ส่องเมกะโปรเจ็กต์ ‘แลนด์มาร์กใหม่’ สร้างเสร็จเปิดเช็กอิน 2565

อุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลาน-มหาราช

เข้าสู่ศักราชใหม่ 2565 อย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องเกาะติด ยังคงเป็นภาวะเศรษฐกิจและไวรัสโควิด-19 ยังระบาดเป็นไฟลามทุ่งจากสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่แพร่เร็ว อย่างน่าใจหาย

จากความหวังของนักธุรกิจปีนี้จะเป็นปี “เสือยิ้ม” ที่พอจะลืมตาอ้าปากกันได้บ้าง หลังเปิดประเทศ ก็ต้องหวาดผวากันอีกครั้ง

เมื่อไวรัสร้ายยังอยู่กับเราอีกนาน วันนี้ขอก้าวข้ามโควิด-19 พาไปเปิดวาร์ปโครงการใหม่ กำลังนับถอยหลังเปิดบริการในปีนี้ หลังโหมก่อสร้างกันมาแรมปีท่ามกลางโควิด-19 รุมเร้า

Advertisement

เช็กอิน ‘สวนเบญจกิติ’ เวอร์ชั่นใหม่
ปอดกลางกรุงขนาดใหญ่ 450 ไร่

สวนเบญจกิตติ

 

 

Advertisement

 

 

 

 

เริ่มจาก “สวนเบญจกิติ” สวนสาธารณะ 450 ไร่ ปอดแห่งใหม่ใจกลางกรุง บนพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ที่ “กรมธนารักษ์” ออกแบบใหม่ เป็นสวนน้ำ 130 ไร่ และสวนป่า 320 ไร่ ในเดือนเมษายนนี้จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ หลังปีที่แล้วเปิดใช้บริการแล้วบางส่วน

พัฒนาการของโครงการ “กรมธนารักษ์” สร้างสวนน้ำเสร็จในปี 2557 จากนั้นในปี 2559 สร้างสวนป่าเฟสแรก 61 ไร่ ส่งมอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดูแลบำรุงรักษาหลังสร้างเสร็จ รวมถึงสวนป่าระยะที่ 2-3 เนื้อที่ 259 ไร่ ที่กำลังเร่งให้เสร็จเดือนเมษายนนี้ มีพิธีส่งมอบให้ “กทม.” แล้ววันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา

รูปแบบโครงการมีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำ 85% เป็นสวนป่าเชิงนิเวศที่ใช้ศักยภาพจากต้นไม้เดิม และปลูกต้นไม้เพิ่ม 8,725 ต้น เป็นพันธุ์ไม้ใหญ่ 250 ชนิด เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสวนป่าให้มีความโดดเด่น ด้วยต้นไม้หลากสี สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันแต่ละฤดู พร้อมปรับปรุงอาคารเดิมเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์และอาคารกีฬา แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย

เป็นการเปลี่ยนผ่านเมืองสู่ป่า จากโรงงานเป็นสวนและพื้นที่สุขภาพ มีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ทางเดินศึกษาธรรมชาติและทางเดินลอยฟ้าหรือสกายวอล์ก ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร เป็นทางเชื่อมไปยังสวนน้ำ สะพานเขียว และสวนลุมพินีได้

อลังการ‘ศูนย์ประชุมสิริกิติ์’ หมุดหมายใหม่‘แห่งเอเชีย’

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

 

 

 

 

อีกโครงการที่คนรอยลโฉมใหม่ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ทุ่มร่วมหมื่นล้านบาท ยกเครื่องใหม่ในรอบ 27 ปี ให้เป็นศูนย์ประชุมระดับเวิลด์คลาสแห่งใหม่ของเอเชีย

โดยขยายพื้นที่เพิ่มอีก 5 เท่า เป็น 3 แสนตารางเมตร หรือเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลกว่า 50 สนาม มีความทันสมัยและความปลอดภัยสูง สามารถรองรับอีเวนต์ การประชุมระดับโลก ตามมาตรฐานระดับนานาชาติ

หลังปิดปรับปรุง 2 ปี ในเดือนกันยายนนี้ พร้อมเปิดบริการ ไฮไลต์เด่นฮอลล์ขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ ห้องประชุมสัมมนาใหญ่ 2 ห้อง ห้องประชุมย่อยกว่า 50 ห้อง พื้นที่รีเทล อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในประเทศไทยรองรับได้ถึง 6G พื้นที่จอดรถ 3,000 คัน พร้อมทางเดินใต้ดินเชื่อมรถไฟฟ้า MRT และยังเป็นศูนย์ประชุมแห่งเดียวที่ห้อมล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ “สวนป่าเบญจกิติ”

‘คลองช่องนนทรี’ฝาแฝด‘คลองชองกเยชอน’

สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี

 

 

 

 

 

 

ถึงเปิดใช้เฟสแรกเมื่อคริสต์มาสที่ผ่านมา แต่ยังคงมีเสียงติชมดังข้ามปี สำหรับ “สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” สวนใหม่ล่าสุด ที่ กทม.ใช้เงินพัฒนาทั้งโครงการ 980 ล้านบาท โดยมี “คลองชองกเยชอน” ประเทศเกาหลีใต้เป็นต้นแบบ

แนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนสุรวงศ์ถึงถนนพระรามที่ 3 รวมระยะทาง 4.5 กิโลเมตร แบ่งพัฒนา 5 ช่วง ได้แก่ 1.ถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท 2.ถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท 3.ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร วงเงิน 370 ล้านบาท 4.ถนนจันทน์ถึงถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 1 กิโลเมตร วงเงิน 250 ล้านบาท และ 5.ถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระรามที่ 3 ระยะทาง 900 เมตร วงเงิน 200 ล้านบาท

หลังเปิดช่วงถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 กทม.กำลังประมูลช่วงที่ 1 ถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร และอีก 3 ช่วงที่เหลือ คาดว่าทั้งโครงการจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ยังเป็นสวนสาธารณะเลียบคลองที่ยาวที่สุดในกรุงเทพฯ

อุโมงค์‘พระลาน-มหาราช’แลนด์มาร์กใหม่

อุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลาน-มหาราช

 

 

 

 

 

ถึงจะอวดโฉมช้าไป 1 เดือน จากเดิมจะเปิดปลายธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุด “กทม.” ย้ำชัด “อุโมงค์ทางเดินลอด” ถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช ใช้เงินก่อสร้าง 940 ล้านบาท

ภายในเดือนมกราคมนี้ “อุโมงค์ถนนมหาราช” จะสร้างเสร็จเปิดใช้ หลังสถานการณ์โควิด ทำให้มีปัญหาแรงงานและวัสดุบางประเภทผลิตล่าช้า ขณะนี้สร้างคืบหน้าแล้ว 80.85% รอตกแต่งสถาปัตยกรรม ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณท่าช้าง

ส่วน “อุโมงค์ถนนหน้าพระลาน” สร้างคืบหน้าแล้ว 50.20% จะเริ่มงานระบบ ตกแต่งสถาปัตยกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ และเร่งให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้

รูปแบบโครงการ “กทม.” ออกแบบเป็นลวดลายไทย ใช้โทนสีเหลือง ให้สอดรับกับพื้นที่ประวัติศาสตร์ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ห้องโถง ระบบบันไดเลื่อน ห้องน้ำชายและหญิงกว่า 100 ห้อง

ตั้งเป้าให้เป็น “แลนด์มาร์ก” ใหม่ของกรุงเทพฯ รับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ที่เข้ามาเที่ยวชมพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว

เปิดซิงรถไฟฟ้าสีลูกกวาด‘ชมพู-เหลือง’

รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู

 

 

 

 

 

 

ยังคงได้รับความสนใจ “รถไฟฟ้าสายใหม่” ที่จัดคิวเปิดหวูด หลังรถไฟชานเมืองสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” เปิดเป็นทางการวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564

ในปี 2565 ได้นั่งอีก 2 สาย 2 สี เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศ จะเชื่อมการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายหลัก ให้คนโซนตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ เข้าสู่ใจกลางเมืองสะดวกยิ่งขึ้น

“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC กล่าวว่า สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี งานก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้ว 82% จะทยอยเปิดบริการ 3 ช่วง ภายในกลางปี 2565 จากสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ยกเว้นสถานีนพรัตนราชธานี จากนั้นเดือนสิงหาคมเปิดจากสถานีชลประทาน-สถานีแจ้งวัฒนะ 14 และสถานีนพรัตนราชธานี และเปิดตลอดสายเดือนกรกฎาคม 2566

ขณะที่สายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง มีระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี มีความคืบหน้าแล้ว 86% ภายในกลางปี 2565 เปิดจากสถานีภาวนา-สถานีสำโรง และเปิดวิ่งตลอดสายถึงสถานีลาดพร้าวปลายปี 2565 หรืออย่างช้าต้นปี 2566

เปิดทางลอยฟ้า‘พระราม2’แก้รถติด

ทางยกระดับบางขุนเทียน-เอกชัย

 

 

 

 

 

 

ต่อจากรถไฟฟ้า มี “มอเตอร์เวย์สาย M82” ที่กรมทางหลวงทุ่มกว่า 3 หมื่นล้านบาท อัพเกรดโครงการทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 26.9 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษเก็บค่าผ่านทาง

ภายในเดือนสิงหาคมนี้ช่วง “บางขุนเทียน-เอกชัย” ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จ โดยกรมทางหลวงจะเปิดให้ใช้ฟรี เพื่อบรรเทาการจราจรถนนพระราม 2

ระหว่างรอช่วงที่ 2 จาก “เอกชัย-บ้านแพ้ว” ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร จะตอกเข็มต้นปีนี้สร้างเสร็จในปี 2567 เปิดเต็มรูปแบบในปี 2568 หลังติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางเสร็จ

เมื่อเปิดใช้จะต่อเชื่อมกับทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่กำลังสร้างอย่างไร้รอยต่อ

หากไม่มีอะไรเข้าแทรกในปี 2568 ทั้ง 2 โครงการจะกดปุ่มเปิดพร้อมกัน เพื่อแก้รถติดถนนพระราม 2 และเติมโครงข่ายใหม่ให้การเดินทางสู่ภาคใต้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

เคาะเปิด‘สนามบินเบตง’ ประตูสู่ปลายด้ามขวานไทย

สนามบินนานาชาติเบตง

 

 

 

 

 

 

อีกโครงการที่ลุ้นเปิดปีนี้ “สนามบินเบตง” ตั้งอยู่ อ.เบตง จ.ยะลา พื้นที่ปลายด้ามขวานประเทศไทย หลัง “กรมท่าอากาศยาน” ใช้งบสร้าง 1,900 ล้านบาท เนรมิต 920 ไร่ เป็นสนามบินนานาชาติกลางหุบเขา

มีอาคารผู้โดยสารขนาด 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 876,000 คนต่อปี

ปัจจุบันโครงการสร้างเสร็จและมีการให้บริการเพื่อสนับสนุนภารกิจเที่ยวบินของทางราชการและส่วนบุคคลแล้ว รอฤกษ์เปิดเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อัพเดตขณะนี้สนามบินเบตงพร้อมเปิดและได้รับใบอนุญาตแล้ว เหลือการเจรจากับสายการบินนกแอร์จะเปิดเส้นทางบินจากดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ในเรื่องผู้โดยสารที่สายการบินต้องการให้มีการรับประกันจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวไม่ต่ำกว่า 75% จึงยังไม่สามารถกำหนดวันเปิดเชิงพาณิชย์ได้

แต่เมื่อไหร่ที่ “นกแอร์” โอเค “สนามบินเบตง” คงไม่เหงาอีกต่อไป

ปักหมุด‘เทอร์มินอล 21’ ศูนย์การค้าน้องใหม่‘พระราม3’

เทอร์มินอล21 พระราม 3

 

 

 

 

 

 

ปิดท้ายที่ “เทอร์มินอล 21” ศูนย์การค้าแห่งใหม่ในย่านพระราม 3 ของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ หลังทุ่ม 4,000 ล้านบาท พลิกที่เช่า 15 ไร่ ทำเลศักยภาพด้านหน้าติดถนนพระราม 3 ด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา เนรมิตเป็นศูนย์การค้าสไตล์นีโอ-คลาสสิก สูง 7 ชั้น พร้อมใต้ดิน 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 140,000 ตารางเมตร และที่จอดรถ 1,658 คัน

ข้อมูลอัพเดตจาก สุวรรณา พุทธประสาท ซีอีโอ บจ.แอลเอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล หรือ LHMH “เทอร์มินอล 21 พระราม 3” พร้อมเปิดไตรมาส 2 ของปีนี้ จะเป็น “มหานครแห่งไลฟ์สไตล์” ที่เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม มาพร้อมท่าเรือส่วนตัว จะพัฒนาเป็นจุดชมวิวให้ลูกค้า

พร้อมกับย้ำ หลังเปิดสาขาพระราม 3 แล้ว ขอชะลอลงทุนศูนย์การค้า 2 ปี หลังโควิดทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image