เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ไฮด์ปาร์ก ‘อุปถัมภ์ค้ำใคร’ บนเวทีการเมืองไทยที่ประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ไฮด์ปาร์ก ‘อุปถัมภ์ค้ำใคร’ บนเวทีการเมืองไทยที่ประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง

ล้นหลามทั้งยอดขายและกำลังใจ สำหรับพ็อคเก็ตบุ๊ก ‘อุปถัมภ์ค้ำใคร : การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง’

ผลงาน รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กลั่นความรู้สังเคราะห์ข้อมูลแบบเน้นๆ จากหลายโครงการวิจัยก่อนย่อยง่ายให้ผู้อ่านร่วมทำความเข้าใจและเรียนรู้ถึงเรื่องราวของ ‘ระบบอุปถัมภ์’ ในการเมืองไทย

ขึ้นเวทีไฮด์ปาร์กปราศรัยเปิดตัวอย่างเป็นทางการกลางเวทีเสวนาชื่อเดียวกัน ในเทศกาลหนังสือฤดูร้อนครั้งที่ 2 SUMMER BOOK FEST 2022 ณ สามย่านมิตรทาวน์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ รั้วแม่โดม ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการ พร้อมงัดกลยุทธ์ส่งเสริมการขายสุดแรง

Advertisement

“ไม่มีใครเหมาะสมจะเขียนหนังสือเรื่องนี้มากเท่าอาจารย์เวียงรัฐ เพราะเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศึกษาเกี่ยวกับการเมืองเชิงอุปถัมภ์ในสังคมไทยหรือเจ้าพ่อตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ที่เริ่มมีปรากฏการณ์การใช้อิทธิพลในการเลือกตั้ง โดยเฝ้าติดตามดูพลวัตของการเมือง ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในสังคมไทยอย่างเกาะติดมาตลอดเกินกว่า 2 ทศวรรษ”

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว พร้อมกระซิบเบาๆ ผ่านไมโครโฟนอย่างกึกก้องว่า “ได้ข่าวว่าเล่มนี้ขายดีมาก อาจไม่ทันถ้าไม่รีบซื้อ” (อ่านข่าว คล้องมาลัย ‘เวียงรัฐ’ เสวนาเล่มไฮไลต์ ‘อุปถัมภ์ค้ำใคร’ ประจักษ์ ขายเก่ง! แนะอ่านคู่ WHEN WE VOTE)

สร้างรอยยิ้มและคะแนนโหวตในใจประชาชนทั้งเบื้องหน้าเวทีและผู้รับฟังทางบ้านผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ‘มติชนออนไลน์’

Advertisement

บรรทัดจากนี้คือส่วนหนึ่งของถ้อยคำจากปาก รศ.เวียงรัฐ เจ้าของผลงานผู้ถูกคล้องพวงมาลัยดอกดาวเรืองสีเหลืองสด ในเรื่องราวของระบบอุปถัมภ์ การเมืองไทย และประชาธิปไตยที่ก้าวถอยหลัง

ถอยหลังกลางศตวรรษที่ 21

จากความหวังวัยเด็กสู่เหตุการณ์ที่ไม่นึกว่าจะเกิด

เรื่องประชาธิปไตยก้าวถอยหลังมีผลกระทบส่วนตัวในแง่อุดมการณ์และความเชื่อทางวิชาการจาก 2 เหตุการณ์ใหญ่ๆ คือ เหตุการณ์แรก การบุก Capitol hill (รัฐสภาสหรัฐ) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 สำหรับตัวเองที่โตมาในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ที่เชื่อว่าประชาธิปไตยคือคุณค่าทางสังคมที่ดีที่สุด ต้องปกป้องหวงแหนและทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ การบุก Capitol hill จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์ความรุนแรง บ่อนทำลายความรู้สึกที่ว่าสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมั่นคงเข้มแข็ง และอเมริกาคือตัวแบบ

เหตุการณ์ครั้งที่ 2 ซึ่งทุกวันนี้ยังอยู่ในใจตลอดคือการบุกยูเครนโดยรัสเซีย แต่เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อชีวิตมากที่สุด คือรัฐประหาร 2557 ในเมืองไทยที่ทุกวันนี้ยังรับผลกระทบของมันอยู่

ไม่นึกเหมือนกันว่าเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้วเราจะต้องเผชิญกับเรื่องราวที่มันถอยหลัง ความคาดหวังในวัยเด็กที่คิดว่าสักวันหนึ่งประชาธิปไตยจะงอกงาม กลับกลายเป็นถดถอยในทศวรรษที่ผ่านมา

ลงพื้นที่ ขลุกท้องถิ่น ‘นักการเมืองก็ถูกหลอกเหมือนกัน’

ตัวเองสนใจการเมืองที่อยากจะออกไปจากวาทกรรม เพราะวาทกรรม เราโต้กลับได้ และเราสู้ทางการเมืองด้วยวาทกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ที่เห็นคุณค่าในประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริง การลงพื้นที่คุยกับนักการเมือง หัวคะแนน ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน รวมทั้งนักเลงหัวไม้ ผู้มีอิทธิพลหรืออะไรก็ตาม ทำให้ได้ภาพอะไรหลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้

ไปเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม มหาสารคาม กาญจนบุรี รวมถึงภาคตะวันออกด้วย ที่ต้องเอ่ยชื่อเพราะต้องขอบคุณทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือ

สิ่งหนึ่งที่รู้สึกหดหู่สิ้นหวังหลังรัฐประหาร 2557 คือ พอลงพื้นที่กลับเห็นความโดดเด่นของนักการเมืองที่สู้ไม่ถอย บางทีนักการเมืองก็ถูกหลอกเหมือนกันว่าจะมีการเลือกตั้ง กำลังโรดแมปสู่ประชาธิปไตย สิ้นปีนี้ได้เลือกตั้งแน่ สิ้นปีนี้รัฐธรรมนูญใหม่ออกแน่

ระหว่างนั้นนักการเมืองก็จ่ายเงินให้กับงานแต่งงาน งานบวชก็ต้องไป งานศพก็ใส่ซอง ดิฉันเคยไปตามนักการเมืองคนหนึ่ง เช้าขึ้นมาเขาลุกมาแต่งตัวแล้ว ถามว่าอาจารย์จะตามผมไหม ไปนั่งคุยกับชาวบ้านเรื่องสินค้าเกษตรที่ไม่ได้ราคา นั่งด่ารัฐบาล ตอนสายๆ มีงานบวช บ่ายมีรดน้ำแต่งงาน เย็น-กลางคืน สวดศพ ไปทุกงานให้ชาวบ้านจำได้ เดือดร้อนอะไรก็จะมาบ่น บางทีไม่รู้จะพูดอะไร เขาจะพูดตลกๆ ว่า อย่าไปซื้อเชือกก็แล้วกัน เงินยังไม่มี ถ้าจะผูกคอตายแล้วเปลี่ยนใจขึ้นมาจะเปลืองเงิน หรือบอกว่าดีแล้วที่ยาฆ่าหญ้าแพง ไม่อย่างนั้นเอาไปกินฆ่าตัวตายหมด คือพูดตลกกันไป ปลอบใจกันไป พูดตลกกันไป เพื่อให้สู้กันต่อไปว่าเดี๋ยวจะมีเลือกตั้งปีหน้า

แม้อาจจะเป็นนักการมืองที่หาผลประโยชน์ด้วย แต่ในที่สุดแล้วเขาเป็นนักการเมืองได้ก็เพราะประชาชนนั่นแหละ ถ้าไม่เห็นว่าเขาดี ไม่เลือก ก็ไม่มีความหมาย ดังนั้น อำนาจทางการเมืองไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันถูกดึงเอาประชาชนเข้าไปก็เพราะนักการเมืองทั้งท้องถิ่นจนถึงระดับชาติและยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

ผ่านไป 3-4 ปี นักธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ตามหัวเมืองเริ่มพูดว่า เดี๋ยวนี้ระบบราชการเป็นใหญ่นะ เราคุยกับนักการเมืองรู้เรื่อง ชาวบ้านต้องการอย่างนี้ ทำไปชาวบ้านก็ไม่ด่า แต่ระบบราชการเป็นตัวตัดสินใจ มันสะท้อนให้เห็นว่าวาทกรรม ‘นักการเมืองเลว’ ซึ่งก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะนักการเมืองโกงมีจริง แต่วาทกรรมแบบนี้ไปบั่นทอนความเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือนักการเมืองเลว

แต่ถ้าไปดูในท้องถิ่นจริงๆ ประชาธิปไตยคือการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่เดือดร้อนหรือมีความต้องการตามกลุ่มของเขากับผู้แทนของตัวเอง หากประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ความสัมพันธ์แบบนี้ก็มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นความสัมพันธ์ที่ยืนอยู่บนนโยบาย ความสัมพันธ์ที่เอาใจคนจำนวนมากแทนคนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นหัวคะแนน ถ้าไม่ทำตามคนจำนวนมาก การเลือกตั้งครั้งต่อไป ชาวบ้านอาจเปลี่ยนใจไปเลือกขั้วตรงข้ามได้ เพราะฉะนั้น คำกล่าวที่ว่านักการเมืองสกปรก ในความเป็นจริงมันกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่เป็นวาทกรรมที่คนกรุงเทพฯใช้หลอก ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ

อีกอย่างหนึ่งคือ ทุกอย่างมีปัญหาภายใน แต่เป็นปัญหาภายในระบอบประชาธิปไตย เช่น ประชาชนไม่มีความรู้ ต้องซื้อเสียง หวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่มันเป็นปัญหาภายในประชาธิปไตย ไม่ใช่ปัญหาของประชาธิปไตยที่จะต้องไปล่มมันแล้วสร้างระบอบใหม่ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่ามันเป็นอย่างไร

การเมือง ‘มโนโกหก’ โซเชียลรู้ คนรุ่นใหม่รู้ (ทัน)

วาทกรรมที่บอกว่าการเมืองต้องเป็นเรื่องของคนดีและศีลธรรม นักการเมืองกับสกปรกหรือคอร์รัปชั่น ทำให้การรัฐประหารครั้งหลังสุดพยายามย้อนกลับไปดึงความเชื่อแบบนั้นกลับมาแต่ก็ทำไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม มีความพยายาม ‘มโนโกหก’ โดยการใช้เฟคนิวส์หล่อเลี้ยงมันไปได้ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เราได้เห็นข้อพิสูจน์แล้วว่าประชาชนตื่นตัวมาก การเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าคนมีความรู้ทางการเมือง การตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ ใครโกหก ใครพูดไม่ดี จะเห็นว่าคนในโซเชียลมีเดียรู้

แตะเบรก ‘เรื่องเล่าหลัก’ จับตาบทบาท ‘เจ้าพ่อ’

อิทธิพลคู่ระบบราชการ เมื่อ คสช.พาย้อนยุค

คำถามที่ว่า มีอะไรใหม่ในเล่มนี้ ดิฉันคิดว่าไม่ใช่อะไรใหม่ แต่เป็นการพิสูจน์ คือการใช้กรอบในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์อุปถัมภ์มาอธิบายใหม่โดยที่ระบอบ คสช.ช่วยยืนยันกรอบนั้นให้ชัดเจนขึ้น

การเอากรอบมาอธิบายความสัมพันธ์อุปถัมภ์ ต้องโยงกับเรื่องเล่าหลักทางวิชาการที่มีการปรากฏของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลมันมาพร้อมๆ กับการเลือกตั้งต่อเนื่องในทศวรรษปลาย 1980 ครึ่งแรกของ 1990 ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเห็นบทบาทของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลและความรุนแรงชัดเจน จึงทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่าการเลือกตั้งทำให้บทบาทเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลเข้มแข็งขึ้น และเข้ามาอยู่ในวงการการเมืองได้เพราะการเลือกตั้ง นี่คือเรื่องเล่าหลัก แต่งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า มันไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองเลย ไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเลย บทบาทของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลที่ควบคู่ระบบราชการต่างหากที่น่าจับตามอง แล้วระบอบ คสช.พาย้อนกลับไปในตอนนั้น

ส่องแว่นขยาย ‘สายสัมพันธ์’ ในยุคที่คนต้อง ‘เท่ากัน’

เรามักเน้นที่ตัวแสดงทางการเมืองแต่ไม่ดูสายสัมพันธ์ แต่งานของดิฉันในหนังสือเล่มนี้พาผู้อ่านไปเอาแว่นขยายดูในสายสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้รับการอุปถัมภ์ ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของสายสัมพันธ์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

บางทีพูดกันว่าผู้มีอิทธิพลมีมานานแล้ว บ้านใหญ่ก็ชนะการเลือกตั้ง หรืออดไม่ได้ที่ผู้มีอิทธิพลในจังหวัดนี้มีบทบาททางการเมืองอีก แต่สิ่งที่มันเปลี่ยนไปในสายสัมพันธ์นี้ที่มีรายละเอียดต้องไปเจาะในพื้นที่ หรือเข้าไปคุยว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรเชื่อว่าระบอบที่เปลี่ยน มันเปลี่ยนตัวสายสัมพันธ์ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในการทำความเข้าใจระบบอุปถัมภ์ มากกว่าตัวผู้แสดงทางการเมือง

สังคมสมัยใหม่ รัฐสมัยใหม่ ระบอบประชาธิปไตย สิทธิของคนเท่ากันไม่ควรมีใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกคนหรือเข้าถึงทรัพยากรทางอำนาจมากกว่าอีกคน อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปขยายดูความสัมพันธ์ของคน 2 คน มันมีหลายเลเยอร์ มีหลายเลเวล ในความสัมพันธ์แบบการเลือกตั้ง อาจมีการอุปถัมภ์โดยบอกว่าช่วยเลือกหน่อยแล้วจะพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการเอางบประมาณมาทำเขื่อนกั้นน้ำ พอสร้างเขื่อนเรียบร้อยแล้ว นักการเมืองโฆษณาเลยว่านี่เป็นผลงานนักการเมือง แต่อยู่ได้ 2 ปีพัง ประชาชนบอกว่า อีก 2 ปีข้างหน้าเลือกตั้งใหม่ไม่เอาคนเดิมแล้วนะ มันโกง คุณภาพเขื่อนต่ำมาก แต่ขณะที่บางยุคบางสมัยบอกว่าไปเลือกตั้งนะ ถ้าหมู่บ้านนี้ไม่ได้จำนวนตามนี้ มึงลำบากแล้ว หนี้ที่มึงเป็นหนี้อยู่กูจะเอาคืน และมีสิทธิกินลูกตะกั่ว

 

กระจายอำนาจเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมือง

หลังรัฐธรรมนูญ 40 ความรุนแรงลด ไม่ใช่เพราะ ‘คนดี’

การเมืองหลังรัฐธรรมนูญ 40 ไม่ได้เป็นการเมืองที่เพอร์เฟ็กต์ สมบูรณ์แบบ แต่มีแนวโน้มเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปข้างหน้าด้วยเหตุผล 2 ก้อนใหญ่ของการเปลี่ยนแปลง คือการกระจายอำนาจที่ทำให้ประชาชนเกิดประชาธิปไตยกินได้ หรือเกิดความเข้าใจว่าการให้บริการภาครัฐเป็นสิทธิ ไม่ได้เป็นเรื่องของการเมตตาโดยรัฐ

อีกด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญมันเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ทำให้เกิดการสร้างสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง การสู้นอกเวทีทางการเมือง นอกสนามแข่งขันทางการเลือกตั้งมันไม่คุ้มแล้ว ถ้าเราไปยิงใครเพื่อให้ได้สถาปนาอำนาจขึ้นมา สักวันหนึ่งก็จะถูกไล่ล่า ถูกปล้น ช่วงชิงเอาคืน หรือถูกฝ่ายตรงกันข้ามขุดคดีขึ้นมา และต้องจ่ายเงินหรือต้องหล่อเลี้ยงสิ่งเหล่านี้มาก เพื่อรักษาอำนาจที่ไม่ชอบธรรมไว้ได้

ในขณะที่การเลือกตั้งทำให้คุณได้รับความนิยมเพราะใช้งบประมาณภาครัฐเข้าไปทำให้ประชาชนมีความสุข คุณก็จะได้รับการเลือกตั้งตลอดไป ลูกหลานคุณก็จะได้เลือกตั้งตลอดไป มันกลายเป็นจุดเปลี่ยน แต่หลายคนยังเข้าใจว่าหลังรัฐประหารปี 2557 การเมืองวิ่งกลับมาเหมือนเดิม เป็นการเมืองแบบเก่า ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วย

การกระจายอำนาจมันไปเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองในการเมืองนอกกรุงเทพฯ นี่คือสิ่งสำคัญ ทำไมการใช้ความรุนแรงจึงลดลง ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนดีขึ้น แต่เพราะมีทรัพยากรทางอำนาจใหม่เข้ามา นั่นคืองบประมาณและการสามารถประสานงานกับการปกครองท้องถิ่น ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นทำงาน และเป็นผลงานของนักการเมือง ของกลุ่มการเมืองภายใต้พรรคการเมือง มันก็ทำให้นักการเมืองได้รับความนิยมโดยไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือเสี่ยงภัย

เปิดปม (ตัดสมการ) ‘วิ่งงบ’ สิ่งค้นพบที่ขยายได้อีกเล่ม

หนังสือเล่มนี้มีสิ่งค้นพบอีกอันหนึ่งซึ่งจริงๆ แล้วสามารถขยายเป็นอีกเล่มหนึ่งได้เลย คือเรื่องของการ ‘วิ่งงบ’ บทบาทการวิ่งงบของนักการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ แม้อาจได้ผลประโยชน์จากการฮั้วกับผู้รับเหมา แต่ก็ต้องเป็นผลประโยชน์กับประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ประชาชนอยากได้สะพาน ดันไปสร้างโรงเรียน ประชาชนอยากได้ห้องน้ำ ดันไปขุดบ่อ ประชาชนอยากได้เขื่อน ดันไปขุดถนน อย่างนี้ไม่ได้รับความนิยมแน่นอน เพราะฉะนั้นการวิ่งงบจึงมีตัวแปรสำคัญ คือ ต้องเป็นความต้องการของประชาชน

การวิ่งงบคือการคุยกับระบบราชการจนถึงการแปรญัติในสภา แล้วไปเคลมว่าเป็นผลงานของนักการเมืองคนนั้น ซึ่ง ส.ส.ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง มีความสามารถอย่างมากในการวิ่งงบ และนักการเมืองท้องถิ่นก็ต้องมีความสามารถอย่างมากในการวิ่งงบ เพื่อเอาโครงการที่ประชาชนต้องการมาลงในพื้นที่

แต่ระบอบ คสช. ทำให้การปกครองส่วนภูมิภาค หรือผู้ว่าฯ เป็นคนชี้ว่าโครงการอะไรที่จะมาลงพื้นที่ ในที่สุดเป็นเรื่องของการเมืองภายในกรมกอง หน่วยงานราชการ ไม่เกี่ยวกับประชาชน เมื่อประชาชนถูกตัดออกไป นักการเมืองถูกตัดออกไปจากสมการทางอำนาจ การใช้งบประมาณภาครัฐจึง 1.ไม่โปร่งใส 2.ไม่ตรงความต้องการประชาชน ย้อนไปเหมือนก่อนมีการกระจาย
อำนาจ ไม่มีการเมืองแบบที่มีนักการเมืองเข้าไปเป็นตัวเชื่อมโยง

สะบั้นความผูกพัน ‘ชาวบ้าน-นักการเมือง’ ลดดีกรีประชาธิปไตย

การทำลายประชาธิปไตย ยุบสภา ตัดการเลือกตั้ง รวบอำนาจ ครม. มาจากการแต่งตั้ง ส.ว. เข้าไปมีอำนาจ เราจะสังเกตเห็นได้ชัดเจน ซึ่ง รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ก็ศึกษา รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ก็ศึกษา และยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมืองโดยตรง คือ ความผูกพัน หรือสายสัมพันธ์ ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชน ระหว่างพรรคการเมืองกับนักการเมือง ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน สายสัมพันธ์นี้เป็นตัวบ่งบอกสถาบันทางการเมืองและดีกรีของประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

พอยุบสภา ไม่มีการเลือกตั้ง สิ่งสำคัญที่ยังเหลืออยู่อย่างเดียวและตายยากที่สุดด็คือ ความสัมพันธ์กับนักการเมือง เขาก็ทำลายอีก ด้วยการตัดไม่ให้นักการเมืองมีบทบาท ด้วยการหลอกนักการเมืองว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ยื้อเวลาออกไป ทำให้สายสัมพันธ์อ่อนแอลง แล้วก็ให้อำนาจของระบบราชการเข้ามาแทนที่ เข้าไปตัดสินใจในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยพูดถึง เพราะไม่ค่อยเห็นชัดเจน เป็นการเมืองหลังฉาก หลังม่าน ซึ่งหนังสือเล่มนี้พยายามไปเปิดให้เห็น

มันมีตัวอย่างหลายตัวอย่าง แต่ประเด็นสำคัญคือในช่วงปีที่ 1 ปีที่ 2 หลังรัฐประหาร การปกครองท้องถิ่นจะถูกไล่ตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าใช้เงินผิดประเภทหรือเปล่า ในที่สุดองค์กรอิสระอย่าง สตง. แทบจะกลายเป็นตัวกำหนดเลยว่าท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ท้องถิ่นจะเป็นตัวบอก ตัวเชื่อมโยงกับ ส.ส. หรือนักการเมืองระดับชาติว่า ประชาชนต้องการอะไร

งบประมาณที่ท้องถิ่นจะได้รับในรูปแบบงบอุดหนุนมันจะมาในรูปของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ งบที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืองบพิเศษโดยเฉพาะที่จะมาลงให้ท้องถิ่นก็ถูกไปรวมอยู่ในไทยแลนด์ 4.0 แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนดูแลจจัดสรรงบประมาณในจังหวัดนั้นๆ ท้องถิ่นก็ถูกตัดไป จึงไม่ได้เชื่อมโยงกับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง เช่น การสร้างเสาไฟฟ้าในบางจังหวัด การสร้างไวไฟ การสร้างร้านสะดวกซื้อหรือสิ่งปลูกสร้างในชุมชนต่างๆ มาในรูปของเงินที่นำมาจากจังหวัดในการจัดสรร แต่ก่อนหน้านั้นจะเอามาในรูปของงบประมาณอุดหนุนในท้องถิ่น

ส่วนโควิดเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าเจ็บใจด้วย ปีแรกที่ทำตัวเลขได้สวย คือกดตัวเลขเรื่องการแพร่ระบาดไว้อย่างดี ถ้าดูในท้องถิ่นจะเห็นเลยว่าบทบาทของเทศบาลแข็งขันมาก เป็นบทบาทสำคัญในการยับยั้งการแพร่ระบาดโดยทำงานกับ อสม.มาโดยตลอด แต่พอควบคุมได้หรือลดลง จังหวัดเอาไปเป็นผลงาน ศบค.ประกาศผลงานในการคุมยอดติดเชื้อ กลายเป็นผลงานจังหวัดซึ่งเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค ในขณะที่คนแข็งขันในระดับชุมชนอย่างเต็มที่คือการปกครองส่วนท้องถิ่น

มรดกน่าเศร้า การเมืองแบบ ‘เอาตัวรอด’ บน 2 ฝั่งของรอยปริแตก

ในเมื่อเกิดการสร้างระบบที่เราไม่เห็นอนาคต จึงเกิดการเมืองแบบต้องหาทางเอาตัวรอดก่อน คล้ายๆ กับเรื่องวัคซีน มีเงินก็จองโมเดอร์นาก่อน มีเส้นก็ขอฉีดก่อน ได้ฉีดซีโนแวคก็ดีกว่าไม่มี การเมืองก็เป็นอย่างนั้น มันสร้างให้มนุษย์กลายเป็นคนต้องเอาตัวรอดเพราะไม่มีอนาคต ไม่มีทางราบเรียบ นักการเมืองก็เช่นกัน เป็นลักษณะการเล่นการเมืองแบบเอาตัวรอด ใช้เส้นสายและไม่ได้เป็นเฉพาะพรรครัฐบาล ในที่สุดพรรคฝ่ายค้านก็เป็นด้วย ซึ่งต้องขอโยงกับดราม่าการทะเลาเบาะแว้งที่เชื่อมโยงกับการเมืองของโซเชียลมีเดีย

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มรดกจากระบอบ คสช. ไม่ได้สร้างเพียงรอยปริแยกทิ้งไว้ในเครือข่ายของเขาเอง แต่ทำให้เกิดความขัดแย้งทั่วไปหมด เราต้องทุบคนนั้นเพราะมันเป็นคู่แข่งเรา เราต้องโจมตีคนนี้เพราะเป็นคู่แข่งเรา เพราะเราไม่รู้ว่าเส้นทางทางการเมืองในอนาคตเป็นอย่างไร จึงต้องเหยียบคนอื่นเพื่อขึ้นไปก่อน เหมือนตอนที่ไม่รู้ว่าวัคซีนจะมาไหม ก็ต้องใช้เงินของเราเพื่อเอามาก่อน

รอยปริแยกทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านซึ่งชัดเจนมากขึ้นจากบทเรียนเรื่องวัคซีน มันทำให้คนต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองจะเจออะไร

เมื่อไม่มี Rule of law ไม่มีหลักการที่จะคาดเดาได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image