เปิดตัวสื่อรณรงค์ลดเล่น’การพนัน’ แก้ปัญหา’เยาวชน’ด้วยผลงานจาก’เยาวชน’

เป็นรายการที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับการเเข่งขัน “ฟุตบอลโลก 2018” กีฬาที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิดติดหน้าจอ

เเต่สิ่งที่มักมาพร้อมกับการเเข่งทุกครั้ง นั่นคือการ “ทายผล” ซึ่งหากเป็นการลุ้นให้ทีมที่ตัวเองชื่นชอบเป็นผู้ชนะคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เเต่เมื่อมีเรื่อง “การพนัน” เข้ามาเอี่ยว โดยเฉพาะเมื่อการพนันระบาดหนักในกลุ่มวัยรุ่น

ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาใหญ่ ที่ต้องเร่งหามาตรการคุมเข้ม ในช่วงระหว่างการเเข่งขันกีฬาระดับโลกที่กำลังจัดขึ้น

ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และโรงภาพยนตร์ SF World Cinema ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จึงร่วมเปิดตัวสื่อรณรงค์การลดพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ในหัวข้อ “การสื่อสารสาธารณะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม” ขึ้น

Advertisement

จากการสำรวจของ สสส.พบว่าในช่วงระยะเวลาภายใน 1 ปี มีเว็บไซต์เล่นพนันออนไลน์มากถึง 213,000 เว็บไซต์ ทำให้เด็กและเยาวชนที่มีความรู้ ความสามารถในการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ง่ายขึ้น

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ระบุว่า การพนันที่นิยมมากที่สุดคือการเล่นพนันฟุตบอลออนไลน์ เพราะสามารถเข้าถึงง่าย เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา แค่มีอุปกรณ์สื่อสารก็สามารถเล่นได้แล้ว และจากการสำรวจพบว่าคนไทยเคยเล่นการพนันเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากร มีเยาวชนกว่า 6 แสนคนที่เคยเล่นการพนัน มีนักพนันหน้าใหม่มากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ที่เล่นการพนัน

“สิ่งที่ตามมาคือปัญหาในด้านต่างๆ นอกจากนี้ การพนันยังมีรูปแบบเดียวกันกับการเสพติด หากได้ลองเล่นแล้วก็อยากจะเล่นต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้น จึงหวังว่าการรณรงค์ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมหยุดยั้งการเล่นการพนัน”

Advertisement
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ


ด้าน ธนวัฒน์ พรหมโชติ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย (ดย.) คาดการณ์ว่าในการแข่งขันฟุตบอลโลก จะมีเด็กและเยาวชนเข้าถึงการพนันออนไลน์ได้จำนวนมาก เนื่องจากมีเว็บไซต์ให้บริการกว่าสองแสนเว็บไซต์ อีกทั้งเว็บไซต์ที่ให้บริการมักจะเป็นซอฟต์แวร์ซึ่งมาจากต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการดำเนินการควบคุม

“ปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดโครงการผลิตสื่อรณรงค์ ในรูปแบบการประกวดภาพยนตร์สั้น 8 นาที โดยเยาวชน เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม และเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพที่มีของตนเองอย่างสร้างสรรค์”

ขณะที่ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยการรณรงค์ครั้งนี้ มีทั้งรูปแบบโปสเตอร์ หนังสั้น ซึ่งหลังได้ดูโปสเตอร์แล้วมีความรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เห็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนใช้พลัง ใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้

สำหรับเยาวชนที่ร่วมผลิตภาพยนตร์สั้น ได้กล่าวถึงแนวคิดไว้อย่างน่าสนใจ อย่างสมาชิกทีม Nitedkaset film สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาพร้อมผลงานเรื่อง “เสี่ยง” ระบุว่า แนวคิดของเรื่องจะเน้นการนำเสนอถึงการตัดสินใจของวัยรุ่น ที่คิดจะก้าวเข้าสู่วงจรของการพนัน ซึ่งสาเหตุหลักที่วัยรุ่นอยากทดลองเล่นการพนันมาจาก 2 ปัจจัยคือ ความรักและความอยาก คือรักในกีฬาฟุตบอลและรักเพื่อน เมื่อเพื่อนชวนให้ลองเล่นก็จะนำเข้ามาสู่ความอยาก ความอยากคืออยากรู้อยากลองแล้วก็อยากรวย ซึ่งทั้งหมดเป็นหนทางที่จะนำเข้าสู่วงจรการพนัน

ทีม สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต มากับผลงานเรื่อง “Cycphuket” เปิดเผยว่า จากแนวคิดทำหนังสั้น ที่จะต้องมีความกระชับ หนังสั้นของกลุ่มตนจึงออกมาเป็นการเล่าสู่กันฟังแบบเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง และเนื่องจากกลุ่มตนมาจากจังหวัดภูเก็ต จึงมีการนำเสนอหนังสั้นออกมาเป็นภาษาใต้ ทำเป็นแนวประชดประชัน ยุยงส่งเสริมให้ทำ อยากทำอะไรก็ทำ เพราะเด็กยุคนี้มีความยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ จึงอยากให้เห็นด้านมืดของการพนันที่ถ้าหากเล่นแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

ตามมาด้วยทีม ฤดูสน โรงเรียนขุนยวมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาพร้อมกับผลงานเรื่อง “จุดจบเดียวกัน In The End” เปิดเผยแนวคิดของกลุ่มตนว่า แนวคิดหรือโครงเรื่องของกลุ่มตนไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไหร่ โดยแนวทางของเรื่องเป็นวัยรุ่นที่อยากรู้อยากเห็น อยากทดลองสิ่งใหม่ๆ อยากเล่นเหมือนเพื่อน อยากมีเหมือนเพื่อน ซึ่งการพนันที่ใครก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ก็มีวัยรุ่นคนหนึ่งที่ต้องเข้าไปพัวพันกับการพนัน และการทำหนังสั้นเรื่องนี้มีการใช้สัญลักษณ์มาช่วยในการเล่าเรื่องอีกด้วย

ส่วนทีม สมาพันธ์เด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ มากับผลงานเรื่อง “Sball bel” ที่แนวคิดเริ่มแรก คือ อยากจะนำเสนอความเป็นอีสาน แต่ด้วยความที่มีผู้ชมหลากหลาย จึงนำเสนอออกมาเป็นภาษากลางแทน โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กมัธยม เพราะต้องการสื่อให้เห็นว่าเด็กมัธยมก็เป็นวัยที่มีการเล่นพนัน ไม่ได้มีเฉพาะเด็กมหาวิทยาลัยหรือวัยที่โตกว่าเท่านั้น เพราะการพนันในยุคปัจจุบันเข้าถึงง่าย ดังนั้น ต้องอาศัย ความรักของพ่อแม่ ครูอาจารย์

ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของทีมเยาวชนที่มาร่วมผลิตภาพยนตร์สั้นเปิดตัวสื่อรณรงค์การลดพนัน

สะท้อนแนวคิด มุมมองที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามการตีโจทย์ของแต่ละทีม โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการป้องกันเเละลดเล่นการพนันของเด็กและเยาวชนไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image