อาศรมมิวสิก : เมื่อพลังด้านหยางกำเริบในวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก จนนักดนตรีต้องขอลาออก

อาศรมมิวสิก : เมื่อพลังด้านหยางกำเริบในวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก จนนักดนตรีต้องขอลาออก
Celibidache

เมื่อพลังด้านหยางกำเริบในวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก จนนักดนตรีต้องขอลาออก

หลายวันก่อนผู้เขียนได้พบปะกับผู้ติดตามอ่านคอลัมน์คนหนึ่ง เขาทักท้วงแกมหยอกล้อว่า ผู้เขียนชอบเปรียบเทียบความพิสุทธิ์ของศิลปะดนตรีกับศาสนาอยู่เรื่อย (จนเขาอาจจะเบื่อบ้างแล้วกระมัง?) ซึ่งผู้เขียนก็รู้ตัวดีในประเด็นนี้แต่นั่นคงไม่ได้ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวทางไปแต่อย่างใด เพราะต้องยอมรับว่านี่เป็นความเชื่อและความรู้สึกอันแท้จริงของผู้เขียนเอง เมื่อดนตรีเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ศิลปินต้องอุทิศตัวทั้งชีวิตเพื่อเข้ามาศึกษาอย่างจริงจัง ผู้ฟังก็อาจต้องอุทิศตัวเพื่อการศึกษาและเข้าถึงเช่นเดียวกัน นั่นจึงเป็นจุดที่เสมือนการทำสังฆกรรมทางดนตรีร่วมกันได้ และเรื่องราวที่กำลังจะกล่าวถึงในครั้งนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแห่งการใฝ่หาโมกขธรรมทางศิลปะดนตรี ศิลปินดนตรีที่มิได้เล่นดนตรีเพียงเพื่อการดำรงชีพ หรือแสวงหาเกียรติยศชื่อเสียง หากแต่ต้องการอยู่กับโลกดนตรี, สังคมดนตรีอันเป็นอุดมคติจนยอมลาออกจากวงออเคสตราที่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในวงที่ดีที่สุดในโลกนั่นคือ “เบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก” (Berlin Philharmonic Orchestra) อันเป็นหนึ่งในวงที่นักดนตรีหนุ่มสาวทั่วโลกใฝ่ฝันอยากจะเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้น แต่เขากลับยอมลาออกในช่วงวิกฤตแห่งสถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาดอย่างสูงเมื่อกลางปีที่ผ่านมา นี่ย่อมเป็นความคับข้องใจที่ไม่ธรรมดาของศิลปินคนหนึ่งที่น่าศึกษา

เรื่องราวเล็กๆ แต่น่าสนใจยิ่งนี้เปิดเผยขึ้นในเว็บไซต์ “Van-Magazine.com” เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีบทสัมภาษณ์ “มอร์ ไบรอน” (Mor Biron) นักเป่าบาสซูน (Bassoon) ของวงที่ลาออกไป ในช่วงกลางปีท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด เขากลับยอมทิ้งงานประจำอันมั่นคงและเป็นที่ใฝ่ฝันนี้ด้วยความรู้สึกที่ว่า แท้จริงแล้วนี่ไม่ใช่สังคมดนตรีที่เขาใฝ่ฝันถึงอีกต่อไป โดยเขาบอกว่าประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาต้องยอมลาออกจากวงดนตรีอันดับหนึ่งของโลกวงนี้ก็คือ “พลังหยาง (พลังด้านเพศชาย) ของวงที่มากจนล้นพ้นเกินไป” (overabundance of masculine energy) เมื่อถูกถามว่าเหตุใดจึงยอมลาออก เขาให้เหตุผลว่า เขาต้องการที่จะทำงานและดำรงชีวิตอยู่ในวิถีทางที่เป็นแบบเดียวกับความเชื่อของเขา เขาต้องการประสบการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เขาสามารถเจริญเติบโตไปด้วยกัน, มีโอกาสในการสำรวจเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่ในวงออเคสตราวงนี้ เขากำลังต้องเล่นดนตรีในวิถีทางบางอย่างที่มันไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องสำหรับเขาอีกต่อไป

อาศรมมิวสิก : เมื่อพลังด้านหยางกำเริบในวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก จนนักดนตรีต้องขอลาออก
Herbert von Karajan

และเมื่อถามว่า แล้วอะไรคือวิถีทางที่ถูกต้องสำหรับเขา เขาตอบว่า เขาต้องการใฝ่หาด้านที่เป็นหยิน (เพศหญิง) มากขึ้นในรูปแบบของศิลปะ (feminine side of the artform) ด้านที่นุ่มนวลกว่า, อ่อนโยนกว่า เขาต้องการที่จะทำงานกับบุคคลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ฟังที่มีความอ่อนไหวละเอียดอ่อน (ผู้เขียนคิดว่าประเด็นนี้มีเรื่องน่าคิดพิจารณาอยู่มากทีเดียว ใครคือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ มอร์ ไบรอน กำลังหมายความถึง) มอร์ ไบรอน ยอมขยายความในประเด็นนี้ต่อไปอีกว่า การที่วงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกกำลังประสบอาการ “หยางกำเริบ” เหตุหนึ่งก็เพราะมีนักดนตรีเพศหญิงในวงไม่มากพอ วงยังขาด คลื่นพลัง, กลิ่นอายแห่งเพศหญิงในแต่ละกลุ่มเครื่องดนตรี ผู้เขียนขอหยุดตรงนี้เพื่ออภิปรายประเด็นที่ มอร์ ไบรอน กำลังกล่าวถึงว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาไม่อาจทนอยู่ในวงดนตรีนี้ได้อีกต่อไป ผู้เขียนคิดว่าแนวคิดเรื่องพลังหยินในทางดนตรีเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจและยอมรับได้ หากแต่ประเด็นปัญหาอาจมิได้อยู่เพียงแค่ในเชิงกายภาพภายนอก พลังหยิน (หรือด้านที่เป็นหญิง) ทางศิลปะและดนตรีน่าจะสามารถพบได้ในศิลปินที่เป็นเพศชายได้ด้วย การที่วงดนตรีเต็มไปด้วยนักดนตรีเพศชายไม่น่าจะใช่การทำให้เกิดปัญหาขาดพลังอันอ่อนโยนทางดนตรีไปได้ น่าจะมีอะไรที่ซับซ้อนละเอียดอ่อนน่าคิดมากไปกว่านั้น และนี่อาจเป็นบางเรื่องที่เขาไม่ยอมกล่าวออกมาเพื่อรักษามารยาทในการเป็นอดีตสมาชิกของวงออเคสตราอันทรงเกียรติวงนี้ และเมื่อเขาไม่ได้กล่าวขยายความ ผู้เขียนในฐานะผู้รักดนตรีที่พยายามติดตามความเคลื่อนไหวของวงดนตรีวงนี้มาหลายสิบปีก็จะขออนุญาตขยายความในประเด็นนี้ต่อไปด้วยตัวเอง

Advertisement

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าประเด็นพลังแห่งเพศชายที่มากจนล้นพ้นเกินไปนี้ ผู้เขียนคิดว่ามันมิได้เป็นเพียงเรื่องทางกายภาพ ประเด็นหนึ่งที่ มอร์ ไบรอน มิได้กล่าวถึง (ซึ่งอาจจงใจงดเว้น) แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าพิจารณาก็คือเรื่อง บทบาทและแนวทางดนตรีของวาทยกรหลัก (Chief Conductor) คนปัจจุบันของวงนั่นคือ “คิริล เพเทรงโก” (Kirill Petrenko) ใครที่ติดตามวงออเคสตราวงนี้มาอยู่เป็นประจำคงจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างของวงในทางดนตรีนับแต่การเข้ามารับตำแหน่งของ เพเทรงโก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 รูปแบบลีลาการบรรเลงของวงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างพอจะรู้สึกและสัมผัสได้จริงๆ ผู้เขียนศรัทธาในบุคลิกภาพที่ดูอ่อนน้อมถ่อมตนของเขา แต่ในทางดนตรีโดยเฉพาะเมื่อยืนอยู่หน้าวงในขณะอำนวยเพลง เราจะเห็นเขาในอีกบุคลิกภาพหนึ่งที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เขาสวมหัวโขนบทบาทศิลปินได้ดีเยี่ยม ศิลปินเมื่ออยู่บนเวทีการแสดงต้องไม่เหนียมอาย ในทางตรงกันข้าม เขาต้องทุ่มพลังสุดตัวในการสร้างสรรค์ดนตรี ในประเด็นนี้เราไม่ต้องสงสัยบทบาทและการทุ่มเทของ คิริล เพเทรงโก ตรงนี้เองที่ผู้เขียนขอคาดเดาเอาเอง (ซึ่งอาจไม่ถูกต้องก็เป็นได้) ว่า นี่คือจุดสำคัญจุดหนึ่งที่ มอร์ ไบรอน ไม่ยอมกล่าวถึง

อาศรมมิวสิก : เมื่อพลังด้านหยางกำเริบในวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก จนนักดนตรีต้องขอลาออก
Helmut Nicolai

ในภาพยนตร์บันทึกการแสดงสดของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกหลายๆ ครั้งภายใต้การอำนวยเพลงของ คิริล เพเทรงโก เราจะพบเห็นลักษณะภาษากายในการสั่งการทางดนตรีของเขาที่เป็นไปในลักษณะ เปี่ยมล้น, เอ่อท้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกอยู่บ่อยๆ การเบิกตาโพลง, หลับตาปี๋ อ้าปากกว้างสุดพร้อมกับเหยียดแขนหงายมือซ้ายขอพลังเสียงจากวงแบบไม่อั้น (แม้บางครั้งเราก็รู้สึกว่ามันก็ดังจนจะเกินงามอยู่แล้ว) ภาษากายอะไรในทำนองนี้ย่อมส่งผลต่อการบรรเลงของนักดนตรีได้อย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย เราจึงอาจได้ยินตำนานที่ว่านักดนตรีในวงออเคสตราบางวงถึงกับไม่ยอมทำตามการสั่งการของวาทยกรอยู่บ่อยๆ ในกรณีที่พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการตีความของวาทยกรผู้นั้น การร่วมกันหักหลังวาทยกรจึงเป็นเรื่องซุบซิบที่น่าสนใจอยู่เสมอมา วาทยกรจึงต้องมีจิตวิทยาหรือพลังทางจิตอย่างสูงในการเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณทางดนตรีเพื่อให้นักดนตรีคล้อยตามในการบรรเลงจริงให้ได้ และจากบันทึกการแสดงสดของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกโดยเฉพาะในบรรดาบทเพลงที่มีดีกรีพลังอารมณ์สูงๆ เราจะพบเห็นความล้นพ้นทางเสียงและอารมณ์ภายใต้การอำนวยเพลงของเพเทรงโก อยู่บ่อยครั้ง ผู้เขียนจึงขอแอบอนุมานเอาด้วยตนเองว่า นี่เองน่าจะเป็นเรื่อง “overabundance of masculine energy” (การกำเริบแห่งพลังหยาง) ที่ มอร์ ไบรอน กล่าวถึง

ความจริงเรื่องเล็กๆ ที่น่าสนใจ ของการยอมลาออกจากวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก (อันเป็นที่ใฝ่ฝันของนักดนตรีทั่วโลก) นี้ เคยเกิดขึ้นมาอย่างน่าสนใจเมื่อหลายสิบปีก่อน นับแต่สมัยที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในยุคทองของวงภายใต้การอำนวยเพลงของวาทยกรระดับตำนานแห่งความเป็นเลิศทางเสียงอย่าง “แฮร์แบร์ต ฟอน คารายาน” (Herbert von Karajan) ในครั้งนั้น มีนักเล่นวิโอลา (Viola) ของวงนามว่า “เฮลมุท นิโคไล” (Helmut Nicolai) ยอมลาออกจากวงภายใต้การกำกับของวาทยกรซุปเปอร์สตาร์อย่างคารายาน ที่ในขณะนั้นเต็มไปด้วยรัศมีแห่งบารมีความโด่งดัง และชื่อเสียงเกียรติยศ (แห่งความเป็นดาราทางดนตรี) หลังจากเขาผ่านการทดสอบเข้าวงด้วยความยากลำบาก และเข้ามาร่วมงานกับเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เขาก็ยอมลาออกจากวง จาริกแสวงบุญทางดนตรีต่อไปเมื่อเขารู้สึกได้ว่าการร่วมงานกับวงดนตรีวงนี้ภายใต้การนำของผู้ยิ่งใหญ่อย่างคารายานนั้น ไม่ใช่ “สิ่งแวดล้อมทางดนตรี” อันเป็นอุดมคติสำหรับเขาอีกต่อไป เขาไม่อาจเจริญเติบโตทางวุฒิภาวะทางดนตรีได้ภายใต้การทำงานทางดนตรีเช่นนั้น

Advertisement
เมื่อพลังด้านหยางกำเริบในวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก จนนักดนตรีต้องขอลาออก
Mor-Biron_Credit-Michael-Pavia

“เฮลมุท นิโคไล” ออกจากวัดที่ยิ่งใหญ่โด่งดังที่ญาติโยมศรัทธาทั่วโลก วัดที่บริบูรณ์พร้อมไปด้วยความเจริญทางวัตถุ, สิ่งปลูกสร้างโบสถ์วิหารอันงดงาม เขาออกเดินธุดงค์แสวงหาโมกขธรรมทางดนตรีต่อไป ชีวิตนี้สั้นเกินไปที่จะเสียเวลาไปกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดการเติบโตทางจิตวิญญาณ เขาเล่าว่าเขาออกเดินทางต่อไปราวกับผู้อพยพพลัดถิ่น และไปร่วมงานใหม่กับวงดนตรีที่โด่งดังน้อยกว่าอย่าง “มิวนิค ฟิลฮาร์โมนิก” (Munich Philharmonic) ภายใต้การอำนวยเพลงของ “แซร์จิอู เชลิบิดาเค” (Sergiu Celibidache) วาทยกรผู้มีความหลังอันขมขื่นกับวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก และแทบจะเป็นคู่ปรับกับคารายานอยู่กลายๆ เฮลมุท นิโคไล เขียนบันทึกเรื่องราวการออกแสวงหาสิ่งแวดล้อมอันเป็นอุดมคติทางดนตรีนี้ไว้อย่างล้ำลึก (แบบที่เรียกว่าต้องอ่านสาม-สี่ตลบ) ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือแนบปกแผ่นซี.ดี. บันทึกการแสดงสด ซิมโฟนีหมายเลข 4 (Romantic) ของอันโตน บรูคเนอร์ (Anton Bruckner) ที่บรรเลงโดยวงมิวนิคฟิลฮาร์โมนิก ภายใต้การอำนวยเพลงของแซร์จิอู เชลิบิดาเค เขาเขียนบันทึกประสบการณ์นี้ได้อย่างน่าสนใจและเต็มไปด้วยความเอิบอิ่มแห่งจิตวิญญาณ (แม้จะอ่านยากไปสักหน่อย) หากแต่มันได้สะท้อนถึงความลึกซึ้งทางแนวคิดเชิงปรัชญาที่มีอยู่อย่างล้นพ้นในตัวตามสัญชาตญาณโดยกำเนิดในตัวเขา ผู้เกิดมาเพื่อการแสวงหา (ทางจิตวิญญาณ) อย่างไม่สิ้นสุดโดยแท้จริง

ผู้เขียนเล่าอะไรยืดยาวเกี่ยวกับวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก มาในครั้งนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ใดในการลดความน่าเชื่อถือของวงดนตรีอันเปรียบเสมือนสถาบัน, สำนักทางดนตรีอันยิ่งใหญ่ของโลกวงนี้เลย ยังคงมีศรัทธาเต็มเปี่ยมกับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ผู้อุทิศตนทั้งหลายเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ควรต้องถอยเพื่อเว้นระยะห่างทางศรัทธาที่อาจมากจนเกินไปเพื่อที่จะได้มองเห็นสภาพการณ์บางอย่างในความเป็นมนุษย์และความเป็นไปตามธรรมดาแห่งโลก เฮลมุท นิโคไล เล่าถึงประสบการณ์ที่บังเอิญหรือไม่ ที่เมื่อตอนเขาสอบเข้าวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกนั้นเขาต้องสอบด้วยบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 4 ของบรูคเนอร์ที่เขายังไม่รู้จักในตอนนั้น และเขาก็ไม่เคยชอบ ไม่เคยรู้สึกศรัทธากับผลงานของบรูคเนอร์ และมองดูว่าเป็นผลงานที่ส่งเสียงดังอึกทึกอย่างไร้รสนิยม ไร้ทิศทาง (ในช่วงเวลาที่ร่วมงานกับคารายาน) แต่เมื่อมาร่วมงานกับวงที่มีชื่อเสียงน้อยกว่าอย่างมิวนิคฟิลฮาร์โมนิก ภายใต้การนำของ เชลิบิดาเค เขาจึงบังเกิด “การรู้แจ้งทางดนตรี” และสัมผัสได้ถึงองค์ประกอบต่างๆ ทางดนตรีที่บรูคเนอร์ได้บรรลงร้อยเรียงไว้ได้อย่างเต็มไปด้วยความหมาย เขาบอกว่านี่เป็นประสบการณ์ทางดนตรีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเขาอย่างถึงรากถึงแก่น (เขาใช้คำว่า “Going to change radically”)

เรื่องราวของศิลปินดนตรีสองคนแห่งวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก สองยุคสมัย ต่างวัยราวพ่อ-ลูก หากแต่ได้สะท้อนถึงการเป็นผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณในแบบเดียวกัน เรื่องที่น่าขันอีกเล็กน้อยก็คือ ในกรณีของมอร์ ไบรอน เขาเล่าว่า ในวัยเด็กในตอนที่เขาชมการบรรเลงสดของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิก ถ่ายทอดออกอากาศนั้นเขาบอกว่า นี่เป็นวงออเคสตราในฝันของเขา ในช่วงชีวิตนี้เขาฝันว่าอยากจะมีโอกาสได้ไปนั่งบรรเลงอยู่ในวงดนตรีนี้สักเพียงแค่ 12 วินาที อยากจะรู้นักว่าการได้ไปนั่งเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีอันเป็นเลิศวงนี้มันจะให้ความรู้สึกที่เป็นรสทิพย์แห่งดนตรีได้อย่างไร แต่ในที่สุดเขาก็กลับได้ใช้เวลาร่วมงานกับวงดนตรีวงนี้นานถึง 14 ปี! (จากปี พ.ศ.2550-2564) เรื่องราวของศิลปินดนตรีสองคนนี้ คงได้สะท้อนความจริงแห่งชีวิตผ่านประสบการณ์ดนตรีว่า การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นสิ่งที่เป็นสุดยอดแห่งความปรารถนานั้นคืออะไร ถึงแม้เราอาจยังไม่พบคำตอบในตอนนี้ แต่ถ้าเราสามารถรู้สึกได้ถึงความปรารถนาทางจิตวิญญาณที่สูงกว่าในสภาพการณ์แห่งชีวิตที่บริบูรณ์พร้อมด้วยปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต และยอมสละความบริบูรณ์นั้นเพื่อออกหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต เขาผู้นั้นคงเข้าใกล้สภาวะแห่งอภิมนุษย์เข้าไปแล้ว เพราะสภาวะแห่งอภิมนุษย์นั้นจะดำรงอยู่กับผู้ที่รู้สึกตัวหรือตื่นรู้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image