คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : รังสีความร้อนจากเอกภพยุคแรก

ในปี 2007 นิตยสาร Time ยกย่องให้ จอห์น ครอมเวล เมเทอร์ เป็นหนึ่งในร้อยบุคคลที่ส่งผลกระทบต่อโลกมากที่สุด

เขาเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์รุ่นใหญ่ขององค์การนาซาผู้ได้รับรางวัลโนเบลปี 2006 จากการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า FIRAS (Far-InfraRed Absolute Spectrophotometer) ของดาวเทียม COBE ที่ถูกส่งไปสำรวจรังสีพื้นหลังของเอกภพ (CMB) ที่หลงเหลือมาจากเอกภพในยุคแรกๆ

FIRAS เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจจับรังสีสเปกตรัมของ CMB นั่นคือตรวจจับว่า CMB ปลดปล่อยรังสีในช่วงไหนบ้างเป็นปริมาณความเข้มเท่าไรโดยเฉพาะในช่วงคลื่นอินฟราเรดและไมโครเวฟ ซึ่งรังสีอินฟราเรดก็คือรังสีความร้อนนั่นเอง

ผลลัพธ์ที่ได้จาก FIRAS พบว่า CMB แผ่รังสีความร้อนตรงกับที่ทฤษฎีทำนายไว้อย่างมาก จากลักษณะการแผ่รังสีทำให้นักฟิสิกส์รู้ว่า CMB มีอุณหภูมิ 2.7 เคลวิ ซึ่งตรงกับที่ทฤษฎีบิ๊กแบงทำนายไว้

Advertisement

นอกจากนี้ FIRAS ยังตรวจจับ รังสีพื้นหลังจากกาแล็กซี (extragalactic background light) หรือ EBL ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกด้วย รังสีส่วนนี้มาจากดาวฤกษ์ที่กำลังเกิดและจากกาแล็กซีแบบที่แกนกลางปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างรุนแรง รังสี EBL นี้ฟุ้งกระจายอยู่ทั่วเอกภพและการตรวจจับมันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจการเกิดของดาวฤกษ์, ธาตุเหล็ก และฝุ่นละอองในยุคแรกเริ่มของเอกภพ

รังสี EBL ส่วนมากปรากฏในช่วงคลื่นอินฟราเรด ที่เป็นเช่นนี้เพราะการขยายตัวของเอกภพทำให้ EBL เลื่อนความยาวคลื่นไปทางอินฟราเรดมากขึ้น

EBL นั้นยากต่อการตรวจจับเพราะมันเป็นรังสีที่มีความเข้มต่ำมาก การที่ COBE ตรวจจับได้ทำให้นักดาราศาสตร์ได้ข้อมูลสำคัญและมองเห็นความเป็นไปได้และวิธีที่ในอนาคตจะสามารถตรวจจับมันให้ละเอียดขึ้น

Advertisement

นอกจากนี้ จอห์น ครอมเวล เมเทอร์ ยังเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ใน โครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope หรือ JWST) ด้วย

กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวเกิดจาดความร่วมมือของ 17 ประเทศ นำทีมโดยองค์การนาซา ร่วมมือกับองค์การอวกาศยุโรปและองค์การอวกาศแคนาดา กล้องตัวนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 6.5 เมตร (กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลที่โด่งดังมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร) และจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศราวปี 2018

แน่นอนว่าโครงการนี้ได้รับความคาดหวังว่าจะค้นพบวัตถุที่อยู่ไกลมากๆ ที่แต่เดิมมนุษย์เราไม่เคยเห็นมาก่อน (เช่น กาแล็กซีแรกๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในเอกภพ) มันจึงถูกออกแบบให้ตรวจจับอินฟราเรดเป็นหลัก และตรวจจับแสงช่วงสีแดง-ส้ม ได้ด้วย เนื่องจากรังสีจากวัตถุที่อยู่ไกลมากๆ มีแนวโน้มจะกลายเป็นอินฟราเรดเนื่องจากการขยายตัวของเอกภพทำให้ความยาวคลื่นยืดออก

ส่วนเป้าหมายรองลงมาคือการศึกษาการเกิดของดาวฤกษ์, ดาวเคราะห์ รวมทั้งการพยายามถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะให้ได้ ซึ่ง จอห์น ครอมเวล เมเทอร์ มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ของโครงการกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ ออกสู่สาธารณะชนอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image