มหัศจรรย์การ์ตูน : ความเหงาของคนเก่ง

สำหรับคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่มีความเก่งระดับธรรมดาสามัญ เรามองดูคนเก่งระดับอัจฉริยะพร้อมกับจินตนาการไปว่าคนเหล่านี้น่าจะมีความสุขเพราะไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยดิ้นรนมากนักก็สามารถทำหรือคิดงานยากๆ ได้เหมือนเป็นเรื่องง่าย

ในความเป็นจริงเรื่องนี้มีส่วนถูกค่ะ คนเก่งเหล่านี้ไม่ได้เครียดในเรื่องที่ตัวเขาเก่งเพราะเขาทำได้ดีอย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนที่ไม่ถูกต้องนักคือความเครียดของเขามักจะไปตกอยู่ในเรื่องอื่นมากกว่า เช่น ความคาดหวัง ความเหงา หรือความเข้าอกเข้าใจจากคนรอบข้าง เป็นความเครียดที่คนธรรมดาไม่เข้าใจเพราะเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้จิ๊บจ๊อยเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นที่ยากกว่าเยอะ

นักศึกษาคนหนึ่งเป็นคนเก่งค่ะ หนุ่มน้อยคนนี้เรียนเก่งในระดับต้นๆ ของคณะเลยทีเดียว หน้าตาดี ครอบครัวฐานะดี เพื่อนไม่มีปัญหา ยังไม่มีแฟน งานอดิเรกคืออ่านหนังสือเรียนซึ่งดูเป็นงานอดิเรกที่น่าอิจฉาเพราะคนอื่นอ่านหนังสือด้วยความทุกข์แต่เขาสนุกกับการได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ค่ะ ฟังดูแล้วหนุ่มน้อยน่าจะมีความสุขกับชีวิตการเรียนอย่างมาก

“ผมเครียดครับ ผมคิดว่าต้องพยายามมากกว่าคนอื่นหลายเท่าเพื่อให้เรียนดีกว่าคนอื่นขึ้นมาแค่นิดเดียว”

Advertisement

“เมื่อครู่คุณบอกชอบเรียนหนังสือไม่ใช่เหรอคะ”

“ของที่ชอบก็ไม่ได้หมายความว่าเยอะๆ แล้วจะดีครับ ผมไม่อยากเครียดกับการเรียนอีกแล้ว เพื่อนไม่มีใครเข้าใจผม เขาหาว่าผมเก่งแต่เขาไม่รู้ว่าผมต้องพยายามมากกว่าเขาแค่ไหน ผมเหนื่อยกับชีวิตแบบนี้ อยากลาออก”

“แล้วคุณจำเป็นต้องพยายามมากจนเหนื่อยแบบนี้ด้วยเหรอคะ พยายามน้อยกว่านี้ได้ไหมเพื่อจะให้เหนื่อยน้อยลง”

Advertisement

“แต่ถ้าพยายามไม่เต็มที่แล้วคะแนนไม่ดีผมก็จะรู้สึกแย่กับตัวเอง รู้สึกผิดกับพ่อแม่”

ก็สมเป็นคนเก่งค่ะ หนุ่มน้อยมีเหตุผลประมาณล้านกว่าข้อที่มายืนยันชีวิตที่แสนเครียดของเขา เขาอยากหายเครียดนะคะแต่ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนกันแน่เพราะทุกอย่างดูจะติดขัดไปหมด คนรอบข้างก็ให้คำปรึกษาเขาไม่ได้ด้วยเพราะไม่มีใครเข้าใจความเครียดของคนเก่งแบบเขา

คนเก่งก็มีความเครียดแบบคนเก่งค่ะ “Boku no Giovanni” เป็นการ์ตูนผู้หญิงแนวผู้ใหญ่สักหน่อยกล่าวถึงความเหงาของอัจฉริยะ เพิ่งตีพิมพ์ 1 ตอนในญี่ปุ่นแต่น่าสนใจมากค่ะ

“เท็ตสึโอะ” เด็กหนุ่มวัยประถมเป็นอัจฉริยะในการเล่นเชลโล่ซึ่งเป็นเครื่องสีคล้ายไวโอลินขนาดใหญ่ เขาเพิ่งชนะการแข่งขันที่โตเกียวทำให้ครอบครัวและเพื่อนร่วมแสดงความยินดี เพื่อนชอบเท็ตสึโอะนะคะแต่ทุกคนปฏิบัติกับเขาไม่ถูก ไม่กล้าชวนไปเที่ยวร้านเกมเพราะคิดว่าเท็ตสึโอะต้องกลับบ้านไปซ้อมดนตรีทุกเย็น ไม่กล้าชวนเล่นบาสเกตบอลเพราะคิดว่าเท็ตสึโอะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับนิ้ว เท็ตสึโอะมักจะอยู่คนเดียวเสมอ เขาบอกพี่ชายที่เอ็นทรานซ์ไม่ติดและไม่คิดจะกลับไปเล่นเชลโล่อีกแล้วว่าเหงามาก เขาไม่อยากเล่นเชลโล่คนเดียวในเมืองที่ไม่มีใครเล่นเชลโล่เป็น

สำหรับเด็กประถมอย่างเท็ตสึโอะ การไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนดูจะมีค่ามากกว่าการฝึกซ้อมเชลโล่แต่การแนะนำให้เลิกเล่นเชลโล่เพื่อจะได้ไปเล่นกับเพื่อนอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดี เชลโล่ไม่ใช่ปัญหา (เลิกเล่นจึงไม่ช่วย) ความเหงาต่างหากที่เป็นปัญหา เหมือนหนุ่มน้อยนักศึกษาที่แท้จริงการเรียนไม่ใช่ปัญหา (ลาออกจึงไม่ช่วย) ความเหน็ดเหนื่อยจากความคาดหวังอาจจะเป็นปัญหาซึ่งต้องค่อยๆ คุยกันให้เข้าใจอีกทีค่ะ

ทำไมเท็ตสึโอะจึงเครียดทั้งที่การเล่นดนตรีน่าจะช่วยให้หายเครียด งานวิจัยของคุณกิริชา ไคมาลซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Art Therapy ชวนให้เราคิดว่าศิลปะช่วยได้แต่ไม่ทุกกรณี

เขาวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายที่หลั่งหลังเกิดความเครียดภายหลังจากให้อาสาสมัคร 39 คนอายุระหว่าง 18-59 ปีทำงานศิลปะ 45 นาที มีให้เลือกหลากหลาย เช่น วาดภาพ ปั้นดิน ระบายสี ฯลฯ ผลพบว่า 3 ใน 4 ของอาสาสมัครมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลลดลงซึ่งสื่อให้เห็นว่าความเครียดลดลงหลังทำกิจกรรมศิลปะไม่ว่าอาสาสมัครจะมีฝีมือด้านศิลปะดีหรือไม่ก็ตาม

เมื่อเปรียบเทียบตามกลุ่มอายุแล้ว คนอายุน้อยมีแนวโน้มระดับฮอร์โมนจะลดต่ำกว่าคนอายุมากกว่า ผู้วิจัยให้ความเห็นว่าคนอายุน้อยมักจะจัดการความเครียดของตัวเองแบบวันต่อวัน ดังนั้น ความเครียดวันนี้ก็จะจบวันนี้ในระหว่างที่ผู้ใหญ่มีความเครียดที่ซับซ้อนกว่าและมองเห็นความต่อเนื่องยาวนานของความเครียด

ดังนั้นการทำงานศิลปะ 45 นาทีจึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับปัญหาความเครียดในระยะยาวแบบผู้ใหญ่ การแก้ปัญหาเครียดของผู้ใหญ่จึงน่าจะใช้วิธีที่หลากหลายกว่านี้ อาจเป็นการเผชิญหน้ากับปัญหาหรือพิจารณาปัญหาที่แท้จริงให้ตรงจุดมากกว่าที่จะทำงานศิลปะเพื่อให้ระดับความเครียดลดลงชั่วคราว

ในความเห็นส่วนตัว เท็ตสึโอะแม้เป็นเด็กประถมแต่มีลักษณะความเครียดเหมือนผู้ใหญ่ซึ่งเป็นความเครียดแบบปัญหาชีวิตค่ะ ทำงานศิลปะไม่น่าช่วยได้ ต้องจัดการความเหงาและหาความหมายให้การเล่นเชลโล่สำหรับตัวเขาจะดีกว่า ส่วนหนุ่มน้อยนักศึกษาเป็นความเครียดเฉพาะหน้าค่ะ เขาแค่สับสนระหว่างความคิดว่าต้องขยันเรียนกับความรู้สึกเหนื่อยจากการเรียน การทำงานศิลปะน่าจะช่วยหยุดความคิดสับสนฟุ้งซ่านได้ดี

แท้จริงแล้วเราไม่ต้องทราบหรอกค่ะว่าวิธีไหนเหมาะกับการช่วยลดความเครียดสำหรับเรา ลองทำทุกวิธีแล้วเลือกวิธีที่ได้ผลกับเราดีกว่าค่ะ วิธีไหนไม่ได้ผลก็ไม่ต้องทำ มัวแต่เลือกวิธีคลายเครียดเดี๋ยวจะกลายเป็นเครียดมากขึ้นกับการเลือกวิธีค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image