ใหญ่สุดในอาเซียน Fi Asia 2019 โชว์ส่วนผสมอาหาร ยกระดับคุณภาพเพื่อผู้บริโภคยุคดิจิทัล

จบลงไปแล้วสำหรับ Fi Asia 2019 ซึ่งเป็นงานแสดงส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่จัดสลับระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย โดย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) เปิดฉากงานฟู้ดอินกรีเดียนท์เอเชีย 2019 หรือ Fi Asia 2019 งานแสดงสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนที่ผ่านมา ณ ไบเทค บางนา มียอดผู้ลงทะเบียนเข้าชมงานกว่า 20,000 คน จากผู้ประกอบการของไทย 60%, อาเซียน 25% และอินเดียและจีน 10% ตามลำดับ ฉายภาพชัดถึงการแข่งขันและการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและตอบรับยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น

มนู เลียวไพโรจน์ ประธานประเทศไทย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า ปีนี้มีการเติบโตของงานเพิ่มขึ้นจากการจัดในปี 2560 ถึง 25% พื้นที่จัดแสดงสินค้าครอบคลุมระหว่างฮอลล์ 101-104 ที่ไบเทค บางนา และมีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้ามากถึง 750 บริษัท จาก 50 ประเทศทั่วโลก พร้อมผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าแล้วกว่า 10,000 ราย โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 20,000 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศไทย 60% รองลงมาได้แก่ ประเทศในกลุ่มอาเซียน 25%, และจากประเทศจีนและอินเดีย 10% ตามลำดับ โดยจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการจากฝั่งเอเชียมีความตื่นตัวในการเข้าร่วมชมงานมากที่สุด เนื่องจากการแข่งขันในวงการอาหารและเครื่องดื่มของเอเชียมีความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันต่อความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของเอเชียก็มีโอกาสและตลาดใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการผลิตเท่านั้นจึงจะสามารถฉวยโอกาสเหล่านี้เอาไว้ได้ โดย Fi Asia 2019 เป็นอีกหนึ่งเวทีของธุรกิจการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ครบครันไปด้วยองค์ประกอบที่ผู้ประกอบการต้องการ

ด้าน รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ ภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้อำนวยการการจัดงาน Fi Asia 2019 ระบุว่า เมื่อดิจิทัลกำลังเข้ามาแทนที่ทุกอย่าง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพของทั้งประเทศไทยและของโลกจึงต้องปรับตัวตามให้ทัน โดยจะเห็นได้ว่าองค์กรขนาดใหญ่ของวงการอาหารมีการใช้ฟู้ดเทคหรือเทคโนโลยีและนวัตกรรมนำหน้าไปก่อนแล้ว ผู้ประกอบการขนาดย่อมลงมารวมไปถึง SME จึงต้องรีบปรับตัวตามให้ทัน ก่อนที่จะอยู่ในอันดับรั้งท้ายของตลาด โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าฟู้ดเทคทั่วโลกจะสูงถึง 250.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 โดยในจำนวนนี้จะมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์

Advertisement
รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ ภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์

“ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยนั้นได้รับการยอมรับในเวทีโลกอยู่แล้ว เพียงแต่เรายังขาดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าที่มีอยู่ให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองในการขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ และเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยที่มีมูลค่าประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท มีการเติบโตและสามารถสร้างฐานความนิยมในตลาดต่างๆ ทั่วโลก Fi Asia 2019 จึงเปิดเวทีการเจรจาธุรกิจขึ้นอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ได้ขยายขีดความสามารถและเสริมศักยภาพการผลิตให้รั้งตำแหน่งผู้นำ สมฐานะการเป็นครัวโลก เราได้นำผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำจากทั่วโลก มาจัดแสดงสินค้าและนวัตกรรม กว่า 750 บริษัท จาก 50 ประเทศ รวมถึง 8 พาวิลเลียนนานาชาติ จากสหรัฐอเมริกา จีน ไอร์แลนด์ ยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และไทย นอกจากนี้ยังมีงานประชุมวิชาการและสัมมนาหลากหลายหัวข้อ และการจัดพื้นที่แสดงสินค้าจากการจัดการแข่งขันการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสำหรับ Start-up และนิสิตนักศึกษา รวมถึงกิจกรรมด้านนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำเสนอเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคในอนาคต” รุ้งเพชรกล่าว

รุ้งเพชร ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงสิ่งที่น่าจับตามองของอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันว่า ‘เวียดนาม’ กำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตและแข่งขันกับไทยด้วยราคาที่ถูกกว่า ส่วนประเทศคู่ค้าใหม่ๆ ที่ไทยควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ที่มีการนำเข้าอาหารแปรรูปจากต่างประเทศ และมีความต้องการในผักผลไม้แปรรูปบรรจุกระป๋อง, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เพิ่มความต้องการในอาหารเส้น พาสต้า และข้าว จากปัจจัยของคนต่างชาติที่เข้าไปอยู่อาศัยและทำงานจำนวนมากขึ้น, สหรัฐอเมริกา ที่มีตลาดอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกมูลค่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้สหรัฐเป็นตลาดออร์แกนิกขนาดใหญ่ของโลก, ตุรกี ที่มีอุตสาหกรรมน้ำผลไม้พร้อมดื่มเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีปริมาณการจำหน่ายน้ำผลไม้พร้อมดื่มมากถึง 1,033.8 ล้านลิตร ซึ่งสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการเหล่านี้ ล้วนเป็นสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไทยสามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพ

Advertisement

แต่การไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ พร้อมกับพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการนำนวัตกรรมมาแปรรูปวัตถุดิบให้กลายเป็นส่วนผสมอาหารนั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image