ

ศักดิ์สิทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2505 ที่จังหวัดปราจีนบุรี ในวัยเด็กมีความผูกพันกับสัตว์เนื่องจากคุณพ่อเลี้ยงสัตว์หลายชนิด คือ หมู ไก่ สุนัข หลังจบชั้นประถมจากโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง ก็ได้เข้ามาเรียนต่อมัธยมศึกษาที่กรุงเทพมหานคร ในโรงเรียนวัดราชบพิธ

Advertisement

หลังจบ ม.ปลาย ศักดิ์สิทธิ์สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด จึงตัดสินใจเรียนต่อนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“ความจริงผมเรียนกฎหมายได้ค่อนข้างดี แต่มันก็ยังไม่ใช่ ผมชอบเกี่ยวกับต้นไม้เกี่ยวกับสัตว์มากกว่า เรียนได้ 1 ปีก็ออกมาสอบเข้า คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวนศาสตร์รุ่น 47”

ตอนเรียนชั้นปี 1 และปี 2 วิชาที่เรียนเป็นกลุ่มพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ฟิสิกส์ และคณิต

Advertisement

“ส่วนใหญ่เป็นวิชาที่ต้องเรียนร่วมกับคณะอื่น อย่างฟิสิกส์ ก็เรียนกับเด็กวิศวะ เขาเลยไม่ชอบเท่าไหร่ เกรดออกมาก็พอผ่าน กระทั่งปี 3 เริ่มเรียนวิชาเกี่ยวกับสัตว์ป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบและสนใจ พอเรียนเรื่องนี้คะแนนก็ดีขึ้น แล้วเราก็มีความสุขด้วย”

ในชั้นปี 2 ศักดิ์สิทธิ์ได้เข้าไปฝึกงานในป่าเป็นเรื่องพื้นฐานทางป่าไม้ คือการฝึกเรื่องสำรวจและเรียนเรื่องต้นไม้ ส่วนชั้นปี 3 เขาได้ฝึกทางด้านสัตว์ป่า และเขาได้เข้าป่าที่เขาใหญ่ประมาณ 1 เดือนครึ่ง ซึ่งถือว่าค่อนข้างนาน

หลังจบปริญญาตรีปี 2529 เขาได้เริ่มทำงานสำรวจกับ “สืบ นาคะเสถียร” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ร่วมกับ “นริศ ภูมิภาคพันธุ์” ที่เข้าไปสำรวจด้วยกัน

“ตอนนั้นก็สำรวจว่ามีสัตว์อะไรบ้าง ซึ่งเทคโนโลยีก็ยังมีไม่มาก ใช้วิธีเดินไปจดไปว่าวันนี้เจอสัตว์อะไร”

ทำงานตรงนี้ได้ 1 ปี ก็ได้เรียนต่อปริญญาโทวนศาสตร์ ด้านชีวะป่าไม้ พอใกล้จบปริญญาโทประมาณปี 2532 ก็ได้สอบเข้าบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ อยู่จังหวัดอุดรธานี ทำงานในเรื่องป้องกันประมาณ 6 เดือน เป็นช่วงเดียวกับที่เรียนจบก็ได้ย้ายมาเป็นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

เป็นการเริ่มต้นทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าไม้ นักวิจัยสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว และอยู่บนเส้นทางอาชีพนี้จนถึงปัจจุบัน

– เริ่มทำวิจัยสัตว์ป่าอย่างจริงจัง?

ช่วงแรกผมทำเรื่องการป้องกันไม่ได้ทำวิจัยเลย เพราะคนเข้ามาล่าสัตว์ไม่มีวันหมด จับวันนี้เดี๋ยวกลุ่มใหม่ก็มาอีกกว่าจะจับได้ก็เหนื่อยยาก จับเสร็จแล้วบางทีส่งไม่ทันต้องนอนกลางป่าต้องดูแลเขา พอถึงสถานีตำรวจส่วนใหญ่ก็จะมีการประกันตัวออกไป งานป้องกันจึงเป็นงานที่ทำยังไงก็ไม่จบ

ทำอยู่ประมาณ 3 ปีครึ่ง ตำเเหน่งหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำในห้วยขาแข้งว่าง ก็มีคนเสนอชื่อผม ซึ่งในช่วงนั้นห้วยขาแข้งวิกฤตมาก มีการล่ามีเสียงปืนดังตลอด จนพรานเริ่มเบาบางลงก็เริ่มคิดทำงานวิจัย เพราะนอกจากผมจะเป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าผมยังเป็นหัวหน้างานวิชาการด้วย

– งานวิจัยช่วงแรกในการทำงานเป็นอย่างไร?

ไม่ซับซ้อนมาก ต้องสามารถทำได้และเป็นประโยชน์ เช่น การสำรวจนกยูง ตอนนั้นนกยูงถือว่าเป็นสัตว์ป่าที่มีน้อยมาก ก็มีการรวบรวมหน่วยพิทักษ์ป่า เดินสำรวจตามลำห้วยใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีนกยูงอาศัยอยู่เยอะเเล้วนับจำนวนตัว ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนก็ได้จำนวนที่น่าสนใจ คือประชากรนกยูงน้อยที่สุดที่น่าจะมีอยู่ ประมาณ 260 ตัว ถึงแม้ตัวเลขที่ได้จะไม่ใช่ตัวเลขจริงแต่ก็สามารถระบุได้ว่าประชากรน้อยที่สุดที่อยู่ตรงนั้นน่าจะมีเท่าไหร่ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรก

หลังจากมาอยู่เขานางรำก็มานั่งทบทวนว่าเราควรจะทำอะไร และมองว่าสิ่งที่เราถนัดและทำได้ดีที่สุดก็คืองานในกลุ่มสัตว์ผู้ล่า โดยเอาประสบการณ์จากการงานสมัยเรียนปริญญาโทมาต่อยอด ขณะนั้น ดร.อลัน จากอเมริกา มาศึกษาเรื่องสัตว์ผู้ล่าเเละอยากได้ผู้ช่วย เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจศึกษาเรื่องสัตว์ผู้ล่า เเละได้เรียนรู้ระบบจากการช่วยทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องรูปแบบและวิธีคิดเป็นพื้นฐานสำคัญที่ผมได้ใช้ในการทำงานในปัจจุบัน

จากการสำรวจชนิดของสัตว์ผู้ล่าที่ห้วยขาเเข้งมีความน่าสนใจมาก เพราะมีสัตว์ผู้ล่าอยู่เยอะแล้วยังมีความไม่ชัดเจนอยู่หลายชนิด อย่างแมวลายหินอ่อน น่าจะเป็นเป็นครั้งแรกของโลกที่เราถ่ายภาพแมวลายหินอ่อนได้ในธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นกันมาก เพราะการสำรวจตามปกติจะพบได้ยาก เพราะเสือลายเมฆเป็นสัตว์ที่หากินกลางคืน และมีจำนวนไม่มาก นอกจากนี้เรายังได้พบสัตว์ผู้ล่าตัวใหม่ใหม่หลายตัวที่เราไม่ทราบมาก่อน เป็นการยืนยันความสำคัญของห้วยขาแข้ง จากนั้นก็เริ่มทำการทำวิจัยศึกษาชะมดอีเห็น หมาจิ้งจอก เสือดาว และเสือโคร่ง

– เคยเข้าสำรวจในทุ่งใหญ่นเรศวรหรือเปล่า?

สมัยที่เรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ เคยเข้าไปซึ่งเรื่องความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ และจากรายงานบริเวณนั้นมีเสือดาวอยู่ค่อนข้างเยอะ เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศเหมือนกัน

– ลักษณะตามธรรมชาติของเสือเป็นอย่างไร?

การแบ่งแยกทางนิเวศโดยทฤษฎีแล้วสัตว์ที่เหมือนกัน จะอยู่ด้วยกันไม่ได้มันจะต้องมีอะไรที่ต่างถึงจะอยู่ด้วยกันได้ ฉะนั้นการศึกษาทำให้เราเห็นชัดขึ้นเป็นการหาข้อมูลทำความเข้าใจและสามารถอธิบายได้

จากการศึกษาทำให้ทราบว่าเสือ เช่น เสือดาวมีความมีสังคมอยู่คล้ายกับเสือโคร่ง คือในพื้นที่ก็จะมีตัวผู้ ในนั้นก็จะมีตัวเมียอยู่ประมาณสองตัว ส่วนอาหารระหว่างเสือโคร่งกับเสือดาวจะอาจจะมีสปีชี่ที่คล้ายกัน แต่บางอย่างก็หลุดออกจากกันไปเลย

เช่นจะพบว่าลิงเป็นอาหารหลักของเสือดาว แต่พบว่าเสือโคร่งกินลิงน้อยมาก หรือสัตว์บางตัวที่กินเหมือนกันอย่างกวาง เสือดาวจะกินตัวที่มีขนาดเล็กขณะที่เสือโคร่งก็จะกินตัวใหญ่ตรงนี้เป็นเรื่องของการแบ่งแยกทางนิเวศ เพราะถ้ามันกินเหมือนกันมันจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ตัวใดตัวหนึ่งมันจะต้องแพ้

จุดนี้ทำให้พบว่า ในพื้นที่บ้านของเสือโคร่งก็มีเสือดาวอาศัยอยู่ด้วย แต่เสือดาวเองก็ต้องหลบเลี่ยงเสือโคร่งเพราะถ้าปะทะกันเสือดาวสู้ไม่ได้ เนื่องจากขนาดตัวของเสือดาวเล็กกว่าเสือโคร่งเยอะมากน้ำหนักของเสือดาวน่าจะอยู่ประมาณหนึ่งในสี่ของเสือโคร่งเท่านั้น

– เสือมีความสำคัญอย่างไร?

มีความสำคัญมาก หน้าที่หลักของเสือคือการคัดเลือกและควบคุมไม่ให้จำนวนของประชากรที่เป็นเหยื่อมีเพิ่มมากเกินไป เรียกได้ว่าเสือเป็นตัวสร้างสมดุลที่สำคัญต่อระบบนิเวศ

การคัดเลือกในที่นี้ผมมักจะพูดเสมอว่า เสือจะไม่สามารถล่าตัวที่แข็งแรงและฉลาด ดังนั้นเสือจะทำหน้าที่คัดเลือกตัวที่อ่อนแอ หรือสัตว์มีโรคออก ทำให้กลุ่มสัตว์ป่าในพื้นที่ที่มีเสืออาศัยอยู่เป็นพันธุกรรมที่แข็งแรง ส่วนเรื่องการควบคุมประชากรปัจจุบันอาจจะเห็นได้ค่อนข้างน้อยเพราะคนเข้ามาทำหน้าที่แทน แต่ที่จะเห็นได้มากคือพื้นที่ที่ไม่มีเสือสัตว์หลายอย่างจะเริ่มเยอะ อย่างกระทิงเขาแผงม้า พอบูมขึ้นมามันก็มีผลเสียต่อระบบนิเวศ คือเมื่อมีประชากรเยอะมันก็เหยียบย่ำทำลายและกินพืชที่เป็นอาหารจำนวนมาก พื้นที่เองก็จะเสื่อมโทรมลง ยังมีความเกี่ยวพันกับอย่างอื่นตามมา เช่น ในพื้นที่หนึ่งไม่ควรมีกระทิงอยู่เเค่ชนิดเดียว มันต้องมีเก้งกวางและอย่างอื่นด้วย ทีนี้ถ้ากระทิงมีจำนวนมากๆ พื้นที่เป็นของกระทิงสัตว์อย่างอื่นก็อยู่ไม่ได้

เราอาจจะมองว่าเรื่องเสือโคร่งเป็นเรื่องไกลตัวเรามาก แต่จริงๆ แล้วเสือโคร่งเป็นตัวชี้วัดหรือเป็นตัวที่บอกเลยว่าสุขภาพของระบบนิเวศ ในผืนป่าสมบูรณ์หรือเปล่า แล้วการรักษาเสือโคร่งได้คือการรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ เพราะเสือโคร่งอ่อนไหวง่าย ป่าถูกทำลายก็จะน้อยลง สัตว์ที่เป็นเหยื่อมีจำนวนน้อยเสือโคร่งก็จะน้อย หรือตัวเสือโคร่งเองถูกล่าจำนวนก็จะน้อยลงเช่นกัน

– จำเป็นต้องควบคุมจำนวนของเสือหรือเปล่า?

มีเสือมากไม่ใช่ว่ามันจะกินสัตว์จนหมด มันไม่มีทางเป็นไปได้ เสือไม่มีทางทำให้กวาง กระทิงแดง หรือวัวแดงสูญพันธุ์ เพราะการล่าของเสือมันเป็นการเอาชีวิตแลกชีวิต สัตว์ขนาดเล็กอย่างเก้งหรือกวางไม่ใช่ว่ามันไม่มีพิษสงนะ ถ้าเสือพลาดก็คือตาย ดังนั้นจึงไม่ค่อยเห็นเสือกินทิ้งกินขว้าง ยกเว้นมันไม่ไว้วางใจ

– มองการล่าสัตว์ในสังคมไทยอย่างไร?

ในอดีตที่ผมเข้ามาทำงานจะเหน็ดเหนื่อยมากกับเสียงปืนที่ดังตลอด แล้วต้องออกไปตามจับทั้งที่เข้ามาล่าสัตว์และเข้ามาตัดไม้ บางทีต้องไปนั่งซุ่มเฝ้าระวัง กลางคืนต้องเข้าไปนอนในป่า แต่ปัจจุบันผมว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นความสำคัญของสัตว์และป่า ดังนั้นการล่าสัตว์ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนก็จะน้อยลงเยอะ เห็นได้จากสัตว์หลายกลุ่มเพิ่มจำนวนขึ้น ประกอบกับการล่าสัตว์เพื่อยังชีพไม่เยอะแล้ว

เมื่อก่อนชาวบ้านมีโปรตีนให้เลือกน้อยเเละหาโปรตีนได้ยากมาก แต่ปัจจุบันโปรตีนหาง่ายมีให้เลือกและราคาถูกเช่น ปลา ไก่ หมู ทำให้คนไม่ได้ขาดโปรตีนในการดำรงชีพ

อย่างไรก็ตาม คนล่าสัตว์ก็ไม่ได้หมดไป ยังพบการล่าสัตว์ที่ตีฉาบฉวยตามชายขอบคือ ฆ่าแล้วรีบนำออกไปเลย แต่การจะล่าแบบที่มีการล่ากระทิงเมื่อ 20-30 ปีก่อน ที่ต้องเข้าไปกลางป่า ต้องแกะรอย ต้องซุ่มยิง แล้วตากเนื้อกระทิงเป็นแถวแบบนี้จะยากแล้ว แต่เสือยังเป็นข้อยกเว้นเพราะมีราคา ฉะนั้นการล่าเสือก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ เมื่อไหร่ที่เจ้าหน้าที่แข็งแรงเขาก็จะมาทำอะไรได้ยาก แต่เมื่อไหร่ที่เราอ่อนแอคนกลุ่มนี้ก็จะเข้ามาทันที เสือจึงเป็นตัวชี้วัดเป็นเหมือนปรอดวัดไข้ที่ดีในด้านนี้ด้วย

นอกจากนี้ในปัจจุบันเรามีกฎหมายที่เข้มแข็งเเละมีความละเอียดมากขึ้น เช่นการขึ้นทะเบียนซากสัตว์ ของใหม่ถ้าตรวจพบว่าไม่มีทะเบียนถือว่าผิดกฎหมาย ขณะที่สังคมเองก็ไม่ยอมรับเรื่องการล่าสัตว์ป่าและนำชิ้นส่วนของสัตว์ไปโชว์แล้ว

– กลุ่มไหนที่ยังล่าสัตว์ในปัจจุบัน?

ตอนนี้ผมก็ไม่ได้ทำงานด้านการป้องกันนะ แต่ถ้าถามว่าขณะนี้ในกลุ่มชาวบ้านมีการล่าอยู่หรือไม่ ผมคิดว่าน่าจะมีอยู่ถ้าเขามีโอกาส เช่นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ กลุ่มที่มีหมู่บ้านอยู่ในป่า ก็อาจจะมีการใช้ประโยชน์ตรงนี้แต่คนไม่ค่อยพูดถึงมากนัก ส่วนอีกกลุ่มที่เป็นคนมีฐานะดีเข้ามาล่าเพื่อความสนุกสนาน ผมก็คิดว่ายังมีอยู่อย่างที่เห็นกัน แต่จะเป็นกลุ่มเล็กหรือใหญ่คงตอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือต้องเข้มแข็ง ซึ่งทางกรมอุทยานก็พยายามจะหาระบบและการจัดการที่จะควบคุมป้องกัน แต่การทำงานอนุรักษ์มันยาก โดยเฉพาะกับทรัพยากรที่มีค่ามากๆ

– การล่าเสือถือว่ายากหรือไม่ มือใหม่สามารถล่าเสือได้หรือเปล่า?

การล่าเสือต้องเป็นคนที่รู้วิธี ต้องเป็นมืออาชีพ ต้องมีข้อมูลพอสมควร ถามว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์หรือเป็นพรานมือใหม่เข้าไปล่าได้ไหม ก็ล่าได้แต่ต้องฟลุคจริงๆ แบบไปนั่งๆ อยู่แล้วเสือเดินผ่านมาพอดี ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้แต่โอกาสค่อนข้างน้อย

– แล้วมืออาชีพปกติเขาล่าเสือกันอย่างไร?

พวกที่ล่าเพื่อจะเอาไปขาย ส่วนใหญ่จะใช้วิธีเอายาพิษใส่ในเหยื่อให้เสือมากิน พอกินแล้วมันก็จะตายอยู่บริเวณนั้น แล้วค่อยไปเดินหา ประเภทที่นั่งห้างหรือซุ่มยิงก็ตอบยาก จากประสบการณ์ของผมการทำแบบนี้มีน้อย เพราะโอกาสที่จะโดนจับเยอะ

– เสือดำเเตกต่างจากเสืออื่นยังไง?

จริงๆ แล้วเสือดำเป็นตัวเดียวกับเสือดาวสามารถผสมพันธุ์กันได้ แต่ที่เห็นมันเป็นเสือดำเพราะพื้นตัวมันเป็นสีดำ แต่เสือดาวพื้นตัวมันเป็นสีเหลือง แต่ทั้ง 2 ตัวมีลายที่เป็นสีดำ ซึ่งเราจะเห็นเวลาเสือดำที่แก่มากๆ พื้นตัวจะมีสีเทาและมีลายสีดำอยู่ สำหรับสัดส่วนเสือดำพบน้อยกว่าเสือดาว ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเป็นเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่อาศัย

ถ้าเป็นถิ่นที่เป็นป่าทึบหน่อย พื้นผิวดินค่อนข้างครึ้มจะพบเสือดำเยอะกว่าเสือดาว แต่ป่าที่มีลักษณะของป่าเต็งรัง ป่าที่มีพื้นที่โล่ง เสือดาวจะเยอะกว่า เพราะการมีสีดำโผล่มามันจะเด่น โอกาสที่จะถูกคัดออกมีสูง และโอกาสที่จะล่าสำเร็จมีน้อย แต่ในเชิงคุณค่าเสือดำและเสือดาวมีค่าไม่ต่างกัน

– ลักษณะนิสัยของเสือดำหรือเสือดาวดุร้ายไหม?

บางคนก็อาจจะบอกว่าดุร้าย แต่ผมมองว่ามันไม่ดุร้ายนะ โอกาสที่มันจะทำร้ายคนยากมาก เพราะโดยน้ำหนักและขนาดตัวใหญ่กว่าหมาบ้านไม่มาก เเละผมไม่ค่อยเห็นว่าเสือดำในประเทศไทยทำร้ายคน

โดยธรรมชาติของสัตว์ป่าทุกชนิด ไม่เคยเห็นที่ทำร้ายคนก่อน ปกติเห็นคนแล้วมันจะวิ่งหนีด้วยซ้ำ อย่างตอนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ มีครั้งหนึ่งขณะที่ผมไปสำรวจต้องเดินแหวกมุดทุ่งที่เป็นป่าหญ้าสูงท่วมหัว แล้วไปจ๊ะเอ๋กับหมี ต่างคนก็ต่างตกใจ ต่างคนก็วิ่งหนี เป็นครั้งแรกที่ได้รู้ว่าสัตว์เองก็ไม่ได้เจอคนแล้วต้องเข้าทำร้าย อาจจะยกเว้นถ้ามันตั้งตัวไม่ทันหรือมันบาดเจ็บก็เป็นอีกเรื่อง เช่น กรณีที่กระทิงขวิดคนตายที่ห้วยขาแข้งก็เกิดมาจากการที่เขาไปยิงมันบาดเจ็บ แล้วตั้งใจจะตามไปยิงซ้ำมันเลยวิ่งออกมาชาร์จ เป็นต้น

– ปัจจุบันยังมีการล่าหรือจับสัตว์ป่าอยู่ ส่วนตัวเห็นข่าวลักษณะนี้แล้วคิดอย่างไร?

จริงๆ คนที่ทำงานในด้านนี้ส่วนใหญ่ทุกคนรักสัตว์ ถ้ารู้ก่อนก็ไม่มียอม ไม่มีใครปล่อยให้มีการล่าสัตว์แน่นอน

– กรณีคุณเปรมชัยสะท้อนอะไร?

ผมว่าเป็นการกระตุกให้สังคมได้คิด เพราะสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเขา และอาจเป็นนิมิตหมายที่ดี เหมือนเป็นการชี้ว่ากระแสสังคมไม่ยอมรับเรื่องแบบนี้ ยังรวมถึงการจับสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แล้วมันก็มีกฎหมายควบคุมอยู่ ซึ่งสัตว์ป่ามันก็ควรอยู่ในป่า เเต่ถ้าทำในเชิงเศรษฐกิจก็เป็นอีกเรื่องเป็นอีกกรณี แต่อยู่ๆ คนจะเอานกมาเลี้ยงในบ้านผมไม่เห็นด้วย อย่างช่วงหนึ่งที่ตลาดใหญ่ในกรุงเทพฯ มีการนำสัตว์ป่ามาขายเป็นสัตว์เลี้ยง ถึงแม้เป็นกลุ่มเล็กแต่ผมเชื่อว่าสังคมไม่เอานะ เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝัง ต้องให้ความรู้และควบคุมอย่างเข้มงวดด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image