คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ถิ่นสยาม

ใครชมชอบประวัติศาสตร์ แต่ไม่ถนัดกับการอ่าน

ไม่ถนัดกับการนั่งดูอะไรนานๆ

ใครนิยมเที่ยวเมืองไทย และชื่นชมความหลากหลายในท้องถิ่น

ขอแนะนำ รายการ “เช็คอิน ถิ่นสยาม” ที่มติชนทีวีผลิตมาหลายตอนแล้ว

Advertisement

แนะนำให้ลองชมกันดู

รายการ “เช็คอิน ถิ่นสยาม” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 มาแล้วหลายตอน

เวลาออกอากาศคือ จันทร์-ศุกร์ เวลา 11.29 น.

Advertisement

ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ออกอากาศเวลา 08.59 น.

ระยะเวลาออกอากาศแต่ละครั้งไม่เกิน 1 นาที แต่เนื้อหาที่สรุปมาให้ฟังนั้น…ได้ใจความ

รายการนี้จะแวะหยิบเอา “ของดี” ในจังหวัดต่างๆ มาเล่าให้ฟังกันแบบสั้นๆ

อาทิ พาไปจังหวัดกาญจนบุรี

เช็คอิน ถิ่นสยามนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับทางรถไฟสายมรณะ

ทางรถไฟสายนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นเจ้าของ

พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นว่า ซ่อมแซมได้ยาก เพราะภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย

จึงรื้อทางรถไฟในฝั่งพม่า ส่วนฝั่งไทยขายให้รัฐบาลไทย

สนนราคาขณะนั้นก็ 1.5 ล้านปอนด์… จะกี่บาทกี่เฟื้องก็คำนวณดูเอาเอง

พอทีมเช็คอิน ถิ่นสยามแวะไปที่จังหวัดอุทัยธานี

คราวนี้ ชวนให้ไปชมวัดคู่บ้านคู่เมือง ริมแม่น้ำสะแกกรัง

วัดนี้ชาวบ้านเรียกว่า “วัดโบสถ์” รายล้อมไปด้วยสถาปัตยกรรมงดงาม

ที่น่าสนใจคือวัดแห่งนั้นมีเจดีย์ 3 สมัยตั้งเรียงรายในระนาบเดียวกัน

เจดีย์ทรงระฆังเป็นศิลปะแบบอยุธยา

เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองยุครัตนโกสินทร์

และยังมีเจดีย์แบบผสมผสาน

เมื่อถึงคราวไปเยือนนครสวรรค์

ได้สัมผัสเมืองโบราณจันเสน

ขยายความว่า เมืองโบราณจันเสน เป็นชุมชนเก่าแก่สมัยทวารวดี

ชุมชนแห่งนี้เคยรุ่งเรือง เคยมีคนอาศัยอยู่เป็นแสน

จากหลักฐานและร่องรอยคูเมืองเก่าสันนิษฐานว่าจันเสนเป็นเมืองแรกๆ ในสุวรรณภูมิที่มีการติดต่อกับอินเดีย

สมัยนั้นอาจมีประชากรอยู่ถึงสามแสนคน จึงเรียกว่าเมือง “สามแสน”

ก่อนจะเพี้ยนเป็น “จันเสน” ในภายหลัง

สนุกไหม ?

ในเขตกรุงเทพมหานครนี้ เช็คอินถิ่นสยามก็ไป

ใครเคยชมคงจำได้ว่า ทีมงานท่องไปยังสถานที่น่าสนใจมากมาย

อาทิ วัดราชคฤห์วรวิหาร วัดเก่าแก่คู่ย่านตลาดพลู มีเขามอ ภูเขาจำลองที่รับอิทธิพลมาจากจีนตั้งเด่น มองเห็นได้แต่ไกล

วัดแห่งนี้สร้างโดยชาวมอญสมัยอยุธยา

ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางที่เรียกได้ว่ามีแห่งเดียวในประเทศไทย

สันนิษฐานว่า พระยาพิชัยดาบหัก เป็นผู้สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้คนที่เสียชีวิตในช่วงสงคราม

จึงมีพระปรางค์พระยาพิชัยดาบหัก อยู่ข้างๆ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย

และเป็นที่มาของชื่อวัด “ราชคฤห์” นั่นเอง

ขอเล่าอีกสักแห่ง นั่นคือ ชุมชน “กุฎีจีน” ซึ่งเป็นชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

คำว่า “กุฎี” มาจาก “กะดี” หรือ “กุฏิ” ซึ่งแปลว่า “ที่อยู่อาศัย”

และอาจจะหมายถึง ศาลเจ้าจีนที่ชื่อว่า ศาลเจ้าเกียนอันเกงที่สร้างขึ้นในสมัย

รัชกาลที่ 3 เป็นศาลเจ้ามีครบองค์ประกอบแบบจีนดั้งเดิม

จุดเด่น คือ จตุโลกบาลเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่แปะลงบนฝาผนังแทนที่จะเป็นรูปปั้น

รวมถึงรูปเคารพประธานเจ้าแม่กวนอิม เป็นเจ้าแม่กวนอิม ที่อิมพอร์ตมาจากเมืองแชฮุนเต็ง ประเทศจีน

ยังมี เรื่องราวของ “ขนมจีน” ที่ไม่ใช่ของจีน และไม่ใช่ของไทย

แต่เป็นของมอญ

มีชื่อเรียกตามภาษามอญว่า “คนอมเจย”

และ “คนอมเจย” หรือขนมจีนที่ชุมชนกุฎีจีน ราดด้วยแกงไก่คั่ว สูตรโปรตุเกส

พัฒนามาจากชาวโปรตุเกสที่เข้ามาหากินในสมัยนั้น แล้วลูกหลานพัฒนาสูตรขึ้นมา

ขนมจีนแกงไก่คั่วสูตรโปรตุเกสนี้ หารับประทานได้ที่ชุมชนกุฎีจีนเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนของ “เช็คอิน ถิ่นสยาม” ที่ออกอากาศไปแล้ว

แม้ว่าแต่ละตอนจะสั้นๆ แต่ก็จับประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ

อย่างน้อยคนที่ชอบเที่ยวไทย เวลาแวะเวียนเยี่ยมเยือนที่ไหนจังหวัดใด หากได้ชมได้ดูเรื่องราวที่เป็น “อัตลักษณ์” ของที่นั่นเอาไว้ก่อน

เวลาตระเวนเที่ยวตระเวนกินคงสุขสำราญขึ้นเป็นกอง

เหมือนกับคนไทยเดินทางไปประเทศอื่น และซึมซับเรื่องราวของประเทศอื่น

มหัศจรรย์ พิศวง กับท้องถิ่นท้องที่ในต่างประเทศ

เช็คอิน ถิ่นสยาม เป็นรายการที่ดูแล้วชวนให้เห็นว่าเมืองไทยก็มีดีกับเขาอยู่มากมายหลายสถานเหมือนกัน

ใครได้ชมรายการนี้ แล้วไปเที่ยวไทย แวะเวียนซึมซับประวัติศาสตร์ชาติ

รวมไปถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย

การท่องเที่ยวในทริปนั้นย่อมออกรสออกชาติมากขึ้น

ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงปิดเทอม พ่อแม่พี่น้องหลายคนไปเที่ยวไกลๆ คงวางแผนไม่ทัน

แนะนำให้เที่ยวเมืองไทย แนะนำให้ชมรายการ “เช็คอิน ถิ่นสยาม”

เก็บข้อมูลเบื้องต้น แต่เป็นข้อมูลลึกๆ

เวลาไปเที่ยวสถานที่จริง คงช่วยเสริมเติมบรรยากาศในการเดินทาง

กลายเป็นการท่องเมืองไทยบนข้อมูลความรู้

เที่ยวถิ่นไทยไปบนข้อมูลความลึก

ซึมซับ “ของดี” อันหลากหลายที่มีอยู่ทั่วไปบนผืนแผ่นดินนี้…แผ่นดินไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image