‘ตลาดล่าง’ และการเมืองไทยในงานบวช-ศพ-แต่ง

ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติใหม่ หรือ “คำด่าแถวบ้าน” แต่ก็เข้าลู่วิ่งชิงไม้ต่อจาก “อีช่อ” จนเกิดปรากฏการณ์เช็กพจนานุกรมขึ้นมาอีกรอบ เมื่อ ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล หรือเบสท์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 29 พรรคอนาคตใหม่ ทวีตข้อความที่ทวิตเตอร์บัญชี @taweechaibest มีคำสำคัญอย่าง “ตลาดล่าง” ความว่า

“เป็น ส.ส.หรือพระครับ วิ่งรอบออกงานศพขนาดนั้น” พร้อมติดแฮชแท็ก #สสตลาดล่าง พาดพิง ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.หญิงราชบุรี อย่างมิต้องเสียเวลาเดา เพราะในคลิปไลฟ์สดที่ปรากฏข้อความ “ฝากไปบอกอีช่อด้วยนะ” ยังมีเนื้อหาวิพากษ์แนวทางการทำงานของ “พรรคสีส้ม” ว่าเวลาหาเสียงใช้แต่โซเชียลมีเดีย ไม่ได้อยู่กับชาวบ้าน ไม่เคยไปงานใคร ลองเรียกไปทำบุญ จะไปหรือไม่ยังไม่รู้ โดยขณะเจ้าตัวถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กอยู่นั้น ก็เป็นการนั่งรถกลับจากงานศพ

หลังข้อความของอดีตผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่เผยแพร่ออกไป ทำเอาเหล่านักการเมืองต่างๆ ทั้งนอกและกระทั่งในพรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นตักเตือนและติติงอย่างมากมาย ว่าสะท้อนความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ดูแคลนวิถีชีวิตชนบท เช่นเดียวกับ หมอวรงค์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่จี้จุดสำคัญอย่างประเด็นความเท่าเทียมที่อนาคตใหม่ชูนโยบายตลอดมา ทว่า ลูกพรรคกลับมองคนไม่เท่ากันเสียเอง

ไม่เพียงเท่านั้น แวดวงวิชาการ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ก็มองว่าเป็นความไม่เข้าใจในวัฒนธรรม

Advertisement

เมื่อถูกวิพากษ์ในประเด็นดังกล่าว เจ้าตัวได้พยายามอธิบายเพิ่มเติมว่า มีอีกหลายช่องทางที่จะพบปะประชาชนในงานที่ไม่ใช่ส่วนตัว และควรลดค่านิยมในการที่ ส.ส.ต้องไปงานบวช ศพ แต่ง ก่อนปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า ผู้แทนราษฎรจะเอาเงินที่ไหนใช้ทำอย่างอื่นหากต้องวิ่งรอกไปงานเหล่านั้นเดือนละเป็นหมื่น

อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงดังกล่าวไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ทว่า กลับยิ่งลุกลามส่อบานปลาย กระทั่งทางพรรคอนาคตใหม่ต้องสะกิดแจ้งเตือน จนเจ้าตัวเผยแพร่ข้อความ “ขอโทษ” โดยเฉพาะจากการใช้คำ “ส.ส.ตลาดล่าง” ซึ่งถือเป็นการลดทอนคุณค่าผู้อื่น ขัดหลักการพรรค ก่อนที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะหัวหน้าพรรคจะออกมาขอโทษแทนลูกพรรคตัวเองอีกครั้ง

Advertisement

“เราพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ การเมืองที่เมื่อเราทำผิด เราจะกล่าวคำขอโทษ ในนามหัวหน้าพรรค ผมขอโทษแทนอดีตผู้สมัครของเราที่ทวีตข้อความไม่เหมาะสม และขอเตือนใจเพื่อนชาวอนาคตใหม่ทุกคนด้วยความรัก

อย่าชื่นชมกันเองจนเกินงาม ระมัดระวังอย่ายกตนเหนือคนอื่น และอย่าหยาบคายต่อผู้ใดแม้เขาจะเห็นไม่ตรงกับเราก็ตาม การเมืองอย่างสร้างสรรค์เริ่มที่ตัวเรา”

นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าค้นลึกถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่ใต้วิวาทะอันลือลั่น

จากศัพท์เศรษฐกิจ ถึงสแลงเชิงลบกระทบ’ชนชั้น’

ก่อนไปถึงประเด็นอื่นใด ลองมาทำความเข้าใจกับคำ “ตลาดล่าง” ซึ่งในวันนี้เป็นที่รู้จักและถูกใช้อย่างแพร่หลายในฐานะคำสแลง ที่สื่อความในเชิงลบ มีความหมายโยงใยไปถึงผู้คนและพฤติกรรมบางอย่างที่สร้างความเดือดร้อน รำคาญใจ หรือทำในสิ่งที่สังคมอีกกลุ่มมองว่าไม่เหมาะสม รับไม่ได้ โดยส่วนใหญ่ชี้เป้าไปยังกลุ่มเด็กแว้น หรือใครก็ตามที่หลงใหลความโหวกเหวกด้วยเสียงท่อไอเสียรถบิดโชว์ในงานบวช ศพ แต่ง และเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะสงกรานต์ กระทั่งเกิดการติดแฮชแท็ก #ตลาดล่างไม่ใช่สถานที่แต่เป็นผู้คน อย่างกว้างขวาง

หากพิจารณานิยามและตัวอย่างพฤติกรรมของกลุ่มคนที่ถูกตราหน้าด้วยคำว่าตลาดล่าง จะเห็นได้ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ สถานะทางเศรษฐกิจสังคม รวมถึง “ชนชั้น” และความเหลื่อมล้ำ ในเชิง “เหยียดหยาม”

ต่อมา จึงมีความพยายามที่จะให้ความหมายของคำดังกล่าวไว้อย่างหลากหลาย โดยหนึ่งในนิยามที่ได้รับการแชร์ต่อในโลกโซเชียลอย่างแพร่หลายคือ

“ประชากรที่ด้อยทักษะทางด้านการใช้สมองสังเคราะห์เหตุผล ส่งผลให้ไม่สามารถคิดอะไรที่ซับซ้อนได้”

และเน้นย้ำว่า ตลาดล่างไม่มีชนชั้น แต่วัดที่พฤติกรรม ซึ่งมีตัวอย่างจากข่าวดังอย่างคนขับรถหรูซึ่งทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เกิดวลี “รถตลาดบน คนตลาดล่าง”

คำดังกล่าวถูกใช้เรื่อยมา กระทั่งกระหึ่มอีกรอบจากกรณีป่วนโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ เกิดแฮชแท็ก #งานบวชตลาดล่าง สนั่นโซเชียล ก่อนที่จะมีหนุ่มรายหนึ่งตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ระบุว่าจากข่าวงานบวชดังกล่าวทำให้นึกถึงตัวเองซึ่งครั้งหนึ่ง “เคยมีแฟนตลาดล่าง” โดยบอกเล่าพฤติกรรมต่างๆ นานาในแง่ลบ เน้นหนักไปในทาง “ตรรกะบูดเบี้ยว” กลายเป็นกระทู้ดังในชั่วข้ามคืน และยังอยู่ในความทรงจำของชาวเน็ตมาจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะกลายเป็นคำแสดงในนิยามดังกล่าว คำว่า ตลาดล่าง มีมาก่อนแล้วโดยความหมายที่แท้จริงในเชิงเศรษฐศาสตร์ ตามคำอธิบายของ ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอยู่ว่า

“หมายถึงกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อย โดยคำว่า ‘ล่าง’ มาจากคำว่า Lower income ซึ่งในทางการตลาดแต่ดั้งเดิมจะแบ่งคนตามรายได้เพื่อศึกษาพฤติกรรม”

สำหรับการแบ่งส่วนตลาดจากรายได้ แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

1.Upper upper คือชนชั้นสูงรายได้สูง เช่น กลุ่มเศรษฐีเก่า

2.Lower upper คือชนชั้นสูงรายได้ต่ำ เช่น เศรษฐีใหม่

3.Upper middle คือชนชั้นกลางรายได้สูง เช่น CEO ผู้จัดการ

4.Lower middle คือชนชั้นกลางรายได้ต่ำ เช่น มนุษย์เงินเดือน

5.Upper lower คือกลุ่มชนชั้นล่างรายได้สูง เช่น แรงงานรายวัน และ

6.Lower lower คือชนชั้นล่างรายได้ต่ำ เช่น คนว่างงาน คนไร้ฝีมือ ซึ่งมักจะอาศัยเงินประกันสังคมจากรัฐ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการแบ่งส่วนตลาดด้วยปัจจัยรายได้เป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว

“ในแวดวงการตลาดถือว่าการแบ่งส่วนตลาดด้วยปัจจัยรายได้เป็นเรื่องที่ล้าสมัย เนื่องจากปัจจุบันจะใช้การแบ่งส่วนตลาดตามปัจจัยหลายประการ เช่น บุคลิกลักษณะส่วนบุคคล แรงจูงใจ ความต้องการ รวมทั้งรายได้ เป็นต้น ซึ่งทำให้มีการแบ่งส่วนการตลาดใหม่ๆ เช่น กลุ่ม Price sensitive buyer กลุ่ม Image buyer หรือกลุ่ม Value buyer” ผศ.ดร.วิเลิศกล่าว

วัฒนธรรมการเมืองไทย ใน’งานบวช ศพ แต่ง’

จากความหมายในเชิงเศรษฐศาสตร์ยังมีประเด็นน่าสนใจที่เชื่อมโยงได้กับการเมือง เพราะจากมุมมองทางการตลาด “ตลาดล่าง” คือพลังสำคัญ ไม่ว่าจะในแวดวงธุรกิจและการเมือง ต่างก็เลือกจับกลุ่มลูกค้าตลาดล่าง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ แม้แต่กวีดัง อย่าง เพียงคำ ประดับความ ก็เคยใช้คำว่า “ตลาดล่าง” ในบทกวีท่ามกลางกิจกรรม คนอยากเลือกตั้ง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า พวกตนคือคนตลาดล่าง ที่ต้อง “ก้มหน้าทนกัดก้อนเกลือ” ไม่ว่านั่นจะเป็นการเสียดเย้ย ยอมรับ หรือตัดพ้อ ก็ล้วนสะท้อนถึงภาพบางประการอย่างแจ่มชัด

ประเด็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศยังชวนให้นึกถึงความเห็นของ วัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ อดีต ส.ส.สังกัดพรรคภูมิใจไทย หนึ่งในผู้ออกมาโพสต์ติงปม #สสตลาดล่าง โดยระบุว่าขอเป็น “ส.ส.ตลาดล่างที่อยู่กับประชาชนตลอดไป” ความตอนหนึ่งว่า

“ถึงมันจะเหนื่อยแต่ผมก็เต็มใจ ไม่มีใครบังคับ เพราะเจ้าภาพให้เกียรติผม ถ้าหาเสียงแบบพวกคุณแล้วได้เป็น ส.ส.ตลาดบนผมก็ขอเป็น ส.ส.สอบตกและเป็น ส.ส.ตลาดล่างที่อยู่กับประชาชนตลอดไป เชิญพวกคุณเป็น ส.ส.ตลาดบนคอยส่องเฟซบุ๊กตลาดล่างอย่างผมออกงานไปเถอะครับ”

อดีต ส.ส.ภูมิใจไทยยังเล่าบรรยากาศการ “วิ่งรอก” ไปงานศพ เพื่อทอดผ้าไตร ซึ่งบางครั้งเหนื่อยแทบขาดใจ ใน 1 คืนนั่งรถตระเวน 3-4 อำเภอ ขึ้น 3-4 เวที น้ำสักอึกบางงานยังไม่ได้ดื่ม แต่แม้เหนื่อยเพียงใดก็เต็มใจ เพราะอยู่กับชาวบ้านจนเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง

“ผมไม่ใช่พระหรอกครับที่วิ่งรอกรับงานศพ แต่ที่ไปงานศพนั้นๆ เพราะคนบ้านนั้นเค้าสนิทกับผม มีบุญคุณกับผม มันอยู่กับชาวบ้านมาจนเหมือนเป็นพี่น้องไปแล้ว ไม่เคยเลยที่จะไปขอทอดผ้ามีแต่ไปขอโทษที่มาทอดผ้าไตรให้ไม่ทันเพราะแต่ละวัดมันไกลกันมาก ผมมาไม่ทันจริงๆ”

เช่นเดียวกับ ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทยอีกเช่นกัน ที่ออกมาจวกปมดูแคลนวิถีชีวิตคนชนบท และยืนยันว่าตนจะไปร่วมงานบวช ศพ แต่งของชาวบ้านต่อไป ตราบใดที่ประชาชนยังต้องการ

“จริงอยู่ที่วิธีการของพวกคุณเป็นวิธีการที่น่าสนใจศึกษาสำหรับพรรคการเมืองอื่น และผู้แทนท่านอื่นอย่างยิ่ง แต่การไปดูถูกวิถีชีวิตของคนชนบทเช่นนั้นมันไม่น่าใช่วิธีการของคนที่อ้างตัวว่าเป็นคนรุ่นใหม่แบบคุณ ใช่หรือไม่ ตนเป็นคนหนึ่งที่ไปร่วมงานศพ บวช แต่ง ของชาวบ้านทุกงานที่ส่งการ์ดหรือโทรศัพท์มาเชิญตน และผมก็จะทำต่อไปตราบใดที่ชาวบ้านยังต้องการให้ตนทำ

ผมไม่เชื่อว่าเขาหวังเงินใส่ซองเพียงเล็กน้อยจากผม และเชื่อว่าเขามองผมเสมือนญาติ ที่อยากให้ไปร่วมดีใจและเสียใจกับเขาในโอกาสต่างๆ นี่คือเสน่ห์ของชนบทวิถีที่ไม่อาจสัมผัสได้บนโลกโซเชียลของคุณ”

จากคำบอกเล่าของนักการเมืองที่รับว่าวิ่งรอกออกงานเพื่อสัมผัสประชาชน มาร่วมวิเคราะห์วัฒนธรรมการเมืองไทยผ่านงานมงคลและอวมงคลเหล่านี้ไปด้วยกัน ว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร?

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า ในสังคงไทยนั้น ภารกิจของ ส.ส.สัมพันธ์กับชาวบ้านโดยตรง โดยเฉพาะชาวบ้านในต่างจังหวัดจะมี ส.ส.เป็นเสมือนหนึ่งผู้นำทางสังคม ดังนั้น เมื่อ ส.ส.ไปงานศพ งานแต่ง งานบวช จึงถือเป็นการให้เกียรติ จะสังเกตได้ว่าแทบไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอซึ่งเป็น “ชนชั้นปกครอง” ไปงานเหล่านี้ ส.ส.จึงกลายเป็นแกนหลักของสังคมวัฒนธรรมของชาวบ้าน เป็นตัวแทนในการปะทะกับข้าราชการประจำ

“การเมืองไทยตลอด 80 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง บทบาทนี้ของ ส.ส.มีเยอะมาก เพราะท้องถิ่นไทยอัตคัดขาดแคลน ภารกิจนี้จึงถูกสร้างจนเป็นเสมือนหนึ่งวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมา ดังนั้น กิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมย่อมเป็นส่วนหนึ่งของมิติภารกิจของ ส.ส.ด้วย” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์สรุป

เมื่อถามต่อไปว่า หากความอัตคัดของท้องถิ่นไทยเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมดังกล่าว แล้วประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเลือกตั้ง อย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอื่นๆ ส.ส.ของเขาก็ตบเท้าเข้าร่วมงานวิวาห์จนถึงพิธีศพด้วยหรือไม่?

อาจารย์รัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอาเซียนท่านนี้ ตอบทันทีว่า

“ไปครับ (หัวเราะ) ยิ่งเป็นประเทศด้อยพัฒนา บทบาทของผู้แทนประชาชนจะสัมพันธ์กับกิจกรรมทางสังคมสูงมาก ในขณะที่สังคมเมืองหรือประเทศพัฒนาแล้ว ผู้คนจะเรียกร้องบทบาทของ ส.ส.ในฐานะผู้นำทางด้านปัญญา การสร้างสรรค์ หรือการเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม ไม่ใช่การไปงานส่วนตัว ยิ่งเศรษฐกิจดี คนก็ยิ่งไม่เรียกร้องกิจกรรมเหล่านี้ ยกเว้นกิจกรรมทางสังคมที่เป็นส่วนรวม ไม่ใช่กิจกรรมที่เป็นส่วนตัว อย่างงานศพ งานแต่ง งานบวช แต่ของไทยผนึกกันหมด ทั้งส่วนตัว ส่วนรวม เหมือนๆ กับสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด”

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

การเมืองใหม่’ใส่ซอง วิ่งรอก’ต้องปรับทัศนคติ?

มาถึงตรงนี้ ย่อมไปถึงประเด็นที่อดีตผู้สมัคร ส.ส.เจ้าของแฮชแท็ก #สสตลาดล่าง เคยตั้งคำถามไว้ว่า การไปร่วมงานต่างๆ ของชาวบ้านหากใส่ซองละ 500 วันละ 3 งาน จะใช้เงินตกราว 30,000 บาทต่อเดือน ถามว่า ส.ส.จะเอาเงินที่ไหนไปใช้ทำอย่างอื่น จึงควรลดค่านิยม ส.ส.ไปงานส่วนบุคคล แต่สามารถพบปะประชาชนได้ตามงานชุมชน งานประชุม และการลงพื้นที่โดยตรง

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ รับว่า ภารกิจเหล่านี้ในด้านหนึ่งก็มีค่าใช้จ่าย ทั้งด้านเงินทองและเวลาสูงมาก ทำให้กลายเป็นภาะผูกพันสำหรับ ส.ส.ที่ไม่มีฐานทางเศรษฐกิจ ลองคิดดูว่าการต้องไปงานอย่างนี้ทุกวันต้องใช้เงินมากกว่าเงินเดือน ส.ส.เสียอีก ดังนั้น หากต้องการการเมืองแบบใหม่ อาจต้องปรับทัศนคติการใส่ซองของ ส.ส. โดยไปปรากฏตัวเป็น “สัญลักษณ์” ในการเป็นตัวแทนประชาชนก็พอแล้ว

“เงินที่ ส.ส.ใส่ซองตอนไปร่วมงานไม่เยอะหรอก แต่ลองคิดถึงการต้องไปงานอย่างนี้ทุกวัน ค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากกว่าเงินที่ได้รับจากการเป็น ส.ส.เสียอีก ส่วนตัวคิดว่าควรลดทอน ลดข้อเรียกร้องสำหรับการใส่ซอง อาจไปปรากฏตัวเป็นสัญลักษณ์ในการเป็นตัวแทนของประชาชนเป็นหลัก แต่สิ่งเหล่านี้ยังเป็นฐานทางสังคมวัฒนธรรมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อย่างไรก็ตาม ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอีกระดับหนึ่ง เพราะประชาชนในจังหวัดต่างๆ มีฐานทางเศรษฐกิจของตนเองสูงมาก แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าเป็นเกียรติที่ ส.ส.ไปร่วมงาน”

ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว การไปงานบวช ศพ แต่ง ของเหล่านักการเมืองจะถูกมองในมุมใด แต่สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือวาทะ ส.ส.ตลาดล่าง ที่ถูกเชื่อมโยงกับกิจกรรมดังกล่าว คือบทเรียนของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ไม่เพียงต้อง “คิดก่อนพูด” ยังต้อง “คิดก่อนโพสต์” ทั้งในทุกๆ ตัวอักษร และ “ระหว่างบรรทัด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image