ประสานักดูนก : นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว

นกกระเต็นน้อยหลังดำ

นกกระเต็นตัวจิ๋วชนิดนี้พิเศษกว่านกกระเต็นหลากสีไทยชนิดอื่นๆ ที่มีความหลากหลายของชุดขน 2 กลุ่ม ตามพันธุ์ ในอดีตนักปักษีวิทยาจึงแยกพวกมันออกจากกันเป็น 2 ชนิด คือ นกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังแดง และ นกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำ

แม้ว่าการแพร่กระจายพันธุ์ของประชากร 2 กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะต่างกัน โดย “นกกระเต็นน้อยหลังดำ” จะทำรังวางไข่ในภาคเหนือ อีสาน ตะวันตก ตะวันออก และภาคใต้ตอนบน แล้วอพยพผ่านภาคกลางไปอาศัยในฤดูหนาวในภาคใต้ สมทบกับนกที่อพยพมาจากประเทศจีน ส่วน “นกกระเต็นน้อยหลังแดง” จะทำรังวางไข่ในภาคตะวันตกและภาคใต้ ประชากรของนกกระเต็นน้อยสองกลุ่มนี้จึงมีพื้นที่ทับซ้อนกันในภาคใต้ เรียกว่า sympatry เปิดโอกาสให้นกสองกลุ่ม ที่มีชุดขนต่างกันโดยสิ้นเชิงแต่วิวัฒนาการมาด้วยกัน เกิดการผสมข้ามพันธุ์

ซึ่งถ้าลบสีน้ำเงิน หรือสีส้มแดงออกจากตัวของนกกระเต็นสองกลุ่มนี้ ก็จะทำให้นกเหมือนกันอย่างกับแกะ แยกจากกันไม่ออก นอกจากนี้ ลูกนกที่เกิดจากพ่อและแม่ที่เป็นนกกระเต็นน้อยหลังแดง กลับแสดงชุดขนที่มีขนสีน้ำเงิน เหมือนกับนกกระเต็นน้อยหลังดำ แสดงว่าในสายเลือดหรือพันธุกรรมของนกกระเต็นน้อยหลังแดง ก็ยังมียีนควบคุมการแสดงขนสีน้ำเงินเหลือบของนกกระเต็นน้อยหลังดำปนเปื้อนอยู่ หาได้บริสุทธิ์เป็นเอกเทศไม่ ดังเช่น ครอบครัวของนกกระเต็นน้อยหลังแดง ที่ขุดโพรงดินอยู่บนตลิ่งข้างทางเดินใกล้ลำธารในป่าสันกาลาคีรี ครอบครัวนี้ทั้งพ่อและแม่นก แสดงลักษณะภายนอกของชุดขนที่กำหนดด้วยยีนขนสีแดง แต่ในโครโมโซมของพวกมันยังคงมียีนควบคุมลักษณะขนสีน้ำเงินอยู่ด้วย หากไม่ได้แสดงออกมาในตัวเอง แต่กลับแสดงออกมาในรุ่นลูก อีกทั้งในนกบางตัว แม้ว่ามองรวมๆ แล้วเขาข่ายจะเป็นนกกระเต็นน้อยหลังแดง เพราะมีขนสีส้มแดง แต่จะมีขนสีน้ำเงินแซมบนขนคลุมบนปีกมากบ้าง น้อยบ้างผันแปรแต่ละตัวไม่เท่ากัน เป็นหลักฐานบ่งบอกว่ายีนกำหนดขนสีน้ำเงินนั้นยังคงปนเปื้อนอยู่ในพันธุกรรมที่เก็บสะสมอยู่ในโครโมโซมภายในนิวเคลียสของเซลล์สืบพันธุ์ของนกด้วย

นกกระเต็นน้อยหลังแดง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนกสองกลุ่มผสมข้ามพันธุ์ เกิดลูกผสมที่ชุดขน ไม่ “นิ่ง” ผันแปรไปตามยีนที่กำหนดขนสีส้มแดง และขนสีน้ำเงินในนก 1 คู่ นักปักษีวิทยาจึงควบรวม หรือ lumping นกสองกลุ่มให้เป็นชนิดเดียวกัน ว่า นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว Oriental Dwarf Kingfisher ส่วนลักษณะภายนอกของสีขนก็เป็นเพียงความแตกต่างในระดับพันธุ์เท่านั้น

Advertisement

ในความเป็นจริงแล้ว ขนบนหลังและขนคลุมบนปีกของนกกระเต็นน้อยสามนิ้วหลังดำ ไม่ใช่สีดำ แต่เป็นสีน้ำเงินเหลือบ หากคนที่ตั้งชื่อไทยให้นั้น ตรวจจากตัวอย่างสกิน ที่ขนสีน้ำเงินไม่เหลือบวาวขึ้นมาเพราะอยู่ในห้องเก็บตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ ไม่โดนแสงแดด ทำให้สีน้ำเงินไม่แสดงออกมาตามการเกิดสีด้วยแสงตกกระทบภายในเส้นขน

ไม่ได้เกิดจากเม็ดสีเมลานินหรือแคโรทีนอยด์ ซึ่งตาของมนุษย์มองเห็นเฉดสีได้ตรงตามชนิดของเม็ดสีนั้นๆ เช่น สีดำ น้ำตาลและเทา สำหรับเม็ดสีเมลานิน หรือสีเหลือง ส้ม แดง เขียว สำหรับเม็ดสีแคโรทีนอยด์

ชมภาพเพิ่มเติมที่ http://www.birdsofthailand.org/photo/3873

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image