สู่ ‘เดือนตุลา’ วันนี้ของประวัติศาสตร์ พรุ่งนี้ของความทรงจำ

โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” Documentation of Oct 6 คือแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Online archives) ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อต่ออายุความสนใจและการค้นคว้าเกี่ยวกับ 6 ตุลาให้ไปอีกไกลในอนาคต และเพื่อต่อสู้กับความพยายามทำให้สังคมลืม 6 ตุลา (ที่มา : https://doct6.com)

นี่คือ 24 ชั่วโมงแรกของ ‘ตุลาคม’ เดือนที่มากมายด้วยความทรงจำอันเจ็บปวดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

14 ตุลาคม 2516

6 ตุลาคม 2519

คือเหตุการณ์นองเลือดที่คงไม่ต้องเอ่ยซ้ำในรายละเอียดซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลเบื้องต้นได้จาก “กูเกิล” เพื่อศึกษาเรียนรู้ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบัน

Advertisement

ภาพจำในช่วงหลังๆ คืองานรำลึกที่จัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ทว่า ยิ่งใหญ่ด้วยฝูงชนมากมายที่เดินทางเข้าร่วมในแต่ละปีจนแน่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งงานเสวนาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีแง่มุมหลากหลาย ไม่เพียงย้อนรำลึกซ้ำมาซ้ำไป หากแต่จุดประเด็นใหม่ๆ ที่น่าสนใจยิ่ง

“ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการผลิตซ้ำและกล่าวใส่ร้าย วันนี้ยังมีการผลิตซ้ำมากมายมหาศาล น่าสนใจมากที่ 42 ปีผ่านไปเรายังอยู่ที่เดิม…” คือคำกล่าวของ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมปีที่แล้ว ในบรรยากาศที่มากมายด้วยพาดหัวข่าวโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงจากสื่อบางสำนักที่ส่วนหนึ่งอาจเข้าข่าย “ป้ายสี” จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงความคล้ายคลึงกับ “ดาวสยาม” หนังสือพิมพ์ที่ปลุกปั่นและกระจาย “เฟคนิวส์” สู่สังคมอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์อ่อนไหวในอดีต

Advertisement

ไม่เพียงงานรำลึกและเสวนา ทว่ายังมีโครงการเดินหน้าค้นหาความจริง ปะติดปะต่อข้อมูล รวบรวมพยานหลักฐาน เปิดเผยเอกสารสำคัญในลักษณะ “ฐานข้อมูล” ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าไปค้นคว้าผ่านโลกออนไลน์ โดยไม่ใช่ “ความลับ” อีกต่อไป ดังเช่น “โครงการบันทึก 6 ตุลา” ที่เริ่มก่อร่างสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2559 โดยมีหัวเรือหลักคือ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยและผู้สร้างหนังซึ่งมีการรวบรวมภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ

“40 ปีที่ผ่านมามีการใช้รูปผิดฝาผิดตัวอยู่เสมอ สำหรับเราถ้าคุณจะให้เกียรติคนตาย คุณต้องเข้าใจมากที่สุดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา ต้องไม่เอารูปผิดฝาผิดตัวมาใช้แล้ว ต้องไม่เล่าเรื่องที่เกิดจากการผสมปนเปจากการฟังต่อๆ กันมา” รศ.ดร.พวงทองกล่าวกับ “มติชน” ในขณะนั้น ก่อนที่จะเปิดตัวเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” www.doct6.com ในเดือนกันยายน พ.ศ.2560 ในฐานะแหล่งข้อมูลออนไลน์ ด้วยความคาดหวังที่มุ่งเก็บรวบรวมและจัดระบบข้อมูลที่กระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อการค้นคว้าต่อยอดใน “อนาคต”

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์


เขาคือใคร? ใน 6 ตุลา

หนึ่งในการค้นพบหลักฐานใหม่ที่น่าสนใจ คือการไขปริศนา “ชายไม่ทราบชื่อ” ให้ใบหน้าของบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้นี้ค่อยๆ กระจ่างชัด นับแต่เมื่อ อาจารย์วิภา ดาวมณี ได้รับรูปถ่ายจำนวน 9 ใบ ทางไปรษณีย์จากผู้ไม่ระบุนาม ในซองจดหมายมีแต่รูปถ่าย แต่ไม่บอกรายละเอียดว่าผู้ชายวัยกลางคนใส่เสื้อลายดอกที่ปรากฏในภาพคือใคร หลังจากตรวจสอบกับรายงานชันสูตรพลิกศพ จึงได้ข้อสรุปว่าชายคนนี้ชื่อ ปรีชา แซ่เฮีย หนึ่งในเหยื่อห้าคนที่ถูกแขวนคอบริเวณท้องสนามหลวงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519

“เป็นเวลาหลายปีที่เราก็ไม่รู้ว่าชายคนนี้คือใคร ทำไมเขาจึงถูกลากลงจากรถเก๋งและถูกนำไปแขวนคอ แสดงว่าต้องมีคนรู้จักเขาและชักชวนมวลชนที่กำลังบ้าคลั่งให้รุมทำร้ายเขา แต่ในที่สุด โครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ได้รับการยืนยันจากคนที่รู้จักคุณปรีชาว่า ในขณะนั้นคุณปรีชาอยู่ในกองบรรณาธิการของนิตยสาร ‘เอเชียวิเคราะห์ข่าว’ ซึ่งเป็นหนังสือที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง เพื่อนร่วมงานกล่าวว่าเขาเป็นชายหนุ่มที่มุ่งมั่น ขยันและมีน้ำใจ เขาทำหน้าที่หลายอย่าง โดยเป็นคอลัมนิสต์ แปลบทความจากภาษาจีนเป็นภาษาไทย และรับจัดส่งนิตยสารจากโรงพิมพ์ละแวกบางลำพูไปส่งยังแผงหนังสือต่างๆ ทั่วกรุงเทพ นอกจากนี้ คุณปรีชายังเคยเป็นครูสอนภาษาจีนในโรงเรียนจีนแห่งหนึ่งย่านบางรักด้วย”

คือ ข้อความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” พร้อมภาพชุดสุดสะเทือนใจในเหตุการณ์อันเจ็บปวดของทั้งสังคมไทยและครอบครัวผู้เสียชีวิต

ทางโครงการยังระบุด้วยว่า ได้รับรูปถ่ายเพิ่มเติมจาก แฟรงค์ ลอมบาร์ด (Frank Lombard) นักข่าวต่างประเทศผู้อยู่ในเหตุการณ์ พบว่าปรีชาถูกแขวนคอบริเวณใกล้กับตึกราชบัณฑิตยสถาน (ตึกแดง) ราว 10.45-11.00 น.

รายงานชันสูตรพลิกศพชี้ว่าถูกทารุณกรรมอย่างเหี้ยมโหดก่อนจบชีวิตอย่างน่าเศร้าด้วยวัยเพียง 25 ปี

นอกจาก ปรีชา แล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 จนถึงมีนาคม 2561 โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ยังสามารถติดต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ 19 ราย โดย 6 ครอบครัว ยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ ติดต่อเพื่อนของผู้เสียชีวิต 3 ราย นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อครอบครัวของ ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา พนักงานการไฟฟ้า 2 คน ที่ถูกแขวนคอบน “ประตูแดง” ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ได้สำเร็จ

เป็นความคืบหน้าที่ทำให้สังคมไทยได้ยินเสียงของ “เหยื่อความรุนแรง” ตะโกนก้องอีกครั้งผ่านปากคำของครอบครัวอีกครั้ง

ย้ายประตูแดง (ภาพจาก VOICE TV)


ย้าย’ประตูแดง’ตราบาป’ความรุนแรงจากรัฐ’

ไม่เพียงได้พูดคุยกับครอบครัว 2 ช่างไฟฟ้า แต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ยังดำเนินการย้าย “ประตูแดง” อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ เพื่อนำไปจัดเก็บไว้ที่โกดังของโรงพิมพ์ภาพพิมพ์ โดยเปิดเผยผ่าน VOICE TV ในตอนหนึ่งว่า

“เราเสียดายถ้าอยู่มาวันหนึ่งมันจะหายไป แล้วไม่เก็บไว้ ดังนั้น ก็นำมาสู่การที่ดิฉันกับคุณภัทรพร (ภู่ทอง) เดินทางมาคุยกับเจ้าของบ้าน ว่าเราอยากจะขอประตูนี้ไปเก็บไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของรัฐ เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้เห็น ได้ประจักษ์ ทางเจ้าของบ้านก็ยินดีที่จะให้ โดยแลกกับที่เราทำประตูใหม่ให้”

นิตินัย คนึงเหตุ เจ้าของที่ดิน ให้สัมภาษณ์สื่อดังกล่าว ว่าในช่วงเกิดเหตุ ตนยังไม่ได้อยู่อาศัยที่นี่ เพราะค้าขายอยู่อีกแห่ง แต่ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ จำหัวเสาของบ้านได้ จึงขับรถมาดูและพบว่าเป็นบ้านตัวเองจริงๆ โดยบิดาของตนคือ พ.ต.อ.(พิเศษ) ธำรง คนึงเหตุ เป็นผู้ซื้อที่ดินไว้แต่ขณะเกิดเหตุย้ายไปประจำอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อมาถึงศพถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ในที่ดินแห่งนี้ จากเดิมที่เคยกลัว ก็เริ่มชิน โดยยินดีมอบประตูแดงให้ทางโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ แลกกับประตูรั้วใหม่

“ถ้าเป็นประโยชน์กับทางประวัติศาสตร์ ก็ดีกว่าอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่ตรงนี้มันก็ชำรุด หมาลอดไปลอดมา แต่ถ้าไปเป็นประโยชน์ ไปเป็นประวัติศาสตร์ ไปเก็บให้ดีๆ เรื่องราวมันจะยาว ดีกว่าอยู่ตรงนี้ คิดว่าอย่างนั้น ประตูใหม่เป็นประตูรั้วเลื่อนสีเทาอมฟ้า นี่คือสีที่คุณพ่อชอบ และเป็นสีดั้งเดิมของประตูแดง ก่อนสนิมจะกัดกิน”

ในขณะที่ ชุมพล ทุมไมย พี่ชายของ ชุมพร ทุมไมย หนึ่งในผู้เสียชีวิตซึ่งถูกนำมาแขวนคอที่ประตูแดงแห่งนี้ เดินทางจาก จ.อุบลราชธานี มาร่วมสังเกตการณ์การปลดประตูแดงด้วย โดยระบุว่าน้องชายเป็นคนเรียบร้อย เรียนหนังสือเก่ง เมื่อสอบการไฟฟ้าได้ มาเป็นพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐม ก่อนจะเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า โดยทุกวันนี้ยังเก็บหนังสือพิมพ์ในช่วงวันที่ 24 กันยายน 2519 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ไว้

“ขอให้วิญญาณของน้องไปสู่ที่สุขสงบเถอะ อยากให้ประตูแดงนี้เป็นอุทาหรณ์ของสิ่งที่เกิดขึ้น”

 

แขวนคอกลางกรุงเทพฯ เมื่อ 6 ตุลา 2519 แล้วหาคนร้ายไม่ได้ 41 ปีแล้ว (ภาพ “6 ตุลา 2519” ในสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)


อดีตหลอนใน’พิพิธภัณฑ์6ตุลา’

นับแต่การย้ายประตูแดงเมื่อหลายเดือนก่อนซึ่งเดิมมีการระบุถึง “พิพิธภัณฑ์ออนไลน์” ในเว็บไซต์ doct6.com ของโครงการ “บันทึก 6 ตุลา” เนื่องจากการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ถาวรต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ประตูแดงและวัตถุทางประวัติศาสตร์ชิ้นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงถูกเก็บไว้ชั่วคราวเพื่อรอการจัดแสดงในนิทรรศการเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีการเปิดเผยถึง “โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา” ซึ่งมีชื่อ ธนาพล อิ๋วสกุล เป็นผู้จัดการโครงการ เตรียมเปิดตัวในอีกไม่กี่วันข้างหน้าพร้อม “นิทรรศการประจักษ์ พยาน” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่าง 5-6 ตุลาคมนี้ โดยมีเสวนา “วัตถุพยาน กับความทรงจำบาดแผล” ซึ่งเชิญญาติผู้เสียชีวิต และนักวิชาการร่วมพูดคุย ได้แก่ นัดดา เอี่ยมคง พี่สาว ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง เหยื่อในเหตุการณ์ 6 ตุลา, ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของบทความ “ประตูแดง : การย้ายออกจากสถานที่ของความทรงจำ”, จุฬารัตน์ ดำรงวิธีธรรม ผู้เขียนหนังสือ “ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย” และ ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

เสวนาดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม ระหว่าง 10.00-12.00 น.ห้อง 401 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หากย้อนไปดูพิพิธภัณฑ์ไทยที่ผ่านมา แน่นอนว่าเหตุการณ์ “เดือนตุลา” ไม่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานที่ลงท้ายด้วยคำว่า “แห่งชาติ” ราวกับไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย แต่ก็ยังพอมีอยู่อย่างกระเส็นกระสายในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับเหตุบ้านการเมืองอันส่งผลสะเทือนต่อผู้คนตัวเล็กๆ ดังเช่น พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่มีห้องจัดแสดง “จาก 14 ตุลาฯ ถึง วิกฤติเศรษฐกิจ” เล่าเรื่องราว 14 ตุลา 2516 ขบวนการนักศึกษา ประชาชน ลุกขึ้นต่อสู้เผด็จการ จนเกิดประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย สิทธิของแรงงานกลับคืนมา มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมากมายเพื่อเป็นปากเป็นเสียงของผู้ใช้แรงงาน กระทั่ง 6 ตุลา 2519 สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน การคุกคามถึงชีวิตทำให้นักศึกษา ประชาชน รวมทั้งผู้ใช้แรงงานจำนวนมากมายต้องหลบหนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ

นอกจากนั้น “มิวเซียมสยาม” และพิพิธภัณฑ์ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการปกครอง ก็เล่าเรื่องราวในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมากนัก

การก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์การเมืองไทย” คือสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมานาน แต่ยังไม่เคยมีอย่างจริงๆ จังๆ หาก “พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา” เกิดขึ้นจริง ย่อมเป็นก้าวย่างสำคัญที่ต้องร่วมกันหนุนสุดแรง

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก 6 ตุลา 2519 เราไม่ลืม

สังคมร่วม’บันทึก’ในวันที่ประวัติศาสตร์วนซ้ำ

นอกเหนือจากกลุ่มนักวิชาการที่ร่วมกันบันทึกประวัติศาสตร์เดือนตุลา น่าสังเกตว่าสังคมไทยก็พร้อมใจขุดค้นความทรงจำในครั้งนั้นออกมาเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีภายใต้การปกครองของ คสช. ที่อ้างความสงบในนิยามของตัวเอง ผลักดันให้ก่อเกิดการสร้างสรรค์บทเพลง “ประเทศกูมี” ที่สร้างปรากฏการณ์เฉียด 100 ล้านวิว โดยใช้ฉากในมิวสิกวิดีโออันคุ้นตาแบบไม่ต้องเสียเวลาคาดเดา นั่นคือ เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่มีผู้คนรุมล้อมการนำ “เก้าอี้ฟาดศพ”ซึ่งถูกแขวนอยู่บนต้นมะขามในท้องสนามหลวง

นอกจากนี้ ศิลปินกราฟฟิตี้ Headache Stencil ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการพ่นรูป “นาฬิกาบิ๊กป้อม” บริเวณสะพานลอยแห่งหนึ่ง ก็ครีเอตภาพ “เก้าอี้” ที่ถูกแขวนบนต้นไม่ใหญ่ ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

บุคคลเหล่านี้คือคนรุ่นใหม่ที่เข้าข่าย “เกิดไม่ทัน” แต่เรียนรู้และเลือกที่จะ “ไม่ลืม” เช่นเดียวกับนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นใหม่ที่เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในช่วงก่อนเลือกตั้ง 62 หรือเมื่อ 6 ตุลาปีที่แล้ว อย่างคำกล่าวของ กิตติณัฐ เล้า รักษาการประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้นที่บอกว่า

“6 ตุลาคม ณ ที่แห่งนี้ เกิดเหตุการณ์ที่เป็นความสูญเสียมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประเทศไทย ผู้คนเข่นฆ่าเพราะความเห็นต่าง และตลอดเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนนี้เลย เพราะยังเกิดความรุนแรงจากความเห็นต่าง”

ในขณะที่ 14 ตุลาปีที่แล้ว ก็มีข่าวที่ถูกกล่าวถึงอย่างสนั่นหวั่นไหวในโลกออนไลน์ อย่างการที่ ผศ.ดร.วินัย ผลเจริญ อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม ที่ได้จุดเทียนรำลึกเหตุการณ์คนเดียว โดยในภาพมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ ยืนดูอยู่ใกล้ๆ

“สืบสานเจตนารมณ์ 14 ตุลาทำกิจกรรมคนเดียว มี 3 คนในครอบครัวช่วยดูและถ่ายรูปให้ พอจุดเทียนเสร็จก็พูดบอกลูกชายซึ่งเกิดวันที่ 14 ตุลาให้รู้ความสำคัญของ 14 ตุลาในประวัติศาสตร์ไทย เผื่อลูกจะได้รักประชาธิปไตยและรังเกียจเผด็จการ” ผศ.ดร.วินัยระบุ

ผศ.ดร.วินัย ผลเจริญ อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม รำลึก 14 ตุลา คนเดียว เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561


อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทั่งเข้มข้นถึงจุดพีค นั่นคือการ “เปลี่ยนไป” ของความคิด “คนเดือนตุลา” ที่หลายรายออกโรงหนุน “เผด็จการ” เสียอย่างนั้น ออกตัวแรงหน่อย ก็โดนหนักหน่อย ดังเช่น ศาสตราจารย์พิเศษเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ออกทีวีมีโควตเด็ดเมื่อปีที่แล้วว่า “ถ้าผมรู้นะว่าประชาธิปไตยมันจะเป็นแบบนี้ ผมไม่ทำหรอก 14 ตุลาฯ…”

ไม่รู้ว่าตุลาปีนี้ จะมีโควตเด็ดๆ จากใครอีกหรือไม่ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เดือนตุลา ไม่ได้ถูกลืม และไม่ได้มีเพียงการรำลึกความหลัง หากแต่ยังคงมีชีวิตอยู่ในการเชื่อมร้อยกับการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังก้าวไปข้างหน้าด้วยการค้นคว้า หาคำตอบ มองบทเรียน สร้างฐานข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ของผู้คนผ่านความเจ็บปวดร้าวลึกที่ไม่มีใครอยากให้เกิดซ้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image