ที่มา | อาทิตย์สุขสรรค์, มติชนรายวัน อาทิตย์ที่ 21กุมภาพันธ์ 2564, หน้า 13-14 |
---|---|
ผู้เขียน | สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์-เรื่อง วรพงษ์ เจริญผล-ภาพ |
“อยากให้จดหมายฉบับนี้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิมที่ชาวบ้านจะต้องมาเคลื่อนไหวในทุกครั้ง บททดสอบครั้งนี้จะวัดศักยภาพการทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านบางกลอย ซึ่งครั้งนี้เราจะกลับกันไปก่อนแต่ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อตกลงที่ได้ลงนามกันนี้ เราก็พร้อมกลับมาปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพราะเราถือว่าได้ทำพิธีแล้วว่าพื้นที่แห่งนี้คือหมู่บ้านใจแผ่นดิน”
คือคำกล่าวของ “ณัฐวุฒิ อุปปะ” ในฐานะตัวแทนภาคีเซฟบางกลอยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ สะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล ก่อนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจะแยกย้าย “กลับบ้าน” หลัง 4 ตัวแทนรัฐยอมจรดปากกาลงนามตามเอ็มโอยู 3 ข้อเรียกร้องด่วน และ 6 ข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา
แม้ต่อมาในวันเดียวกันเกิดกระแสข่าวการถูกสกัดโดยเจ้าหน้าที่ ทว่า สุดท้าย ชาวบางกลอยถึงบ้านอย่างสวัสดิภาพเมื่อเวลาประมาณ 20.45 น. ของค่ำคืนนั้น ท่ามกลางความวาดหวังว่าจะไม่ถูกข่มขู่ คุกคามจากภาครัฐ และได้ใช้ชีวิตตามวิถี สุขสงบดังเช่นในอดีต
ย้อนไปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ป้ายผ้า “ชาติพันธุ์ก็คือคน” โผล่กลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ชวนให้ผู้คนหันมาสืบค้นข้อมูลในอดีต ก่อเกิดแฮชแท็ก #saveบางกลอย หลังรับทราบถึงเส้นทางต่อสู้และการเป็นผู้ถูกกระทำนับแต่ พ.ศ.2539 ซึ่งภาครัฐมีความพยายามผลักดันคนออกจากป่า กระทั่งถึงจุดพีคเมื่อ พ.ศ.2554 เกิดเหตุที่เรียกต่อมาว่า “ยุทธการตะนาวศรี” ไล่รื้อและเผาบ้านเรือนของชาวปกากะญอ หรือกะเหรี่ยงแก่งกระจาน 98 หลังคาเรือน ภายใต้ข้อหารุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งที่ปรากฏหลักฐานในแผนที่ของกรมแผนที่ทหารมาตั้งแต่ พ.ศ.2455 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6
ต่อมาในปี 2557 บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ พยานฟ้องคดีเอาผิดภาครัฐจากกรณีดังกล่าวหายตัวไป ก่อนที่ในปี 2561 ศาลตัดสินให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นฝ่ายชนะ กระทั่ง 1 ปีต่อมาพบหลักฐานว่าบิลลี่ถูกฆ่าและเผา หลงเหลือเพียงเศษกระดูกในถัง
ตัดฉากมาในปี พ.ศ.2564 ชาวบ้านบางกลอย 36 ครอบครัว ราว 80 คน เดินเท้ากลับขึ้นไปยัง “ใจแผ่นดิน” เนื่องจากประสบปัญหาด้านพื้นที่ทำกิน วิถีชีวิตเปลี่ยน แต่เกิดปฏิบัติการบางอย่างจากรัฐที่ชาวบ้านมองว่าเป็นการขัดขวาง การเรียกร้องความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้น
ไม้ไผ่ ตับหญ้าคาถูกนำมาประกอบสร้างเป็นบ้านเรือนในวิถีกะเหรี่ยง ผูกป้าย “ใจแผ่นดิน” ตั้งชุมชนริมคลองเปรมประชากร ข้างทำเนียบรัฐบาล (อ่านข่าว ผูกไม้ไผ่ มุงตับหญ้าคา สร้างหมู่บ้าน ‘ใจแผ่นดิน’ ข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งรูปปู่คออี้-บิลลี่)
เรียกร้องให้ภาครัฐลงนามในบันทึกข้อตกลง เลิกข่มขู่ คุกคามชาวบ้านที่ต้องการกลับใจแผ่นดิน
นอกจากนี้ ยังมีวงเสวนา “ทำไมต้อง save บางกลอย” ชวนกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านใจแผ่นดิน อีกทั้งนักวิชาการด้านวนศาสตร์ มาพูดคุยในหลากหลายประเด็น (อ่านข่าว วงเสวนายัน กลับ ‘ใจแผ่นดิน’ คือความชอบธรรม แนะกรมป่าไม้ยอมรับปวศ. กะเหรี่ยงอยู่ก่อนตั้งอุทยานฯ)
แน่นอนว่า หนึ่งในนั้น คือ ณัฐวุฒิ อุปปะ ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอย คนเมืองผู้ซึ่งติดตามปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดสรรที่ดินทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดนแจก “อั่งเปา” เป็น “หมายเรียก” จากการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวบ้านบางกลอยเป็นที่เรียบร้อย
ยังไม่นับบทบาทการเข้าเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยในฐานะตัวแทนคณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ให้ติดตามการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
ถ้อยคำต่อไปนี้ คือคำกล่าวแบบคำต่อคำจากเสวนาดังกล่าวที่ชวนให้เข้าใจปมปัญหาระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านบางกลอย อีกทั้งภาพกว้างในความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินทำกิน ที่ต้องร่วมกันปรับทัศนคติ
“ใจแผ่นดิน” เก่ากว่า พ.ร.บ.ป่าไม้ การรับผิดชอบประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่ต้องเรียกร้องกับรัฐไทย
ถ้านึกถึงบางกลอย นึกถึงใจแผ่นดิน ผมนึกถึงความบิดเบี้ยวของการจัดการที่ดินของประเทศไทย พี่น้องที่เป็นชุมชนดั้งเดิมหลายแห่ง ตั้งชุมชนมาก่อนการมีกฎหมายอีก ยกตัวอย่างสำคัญ อย่างชุมชนบ้านกลาง จังหวัดลำปาง มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานจากการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ 120 ปีที่แล้ว คือ พ.ศ.2424 สมัยรัชกาลที่ 5 หมายความว่าตั้งก่อนการสถาปนากรมป่าไม้เสียอีก กรมป่าไม้สถาปนาปี 2439 ถ้าใครบอกว่ากรมป่าไม้รักป่านักหนา ให้ถามว่าตั้งขึ้นมาครั้งแรกเพื่ออะไร พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เพื่อการตัดไม้ เพิ่งจะมาอนุรักษ์ตอนหลัง ไปดูในโลโก้กรมป่าไม้ ยังเป็นท่อนซุงอยู่เลย อธิบดีคนแรกไม่ใช่คนไทย แต่เป็นชาวอังกฤษที่อยู่ในบริษัทสัมทานป่าไม้ บ้านกลาง อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนเตรียมประกาศอุทยาน ป่าสงวนอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ บ้านกลางเกิดก่อนการสถาปนากรมป่าไม้ รักษาป่ามามากกว่า 100 ปี วันนี้กำลังจะถูกดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุก นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น
ผมกำลังจะบอกว่าการรับผิดชอบประวัติศาสตร์ การไม่กระแดะในประวัติศาสตร์ คือสิ่งที่เราต้องเรียกร้องกับรัฐไทย ไม่ใช่บอกว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก
แผนที่ทหารประกาศไว้เมื่อปี 2455 ระบุว่ามีชุมชนใจแผ่นดินอยู่ในพื้นที่แล้ว กรมป่าไม้ กรมอุทยาน พระราชบัญญัติป่าไม้เพิ่งมีในปี 2484 หลังชุมชนใจแผ่นดิน 30 กว่าปี ชุมชนใจแผ่นดินมีหลักฐานอย่างน้อยคือปี 2455 ในขณะที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพิ่งได้รับการประกาศในปี 2524 หรือประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่วันนี้เกิดอะไรขึ้น รัฐไทยพยายามบอกว่าชุมชนใจแผ่นดินบุกรุกอุทยานฯ ถ้าดูข้อมูลนี้อย่างไม่อคติ ปิดกั้น หรือลดทอนความฉลาดของตัวเองเกินไป อย่างไรก็ตาม อุทยานแห่งชาติคือผู้บุกรุกใจแผ่นดิน
เพราะฉะนั้นการพูดความจริงกันเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับก่อน การกลับใจแผ่นดินของพี่น้องใจแผ่นดิน เป็นความชอบธรรม เขาต้องสามารถทำได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ว่า การประกาศเป็นอุทยานเมื่อปี 2524 ถือว่าเป็นการละเลยประวัติศาสตร์ทั้งหมด แบบนี้ไม่เรียกกฎหมาย เพราะกฎหมายต้องมาจากความเป็นธรรม ผมยืนยันว่าปัญหาของพี่น้องใจแผ่นดิน ไม่ใช่ปัญหาของเฉพาะชาวบ้านใจแผ่นดิน แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
32 ตารางวา ผ่อนค่อนชีวิต ความเหลื่อมล้ำจากปัญหาโครงสร้าง
ประเด็นป่าไม้และการจัดการที่ดิน สำคัญกับคนเมืองอย่างไร สิ่งที่เยาวชนร่วมกันต่อสู้อยู่ มีคำสำคัญว่าระบบศักดินา เมื่อก่อนการกำหนดศักดินา มาจากการถือครองที่ดิน ใครศักดินาเยอะ ถือครองที่ดินเยอะ เราจะเห็นชื่อคลอง ชื่อถนนเป็นกลุ่มศักดินา ขุนนาง มีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน
อยากให้นึกในใจว่าตอนนี้ตัวเองมีที่ดินเท่าไหร่ ผมมีประมาณ 32 ตารางวา ไม่ได้มีโฉนด เพราะเป็นคอนโด กว่าจะเป็นเจ้าของ 32 ตารางวานี้ได้ ผ่อน 20 ปี ประเทศไทยมีที่ดิน 320 ล้านไร่ ประชากร 60 ล้านคน ถ้าเอาตามความเป็นธรรมทุกคนต้องได้ถือครองที่ดิน อย่างน้อยคนละ 2 ไร่ ถามว่าใครมีที่ดินที่ซื้อเองเกิน 2 ไร่บ้าง และใครมีโฉนดที่ดินเกิน 2 ไร่บ้าง
พ่อผมเป็นตำรวจ ตำรวจชั้นผู้น้อยเงินเดือนไม่กี่หมื่น จะมีบ้านสวัสดิการก็ผ่อนไปจนเกือบเกษียณ พ่อผมเกษียณแล้วยังต้องเอาเงินเกษียณไปโปะบ้าน โปะสหกรณ์
ผมพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าปัญหาโครงสร้างการจัดการที่ดิน ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะคนบางกลอย ผมมั่นใจว่าคนกรุงเทพฯหลายคนสถานะไม่ต่างจากผม มีรายได้น้อยนิดไปผ่อนคอนโดเกือบ 20 ปี ตอนนั้นผมอายุ 60 นี่คือความเหลื่อมล้ำ
เปิดข้อมูล ล้างมายาคติ ป่าหายเพราะ “คนบนดอย” ทำลาย
สิ่งหนึ่งที่พูดทุกครั้งเมื่อพูดเรื่องชาติพันธุ์ คือ ผมขอโทษพี่น้องชาติพันธุ์ ขอรับผิดชอบกับสิ่งที่เคยหยามเหยียด และโง่เขลามากๆ ช่วงสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ข้อสอบถามว่าสาเหตุที่ป่าประเทศไทยสูญหายไปคืออะไร ก็ต้องตอบว่า คนบนดอยทำไร่เลื่อนลอย ถึงจะได้คะแนน แต่อยากให้ลองคิดตามว่า หากชาติพันธุ์เป็นคนทำลายป่า ข้อมูลจากการสำรวจป่าไม้ประเทศไทย เมื่อปี 2562 จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชาติพันธุ์เยอะมาก มีพื้นที่ป่าไม้มากถึงร้อยละ 86 คำถามคือ ถ้าเชื่อว่ามีชาติพันธุ์ตรงไหนก็ถามหมดแหละ ถามว่าทำไมแม่ฮ่องสอนมีป่าไม้ถึง 86 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนกรุงเทพฯ เมื่อมีฝุ่นควัน น้ำท่วม ภัยแล้ง ชี้นิ้วไปที่คนบนดอย ทั้งที่พวกเขารักษาป่า กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ป่าอยู่ทั้งหมด 0.3 เปอร์เซ็นต์
ย้อนกลับมาดูอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่พี่น้องกะเหรี่ยงอยู่ ข่าวที่ออกมา อยากให้สื่อบางสำนักฟังข้อมูลแล้วกลับใจ อย่าเอาจรรยาบรรณไปขายเพื่อเศษตังค์ อุทยานฯ หลายแห่งพยายามบอกว่าที่ใดมีชาติพันธุ์ ที่นั่นคือต้นตอของการสูญเสียพื้นที่ป่า แต่ปรากฏว่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่หลักคือ เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ 3 ปรากฏว่ากาญจนบุรีติดอันดับจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด เพชรบุรีที่พี่น้องใจแผ่นดินอยู่ และถูกบอกว่ากะเหรี่ยงทำลายป่า มีป่าถึง 57 เปอร์เซ็นต์ ประจวบคีรีขันธ์มีป่า 37 เปอร์เซ็นต์
แล้วกะเหรี่ยงคือคนทำลายป่าจริงหรือเปล่า ถ้าทำลายจริง กรุงเทพฯไม่มีกะเหรี่ยง ทำไมป่าเหลือ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เพชรบุรีเหลือป่าถึง 57 เปอร์เซ็นต์ เพราะนั้น สังคมไทยจะยอมรับข้อมูลจากภาครัฐที่หลอกลวงอยู่ไหมว่าสาเหตุของการสูญเสียป่ามาจากชาติพันธุ์ ภาคี save บางกลอย ซึ่งเป็นคนเมืองเสียส่วนใหญ่ที่เห็นความไม่เป็นธรรม มาช่วยกันลดมายาคตินี้ ช่วยกันชำระประวัติศาสตร์ว่าที่เราถูกหลอกลวง
มายาคติที่กล่าวว่า ชาติพันธุ์เป็นต้นเหตุโลกร้อน ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวดเร็วขึ้นก็เป็นสิ่งที่ไม่จริง อยากให้เปลี่ยนทัศนคตินี้ คนเมืองเสียอีกที่ทำให้คาร์บอนสูงขึ้น แต่ไม่ได้ปลูกต้นไม้อะไรเลย อย่างผมมีแคคตัสอยู่ 7-8 ต้น
“ธนาคารออกซิเจน” ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย ไร่เลื่อนลอยไม่ใช่ไร่หมุนเวียน
จากการศึกษาที่ชุมชนบ้านกลาง จังหวัดลำปาง พบว่าป่าชุมชนบ้านกลางปล่อยออกซิเจนให้สำหรับมนุษย์ ซึ่ง 1 คนใช้ออกซิเจนเกือบ 1 กิโลกรัมต่อวัน ในป่าชุมชนนี้สามารถปล่อยออกซิเจนให้คนได้ถึง 57,000 คน หมายความว่าชุมชนบ้านกลางซึ่งมีพี่น้องชาติพันธุ์ประมาณ 400 คน เป็นธนาคารออกซิเจนให้คนเมือง นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่าการดูแลป่าของพี่น้องชาติพันธุ์ ไม่ได้เป็นภาพมายา มีข้อมูลอ้างอิง
รอบการทำไร่หมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือรอบการหมุนอย่างน้อยต้อง 7 ปี ระหว่างนั้นมีการเผาไหม มี แต่ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าแม้จะเผาไร่ เช่น ชุมชนบ้านกลาง เผาเพียง 1 ใน 7 ของพื้นที่ ที่เหลือสามารถกักเก็บคาร์บอนเลี้ยงคนได้มากมายอย่างที่บอกไปแล้ว
นอกจากการที่ไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย และไร่เลื่อนลอยไม่ใช่ไร่หมุนเวียนแล้ว ถ้ามีการสื่อสารทางสื่อหรือบางหน่วยงานว่าชาติพันธุ์เผาไร่ ให้ตั้งคำถามต่อไปว่า เป็นการได้ถ่ายให้เห็นภาพรวมหรือไม่ หรือเจาะจงถ่ายเฉพาะจุด
ถ้าเป็นการทำไร่หมุนเวียน ไม่ได้เป็นการเพิ่มปริมาณคาร์บอน หรือทำให้โลกร้อนเลย กลับเป็นชุมชนที่ทำไร่หมุนเวียนนั่นแหละ ที่เป็นธนาคารออกซิเจนให้ประเทศ
รัฐต้องปรับทัศนคติรับความหลากหลาย ก๊อปโมเดลฝรั่งใช้ทั้งประเทศ ไม่เวิร์ก
ผมคิดว่าการจัดการป่าไม้ของรัฐไทยต้องปรับทัศนคติ อย่างแรกคือจากที่เคยไปเอาโมเดลของเยลโล่สโตน ที่อเมริกามา เอาโมเดลของออสเตรเลียมา วันนี้มันได้รับการพิสูจน์เชิงประจักษ์แล้วว่า ป่าปลอดคนไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนเท่าการหาวิธีการให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืนได้ นี่คือสิ่งที่รัฐต้องปรับ อย่างที่ 2 คือ ทัศนคติสังคมต้องมองบนพื้นฐานของการตั้งคำถาม ต้องออกจากมายาคติที่เคยถูกหลอกลวงให้ได้ แล้วกลับมาอยู่กับข้อเท็จจริง ผมไม่ได้เชิญชวนให้ต้องมาเข้าข้างพี่น้องชาติพันธุ์ อยากให้แค่ตั้งคำถามและแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วค่อยตัดสินใจ
อย่างที่ 3 อยากให้ช่วยกันเรียกร้องการจัดการป่าไม้ในสังคมพหุวัฒนธรรมไม่มีชุดบทเรียนใดดีที่สุด ไม่มีชุดบทเรียนใดที่ใช้ได้ในพื้นที่หนึ่ง แล้วการันตีได้ว่าใช้กับอีกพื้นที่หนึ่งแล้วประสบผลสำเร็จ เราต้องยอมรับในสังคมและวิถีการผลิตที่หลากหลาย แล้วออกแบบกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีเหล่านั้น ไม่มีป่าถ้าไม่มีคน มีหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่แล้วว่าป่าที่ไม่มีคน พื้นที่ป่าลดลงตลอด
ปีที่แล้วมีพี่น้อง 5-6 คนเสียชีวิตจากการไปดับไฟป่า เพราะป่าเหมือนชีวิตของเขา เขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องป่า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและการส่งต่อป่าให้กับคนรุ่นต่อไป ผมไม่ได้บอกว่าพี่น้องชาติพันธุ์ถูกทั้งหมด แต่อยากสื่อสารว่าขอให้แสวงหาข้อเท็จจริง ผมก็เหนื่อยกับการทะเลาะกับเจ้าหน้าที่
“แต่สิ่งสำคัญคือพลังของข้อเท็จจริง พลังของชนชั้นกลาง พลังของคนเมืองที่จะขับเคลื่อนความจริงไปสู่ทิศทางแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไป”
เปิดเอ็มโอยู 3 ข้อเรียกร้อง 6 ข้อเสนอ 7 ลายเซ็น
ในช่วงเย็นของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ภาพลายมือชื่อของบุคคล 4 ราย ในบันทึกข้อตกลง ถูกเปิดเผยกลางชุมชนใจแผ่นดินแห่งใหม่ ณ สะพานชมัยมรุเชฐ
วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ตามมาด้วยการร่วมกันลงนามของภาคประชาสังคม ได้แก่ ผู้แทนพีมูฟ ผู้แทนภาคีเซฟบางกลอย ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย รวม 3 ราย ที่ก้มลงจรดปากกาเซ็นเอกสารซึ่งวางอยู่บนพื้นถนนพระราม 5 ก่อนที่จะประกาศเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้นโดยมีการอ่านแถลงการณ์เน้นย้ำให้ภาครัฐกระทำตาม 3 ข้อเรียกร้อง และ 6 ข้อเสนอดังที่ปรากฏในเอ็มโอยู 6 ฉบับ
ใจความสำคัญคือข้อเสนอเร่งด่วนในเอกสาร ได้แก่
1.ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด
2.หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง อาหาร รวมถึงการตั้งจุดสกัดเดิม และที่จุดเพิ่มเติมขึ้นมาทั้งหมด
3.ยุติคดีของสมาชิก ภาคี#SAVE บางกลอย ทั้งหมด 10 คน กรณีการยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวง
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอในประเด็นการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา 6 ข้อ คือ
1.ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียน และดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทำกิน และดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ โดยการรับรองสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม
2.ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน
3.ยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจำเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย
4.ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการพื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติการจับกุม ดำเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน
5.ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง ให้รัฐดำเนินการจัดสรรที่ดินทั้งที่ดินอยู่อาศัย และทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง
6.รัฐจะต้องยุติการดำเนินการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการตั้งจุดสกัด เดินลาดตระเวนและตรวจค้นสร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านบางกลอย และมีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสมาชิกชุมชนบางกลอย
“พงศ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร” หรือ แบงค์ ชาวปกากะญอ จากชุมชนบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน บอกว่า จะไปชี้แจงให้ชาวบ้านทราบถึงข้อตกลงตามเอกสารที่ได้มีการลงนามร่วมกันครั้งนี้ และจะนำข้อตกลงนี้ไปติดที่ศาลาพอละจี ซึ่งเป็นศาลาอเนกประสงค์ของชุมชนบ้านบางกลอย ตั้งชื่อตาม บิลลี่ พอละจี นักต่อสู้ผู้สูญหาย
“ส่วนสถานการณ์นับจากนี้จะเป็นอย่างไร ภาครัฐจะดำเนินตามตัวอักษรที่ลงนามไว้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องต้องจับตา”