อาศรมมิวสิก : ปูมการศึกษาดนตรี : โดย สุกรี เจริญสุข

จารึกร่องรอยเก่า

การศึกษาดนตรีตั้งแต่สมัยพระเจนดุริยางค์ พ.ศ.2460 ท่านได้เริ่มทำงานที่กรมมหรสพหลวง โดยสอนนักดนตรีไทยให้เล่นเครื่องดนตรีสากล สร้างวงออเคสตราของวงเครื่องสายฝรั่งหลวง เมื่อเปลี่ยนเป็นกรมศิลปากร โดยรัฐบาลได้จัดตั้งวิทยาลัยนาฏศิลป พ.ศ.2477 ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้เยาวชนได้เรียนดนตรีเพื่อรับราชการและทำงานรับราชการ

ยุคอาจารย์กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ท่านกลับจากการศึกษาดนตรี (Trinity College of Music) ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2504 ได้เปิดสอนวิชาความซาบซึ้งดนตรี (Music Appreciation) ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำรายการวิทยุจุฬาฯ บรรยายเรื่องดนตรีคลาสสิก ให้ความรู้เรื่องดนตรีเพื่อให้บัณฑิตได้เรียนรู้เรื่องความไพเราะและมีความเข้าใจในดนตรี เมื่อออกไปเป็นครูสอนจะได้สอนเด็กได้

ในปี พ.ศ.2508-2509 อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ รับทุนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ไปเรียนดนตรีที่วิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี (Berklee College of Music) ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาได้ร่วมมือกับ ดร.ถาวร พรประภา เปิดโรงเรียนดนตรีสยามกลการ เพื่อสอนดนตรีให้เด็กและได้พัฒนานักดนตรีอาชีพให้มีความรู้ โดยเปิดสอนวิชาเรียบเรียงเสียงประสาน

Advertisement

พ.ศ.2513 อาจารย์วาสิษฐ์ จรัณยานนท์ รับทุนรัฐบาลไปเรียนวิชานิวเคลียร์ฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (Manchester University) ประเทศอังกฤษ แต่ได้เปลี่ยนไปเรียนวิชาดนตรีแทน เนื่องจากได้ตรวจพบภายหลังว่าเป็นโรคตาบอดสี จึงเรียนวิชาฟิสิกส์ต่อไม่ได้ เมื่อกลับมาต้องรับราชการใช้ทุนรัฐบาลที่กรมการฝึกหัดครู ได้เปิดหลักสูตรวิชาครูดนตรี ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อสร้างให้ครูดนตรีไปสอนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งจะครบ 50 ปี ของการดนตรีระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2563 นี้

ดร.วิภา คงคากุล เป็นนักการศึกษาดนตรีคนแรกที่เรียนจบสาขาการสอนดนตรี ระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเซอราคิวส์ (Syracuse University) สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2519 รับราชการสอนดนตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และเป็นผู้เชี่ยวชาญดูแลหลักสูตรดนตรีที่มหาวิทยาลัยพายัพ โดยเปิดสอนวิชาเอกดนตรี ในระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรก

อาจารย์โกวิทย์ ขันธศิริ พ.ศ.2526 เปิดหลักสูตรสอนนักดนตรีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักดนตรีและได้ขยายคณะศิลปกรรมศาสตร์ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดสอนวิชาดนตรีไปยังมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด เพื่อพัฒนานักดนตรีอาชีพ

Advertisement

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2537 วัตถุประสงค์เพื่อจะพัฒนาการศึกษาดนตรีระดับสูง จากเตรียมอุดมดนตรีกระทั่งปริญญาเอก เพื่อสร้างนักดนตรีที่มีความรู้ มีความสามารถ ไปแข่งขันในระดับนานาชาติ เปลี่ยนปรัชญาการศึกษาดนตรี จากวิชาข้างถนนเต้นกินรำกิน พัฒนาดนตรีให้เป็นวิชาของนักปราชญ์ พัฒนาวิชาดนตรีให้เป็นวิชาที่มีเกียรติเชื่อถือได้

การศึกษาบนซากปรักหักพัง

ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาที่สอนดนตรี 50 สถาบัน ส่วนใหญ่ทำงานขับเคลื่อนด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัด อาจารย์ดนตรีใช้เวลาในการบริหารปัญหา ความจริงสถาบันการศึกษาไทยไม่ได้ล้มเหลว แต่เป็นสถาบันที่ไม่เคยสร้างความสำเร็จในอาชีพ จึงไม่รู้ว่าความสำเร็จในอาชีพดนตรีเป็นอย่างไร เป้าหมายเพียงให้เด็กจบการศึกษาและได้ใบปริญญา อุดมศึกษาไทยได้แต่สร้างปัญหา บริหารปัญหา ชีวิตประจำวันอยู่กับปัญหา ใช้เวลาทั้งชีวิตในการแก้ปัญหา โดยมองไม่เห็นว่า อนาคต ความสำเร็จ และชีวิตที่สดใสเป็นอย่างไร ชีวิตประจำวันที่จบลงในแต่ละวันมีแต่ปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องในอดีตทั้งสิ้น จึงมองไม่เห็นอนาคต

ในสังคมยุโรปนั้น มีคนเก่งดนตรีอย่างบาค (Bach) โมสาร์ต (Mozart) เบโธเฟน (Beethoven) ซึ่งได้ตายไปแล้ว 200-300 ปี วันนี้ การศึกษาไทยก็ยังสร้างบาค โมสาร์ต เบโธเฟน ไม่ได้สักคน ซึ่งอุดมศึกษาไทยยังต้องศึกษาวิธีการของบาค โมสาร์ต เบโธเฟนอยู่ ซึ่งเป็นโลกของอดีต

มีโรงเรียนสอนดนตรีสำหรับเด็กและผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งมีห้องเรียน (Studio) เปิดสอนวิชาดนตรีไม่น้อยกว่า 500 สำนัก มีเด็กที่เรียนดนตรีถึง 400,000 คน มีโรงเรียนนานาชาติ 200 กว่าโรงเรียน เปิดสอนวิชาดนตรีให้เด็กได้เลือกเรียน อุดมศึกษาไทยเคยหวังว่าจะมีนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนดนตรี แต่ในวันนี้ นักธุรกิจจีนได้เข้ามาซื้อสถาบันการศึกษาเอกชนไปหลายแห่งแล้ว เด็กจีนอยากเรียนดนตรีก็เปิดสอนวิชาดนตรีให้เด็กจีนได้เรียน โดยไม่ต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไทย

ดนตรีได้พัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น มีหอประชุมสำหรับใช้ในการแสดงดนตรีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 120 แห่ง มีพื้นที่ซึ่งสามารถจัดการแสดงดนตรีได้ ยังมีเวทีแสดงดนตรีเคลื่อนที่ให้เช่าเพื่อเปิดการแสดงดนตรี ซึ่งมีอุปกรณ์การแสดงดนตรีพร้อมสรรพ โดยเฉพาะดนตรีเพื่อความบันเทิง ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้รองรับศิลปินจากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดการแสดงเพื่อเก็บเงินในกระเป๋าของแฟนเพลงคนไทย

ต้องสร้างเด็กวันนี้เพื่อผู้ใหญ่ที่ดีวันหน้า

กลุ่มอาจารย์สอนดนตรี (10 กว่าคน) เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างเด็กตั้งแต่แรกเกิด เพราะว่า การสอนดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาไม่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านฝีมือ และไม่ได้พัฒนาบุคลิกภาพให้เป็นคนดีแต่อย่างใด เป็นการย่ำเท้าอยู่กันที่และยังมีแต่จะถอยหลัง สถาบันอุดมศึกษามีบุคลากรที่ “สร้างปัญหา เป็นภาระ และเป็นอุปสรรคกับการพัฒนา” มีคนขี้เกียจและมีระบบที่ล้าหลัง ทำให้การสอนดนตรีที่มีฝีมือและต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวด ไม่สามารถที่จะทำได้ “ครูไม่เก่ง เด็กก็ไม่เก่ง”

การศึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานของซากปรักหักพังของระบบดั้งเดิม หลักฐานทั้งพฤติกรรมและกิจกรรมพบว่า ไม่สามารถพัฒนาและไม่สามารถสร้างความก้าวหน้าให้เด็กเก่งขึ้นได้ จึงตั้งใจหันกลับไปพัฒนาการสอนดนตรีใหม่ โดยเริ่มต้นสอนดนตรีเด็กตั้งแต่แรกเกิด คือ ให้เด็กได้เรียนดนตรีตั้งแต่เด็กอายุ 0-3 ขวบ

กลุ่มอาจารย์รุ่นใหม่เหล่านี้ ได้ลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ลาออกจากวงซิมโฟนีออเคสตรา หันไปศึกษาและเข้าฝึกอบรมการสอนดนตรีเด็กตั้งแต่แรกเกิดอย่างเอาจริงเอาจัง เข้าฝึกอบรอมกับครูดนตรีผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนี อินโดนีเซีย จีน ไต้หวัน อีกทั้งมีผู้เชี่ยวชาญที่เดินทางมาจากออสเตรเลีย เยอรมนี ญี่ปุ่น เพื่อจัดฝึกอบรมการสอนดนตรีเด็กเล็กให้แก่ครูดนตรีในประเทศด้วย

ในการพัฒนาโรงเรียนสอนดนตรีสำหรับเด็กเล็กอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาดนตรีเฉพาะทาง (Music Academy) สำหรับเด็กเล็กขึ้นไป โดยการปักหมุดและเสาเข็มทางการศึกษาดนตรีใหม่ตั้งแต่แรกเกิด ด้วยมีความหวังว่า อีก 20-30 ปีข้างหน้า จะมีบาค โมสาร์ต เบโธเฟน เกิดในประเทศไทย

การสอนดนตรีเด็กเล็ก เป็นการปักหมุดและลงเสาเข็มชีวิตเด็กเสียใหม่ โดยการสร้างบุคลิกภาพให้เด็กด้วยการเรียนดนตรี เริ่มตั้งแต่การออกแบบห้องเรียนดนตรีของเด็ก ห้องเปลี่ยนผ้าอ้อม ห้องแม่ให้นมลูก ห้องเตรียมความพร้อม ห้องสงบหรือห้องเปลี่ยนอารมณ์ (Time out) เพื่อพัฒนาความพร้อมของเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยใช้ดนตรีเป็นอุปกรณ์ในการสร้างชีวิตเด็กและสอนดนตรีให้แก่พ่อแม่ด้วย

กลุ่มอาจารย์คนรุ่นใหม่เหล่านี้เชื่อมั่นว่า ดนตรีช่วยสร้างโลกที่ดี โลกที่น่าอยู่ และเป็นโลกที่มีความปลอดภัย ซึ่งเป็นความเชื่อมั่นที่แข็งแรงมาก เพราะเด็กน้อยทุกคนเกิดมามีความบริสุทธิ์ เมื่อเติบโตขึ้นในสิ่งแวดล้อมอย่างไร เด็กก็จะซึมซาบและพัฒนาตามสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น

เมื่อเด็กเล็กมีผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็กเป็นคนที่เห็นแก่ตัว กักขฬะ หยาบคาย โหดร้าย น่ารังเกียจ ฉ้อฉลคดโกง หน้าเลือด หน้ามืด หน้าด้าน ไม่มีวินัย ไม่รับผิดชอบ ฯลฯ เป็นเพราะผู้ใหญ่เหล่านั้นถูกเลี้ยงดูมาผิดทาง เมื่อเติบโตจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีอย่างนั้น ในที่สุดผู้ใหญ่ก็กลายเป็นคนอย่างนั้นด้วย ซึ่งเป็นวงโคจรของสังคมที่ไม่ดี สังคมที่ไม่น่าอยู่ วิธีแก้ก็คือ สร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีสังคมที่ดีกว่า

หากผู้ใหญ่ในวันนี้ได้พัฒนาเด็กซึ่งเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าและเจียระไนชีวิตเด็กเสียใหม่ โดยการสร้างและพัฒนาเด็กด้วยความตั้งใจ “เอาใจใส่ตั้งใจทำ” ด้วยความรัก ความเมตตา และความเอื้ออาทร เมื่อเด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เด็กก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นผู้ใหญ่ที่ใจดี มีเมตตา มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล และมีมิตรไมตรี ทั้งนี้ โดยใช้ดนตรีเป็นอุปกรณ์ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจเด็กให้งดงาม

เมื่อได้สร้างเด็กให้เป็นคนดีได้แล้ว การสร้างให้เด็กเป็นคนเก่งนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image