“ผูกพัน”ด้วยความเข้าใจ

เพราะไปสัมพันธ์กับอะไรเข้า คนเราจะรู้สึกต่อสิ่งนั้น

ชอบ รัก เกลียด ชัง

ที่ชอบ ที่รักก็อยากได้มาอยากอยู่ใกล้ อยากชื่นชม อยากใช้สอย เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

ที่เกลียด ที่ชังก็อยากหนีห่าง อยากติติง ทิ้ง ทำลาย

Advertisement

เมื่อไม่สมกับที่รัก หรือที่ชัง ความหงุดหงิด ไม่ถูกใจ อึดอัด คับข้องเกิดขึ้น เป็นทุกข์

ที่รัก ที่ชอบ เมื่อได้มาสมอยากที่ตามมาคือพยายามรักษาไว้ หรือให้ได้อีกเหมือนที่เคยได้ ต้องดิ้นรนรักษาและให้ได้มาไม่รู้จบ ที่สุดแล้ว ทุกข์ไปอีกแบบ

ที่แนะนำกันมาว่าเป็นหนทางที่ทำให้ใจพ้นจากทุกข์ร้อนคือ “ปล่อยวาง”

Advertisement

“ปล่อยอะไร วางอะไร” เป็นคำถามที่จำเป็นต้องตอบหากจะเลือกเดินในวิถีนี้

ที่สุดแล้วคือ “ปล่อยวางสิ่งที่เราสัมพันธ์”

ลองนึกดูว่าหากเป็นคนหรือสิ่งของใดก็ตามที่เราไม่ได้ไปสัมพันธ์ด้วย หรือให้ชัดคือไม่รู้จัก หากสิ่งนั้นสูญเสียไป เราจะไม่รู้สึกอะไร หรือกระทั่งสิ่งนั้นมาอยู่ใกล้ๆ เรา ก็ไม่รู้สึกอะไรเช่นกัน

แต่คนคนนั้น หรือสิ่งของสิ่งนั้นเรามีความสัมพันธ์ด้วย เมื่อต้องสูญเสีย หรือเมื่อได้พบ ได้เจอ เราจะมีความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ยินดีปรีดา หรือโศกเศร้าเสียใจ

ความรู้สึกนึกคิดทั้งหมดเกิดจากสิ่งที่เราเคยสัมผัสสัมพันธ์ทั้งนั้น

ดังนั้น “การปล่อยวาง” ที่บอกว่าทำให้จิตใจเราปลอดโปร่งโล่งสบายคือ “ปล่อยวางสิ่งที่เรามีความสัมพันธ์” ด้วย

และตรงนี้เองที่น่าจะเป็นเรื่อง “พูดง่าย แต่ทำยาก”

สัตว์โลกทั้งหลายเมื่อเกิดมามีชีวิตย่อมต้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเป็นเรื่องปกติ

การไม่ใช่ในความสัมพันธ์ถูกตีความว่าเป็น “ค่านิยมที่เลวร้าย”

“มิตรภาพ” เป็นสิ่งที่ดีงาม

“ความผูกพัน” มีความหมายเดียวกับความอบอุ่น

คนที่ไร้มิตรจิตมิตรใจต่อสิ่งรอบข้าง ไม่ผูกพันกับอะไร ย่อมคาดเดาได้ว่าผู้นั้นจะต้องเผชิญกับความว้าเหว่ เดียวดาย

ชีวิตที่โดดเดี่ยว ไม่ใช่ชีวิตที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีคุณค่า

เมื่อ “ปล่อยวาง” กับ “โดดเดี่ยว” หรือ “เดียวดาย” คล้ายกับไปด้วยกัน หรือเกิดขึ้นตามกันไป

แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงไม่เป็นเช่นนั้นเสียทั้งหมด

“ผู้ที่อยู่กับจิตที่ปล่อยวางได้อย่างหมดจด” แทนที่จะโดดเดี่ยว เดียวดาย กลับมากมายด้วยบารมี และแวดล้อมด้วยศรัทธาของผู้คน

ไม่คาดหวังในศรัทธา ไม่มุ่งมั่นจะสร้างบารมี แค่เพียงบรรลุถึงสภาวะปล่อยวาง ศรัทธาและบารมีก็เกิดเองโดยไม่ต้องมีใครไปคิดสร้าง คิดสะสมอะไร

ว่าไปที่ควรจะพิจารณาคือจะปล่อยวางสิ่งที่ “สัมพันธ์” หรือ “ผูกพัน” อย่างไร โดยที่ไม่ต้องโดดเดี่ยวตัวเอง

กุญแจที่จะไขไปสู่ความเข้าใจในเรื่องนี้คือ คือ “ความคาดหวัง”

สัมพันธ์อย่างไรโดยไม่ต้องคาดหวังว่าที่เราสัมพันธ์ด้วยนั้นจะเป็นอย่างที่ใจเราอยากให้เป็น

มองให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามปัจจัยที่มาประกอบ ไม่ใช่จะเป็นไปอย่างที่ใจเราอยากให้เป็น เว้นเสียแต่ว่าที่เราอยากให้เป็นนั้นตรงกับที่เกิดขึ้นตามการประกอบกันของปัจจัยต่างๆ

สัมพันธ์ด้วยตื่นรู้ในความเข้าใจนี้

จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ปล่อยวางได้

ปล่อยวางความคาดหวังจากความสัมพันธ์ ด้วยมองเห็นและเข้าใจให้เหตุและผลของการเกิดและความเสื่อมสลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image