เรื่องจริงจากตัวจริง ยอดชาย อ้ายเจริญ ผู้ค้นพบ (ภาพ) ‘ทับหลัง’ ในสหรัฐ สู่การทวงคืน ‘กลับบ้าน’

กระแสการพูดถึงความสำเร็จของการได้คืนมาซึ่งทับหลังปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ยังคงไม่จาง หลังโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้นเดินทางจากสหรัฐกลับถึงแผ่นดินไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนมีพิธีบวงสรวงในช่วงเย็นย่ำของวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคมซึ่งมีภาพเหตุการณ์ประพรมน้ำมนต์ที่กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์

ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ส่องสปอตไลต์ถึงความเป็นมาของการ ‘ทวงคืน’ มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงความสนใจของคนเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป

แม้ภาพพิธีกรรม ‘ทางการ’ จากฝั่งภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมศิลปากร และกระทรวงการต่างประเทศจะออกสู่สายตาคนไทยอย่างต่อเนื่อง ทว่า เบื้องหลังการได้ทวงคืน ยังมี ‘ภาคประชาชน’ เป็นจุดเริ่มต้นก่อนส่งไม้ต่อผลักดันรัฐไทยให้แอ๊กชั่นจนสำเร็จได้ในวันนี้ (อ่าน 50 ปีที่ถูกพราก ทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้น จากสหรัฐคืนสู่ ‘แผ่นดินไทย’)

ยอดชาย อ้ายเจริญ หรือเอก อาจไม่ใช่ชื่อคุ้นหูจากการออกสื่อ แต่คุณพ่อลูกหนึ่ง ชาวเชียงใหม่คนนี้ คือผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘สำนึก 300 องค์’ ซึ่งเริ่มจากการเรียกร้องทวงคืนประติมากรรมสำริด โพธิสัตว์ประโคนชัย ที่เชื่อว่ามีที่มาจากปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อ พ.ศ.2559

Advertisement

ก่อนที่วันธรรมดาๆ วันหนึ่งในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ระหว่างค้นหาข้อมูลโบราณวัตถุไทยในต่างแดนผ่านอินเตอร์เน็ต ยอดชาย พบภาพทับหลังชิ้นหนึ่งในเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชอง มุนลี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขามั่นใจว่าเคยประดับอยู่บนกรอบประตูปราสาทในราชอาณาจักรไทย จึงส่งให้ ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีผู้เป็นแกนนำทวงคืน ก่อนได้รับการยืนยันว่านั่นคือทับหลังปราสาทหนองหงส์ที่หายสาบสูญไปเมื่อราว 50 ปีก่อน

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการพบภาพทับหลังปราสาทเขาโล้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 และโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นซึ่งอยู่ในลิสต์รายการทวงคืนในเวลาต่อไป

“หลักๆ ผมค้นข้อมูล สืบหาผ่านเว็บไซต์ และหนังสือ บทความต่างๆ ก่อนหน้านี้ผมก็สแกนหนังสือไว้เยอะพอสมควร แต่นอกจากผมแล้วก็ยังมีเพื่อนๆ ที่คอยช่วยเหลือกันอยู่ ถ้าเจอภาพโบราณวัตถุคิดว่าเป็นของไทย จะส่งมาถาม รวมทั้งพี่โชติ (โชติวัฒน์ รุญเจริญ กลุ่มสำนึก 300 องค์) งานแบบนี้ต้องทำเป็นทีม” ยอดชายเล่าถึงบทบาทหน้าที่หลักในภารกิจทวงคืนโบราณวัตถุไทยจากต่างแดน

Advertisement

จบปริญญาตรีสาขาวัฒนธรรมศึกษา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

เป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด นักวิชาการวัฒธรรมอิสระ คือหมวก 1 ใบในบทบาทผู้รักและหวงแหนมรดกวัฒนธรรมของชาติ

ในขณะที่หมวกอีก 1 ใบที่กล่าวได้ว่าเป็นอาชีพหลัก คือ การขับรถส่งอาหาร ควบคู่การรับงานด้านวัฒนธรรมจากบริษัทรับเหมาเอกชนซึ่งรับจ้างทำงานด้านโบราณคดีจากกรมศิลปากรอีกทอดหนึ่ง

และนั่นเอง ทำให้ยอดชายได้พบหลายบุคคลที่กลายเป็นแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์มรดกชาติ

“งานประจำของผมตอนนี้คือดิลิเวอรี ขับรถส่งอาหารของฟู้ดแพนด้า ต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียครับ (หัวเราะ)”

แม้เป็นคนแรกของขบวนการทวงคืนที่ได้เห็นภาพทับหลังอันนำมาซึ่งการคืนมาตุภูมิในที่สุด แต่เจ้าตัวรับว่า ยังไม่ได้เห็นโบราณวัตถุของจริงด้วยตาตัวเองเลย

“ตอนนี้ยังติดโควิดอยู่ ถ้าลงไปแล้ว กลับมาจะส่งอาหารไม่ได้ เพราะต้องกักตัว 14 วัน รอให้สถานการณ์คลี่คลายก่อน อาจจะขี่มอเตอร์ไซค์จากเชียงใหม่ลงไปกรุงเทพฯ ตั้งใจว่าจะกระตุ้นเรื่องพวกนี้ให้สังคมด้วย อย่างน้อยถ้าเป็นคอนเทนต์หนึ่งที่สามารถทำให้คนหันมาสนใจเรื่องนี้ได้ ผมก็จะทำ”

และเมื่อลูกโตขึ้น วางแผนว่าอยากพาลูกไปชมทับหลังปราสาทหนองหงส์และเขาโล้น ที่พ่อเป็นหนึ่งในคนทวงคืนกลับราชอาณาจักรไทย

 

 

 

 

•นาทีพบภาพทับหลังในเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐ อะไรทำให้มั่นใจว่าเป็นของไทยแน่ๆ?

จริงๆ แล้วผมตามข้อมูลเรื่องโบราณวัตถุทั่วไปอยู่แล้ว และบังเอิญไปเจอภาพทับหลังหนองหงส์ที่ระบุไว้เลยว่า มาจากหนองหงส์ เลยส่งไปให้พี่ปุ๊ (ทนงศักดิ์ หาญวงษ์) ตอนนั้นแกกำลังขับรถ บอกว่ายังไม่ว่างนะ เดี๋ยวจอดรถดูให้ หลังจากนั้นก็โทรกลับมาบอกว่า ใช่เลย และเอาภาพถ่ายเก่าของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม มาให้ดูเทียบกัน ยืนยันว่าเป็นทับหลังชิ้นเดียวกัน เลยอยู่ในแผนที่จะทวงคืนพร้อมพระโพธิสัตว์ประโคนชัยจากปราสาทปลายบัด 300 องค์

•ก่อนหน้านั้นเคยทราบมาก่อนไหมว่าทับหลังหนองหงส์หายไปจากตัวปราสาท?

ผมไม่รู้ข้อมูลตรงนี้ครับ หลักๆ คือตามข้อมูลพระโพธิสัตว์ 300 องค์อยู่ แต่ก็ดูข้อมูลส่วนอื่นด้วยเหมือนกัน บางชิ้นพอมีข้อมูลอยู่บ้าง อย่างภาพสลักที่คาดว่าเป็นนางสีดา ซึ่งผมเคยไปปราสาทหินพนมรุ้ง เคยเห็นว่าส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหลายส่วนหายไป ตอนแรกคิดว่าอาจถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ แต่สุดท้ายไปเจอในเว็บไซต์ต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้มีแค่ชิ้นนี้ แต่มีอีกหลายชิ้นที่เป็นของพนมรุ้ง ผมก็ส่งข้อมูลให้พี่ปุ๊ทั้งหมด บางส่วนเขาก็ไปตามเพิ่มเติมเอง

ส่วนทับหลังปราสาทเขาโล้น ผมส่งยูอาร์แอลเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐไปให้ แล้วพี่ปุ๊ไปค้นหาต่อ แต่ผมก็เห็นผ่านตาบ้างแล้ว เพราะโหลดรูปไว้หมด แค่ยังไม่มั่นใจ

ถ่ายภาพคู่ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการกลุ่มสำนึก 300 องค์

•จากวันที่พบรูปในเว็บไซต์ คิดไหมว่า จะได้กลับไทยจริงๆ และกลับมาก่อนพระโพธิสัตว์ที่เป็นเป้าหมายหลัก?

คิดว่าน่าจะได้มาพร้อมกับพระโพธิสัตว์จากปลายบัด (หัวเราะ) อย่างไรก็ตาม ผมก็เคารพกระบวนการยุติธรรมของอเมริกา จริงๆ แล้ว บางทีก็ยังคิดนะครับว่าฝันไปหรือเปล่าที่เราจะได้กลับมา ไม่คิดว่านักวิชาการกระจอกๆ ตัวเล็กๆ จะสามารถทำเรื่องนี้ได้ (หัวเราะ) แต่ความสำเร็จนี้ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว มันคือหลายคนทำ จริงๆ การทวงคืนนี้ มีอยู่ 4-5 คนที่คอยปลูกฝังเรื่องวัฒนธรรม เรื่องสมบัติชาติ อย่างอาจารย์จักรินรัตน์ นิยมค้า เป็นอาจารย์ของผม พี่สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ แกเป็นคนปลูกฝังผมเลย และยังมีพี่ต๋อย ขจร มุกมีค่า (อดีตผู้ตรวจราชการ กระทรวงวัฒนธรรม) และพี่โอ๋ ชินณวุฒิ วิลยาลัย (ผู้อำนวยการกองโบราณคดีคนล่าสุด) แกปลูกฝังเรื่องพวกนี้ให้ผมมา

•รู้จักอาจารย์ทนงศักดิ์กับคุณโชติวัฒน์ได้อย่างไร?

ผมเคยฝึกงานด้านวัฒนธรรมที่สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี พี่โอ๋ ชินณวุฒิ วิลยาลัย แนะนำให้รู้จักพี่โชติ ซึ่งมีความรู้ด้านขอม จึงสนิทกัน ส่วนพี่ปุ๊ มารู้จักในภายหลัง ตอนที่ผมทำงานเป็นนักวิชาการวัฒนธรรมอิสระแล้ว และไปรับงานที่ปราสาทตำหนักไทร ศรีสะเกษ หลังจากนั้นสนิทกันเลย จริงๆ ก่อนหน้านั้น ผมชอบโพสต์เรื่องปราสาทขอมลงในเฟซบุ๊ก เพราะสนใจเรื่องนี้ ก็คุยเล่นกันบ้าง แต่ที่ไปสนิทกันจริงๆ คือตอนทำงานแล้ว

•เป็นคนเชียงใหม่ ทำไมมาสนใจอารยธรรมเขมรโบราณเป็นพิเศษ ไม่ใช่อารยธรรมล้านนาที่ใกล้ตัวมากกว่า?

คิดว่ามรดกไทยไม่จำเป็นต้องล้านนาอย่างเดียว แหล่งโบราณคดีในไทย ก็คือมรดกไทยทุกที่ ก่อนหน้าจะรู้จักพี่โชติ ผมสนใจเรื่องเครื่องถ้วยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถ้วยล้านนาหรือแหล่งอื่น ล่าสุดก็ทำงานวิเคราะห์เครื่องถ้วยของแหล่งโบราณคดีเวียงแก้ว เชียงใหม่

•แล้วเจอเครื่องถ้วยไทยในต่างประเทศไหม จะทวงคืนด้วยหรือเปล่า?

มีครับ แต่ผมว่ามันเป็นของที่ใช้ทั่วไป การที่จะไปโผล่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็ไม่น่าใช่เรื่องแปลก ในต่างประเทศ ก็มีการงมจากเรือที่จมใต้น้ำ ถ้าจะทวงคืนเครื่องถ้วยพวกนี้คงลำบาก เอาง่ายๆ คือ อย่างในบ้านเราพบเครื่องถ้วยจีนในแหล่งเรือจม ถ้าจีนจะมาทวงคืนก็คงไม่ใช่

•มองอย่างไร เมื่อคนบางส่วนบอกว่าทับหลังอยู่ต่างแดนก็ดีอยู่แล้ว เพราะดูแลรักษาได้ดีกว่า โดยเฉพาะหลังเสียงวิพากษ์เรื่องพรมน้ำมนต์บนโบราณวัตถุในวันบวงสรวงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร?

ต้องเล่าก่อนว่า กลุ่มที่พวกผมตั้งขึ้นมา พื้นฐานจริงๆ คือการเน้นย้ำเรื่องสำนึกในมรดกวัฒนธรรม ผมมองว่าถ้าโบราณวัตถุไทยจะไปอยู่ต่างประเทศ อย่างน้อยต้องไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หลายประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา พม่า เขายังทวงคืน แม้แต่ประเทศใหญ่ๆ อย่างประเทศจีน ก็ทวงคืนเหมือนกัน หรือถ้าเป็นการยืมจัดแสดงหมุนเวียน แบบนั้นยังโอเค คนที่มองว่าปล่อยให้อยู่ต่างประเทศดีกว่า อาจยังไม่ได้มีความรู้ด้านการอนุรักษ์

•เป้าหมายต่อไปในการทวงคืน ยังมุ่งเน้นโพธิสัตว์ประโคนชัยจากปราสาทปลายบัด หรือโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ ที่คาดว่ามีแนวโน้มได้คืนมากกว่า และรวดเร็วกว่า?

ตอนนี้เท่าที่ตามข่าว พบว่าหลายพิพิธภัณฑ์เริ่มจะมาเจรจากับทางกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้พระโพธิสัตว์ปลายบัดกลับมาก่อนหรือไม่ เพราะอย่างที่เรารู้กันคือมูลค่าสูงมากพอสมควร ซึ่งน่าจะมาจากความงดงาม

•เท่าที่ส่องเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ และเว็บประมูลโบราณวัตถุในต่างประเทศ จำนวนโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศมีมากน้อยแค่ไหน ?

เอาเฉพาะที่ไม่ใช่เครื่องถ้วย ถ้ารวมทั้งหมดที่สามารถยืนยันได้ในตอนนี้ ผมมีข้อมูลอยู่ประมาณ 350-360 ชิ้น เบื้องต้นดูจากรูปแบบศิลปะ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามาจากแหล่งไหนในไทย

•ความมุ่งหวังสูงสุดของภารกิจนี้คืออะไร ต้องได้คืนทุกชิ้นไหม ?

โบราณวัตถุมีมาก เราไม่สามารถทวงคืนได้หมด แต่จุดประสงค์ที่อยากได้ หลักๆ ก็คือ โพธิสัตว์ 300 องค์ นอกจากนี้ ผมอยากให้มีการตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพิ่มขึ้น เพราะแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์มีแหล่งโบราณคดีมากมาย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ลงมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ ถ้ามีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบุรีรัมย์เกิดขึ้นได้จะดีมาก ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับทับหลังจากปราสาทหนองหงส์และโบราณวัตถุอื่นๆ ที่เราจะได้คืนมาอีก

•บทเรียนจากการโจรกรรมโบราณวัตถุไทยเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ซึ่งต้องยอมรับตามข้อเท็จจริงว่าคนไทยมีส่วนร่วมในการลักลอบขายให้ต่างชาติ สอนอะไรกับเราในวันนี้?

ผมคิดว่าความรู้พื้นฐานเรื่องพวกนี้ในบ้านเรายังมีน้อย คนอาจคิดว่าของที่ขุดเจอเป็นของเขา ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับกฎหมายที่เรามีอยู่แล้ว เราควรปลูกฝังให้คนได้เห็น ได้สำนึกถึงมรดกทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ว่าพอสูญเสียไปแล้ว ค่อยนึกถึง และมาหวงแหนกันในภายหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image