ประสานักดูนก : กองหน้ามาแล้ว โดย : นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

เหยี่ยวผึ้ง

ฤดูกาลอพยพต้นหนาวเปิดฉากอย่างสมบูรณ์แล้ว เมื่อ “เหยี่ยวอพยพ” ชนิดหลัก 3 ชนิด เดินทางถึงภาคใต้ของประเทศไทย เริ่มด้วย เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น นักล่าพเนจรชนิดแรกที่ย้ายถิ่นมาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก ลัดฟ้าผ่านประเทศไทยไปตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ต่อมา เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน ฝูงเล็กๆ และ เหยี่ยวผึ้ง 3 ตัว บินผ่านเขาเรดาร์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มุ่งหน้าลงใต้ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2561

นับเป็น 3 สหายที่คงเส้นคงวา เป็นเหยี่ยวอพยพกลุ่มแรกที่จะเปิดเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพในภาคใต้ ระหว่างกลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เป็นเวลา 2 เดือน จะมีเหยี่ยวอพยพมากกว่า 2 แสนตัว! ใช้ด้ามขวานของดินแดนสุวรรณภูมิเป็นทางด่วนเชื่อมต่อระหว่างถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์ ที่ถิ่นไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย จีน มองโกเลีย เกาหลี และญี่ปุ่น ย้ายถิ่นหนีอากาศหนาวเย็น ที่จะย่างกรายปกคลุมบ้านเกิดทางเหนือในฤดูหนาวตลอด 4-5 เดือนนับจากนี้ เพื่อย้ายบ้านไปอาศัยในป่าดิบเขตร้อนชื้นบนหมู่เกาะประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

เงื่อนไขเวลาการอพยพสำคัญ เป็นปัจจัยต่อการอยู่รอดของเหยี่ยวอพยพระหว่างเดินทาง ในขณะที่ช่วงนี้เป็นฤดูฝน แมลง สัตว์น้อยใหญ่อันเป็นอาหารของเหยี่ยวอพยพมีมากพอจะประคับประคองบรรดานักล่าหลายแสนตัวเหล่านี้ ให้มีแรงกล้ามเนื้อบินไปถึงจุดหมายปลายทางที่บ้านในฤดูหนาวได้อย่างปลอดภัย แต่ดินแดนทางเหนือที่เหยี่ยวเลี้ยงลูกโตออกจากรังแล้ว อยู่ในฤดูใบไม้ร่วง อันเป็นสัญญาณชีวิตกระตุ้นเตือนเหยี่ยวอพยพให้เริ่มออกเดินทาง

ในบรรดากองหน้าเหยี่ยวอพยพ 3 ชนิดข้างต้น “เหยี่ยวผึ้ง” และ “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน” เป็นเหยี่ยวอพยพชนิดรวมฝูง ซึ่งจำนวนจะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงขนาดวันละหลายพันตัวในปลายเดือนกันยายน ส่วน “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น” อพยพเป็นรายตัว แต่ละตัวแยกกันมา ไม่รวมฝูงกันมากมายหลายร้อยตัวต่อฝูง ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการชมเหยี่ยวอพยพครึ่งแรก คือตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม จะพบฝูงเหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนจำนวนมาก มีเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นแซมเป็นรายตัวให้เห็นได้ตลอดวัน

Advertisement

แต่ความหลากหลายของชนิดเหยี่ยวจะไม่มากเท่า ครึ่งหลังตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ที่เหยี่ยวอพยพหลักอีก 3 ชนิด ได้แก่ “เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำเหยี่ยวหน้าเทา” และ “เหยี่ยวนกเขาชิครา” จะเดินทางมาสมทบ พร้อมทัพใหญ่ของ “เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ” ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม ที่จำนวนจะพุ่งขึ้นเป็นนับแสนตัวภายใน 2 สัปดาห์แล้วแทบจะหายวับไปกับลมหนาว ต่างจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น เหยี่ยวนกเขาชิครา ที่จะพบอพยพผ่านภาคใต้ได้ตั้งแต่ต้นฤดูไปจนถึงปลายฤดูกาลอพยพ แต่จำนวนกะปริบกะปรอยแทบทุกวัน ไม่ถาโถมเป็น “สายธารเหยี่ยวอพยพ” เหมือนเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ เหยี่ยวหน้าเทา และเหยี่ยวผึ้ง

สำหรับ “เหยี่ยวผึ้ง” ที่ขนาดใหญ่พอๆ กับนกอินทรี มีชื่อชั้นเป็นเหยี่ยวที่มีความผันแปรของชุดขนมากที่สุดในโลก มากกว่า 6 ชุดขน ช่วงต้นฤดูจะพบเหยี่ยวตัวเต็มวัยผ่านในช่วงต้นฤดู หลังจากนั้นเหยี่ยววัยเด็กจะเดินทางตามมา และพบได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนตุลาคม

ดังนั้นถ้าอยากจะเห็นสายธารเหยี่ยวอพยพของเหยี่ยวผึ้ง หรือเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน ปลายเดือนกันยายนต่อต้นเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมครับ

Advertisement

ข้อมูลการเดินทางไปเขาเรดาร์และเขาดินสอ สอบถามที่ ททท.สำนักงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์และชุมพร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image