สุวรรณภูมิในอาเซียน : ไทยและอุษาคเนย์ มีประวัติศาสตร์มรดกของอาณานิคม

บทเสวนาโดยสรุปของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

[ถอดเทปโดย พรอินทร์ ชัยบัตร์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่]

เวทีเสวนา “มองประเทศไทยจากโลกของอุษาคเนย์ : ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ 3 อาณาจักร”

งานเปิดตัวหนังสือ “ว่างแผ่นดิน” ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562

Advertisement

ประวัติศาสตร์คนละแบบ

ประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยบรมสมกัลป์ เพราะว่าคนในสังคมในโลกนี้ก็ต้องสร้างสำนึกเกี่ยวกับอดีตด้วยเหตุนี้ทั้งนั้น

แต่มันไม่ใช่เป็นประวัติศาสตร์ในลักษณะที่เราเข้าใจในปัจจุบัน พูดง่ายๆ กว่านั้นก็คือว่าฝรั่งไม่ได้คิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประวัติศาตร์

Advertisement

ทั้งๆ ที่จริงแล้วมันเป็นประวัติศาสตร์ชนิดหนึ่ง มันเป็นวิธีเขียนประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากวิธีที่เราใช้ในปัจจุบัน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ แนะแนวทางศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้หลุดกรอบอาณานิคม


ความเป็นอาณานิคม ในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์

เฉพาะประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ที่เริ่มตั้งแต่สมัยอาณานิคม และความเป็นอาณานิคมมันเข้าไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างมากทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งอย่างหลังค่อนข้างมีความสำคัญ

อันแรกสุดของความไม่ตั้งใจที่ว่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เป็นของทั้งภูมิภาคหรือเป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่มันแบ่งระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา ดัตช์

เพราะฉะนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ การเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยวิธีการแบบตะวันตก มันจึงเป็นการศึกษาประเทศที่แตกแยกออกจากกัน เช่น ดัตช์ก็ศึกษาส่วนที่เป็นอาณานิคมของเขาและค่อนข้างจะเน้นหนักที่ชวา เพราะว่าเขาอยู่กับชวามานานกว่าส่วนอื่นๆ ของเอเชีย ก็แน่นอนว่าฝรั่งเศสก็อยู่ในอินโดจีน อังกฤษก็อยู่ในพม่า มลายู

ลักษณะการแบ่งออกเป็นส่วนๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้คุณไม่เห็นภูมิภาคอย่างนี้ และเป็นมรดกสืบต่อมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะประเทศที่เป็นอาณานิคมเหล่านี้โผล่ขึ้นมาเป็นรัฐชาติ

และแต่ละรัฐชาติเหล่านี้ก็อยากมีอดีตเป็นของรัฐชาติของตน ไม่ว่าจะแต่งบ้าง มั่วบ้าง ออกมาเป็นประวัติศาสตร์ไทย, ประวัติศาสตร์พม่า, ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียก็ตาม และความพยามที่จะศึกษาดินแดนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นภูมิภาคเดียวกัน มันจึงไม่เกิดขึ้น

คุณจะเห็นการเขียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่นแรกๆ มันคือประวัติศาสตร์ของประเทศทั้งหลายในแถบนี้ 10 หรือ 9 ประเทศเอามารวมในเล่มเดียวกัน และสร้างชื่อปกว่า A History Of Southeast Asia แต่ข้างในก็เป็นประวัติศาสตร์ของทุกประเทศ ไม่เห็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตรงไหนเลยนอกจากชื่อหนังสือ เป็นต้น

ประการที่สองที่เป็นมรดกของยุคอาณานิคมเช่นเดียวกัน มันไม่มีนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน คนที่เข้ามาศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรุ่นแรกๆ ล้วนแล้วแต่เป็นนักศึกษาอารยธรรมอินเดีย Indologist หรือเป็นนักศึกษาอารยธรรมจีน Sinologist

ฝรั่งในศตวรรษที่ 19 สนใจเอเชีย มันก็มีอยู่แค่ 3 จุดก็คือแถวเปอร์เชีย-ตุรกี ที่เป็นอำนาจใหญ่ที่เป็นตัวแทนอารยธรรมอิสลาม อินเดียและจีน ที่เหลือคือ น้องหรือพี่ของชาวแอฟริกันไม่ต้องไปสนใจ เพราะฉะนั้นไม่มีเลยนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เหตุดังนั้น ภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนักประวัติศาสตร์ในยุคแรกๆ จึงค่อนข้างเน้นหนักไปสู่ยุคสมัย ไปสู่เรื่องราวสมัยที่ยังเป็นคลาสสิคอยู่ คือมันใกล้จีนและอินเดีย

ถ้าเป็นนักวิชาการฝรั่งเศสที่ศึกษาเวียดนามก็จะไปดูถึงการปกครองจีนในเวียดนามว่ามันมีอะไรบ้าง มันนำอะไรมาให้แก่ชาวเวียดนามบ้างที่ถือได้ว่าเป็นอารยธรรม

เช่นเดียวกับกัมพูชา, พยูในพม่า เป็นต้น มันจะค่อนข้างเน้นสิ่งเหล่านั้น และนำไปสู่การศึกษาที่คนสมัยนั้นเห็นว่าเป็นอารยธรรม เป็นต้นว่าปราสาทหินมหึมาก็น่าตื่นเต้นประทับใจ ก็ศึกษาเรื่องเหล่านี้เป็นหลัก

มุมหนึ่งของการเสวนา ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562

อคติต่อความเป็นพื้นเมือง

ผลจากการศึกษาสิ่งเหล่านี้ทำให้ทอดทิ้งสิ่งต่างๆ อย่างไม่ตั้งใจอยู่ 2-3 อย่าง

1. ไม่สนใจชาวพื้นเมือง คือมองเห็นปราสาทหินก็ตกตะลึง ไปศึกษาแต่ปราสาทหินแต่ไม่สนใจตัวดำๆ ที่วิ่งอยู่ในปราสาทหินว่าพ่อเป็นใคร ปู่เป็นใคร ทวดเป็นใคร สนใจใครก็ไม่รู้ที่เป็นคนสร้างปราสาทหินอันนี้มากกว่า

2. ไม่สนใจหลักฐานพื้นเมือง เพราะหลักฐานพื้นเมืองที่เป็นหลังสมัยคลาสสิค คุณอ่านแล้วก็ลมจับ มันอ่านแล้วก็นิทานทั้งนั้น เรื่องโกหกทั้งนั้น ไม่มีใครพยายามฟันฝ่าพงศาวดาร ฟันฝ่าตำนานว่ามันบอกอะไรกับเรา ไม่จำเป็นต้องบอกความจริงในยุคโบราณหรือยุคที่เขาเล่าก็ได้ เขาไม่สนใจ

มันไม่เหมือนจารึกที่บอกชัดๆ เลยว่าพระเจ้า ก. พระเจ้า ข. อันนี้ยกให้เป็นพ่อตนเอง อันนี้ยกให้เป็นแม่ตนเอง หรืออะไรก็แล้วแต่ มันชัดเจนเลยเหมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์แบบตะวันตกแบบชัดๆ โดยที่คุณไม่ต้องผ่านการตีความ

ทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์แบบตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นหลักฐานพื้นเมืองถูกทิ้งค่อนข้างมาก ทั้งนี้ไม่นับส่วนที่มันใกล้วัฒนธรรม

เพื่อความยุติธรรมก็ควรบอกด้วย ว่าในชวามีงานศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมชวาที่เขาเรียกว่า กากะวิน เป็นกวีนิพนธ์ชั้นสูงที่ใช้ภาษาโบราณ พวกนี้ก็มีลักษณะคล้ายปราสาท แต่เป็นปราสาทที่อยู่ในหนังสือ เพราะฉะนั้นตัวคนจริงๆ มักไม่ได้รับความสนใจ

คนที่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ของชวาบ้าง มีคนแปลบางส่วนแต่ไม่มีคนสนใจ เพราะคล้ายๆ กับพงศาวดารไทย เต็มไปด้วยเรื่องแปลกประหลาด อภินิหารอยู่ในนั้นเยอะแยะไปหมด

3. มีอคติบางอย่างในการศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านั้น วารสารของสมาคมวิจัยพม่ามีคนเขียนยิ่งใหญ่มาก แต่พอไปศึกษาจริงๆ พบว่าจริงๆ คนทำมีเจตนารมณ์อย่างหนึ่งแต่แรก คืออยากสร้างฟื้นฟูระเบียบสังคมพม่าเพื่อให้พม่าสามารถเป็นประเทศเอกราชได้ในชาติหน้าตอนบ่ายๆ

แต่ระเบียบของสังคมคืออะไรในทัศนะของคนทำเหล่านี้ คิดว่าต้องเอาวัฒนธรรมพม่าเป็นแกนกลาง ต้องรื้อฟื้นสิ่งที่เป็นพม่า คือคนที่เป็นชาติพันธุ์พม่า ไม่รวมชาติพันธุ์อื่น และมีการกีดกันคนที่ไม่เห็นด้วยออกไปด้วยวิธีต่างๆ และวารสารต่างๆ ในสมัยนั้นล้วนแล้วแต่มีเบื้องหลังทางการเมืองทั้งสิ้น

กรณีกัมพูชา มีการส่งเสริมการตั้งสถาบันบาลีขึ้นในกัมพูชา เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังนั้นเพื่อไม่ให้พระเขมรเดินทางเข้ามาเรียนเปรียญในวัดบวรประเทศไทย จะทำยังไงถึงจะทำให้เขมรพึ่งพาตนเองโดยไม่ต้องพึ่งสยามได้ ก็ทำโดยสร้างโลกเรียนบาลีชั้นเยี่ยมขึ้นมาในกัมพูชา เป็นสาขาของวิทยาลัยฝรั่งเศสภาคตะวันออกไกลขึ้นมา

Indianization สมัยอาณานิคม

เพราะขาดแนวคิดบางอย่างที่จะทำให้สามารถมองเห็นภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคหนึ่งที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แนวคิดที่มีไม่เพียงพอ เป็นต้นว่าคุณมีความคิดในสมัยอาณานิคมว่าแถวนี้ได้รับอิทธิพลจากจีนหรืออินเดียทั้งนั้นแหละ เป็นแนวคิด Indianization ไม่เพียงพอที่ทำให้มองเห็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

ทั้งหมดเหล่านี้สืบมาจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 20 จะเริ่มพบว่านักประวัติศาสตร์ในปลายศตวรรษที่ 20 ต้นศตวรรษที่ 21 ที่จะเริ่มสร้างประวัติศาสตร์ภูมิภาคขึ้นมาแล้วมองเห็นความเชื่อมโยงกันและกัน

งานหนึ่งของ Anthonyั้Reid คือ Southeast Asia in The Age of Commerce ผมว่ามันเปรี้ยงเดียวมันมองเห็นทั้งภูมิภาคผ่านประสบการณ์ที่อธิบายกันและกันได้ ซึ่งผลของการศึกษาเชิงเปรียบเทียบอย่างนี้ มันทำให้สามารถเติมเต็มส่วนที่เป็นรอยโหว่ของประวัติศาสตร์ในชาติอื่น เช่นคุณศึกษาประวัติศาสตร์มาเลเซียและคุณจะพบว่าเรื่องนี้มันไม่ปรากฏและมันไปปรากฏอยู่ในงานบางอย่างของประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย

ไม่เรื่องวิธีการวิเคราะห์ แต่มันใช้ได้กับประวัติศาสตร์อินโดนีเซียซึ่งมีหลักฐานในเรื่องนั้นมากกว่า คุณสามารถเอาแนววิเคราะห์นั้นกลับมาใช้ในมาเลเซียได้ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานในมาเลเซียของเรื่องนั้นๆ ได้ อันนี้ Reid บอกว่ามันเป็นผลพลอยได้ที่สำคัญมากของการศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ

ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ

กล่าวโดยสรุปก็คือถึงเวลาที่ประเทศไทยจะร่วมมือกันในการทำงานเชิงเปรียบเทียบเหล่านี้มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้การศึกษาแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเดี๋ยวนี้แทบจะมีในทุกมหาวิทยาลัยไปแล้ว กลายเป็นการศึกษาในภูมิภาคจริงๆ ไม่ใช่ศึกษาแค่เฉพาะบางประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image