เมื่อ “ของฟรี” ต้องจ่าย “ราคาแพง” !? โรเบิร์ต บราวน์ ผู้บริหาร “คิวโค่” กับเหตุผลที่ต้องลงทุนด้าน “ภาษา”

กล่าวได้ว่า “การฟัง-การพูด” เป็น “ปฐมบท” ของการสื่อสารทั้งปวง

ทารกแรกเริ่มจาก“ฟัง” ก่อนที่จะเริ่มต้นสื่อสารด้วยการ “พูด” โต้ตอบกับบุพการี จากนั้นการอ่าน-การเขียนจึงตามมาในภายหลังเมื่อเติบโตขึ้น โดยมี “ภาษา” เป็น “สื่อกลาง” ในการสื่อสาร

และท่ามกลางยุคสมัยที่เทคโนโลยี-การคมนาคมได้เชื่อมต่อโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน สื่อกลางที่เป็นที่รู้จักและใช้กันทั่วโลก คือ “ภาษาอังกฤษ”

มีโอกาสได้พบกับ โรเบิร์ต บราวน์ รองประธานกรรมการฝ่ายการตลาด “คิวโค่” (Qooco) ผู้ให้บริการโซลูชั่นในการฝึกอบรมแบบเคลื่อนที่ระดับโลก ที่เพิ่งเปิดตัวแอพพิลเคชั่น “Qooco” แพลตฟอร์มด้านการศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาจีนเคลื่อนที่ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

Advertisement

โดยได้เริ่มต้นใช้กับพนักงานโรงแรมชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น เมอริเดี้ยน,โฟร์ ซีซั่น,แมริออท,แมนดาริน โอเรียนเต็ล ฯลฯ

“วิธีการใช้นั้นง่ายมาก คือ ดาวน์โหลด เข้ามาในมือถือ ซึ่งแอพลิเคชั่นนี้ใช้ได้ทั้งในระบบแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (iOS) จากนั้นก็ลงทะเบียนและเริ่มต้นใช้งาน ฝึกฟังและพูดวันละ 10-15 นาทีเท่านั้น” โรเบิร์ตอธิบายพร้อมรอยยิ้ม

ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ พนักงานมีการพัฒนาด้านการฟัง-พูดภาษาอังกฤษและจีนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้วยหลักฐานที่ “จับต้อง” ได้จากผลการทดสอบ ฐานข้อมูลของผู้ใช้ ที่สำคัญคือผู้บริหารโรงแรมต่างๆ ยืนยันที่จะใช้แอพพิเคชั่นนี้ต่อไป

Advertisement

นั่นเป็นเพียงด้านเดียวเท่านั้น…

วันนี้ โรเบิร์ต มีความตั้งใจที่จะนำ “คิวโค่” มาใช้เพื่อพัฒนา “การศึกษา” ของเด็กไทย โดยมีเป้าหมายต้องการที่จะเห็นเด็กไทยสามารถพูดจาสื่อสารภาษาอังกฤษ-จีน ได้อย่างไม่เคอะเขิน เพื่อประโยชน์ในภายภาคหน้าของพวกเขา ซึ่งได้เริ่มต้นใช้ไปแล้วที่โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้หลักทั้งจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวจากหลากประเทศเดินทางมานับล้าน ซึ่งสองภาษาหลักที่ใช้คือภาษาอังกฤษ และภาษาจีน

“ดังนั้นผมคิดว่าภาษาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับเด็กๆ ทั้งในทุกวันนี้และในอนาคต”

โรเบิร์ต เริ่มต้นเล่าต่อด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ ตรงไปตรงมา ว่า เขาได้เติบโตและใช้ชีวิตวัยเด็กที่ประเทศไต้หวันในฐานะลูกครึ่งอเมริกัน-ไต้หวัน ศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ ด้วยเหตุที่นี้จึงทำให้ โรเบิร์ตสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และในวัยเพียง 15 ปี เขาก็ทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่นักธุรกิจในท้องที่

“ช่วงเวลานั้นมันทำให้ผมเห็นถึงความสำคัญของภาษาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการพูด เพราะนักธุรกิจที่จ้างให้ผมเป็นครูนั้นทุกคนล้วนแล้วมีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดี อ่านและเขียนได้อย่างคล่องแคล่วแต่ไม่สามารถที่จะพูดได้”

“หน้าที่ของผมนั้นง่ายมาก คือ แค่หยิบหนังสือพิมพ์มากาง เลือกประเด็นมาหนึ่งประเด็น ก่อนที่จะเริ่มต้นพูดคุยโต้ตอบกับพวกเขาทั้งชั่วโมง”

เติบโตขึ้นตามเวลา ก่อนได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย นอร์ทริดจ์ คร่ำหวอดในวงการการตลาดกว่า 25 ปี ก่อนที่เขาจะได้เริ่มต้นทำงานกับ “คิวโค่” หลังจากที่ได้พูดคุยกับ เดวิด ทอโปเลวสกี้ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร คิวโค

ทุกวันนี้ โรเบิร์ต ในวัย 52 ปี ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “การศึกษา” ในประเทศไทย ด้วย “เทคโนโลยี” ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ มากมาย

หลังจากพูดคุยได้สักระยะ โรเบิร์ต ตัดสินใจซัด “หมัดตรง” เปิดใจรับฟังข้อสงสัยต่างๆ และพูดถึงปัญหาด้านการศึกษาของประเทศไทย

โดยเฉพาะการนิยมของ “ฟรี” ที่ต้องจ่ายมาพร้อม “ปัญหา” ราคาแพง

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง “คิวโค่”

จุดเริ่มต้นของคิวโค่มาจากการที่ เดวิด ทอโปเลวสกี้ ผู้ก่อตั้งได้มีโอกาสทำธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นในช่วง 1980 ย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้นเวลาติดต่อก็ต้องติดต่อกันผ่านทางแฟกซ์ ซึ่งปรากฏว่าบริษัทญี่ปุ่นนั้นได้เขียนโต้ตอบกลับมาเป็นภาษาอังกฤษชนิดที่ดีมาก และก็เป็นเช่นนี้เสมอจนกระทั่งวันที่ตัดสินใจที่ปิดดีลกันที่โตเกียว เดวิด จึงเดินทางไปที่นั่นและก็พบว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ ทั้งที่ทักษะในการอ่านเขียนของพวกเขาจัดอยู่ในระดับที่ดีมาก แต่พวกเขาไม่สามารถที่จะพูดได้

มันทำให้เขาเกิดความสงสัยว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้และเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียอีกหลายประเทศที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคิวโค่ขึ้นมา

แล้วทำไมจึงตัดสินใจที่จะมาเข้าร่วมบริษัท

อย่างที่ผมเคยเล่าว่าตอนผมอายุ 15 ผมได้มีโอกาสในการสอนภาษาอังกฤษแก่นักธุรกิจชาวไต้หวัน แต่เชื่อผมเถอะว่าถ้าคุณรู้จักผมคุณไม่อยากที่จะให้ผมไปสอนอะไรกับใครแน่นอน (หัวเราะ) อย่างก็ตามผมก็ไปสอน ลองคิดภาพดูว่าเด็กอายุ 15 ต้องไปคอยเดินพูดกับนักธุรกิจ พวกเขาไม่ได้จ่ายเงินให้กับโรงเรียนเพราะพวกเขาสามารถที่จะเขียนอ่านได้อยู่แล้ว แต่พวกเขายอมจ่ายเงินเพื่อหาใครก็ได้มาพูดภาษาอังกฤษกับเขา เขาไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าจะเป็นเด็กอายุ 15 ขวบ หรือใครก็แล้วแต่ พวกเขาแค่ต้องการที่จะฝึกการพูดเท่านั้น

จากนั้นเมื่อผมได้มีโอกาสพบกับ เดวิด ในปีค.ศ. 1997-1998 ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และเมื่อเขาพูดถึงซอฟท์แวร์ที่จะมาช่วยเรื่องพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ผมบอกเขาเลยว่าผมเอาด้วย! เพราะนั่นคือปัญหาที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก เดวิดเห็นจากที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนผมเห็นที่ประเทศไต้หวัน (ยิ้ม)

“พวกเขาไม่ได้จ่ายเงินให้กับโรงเรียนเพราะพวกเขาสามารถที่จะเขียนอ่านได้อยู่แล้ว แต่พวกเขายอมจ่ายเงินเพื่อหาใครก็ได้มาพูดภาษาอังกฤษกับเขา เขาไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าจะเป็นเด็กอายุ 15 ขวบ หรือใครก็แล้วแต่..”

“พวกเขาแค่ต้องการที่จะฝึกการพูดเท่านั้น..”

แรกเริ่มของการทำงาน?

ช่วงแรกเทคโนโลยีในยุคนั้นยังเติบโตไม่ทันกับความคิดของพวกเรา ในปี ค.ศ.2000 ผมจำได้ว่าได้นั่งคุยกับเดวิดที่ประเทศไทย แล้วเขาก็บอกผมว่าอนาคตของการศึกษาภาษาจะอยู่ภายในหนึ่งช่วงแขน ก่อนที่เขาจะหยิบโทรศัพท์มือถือโนเกียฝาสไสด์ในกระเป๋าออกมา ยืดไปสุดแขนและมองที่หน้าจอของมัน (ยิ้ม) ช่วงเริ่มแรกที่มีอินเตอร์เน็ตนั้นพวกเราดีใจมาก แม้ว่ามันจะมีเสียง แกร๊กๆๆ และช้ามากก็ตาม (หัวเราะ) เดวิดถามว่าถ้าคนจะดาวน์โหลดต้องใช้เวลาเท่าไร คำตอบคือ 48 ชั่วโมง ก็แน่นอนว่าไม่มีใครคิดที่จะดาวน์โหลดมัน

จากนั้นเราพัฒนาทุกอย่างมาต่อเนื่อง จนในปี 2003-2004 เทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับจนใช้เวลาแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรเราก็รู้ว่าเมื่อความเร็วของอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ความอดทนของมนุษย์ในการรอก็จะลดลง ดังนั้น 4 ชั่วโมงก็ถือว่านานเกินไปสำหรับพวกเขา เราจึงยังต้องรอ จนมาถึงวันนี้ที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง ใช้เวลาดาว์นโหลดไม่ถึงนาที นี่คือครั้งแรกที่เทคโนโลยีตามทันความคิดของเราได้ในที่สุด

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้คนตื่นตัวเรื่องภาษา มีแอพพลิเคชั่นสอนภาษาอังกฤษ รวมไปถึงรูปแบบการสอนต่างๆ เป็นจำนวนมาก คิวโค่ แตกต่างจากที่อื่นๆ อย่างไร?

ประสบการณ์ (ยิ้ม) หลายบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นกำลังทำในสิ่งที่เราเคยทำไปแล้วในปี 1998-1999 พวกเขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ หลายบริษัทคิดว่าถ้ามันฟรีเดี๋ยวทุกคนจะดาว์นโหลดมาใช้เอง นั่นจะเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น พวกเขาจะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเราเคยทำผิดพลาดมาตลอด 15 ปี มันไม่ใช่แอพที่เพิ่งคิดค้นมาเมื่ออาทิตย์ก่อนหน้านี้ (ยิ้ม) แต่เป็นการรวบรวมองค์ความรู้ รูปแบบการสอนการพูดภาษาที่ได้ผลที่สุดเอาไว้ คิดค้นการจัดการฐานข้อมูลที่เราสามารถรู้ได้ว่าวันนี้ คนเป็นล้านๆ คนที่ที่ใช้แอพพลิเคชั่นนี้ ใครทำแบบฝึกหัดไปเท่าไรหรือไม่ได้ทำได้ไม่ว่าจะเขาจะอยู่ที่ไหน เรียนที่โรงเรียนอะไร มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นมากน้อยเท่าไร ทุกอย่างทำได้โดยปลายนิ้ว ทุกอย่างถูกบรรจุในมือถือเครื่องเดียว

นี่คืออนาคตของการศึกษาและเป็นเหตุผลว่าทำไมสังคมไทยควรต้องสนใจการศึกษาในรูปแบบนี้

ทำไมหลายประเทศจึงล้มเหลวในการฝึกให้เด็กพูดภาษาอังกฤษ ทั้งที่สามารถอ่านเขียนได้

ถ้าเรามองไปที่ญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุด แต่เด็กที่นั่นไม่สามารถที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ พวกเขาล้มเหลวด้านการสอนภาษา ทุกวันนี้ในประเทศไทยระบบการสอนภาษาอังกฤษ ส่วนมากมักเป็นรูปแบบเดียวกันคือ มักจะสอนให้นักเรียนท่องศัพท์ ท่องจำแกรมมาต่างๆ ส่วนเรื่องการพูดมักจะถูกข้ามไปเพราะคุณครูไม่มีเวลามากพอที่จะฟังเด็กทุกคนพูด สุดท้ายเด็กที่ออกมาพูดก็จะเป็นเด็กที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ส่วนเด็กที่ไม่กล้าพูดก็นั่งเงียบต่อไป

ลองคิดดูว่าถ้าคุณไปเรียนภาษาอังกฤษ 1 คาบต่อสัปดาห์ นั่นไม่ใช่การฝึกอย่างต่อเนื่อง ลองคิดดูต่อว่าใน 1 ชั่วโมงนั้น ครูต้องพูดสอนเด็กราว 20-30 นาที เหลือเวลาอีก 30-40 นาที ในการให้เด็กกว่า 30-40 คนออกมาพูด โอเคเราสมมติอีกว่าเด็กทุกคนล้วนแล้วเป็นเด็กที่มั่นใจในการพูด (ยิ้ม) ถ้าลองคิดโดยง่ายๆ เด็กมีเวลา 1-2 นาทีในการออกมาพูดภาษาอังกฤษ คุณจะพูดภาษานั้นได้โดยมีเวลาแค่ 1 นาทีต่อสัปดาห์ได้อย่างไร คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้

โรเบิ์ต บราวน์ Robert Brown

“ถ้าลองคิดง่ายๆ เด็กมีเวลา 1-2 นาทีในการออกมาพูดภาษาอังกฤษ คุณจะพูดภาษานั้นได้โดยมีเวลาแค่ 1 นาทีต่อสัปดาห์ได้อย่างไร คำตอบคือ เป็นไปไม่ได้”

ทำไมต้องเป็นประเทศไทย

ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาแห่งการท่องเที่ยว ถ้าย้อนกลับไป 25 ปี ก่อน ผมคงเลือกที่จะทำแต่เฉพาะกับธุรกิจโรงแรมต่างๆ อย่างที่เราทำและประสบความสำเร็จอยู่ ประเทศไทยเองเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว มีโรงแรมชั้นนำมากมายซึ่งเหมาะกับเราเป็นอย่างมาก แต่นั่นหมายถึงถ้าเป็นผมใน 25 ปีก่อน

แต่ตอนนี้ผมอายุ 52 แล้ว ผมไม่ใช่เด็กหนุ่มที่มองแต่เรื่องว่าจะทำอย่างไรให้มีเงินมากที่สุด วันนี้ผมสนใจในประเด็นเรื่องการศึกษา ผมเห็นเด็กมากมายที่ไม่มีโอกาสได้เรียน ผมจึงถามซีอีโอเพื่อขอให้ผมนำแอพลิเคชั่้นนี้มาใช้กับการศึกษาในประเทศไทย มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งควรที่จะทำ เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนโดยเฉพาะเด็กชายชอบได้มีโอกาสในการศึกษา เพราะเรามีเทคโนโลยีที่สามารถทำได้ก็เพียงเท่านั้น

ปัญหาที่เห็นจากการที่ได้มาทำงานในประเทศไทย

กลายเป็นว่าสุดท้ายเราต้องรู้ว่าใครเป็นคนที่ตัดสินใจ ใครเป็นคนที่พิจารณางบประมาน เพราะมันมีเรื่องของการเมืองในการทำงานเป็นอย่างมาก แต่ที่ผมมาทีที่นี่ผมไม่สนใจเรื่องการเมือง ผมสนใจแค่อนาคตของเด็กๆ ผมนำของดีมานำเสนอให้คุณตัดสินใจและพิสูจน์ว่ามันดีหรือไม่ คือมันไม่สำคัญเลยว่าจะชอบหรือไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว ไม่ชอบแนวคิดทางการเมืองของกันและกัน เป็นคนของใคร คือเราต้องอย่าให้เรื่องพวกนี้มีผลกระทบต่อการศึกษาของเยาวชนในประเทศ ผมเชื่อเช่นนั้น

ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายผมอย่างมากคือการต้องเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าใจระบบการทำงาน พร้อมนำเสนอสิ่งที่ผมมี สิ่งที่ผมเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อเด็กๆ (ยิ้ม)

“มันไม่สำคัญเลยว่าจะชอบหรือไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัว ไม่ชอบแนวคิดทางการเมืองของกันและกัน เป็นคนของใคร..”

“คือเราต้องอย่าให้เรื่องพวกนี้มีผลกระทบต่อการศึกษาของเยาวชนในประเทศ ผมเชื่อเช่นนั้น”

ทำไมถึงไม่ “ฟรี” ?

ผู้คนพูดเสมอว่าทำไมไม่ทำแอพฟรีออกมา นั่นเป็นสิ่งที่คนชอบถูกมั๊ย (หัวเราะ) ทุกคนคิดว่าในเมื่อเพื่อการศึกษามันก็ควรจะต้องฟรี เวลาที่ผมไปนำเสนอหลายคนก็มักบอกว่ามีบริษัทใหญ่ๆ นำเสนอของฟรีต่างๆ มาให้แล้ว บางรายเสนอให้ซีดีรอมสำหรับการอ่าน บางรายเสนอแท๊บเล็ตมาให้ บางรายเสนอแอพพลิเคชั่นแต่ไม่สามารถติดตามผลของเด็กๆ ได้ ของฟรีทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยให้เด็กพูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น แต่พวกเขากลับถามอีกว่างั้นคุณมีของฟรีอะไรมานำเสนอ (ยิ้ม) ขณะที่อีกมุมหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสิงค์โปร์ก็ต้องทุ่มทุนมหาศาล พร้อมใช้เวลาหลายสิบปีในการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันคุณมีลูกที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เรามียารักษาโรคหัวใจให้ แต่คุณกลับเลือกคนที่เอายาแก้ปวดหัวมาให้เพียงเพราะมันฟรี สุดท้ายแล้วลูกคุณก็จะตายเพราะเขาเป็นโรคหัวใจ มันคือการแลกเปลี่ยนผมต้องลงทุน ผมมีค่าจ้างที่ต้องจ่ายพนักงาน ผมไม่สามารถที่จะไปแข่งกับบริษัทที่ให้ของฟรีได้

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกคือบางครั้งหากคุณเลือกของฟรี ยิ่งในกรณีนี้คุณอาจต้องจ่ายด้วยราคาแพงชนิดที่คาดไม่ถึง

หัวใจสำคัญของการฝึกพูดภาษาอังกฤษ

สิ่งที่เราพัฒนาและใฝ่ฝันมาตลอดคือ สามารถทำให้การเรียนรู้สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา การที่คนเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลามันสำคัญอย่างไร มันสำคัญตรงที่ว่าเมื่อเราสามารถเรียนได้ในทุกที่ที่เราต้องการ นั่นหมายถึงความต่อเนื่องในการเรียนรู้ ซึ่งความต่อเนื่องในการเรียนรู้ ปริมาณการใช้งานและฝึกฝนถือเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกพูดภาษา สิ่งสำคัญคือความมั่นใจในการใช้เริ่มแรกอาจจะผิดถูกอย่างไรก็ต้องพูด

“สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันคุณมีลูกที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เรามียารักษาโรคหัวใจให้ แต่คุณกลับเลือกคนที่เอายาแก้ปวดหัวมาให้เพียงเพราะมันฟรี สุดท้ายแล้วลูกคุณก็จะตายเพราะเขาเป็นโรคหัวใจ..”

“..ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกคือบางครั้งหากคุณเลือกของฟรี ยิ่งในกรณีนี้คุณอาจต้องจ่ายด้วยราคาแพงชนิดที่คาดไม่ถึง”

 

ผู้คนอาจมองได้ว่าในเมื่อคุณมีพื้นฐานภาษาที่ดีอยู่แล้ว การมาพูดเรื่องการเรียนภาษาจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

จริงอยู่ที่ว่าในวัยเด็กของผมจะมีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษ แต่ในโรงเรียนไม่มีใครพูดภาษาจีนกัน ในบ้านเราก็พูดกันแต่ภาษาอังกฤษ แต่วันหนึ่งผมกลับต้องฝึกพูดภาษาจีนทุกเย็นกับแม่ในขณะที่เพื่อนๆ วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน ผมจำได้ว่าช่วงเวลานั้นผมเกลียดแม่มาก ผมมั่นใจว่าหลายคนเคยมีช่วงเวลาแบบนี้มาก่อน (หัวเราะ) แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกวันนี้ผมกลับรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่แม่สอนอยู่เสมอ เพราะทุกคนต่างทึ่งเสมอเวลาที่ผมพูดภาษาจีน (ยิ้ม)

นั่นคือสมัยก่อน แต่เด็กสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์เหมือนกับผมในวัยเด็กอีกแล้ว ด้วยเทคโนยีที่เรามีในตอนนี้พวกเขาไม่จำเป็นที่ต้องนั่งเป็นชั่วโมงๆ เพื่อนั่งท่องจำคำศัพท์ พวกเขาต้องการเพียงแค่ 10 นาทีต่อวันที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขา

ดังนั้นคำถามของผมคือคุณมีเวลา 10 นาทีต่อวัน ที่จะเปลี่ยนชีวิตของคุณหรือไม่
คุณจะใช้เวลามากถึง 50 ปีในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาประเทศ หรือ ตัดสินใจเชื่อในเทคโนโลยี

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image