ในคำตอบของ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ หน้าอนุสาวรีย์แห่งชีวิต

“ที่จริงคุณสมโภชน์ก็ทำอนุสาวรีย์อื่นๆ ไว้ แต่นี่เป็นงานแรกที่ทำเพื่อประชาชน เพื่อส่วนรวม เขาตั้งใจทำมาก”

คือคำกล่าวของ ลาวัณย์ อุปอินทร์ ต่อผลงานออกแบบ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ก่อนวันรัฐธรรมนูญเพียง 1 วัน

ไม่ใช่ในฐานะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำพุทธศักราช 2559 ทว่า ในฐานะ ภรรยา คู่ชีวิตของ สมโภชน์ อุปอินทร์ สุนทรียศิลปินผู้ล่วงลับ ทิ้งไว้ซึ่งผลงานมากมาย ยังประโยชน์แก่วงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย รวมถึงอนุสรณ์สถานแห่งนี้ที่เปี่ยมด้วยความหมาย ความทรงจำ เลือดเนื้อที่สิ้นสูญ

ลาวัณย์ เล่าด้วยว่า อาจารย์สมโภชน์ “สเกตช์ไว้เยอะ และปั้นแบบไว้ด้วย”

Advertisement

แต่เมื่อนักข่าวถามว่า ได้คุยเรื่องอนุสาวรีย์นี้อย่างไรบ้าง ?

ได้รับคำตอบเป็นรอยยิ้ม ก่อนตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่ได้คุยกันเลย” (หัวเราะ)

ในวัย 85 ปี ศิลปินหญิงในชุดสีดำยาวกรอมเท้า ติดดอกกุหลาบสีแดง งดงามราวภาพเขียนที่คุ้นตา ปรากฏตัวในกิจกรรมแนะนำอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม

Advertisement

ญาติวีรชนผู้สละชีพ นำโดย อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ เข้าไปกราบขอบพระคุณครอบครัวอุปอินทร์ ซึ่งในวันนั้น ยังมี “อิศร์ อุปอินทร์” สไตลิสต์ชื่อดังของเมืองไทย ผู้เป็นบุตรชายเดินทางมาด้วย โดยนำหนังสือปกสีแดงเรียบง่ายแต่โดดเด่น ภายในมีภาพการออกแบบอนุสรณ์สถานแห่งนี้พร้อมแบบแปลนดั้งเดิม ผลงานของบิดามาให้รับชม

“ที่คุณสมโภชน์ออกแบบไว้ ตรงฐานต้องเป็นสีแดง สื่อถึงเลือดเนื้อผู้เสียสละ ส่วนบนเป็นรูปลูกบาศก์ซึ่งจะสลักชื่อวีรชนไว้ แต่อนุสาวรีย์ที่สร้างออกมา ได้สลักชื่อไว้ที่ฐาน ไม่ใช่ที่ลูกบาศก์ ส่วนบนสุด คือนกพิราบสีทอง สื่อถึงเสรีภาพของประชาชน สัดส่วนก็ไม่ใช่อย่างนี้ เพราะสร้างออกมาสูงกว่าแบบ แต่ถ้ามองในแง่ดี คงไม่สง่า ถ้ามันเตี้ยไป สร้างอย่างนี้ก็ทำให้มองเห็นได้ง่ายและสง่างามมากขึ้น” ลาวัณย์อธิบายความแตกต่างระหว่างแบบดั้งเดิมกับอนุสาวรีย์ที่สร้างแล้วเสร็จ

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชนฯ ขอบคุณครอบครัวอุปอินทร์ในกิจกรรมแนะนำอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม 9 ธันวาคมที่ผ่านมา

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานญาติวีรชน ชี้แจงว่า ในขณะก่อสร้างติดขัดปัญหาด้านงบประมาณ หากสามารถหางบเพิ่มเติมได้ จะปรับเปลี่ยนอีกครั้งในส่วนของวัสดุในส่วนฐาน ปัจจจุบันใช้แกรนิตสีดำ ไม่ใช่สีแดงตามความปรารถนาของอาจารย์สมโภชน์

อาจารย์ลาวัณย์ยิ้มรับ ก่อนบอกว่าอย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ที่สร้างออกมา ยังคงเป็นไปตามแบบ

ญาติวีรชนต่างปลื้มใจ เข้าพูดคุยและขอถ่ายภาพร่วมกับอาจารย์เป็นที่ระลึก

อิศร์ อุปอินทร์ บุตรชาย ย้อนเล่าให้ฟังถึงเมื่อครั้งได้มีส่วนร่วมในการขึ้นแบบ โดยกล่าวถึงบิดา ผู้เป็นศิลปินที่มีความกล้าหาญ

“คุณพ่อเป็นคนเดียวที่กล้าออกแบบ เพราะช่วงนั้นมีเรื่องการเมืองเยอะ ศิลปินที่กล้าทำให้มีไม่กี่คน คุณพ่อก็กล้า (หัวเราะ) ซึ่งผมเป็นคนช่วยทำด้วย ที่บ้าน เราเป็นลูกชาย จะเป็นคนช่วยตอนขึ้นแบบ พ่อก็อธิบายให้ฟัง แต่ท่านเป็นคนไม่ค่อยพูด แต่เราชอบถาม ถามว่าทำไมฐานต้องเป็นสีนี้ พ่อบอกว่า สีแดงคือเลือดเนื้อของวีรชน และออกแบบให้มีการสลักชื่อตรงลูกบาศก์ ตอนนั้นตั้งเกือบ 30 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นแบบชิ้นนี้ถูกลืมหายไป หลังจากคุณพ่อเสียชีวิต 1 ปี นั่งรถผ่านตรงนี้ ได้เห็นแบบของพ่อ เลยลงมาดู เจอคนกำลังทำพิธีกันอยู่ ตอนนั้นยังสร้างไม่เสร็จ มีการปรับเปลี่ยนหลายรอบ สำหรับสัดส่วนที่ทำออกมาไม่ตรงกับที่คุณพ่อออกแบบ แต่ก็เข้าใจว่า คงต้องการทำให้สูง เพราะถ้ามองจากระยะไกล ถ้าทำเตี้ยเกินไปอาจมองไม่เห็น แต่แบบที่คุณพ่อทำเป็นสเกลเล็ก ซึ่งสวยงามมากกว่า”

อิศร์ อุปอินทร์ สไตลิสต์ชื่อดังของไทย บุตรชายสมโภชน์-ลาวัณย์ อุปอินทร์ โชว์ภาพแบบอนุสรณ์สถานที่บิดาออกแบบ

หลังการพูดคุยเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ แน่นอนว่ากองทัพผู้สื่อข่าวยิงคำถามถึงความเห็นในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมในวันนั้น ให้คำตอบดุเด็ดเผ็ดมันส์ พร้อมเป็นพาดหัวข่าวอย่างไม่ต้องเซอร์ไพรส์

ในขณะที่ ศิลปินหญิงอย่างอาจารย์ลาวัณย์ สร้างความฮือฮาจากเพียง 1 คำถามในทางออกของประเทศ ด้วยคำตอบที่ว่า “เห็นด้วยอย่างมาก” กับ 3 ข้อเรียกร้องของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น 1.พล.อ.ประยุทธ์ลาออก 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ปฏิรูปสถาบัน ทั้งยังบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ติดตามข่าวการชุมนุมทุกวัน และเคยนั่งรถมาสังเกตการณ์การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาด้วย ยังได้เห็นข่าวที่มีพ่อแม่ไล่ลูกออกจากบ้านเพราะเข้าร่วมม็อบ ซ้ำยังเป็นลูกสาว ในฐานะแม่อยากให้ผู้ปกครองรับฟังเสียงของเด็กๆ สำหรับในยุคเดือนตุลา ตนไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวแนวหน้า แต่ช่วยเขียนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตนเป็น ‘ช่างเขียน’ เวลานักศึกษาธรรมศาสตร์จะเคลื่อนไหวก็ช่วยเขียนป้าย

“เห็นแล้วปลื้มใจที่เด็กตัวเล็กๆ ยังมีความสำนึกทางด้านการเมืองอย่างนี้แล้ว ดูข่าวแล้วน้ำตาไหล ประทับใจว่านอกจากนิสิต นักศึกษา ยังมีเด็กระดับประถมตัวนิดเดียวออกมาเดิน ดูแล้วเด็กสมัยนี้เขาก้าวหน้าจริงๆ ติดตามข่าวทุกวัน เคยแว่บมาดูการชุมนุมด้วย”

กลายเป็นข่าวที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งคน ‘รุ่นเก่า’ ที่รู้จักมักคุ้นหรือได้ยินชื่อเสียงเรียงนามกันมานาน

กลายเป็นชื่อที่คน ‘รุ่นใหม่’ นอกวงการ ต้องเสิร์ชหาผ่านหน้าจอด้วยความชื่นชม

(อ่านข่าว ‘ลาวัณย์’ ศิลปินแห่งชาติ หนุน 3 ข้อเรียกร้อง ปลื้มเด็กไทยก้าวหน้า ‘ส.ศิวรักษ์’ เตือนประยุทธ์ศึกษาบทเรียน ‘สุจินดา’)

สนทนากับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ในประเด็นการเรียกชื่อ พฤษภาทมิฬ ปรับเปลี่ยนเป็น พฤษภาประชาธรรม
ถ่ายภาพร่วมกับญาติวีรชนหน้าอนุสาวรีย์ ออกแบบโดย สมโภชน์ อุปอินทร์ ซึ่งกำหนดให้ฐานเป็นสีแดง สื่อความหมายถึงเลือดเนื้อประชาชน แต่ผู้จัดสร้างติดขัดด้านงบประมาณ จึงปรับเปลี่ยนเป็นหินแกรนิตสีดำตามที่ปรากฏในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หากย้อนประวัติศาสตร์แห่งชีวิตของ ลาวัณย์ อุปอินทร์ หรือ ‘ลาวัณย์ ดาวราย’ ก็อาจไม่ต้องประหลาดใจถึงเพียงนั้น เพราะศิลปินท่านนี้มีแนวคิด ‘ก้าวหน้า’ มาหลายทศวรรษ ครองสร้อยนามว่า ‘คนแรก’ ในหลายต่อหลายสถานะ ไม่ว่าจะเป็น ‘ศิลปบัณฑิตหญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร’ ลูกศิษย์ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เช่นเดียวกับ สมโภชน์ อุปอินทร์ สามี ผู้ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์มอบหมายให้ ‘เลือกแผ่นเสียง’ เพลงคลาสสิกสำหรับเปิดฟังระหว่างเรียน

“ปกติ (อาจารย์สมโภชน์) เป็นคนชอบดนตรีอยู่แล้ว สมัยเรียน อาจารย์ศิลป์สอนวิชาสุนทรียศาสตร์ มีการเปิดเพลงคลาสสิกให้ฟัง ให้สมโภชน์เป็นคนเลือกแผ่นเสียง ท่านเป็นคนเปิด และเรียกว่า นายโอเปอเรตอร์”

อาจารย์ลาวัณย์กล่าวในรายการ Great Stars Art Show สนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ในการโปรโมตนิทรรศการ Sompot Upa-In’s Music ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันพุธถึงอาทิตย์ วันนี้ถึง 25 ธันวาคม ที่ House of Upa-In ย่านวังเดิม ฝั่งธนบุรี บ้านอันอบอุ่นของครอบครัว

สมโภชน์ อุปอินทร์ ผู้ออกแบบอนุสรณ์สถานพฤาภาประชาธรรม (ภาพจาก House of Upa-In)

กลับมาที่อาจารย์ลาวัณย์ ซึ่งยังมีอีกสร้อยนาม ‘คนแรก’ จากการได้รับยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) แน่นอนว่า เป็น ‘ศิลปินหญิง’ คนแรกที่ได้รับ

ในตอนหนึ่งของ คำประกาศเกียรติคุณ โดยกระทรวงวัฒนธรรม มีอยู่ว่า

‘นางลาวัณย์ อุปอินทร์ เป็นศิลปินและนักวิชาการที่มีชีวิตเรียบง่าย งดงาม มีความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องศิลปะ เป็นศิลปินที่สนใจเรื่องราวและเนื้อหาของคน มีความชํานาญในการเขียนภาพเหมือนบุคคลเป็นพิเศษ…อีกทั้งยังเป็นครูที่เสนอความรู้ความคิดทางด้านศิลปะต่อสาธารณชนในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมและจัดแสดงนิทรรศการศิลปะอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร่วมเคลื่อนไหวในกลุ่มแนวร่วมศิลปินและกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ทําให้เป็นศิลปินที่มีบทบาทสําคัญในแวดวงสังคมของศิลปะและการเมือง กระทั่งได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นศิลปินเกียรติยศทัศนศิลป์ดีเด่นทางด้านสันติภาพ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม (รางวัลมนัส เศียรสิงห์ “แดง”) ตลอดจนผลงานสร้างสรรค์ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 14 ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาประยุกต์ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร

นางลาวัณย์ อุปอินทร์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2559′

ครั้งเป็นนักเรียนศิลปะ นาม ลาวัณย์ ดาวราย (ภาพจากกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร)

ย้ำว่า ข้างต้นคือคำประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติ ซึ่งในเอกสารชุดเดียวกันของกระทรวงวัฒนธรรม ยังให้ข้อมูลน่าสนใจอีกหลายรายการในประวัติการทำงาน อาทิ การจัดนิทรรศการสันติภาพไทย ร่วมกับมูลนิธิปรีดี และนิทรรศการ 60 ปี ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2535 ในปีต่อมา ยังมีผลงาน “อ.ปรีดีกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ที่ห้องสมุดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์

ในหัวข้อ ‘การทำประโยชน์เพื่อสังคม’ ยังระบุด้วยว่า ‘ตลอดชีวิตความเป็นครู มีแต่ความปรารถนาดีต่ออุดมการณ์และต่อจุดยืนของการเป็นศิลปินที่มุ่งแสวงสันติภาพประชาธิปไตย และความเป็นธรรมอย่างหาได้ยากยิ่ง อีกทั้งยังเป็นครูที่ให้ความรู้ ความคิดทางด้านศิลปะต่อสาธารณชนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ การบรรยาย การอภิปราย และการเสนอความคิดในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งยังได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมและได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะอย่างต่อเนื่อง’

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เมื่อ 85 ปีก่อน ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2478 ลาวัณย์ ดาวราย เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นนักเรียนศิลปะที่มีผลงานโดดเด่นมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนศิลปศึกษา เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร หรือวิทยาลัยช่างศิลป ในปัจจุบัน

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต (จิตรกรรม) คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พ.ศ.2502 เข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ พ.ศ.2517 ย้ายไปสังกัดภาควิชาศิลปประยุกต์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งเกษียณอายุราชการใน พ.ศ.2538

ในจำนวนข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับศิลปินอาวุโสท่านนี้ สิ่งที่ถูกกล่าวถึงไว้ตรงกัน คือความเห็นที่ว่า ลาวัณย์ ไม่ใช่เพียงศิลปิน หากแต่เป็น ‘นักวิชาการ’ ที่มีชีวิตเรียบง่าย งดงาม มีความเข้าใจลึกซึ้งในศิลปะ เป็นศิลปินที่สนใจ ‘เรื่องราวและเนื้อหา’ ของคน นี่เอง อาจเป็นที่มาของ ‘ภาพเหมือน’ ที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่ความเหมือน ซึ่งหาได้ในภาพถ่าย แต่เป็นความเหมือนในตัวตน ในอารมณ์ ความรู้สึก และจิตวิญญาณ

ในมุมของความเป็น ‘ครู’ สมาคมศิษย์เก่าศิลปศึกษา-ช่างศิลป์ ฉายภาพว่า นอกจากความสามารถด้านการวาดรูป อาจารย์ลาวัณย์ยังมีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง ใส่ใจแนะนำลูกศิษย์ด้วยความปรารถนาดี กิริยาวาจาสุภาพนุ่มนวล ลูกศิษย์ลูกหาทุกรุ่นที่เคยได้เรียนกับอาจารย์ลาวัณย์ทุกคนล้วนรัก เคารพและชื่นชม แม้กระทั่งหลังเกษียณอายุราชการ ยังเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อย่างต่อเนื่องอีกนานนับสิบปี

ท่ามกลางห้วงเวลาที่ผู้คนตั้งคำถามกับศิลปินแห่งชาติหลายราย อาจารย์ลาวัณย์ ได้คงไว้ซึ่งความหมายของคำว่า “แห่งชาติ” ใน “ชาติ” ที่หมายถึง “ประชาชน”

เวอร์ชั่นแรก “อนุสรณ์ฯพฤษภา35 ” ผลงาน สมโภชน์ อุปอินทร์

เปิดตัวแล้ว ทำพิธีแล้ว จัดกิจกรรมแนะนำแล้ว สำหรับ “อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม” บนหัวมุมถนนราชดำเนิน ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ ผ่านอุปสรรคนานัปการ ซึ่งไม่อาจกล่าวได้โดยละเอียด แต่ที่แน่ๆ คือมีการปรับแบบมาหลายครั้งหลายหน ทั้งแบบในส่วนของอนุสาวรีย์ และฟลอร์แพลน ผลงานอาจารย์สมโภช อุปอินทร์ ศิลปินชื่อดังผู้ล่วงลับ รวมถึงย้ายจุดการก่อสร้างอีกด้วย

ผศ.ดร.พินัย สิริเกียรติกุล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ใน พ.ศ.2546 เคยอธิบายถึงประเด็นดังกล่าวว่า

“อนุสาวรีย์นี้ อาจารย์สมโภช อุปอินทร์ เป็นผู้ออกแบบ ทำเป็นม็อกอัพประติมากรรมขนาดสักเมตรหนึ่ง แต่ท่านเสียชีวิตไปก่อน ต้องให้อาจารย์ที่เป็นประติมากรอีกท่านหนึ่งขยายแบบของอาจารย์สมโภชที่โรงหล่อในจังหวัดนครปฐม

อนุสาวรีย์นี้ประกอบด้วย 3 ชิ้น ชิ้นบน เป็นสัญลักษณ์ของนกพิราบ สื่อถึงเสรีภาพ ชิ้นที่ 2 เป็นลูกบาศก์สีดำ คล้ายลูกกรง คล้ายๆ ว่านกพิราบแหกกรงออกมา ตัวฐาน เดิมท่านออกแบบไว้ให้มีรอยกรีดสื่อถึงความสูญเสีย ซึ่งอาจารย์ที่มาขยายแบบบอกว่าไม่ทราบว่าอาจารย์สมโภชออกแบบเป็นอะไร เลยเอาตัวอักษรเขียนว่าพฤษภา 35 ใส่ลงไปแทนตรงพื้นที่ชิ้นที่ 2 สุดท้าย ได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา นี่คือเวอร์ชั่นแรก”

ผศ.ดร.พินัยเล่าต่อว่า หลังจากนั้น มีการเปลี่ยนแปลงช่วงหนึ่งที่สำคัญมาก มีการมีการประชุมร่วมกันของ ธีรยุทธ บุญมี กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดยทางมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ขอขยับตำแหน่งอนุสาวรีย์ใหม่ ไปยังตำแหน่งที่เป็นจุดตัดแนวแกนระหว่างถนนราชดำเนินกลางและถนนราชดำเนินใน มีการปลูกต้นไม้ เพื่อจะล้อมรอบอนุสาวรีย์โดยมีคนสำคัญมาเป็นตัวแทนปลูก ส่วนไอเดียคือ มีงบมาก็ค่อยๆ สร้างกันไป

“ตอนนั้นเป็นช่วงครบรอบ 24 ปี พฤษภาประชาธรรม เมื่อปี 2559 จำได้ว่า คุณจตุพร พรหมพันธุ์ และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังไปปลูกต้นไม้ด้วยกัน”

สำหรับอนุสาวรีย์ใหม่นี้ ผศ.ดร.พินัย ก็คือผู้ขยายแบบด้วยตนเอง โดยใช้แบบเดิมของ อ.สมโภชน์ อุปอินทร์ ยืดให้สูงขึ้นตามคำแนะนำของ อ.อัชชพล ดุสิตนานนท์ เพื่อให้มองเห็นได้จากทั้งถนนราชดำเนินในและถนนราชดำเนินกลาง สำหรับชิ้นกลาง และส่วนยอด ใช้เครนยกมาจากอนุสาวรีย์เดิมเมื่อ พ.ศ.2559 อย่างไรก็ตาม ต่อมาเกิดปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน นับจากนั้นก็ไม่ได้มีการประชุมอะไรจริงจังอีก กระทั่งมีการย้ายอนุสาวรีย์มายังจุดที่เห็นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับแบบที่เป็นอยู่ในวันนี้ ผศ.ดร.พินัยมองว่า อนุสรณ์สถาน ไม่ใช่แค่มีอนุสาวรีย์ แต่ต้องตั้งอยู่ในสิ่งที่จะสนับสนุนกัน อนุสาวรีย์เป็นประติมากรรมก็จริง แต่ไม่ใช่ว่าจะไปปักตรงไหนก็ได้” ทว่า ต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มีการจัดองค์ประกอบโดยรอบให้ส่งเสริมกัน จึงจะเป็นอนุสรณ์สถานในความหมายที่แท้จริง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image