อาศรมมิวสิก : ร.ร.นานาชาติ ทน.นครศรีฯ จะสร้าง‘ออเคสตราเยาวชน’ เพื่อคุณภาพชีวิตเด็ก : โดย สุกรี เจริญสุข

การก่อตั้งวงออร์เคสตราของเทศบาลนครยะลา (พ.ศ. 2546) ได้สร้างกระแสเรื่องของคุณภาพในระบบการศึกษาไทยพอควร เป็นการใช้วงออเคสตราเป็นสื่อในการพัฒนาการศึกษาเยาวชน ให้เป็นเด็กที่มีศักยภาพมากขึ้น ทำให้เด็กเรียนรู้การทำงานด้วยตัวเอง การฝึกซ้อมดนตรี รับผิดชอบหน้าที่ มีเป้าหมายของการเรียนชัดเจนขึ้น และได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นโดยการเล่นรวมกันเป็นวงดนตรี

กระแสของวงยะลาออเคสตรา ทำให้หลายเทศบาลในประเทศไทยตื่นตัวและอยากทำตามด้วย ปัญหาหลักก็คือ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร นอกจากจะไม่รู้จักวงออเคสตราแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน ต้องทำอะไรก่อน นอกจากดนตรีเป็นเรื่องยากแล้ว ยังเป็นเรื่องที่คนในเทศบาลไม่รู้จัก มีคนเข้าใจเจตนารมณ์ไม่มากนัก แต่เมื่อดูวงออเคสตราแล้ว ก็เป็นเรื่องของความมีรสนิยม เป็นเรื่องที่มีเสน่ห์ ฟังแล้วรู้สึกเท่ วงออเคสตราเป็นภาพลักษณ์และหน้าตาดี

หากมีวงออเคสตราในโรงเรียนเกิดขึ้น ทำให้รู้สึกว่าโรงเรียนเจริญ ผู้ปกครองให้ความชื่นชม

ท่านปลัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งอดีตเคยทำงานอยู่ที่เทศบาลนครยะลา ได้รับการร้องขอจากนายกเทศมนตรีให้จัดทำวงออเคสตราที่โรงเรียนนานาชาติขึ้นในเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จะทำด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ จะเป็นการเลียนแบบหรือทำขึ้นใหม่ สร้างให้เกิดขึ้นเหมือนกับเทศบาลนครยะลา

Advertisement

ถือว่าเป็นนโยบายของนายกเทศมนตรี ทำในโรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช..

ผมได้รับคำเชิญให้ไปดูวงออเคสตราของโรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เป็นการนำเสนอเด็กที่เล่นเครื่องสาย มีวงไวโอลิน 6 คน ส่วนหนึ่งก็รู้สึกเห็นใจมาก ส่วนหนึ่งก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่มีอยู่ และเป็นความภูมิใจที่นำเสนอให้ดูด้วยความภูมิใจมากด้วย

ได้เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า “ผมเป็นคนนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด แต่ผมก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับเมืองนครศรีธรรมราชเท่าใดนัก เพราะการไปเรียนดนตรีจนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศก็ไม่มีงานอะไรให้ทำในเมืองนครอยู่แล้ว เรียนจบกลับมาแล้ว ก็ต้องไปประกอบอาชีพ ทำงานในเมืองที่เจริญ เพราะดนตรีที่จะหาเงินได้นั้น ต้องอยู่ในเมืองใหญ่”

Advertisement

ได้โอกาสเล่าเรื่องครูดนตรีที่เมืองนครให้ที่ประชุมฟังว่า เมื่อปี พ.ศ.2498 มีครูดนตรีคนสำคัญชื่อ ครูแพ แสงพลสิทธิ์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระเจนดุริยางค์ เมื่อครั้งที่พระเจนดุริยางค์เกษียณอายุราชการจากกรมศิลปากร พ.ศ.2486 ก็ได้รับเชิญไปดูแลวงดนตรีที่กองดุริยางค์กรมตำรวจ งานสิ่งหนึ่งที่พระเจนดุริยางค์ได้ทำไว้ที่กองดุริยางค์กรมตำรวจ คือการได้ฝึกอบรมครูประจำการที่สอนวิชาลูกเสือ เพื่อเป็นผู้นำวงโยธวาทิต ซึ่งครูลูกเสือจากทุกจังหวัดก็ได้เข้าไปฝึกอบรมกับพระเจนดุริยางค์ที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 6 เดือน แล้วกลับไปสอนดนตรีที่โรงเรียนประจำจังหวัดของตน ทำให้เกิดวงโยธวาทิตเพื่อนำกองลูกเสือเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ครูแพ แสงพลสิทธิ์ ครูลูกเสือ (สอนดนตรี) โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มีลูกศิษย์ดนตรีคนสำคัญอยู่ 2 คนด้วยกัน คือ ครูนิกร แสงจันทร์ ซึ่งต่อมาได้รับหน้าที่เป็นครูสอนดนตรีแทนครูแพที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ครูสุมล ดุริยะประพันธ์ เป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน (คริสเตียน) ครูดนตรีทั้ง 2 คน เป็นรากฐานของการศึกษาดนตรีที่นครศรีธรรมราช

ครูนิกร แสงจันทร์ มีลูกศิษย์ดนตรีคนสำคัญหลายคน อาทิ นพพร ด่านสกุล และกิตติ ศรีเปารยะ ซึ่งเป็นนักดนตรีและนักเรียบเรียงเสียงประสานคนสำคัญของไทย มีผลงานในวงยามาฮ่าซาวด์ วงเฉลิมราษฎร์ มีผลงานเพลงบันทึกเสียงจำนวนมาก เป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนครู
สุมล ดุริยะประพันธ์ (เสียชีวิตแล้ว) เป็นครูดนตรีของผู้เขียน ซึ่งได้มีโอกาสก่อสร้างวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการวางรากฐานและสร้างกระแสความเปลี่ยนแปลงการศึกษาดนตรีสมัยใหม่

ทำให้รำลึกถึงจารึกที่หุบเขาช่องคอย นครศรีธรรมราช ในพุทธศตวรรษที่ 11 ที่เขียนไว้ว่า “คนดีอยู่ในสังคมเหล่าใด ความสุขความเจริญก็จะเกิดขึ้นกับสังคมเหล่านั้น”..

จากความตั้งใจที่อยากจะตั้งวงออเคสตราของโรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ถือเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญที่ต้องคิดและติดตาม ทำให้รู้สึกฉงนเพราะได้แพร่เชื้อดนตรีไปแล้ว เชื้อเริ่มออกฤทธิ์ไปสู่โรงเรียน ก็ได้กลับมาคิดว่าจะช่วยเหลือความปรารถนาดีเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นโอกาสที่จะช่วยบ้านเกิดได้ เป็นโอกาสคิดที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างสังคม “ระหว่างสังคมกรุงเทพฯ กับสังคมต่างจังหวัด”

หากจะมองภาพของความเจริญ “ผ่านการศึกษาดนตรี” ก็จะพบว่า วงดนตรีของภาคใต้อ่อนแอสุด เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ตั้งแต่วงโยธวาทิตของโรงเรียนมัธยมศึกษา วงดนตรีอาชีพ วงดนตรีและเพลงลูกทุ่ง เพลงยอดนิยม เพลงร่วมสมัย ฯลฯ ไม่พบว่าวงดนตรีจากภาคใต้จะมีหน้ามีตาทางด้านดนตรี ยิ่งเป็นดนตรีคลาสสิกด้วยแล้ว ก็ยิ่งห่างไกลความเจริญเลยทีเดียว เพราะว่าการศึกษาดนตรีในโรงเรียนอ่อนแอ

วงออเคสตราของโรงเรียนเทศบาล น่าจะเป็นช่องทางใหม่ เป็นวิธีการที่จะพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เป็นการกระจายคุณภาพให้ยั่งยืนกว่า ปัญหาหลักที่มองเห็นก็คือ ในพื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ไม่มีครูดนตรี โดยเฉพาะครูเครื่องสาย (ไวโอลิน วิโอลา เชลโล) อุปกรณ์เครื่องดนตรีที่ดีมีน้อย ไม่มีห้องฝึกซ้อมที่ดี ไม่มีทิศทาง และมองไม่เห็นอนาคตว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

สิ่งที่ดีที่มีอยู่ในโรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช คือ มีผู้บริหารที่อยากให้มีวงออเคสตรา แม้ยังไม่รู้ทิศทางที่ชัดเจนนักว่าจะเป็นอย่างไรหรือจะทำอย่างไรก็ไม่รู้ แต่ก็ได้สนับสนุนอย่างเต็มกำลัง มีงบประมาณที่จะสร้างวงออเคสตราให้ได้ มีเด็กที่อยากเล่นดนตรี อยากเรียนดนตรี ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็ให้ความสนใจ อยากให้ลูกได้เรียนดนตรีที่มีมาตรฐาน เพื่อเรียนรู้ความเป็นสากล

สำหรับวงออเคสตราที่โรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราชนั้น ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน มีประสบการณ์น้อย ขาดผู้ชี้นำที่มั่นใจ ยิ่งนานวันเข้า เด็กที่เล่นดนตรีก็เริ่มหายไป เพราะมองไม่เห็นอนาคต พ่อแม่เริ่มติดขัด มีภารกิจและเริ่มไม่ว่าง เวลาน้อยลง ผู้รับผิดชอบจะปล่อยให้เกิดความรู้สึกที่ผิดหวังไม่ได้ ในการฝึกซ้อมวงดนตรีของเด็กจะต้องมีเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

หากคิดอะไรไม่ออกก็ให้จัดการฝึกซ้อมเพื่อแสดงในงานอะไรสักงานหนึ่ง อาทิ งานวันเกิดผู้บริหาร งานแสดงผลงานของโรงเรียน งานเดือนสิบ เป็นต้น เพื่อสร้างเป้าหมายให้กับวงออเคสตรา..

สิ่งที่จะต้องเติมเต็มก็คือ ต้องหาผู้อำนวยเพลง (Conductor) โดยเร็ว เป็นผู้ที่สามารถจะนำพาวงดนตรีไปข้างหน้า ผู้ควบคุมวงจะต้องเลือกบทเพลงที่เหมาะกับความสามารถของเด็ก ที่สำคัญก็คือ ฝึกซ้อมให้มีคุณภาพเสียงดนตรีที่ดีที่จะมอบให้แก่ผู้ฟัง โดยธรรมชาติของวงออเคสตรานั้น ผู้ฟังจะมีความคาดหวังที่สูงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้มอบนโยบาย และแขกคนสำคัญของจังหวัด
เมื่อมีความคาดหวังสูง ผลงานของเด็กก็ต้องสามารถตอบสนองความรู้สึกและความคาดหวังให้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่ผิดหวัง เพราะมาตรฐานของผู้ฟังอยู่ที่ความคาดหวัง

วงออเคสตราโรงเรียนนานาชาติเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ต้องการสร้างวงออเคสตราเป็นต้นแบบ ต้องการบทเพลงที่ใช้เป็นต้นแบบ เพื่อว่าเมื่อวงได้บรรเลงไปแล้ว สามารถทำให้ผู้ฟังมีความสุขได้

การที่วงออเคสตราของเทศบาลนครยะลาได้จุดประกายให้กับผู้บริหารเทศบาลคิดถึงการพัฒนาวงออเคสตราให้เกิดขึ้นในโรงเรียนเทศบาล การใช้วงออเคสตราเด็กเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษาเป็นโอกาสที่น่ายินดี หากทำได้จริงก็จะเป็นเรื่องที่อัศจรรย์มาก เป็นหลักฐานบอกให้สังคมรับรู้ว่า นักการเมืองท้องถิ่นเริ่มหันมาสนใจคุณภาพของการศึกษามากขึ้น ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี

หากการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลในต่างจังหวัดดีขึ้น เป็นดัชนีบ่งชี้ทิศทางที่ดีต่อการศึกษาของเยาวชนไทย โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กมากขึ้น หากโอกาสของเด็กเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาอย่างจริงจัง เกิดเป็นความสำเร็จที่สัมผัสได้จริง เท่ากับขยายคุณภาพการศึกษาออกสู่ต่างจังหวัดทันที โดยไม่ต้องรอกรุงเทพฯ อีกต่อไป

เมื่อใดก็ตามที่วงออเคสตราของเทศบาลเริ่มมีการประมูลตัว (แย่งตัว) ครูดนตรีหรือแย่งตัวนักดนตรีให้ไปอยู่ในโรงเรียนของเทศบาล เหมือนกับการประมูลตัวนักฟุตบอลที่เก่งให้ไปอยู่ในทีมของตัว เมื่อนั้นวงการศึกษาดนตรีของไทยก็จะเจริญขึ้นทันตาเห็น..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image