ไม่ลืม 11 ชีวิต 1 ชะตากรรม สแกนจุดอ่อน ‘พ.ร.บ.อุ้มหาย’ ก้าวแรกที่ยังต้อง‘ไปต่อ’

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา หลานของ ‘หะยีสุหลง’ สะอื้นไห้ขณะแถลงข่าว ที่รัฐสภา เมื่อ 31 ส.ค.

ยังคงเป็นประเด็นต้องติดตามต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

สำหรับการ ‘อุ้มหาย’ ซึ่งแม้ไทยจะผ่านร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนถึงวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคม เพียง 1 สัปดาห์

นับเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญในวงการสิทธิมนุษยชนไทย หลังมีความพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องยาวนาน

สำหรับความเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม กลุ่ม ‘โมกหลวงริมน้ำ’ จัดกิจกรรม “ตามหาคนหาย” เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ รำลึกถึงผู้ที่ถูกรัฐบังคับให้สูญหาย รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม ในช่วงบ่ายของวันผู้สูญหายสากล

Advertisement
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หายตัวไปตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2561 หลังลี้ภัยทางการเมือง ที่สปป.ลาว

รุ่งขึ้น ในช่วงสายของวันที่ 31 สิงหาคม ที่รัฐสภา พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ, รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ตลอดจนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ และครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ ร่วมแถลงข่าวภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … โดยต่างเห็นพ้องว่าเป็น ‘ก้าวสำคัญ’ ในการเปิดทางพัฒนาต่อไปในอนาคต

2 องค์กรนานาชาติ ชี้นิมิตหมายดี
แต่ยังมี‘จุดอ่อน’

ประเด็นการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในไทย แน่นอนว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ทว่าองค์กรระดับนานาชาติอย่างน้อย 2 แห่ง มองว่ายังคงมีจุดอ่อนสำคัญหลายประการ กล่าวคือ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่ามติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ที่ล่าช้ามาเนิ่นนาน นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการป้องกันและเยียวยาความเสียหายจากอาชญากรรมเหล่านี้ แต่ทั้ง 2 องค์กรรู้สึก ‘ผิดหวัง’ ที่ยังคงมีข้อบกพร่องในบางมาตราที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์

เอียน เซเดอร์แมน ผอ.ฝ่ายกฎหมายและนโยบาย ICJ มองว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่มีบทบัญญัติครบถ้วนหรือถูกต้องตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทำให้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติในลักษณะที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ UNCAT) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ทั้งที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของ UNCAT และ ICCPR เมื่อปี พ.ศ.2555 และลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) ซึ่งสะท้อนถึงคำมั่นที่จะป้องกันและยับยั้งอาชญากรรมการบังคับให้บุคคลสูญหาย อย่างไรก็ตาม คำมั่นของไทยที่จะให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี ICPPED ให้แล้วเสร็จกลับยังไม่ถูกดำเนินการจนกระทั่งปัจจุบัน

Advertisement

ด้าน เอ็มเมอร์ลีน จิล รอง ผอ.สำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยอมรับว่า ข้อบกพร่องบางประการที่แอมเนสตี้ระบุในข้อเสนอแนะก่อนๆ ได้รับการแก้ไขแล้วในร่างพระราชบัญญัติฉบับที่ผ่านมติรับรอง ยกตัวอย่างเช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พร้อมทั้งมีบทบัญญัติที่รับรองให้อาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง ซึ่งน่ายินดีที่ปรากฏในร่างฉบับนี้

“ในอนาคต ประเทศไทยควรทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป และดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์” เอ็มเมอร์ลีน จิล ย้ำ

ทั้งนี้ องค์กรทั้ง 2 ยังเรียกร้องให้ไทยดำเนินการตามคำมั่นว่าจะทำการให้สัตยาบันแก่อนุสัญญา ICPPED โดยไม่ล่าช้า พร้อมทั้งแก้ไขข้อบกพร้องในร่างพระราชบัญญัติเพื่อรับประกันการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน

สำหรับ ‘ข้อกังวลหลัก’ จากร่างพระราชบัญญัติที่ยังคงประกอบด้วยบทบัญญัติบางมาตราที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ได้แก่

1.นิยามของอาชญากรรมการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายไม่สมบูรณ์หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และ ‘การกระทำให้สูญหาย’ โดยผู้กระทำการที่ไม่ใช่ภาครัฐ ตามที่ระบุในมาตรา 3 ของ ICPPED ไม่ได้ถูกกำหนดไว้

2.การตัดมาตราที่ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมออกจากร่างพระราชบัญญัติ

3.การขาดตัวแทนเหยื่อการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในองค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และการถอดถอนหน้าที่ของคณะกรรมการในการตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัว

4.การถอดถอนบทบัญญัติเกี่ยวกับการไม่รับฟังคำให้การ หรือข้อมูลอื่นอันได้มาจากการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี

5.การขาดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดอายุความของอาชญากรรมการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย อันสอดคล้องกับอนุสัญญา UNCAT และ ICPPED โดยสมบูรณ์

คลุมถุงดำ‘ตามหาคนหาย’
จำลอง‘อุ้ม’กลางเมือง

จำลองคลุมถุง-อุ้มหายกลางสยาม เมื่อ 30 ส.ค. เทียบกรณี “ทนายสมชาย” ถูกลักพาตัวแบบอุกอาจ

ย้อนไปเมื่อ 30 สิงหาคม วันผู้สูญหายสากล หน้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านปทุมวัน ใจกลางกรุงเทพฯ กลุ่มคนไทยที่ไม่หลงลืมผู้ถูกอุ้มหาย นำโดยเยาวชนกลุ่ม ‘โมกหลวงริมน้ำ’ นัดพบและเคลื่อนขบวนไปตามถนนพระรามที่ 1 แขวนภาพใบหน้าผู้สาบสูญห้อยคอ ตะโกน “ตามหาคนหาย” ปราศรัยยืนยันจะไม่มีวันหยุดเคลื่อนไหวตราบใดคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

แทนฤทัย แท่นรัตน์ หรือ ‘พิมพ์’ เยาวชนหญิง เปิดใจว่า ต้องการส่งเสียงถึงภาครัฐ และประชาชนทั่วไปว่า ยังมีคนที่ถูกบังคับสูญหาย ในขณะที่ประเทศนี้เพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆ ทำให้การบังคับสูญหายเป็นเรื่องธรรมดา

“ขอให้ร่วมกันจับตาคดีบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ไม่อยากให้คดีถูกฟอกหรือหายไป บิลลี่ 8 ปี ถึงจะได้รับความเป็นธรรม แล้วสิ้นสุดกระบวนการจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่อาจทราบได้” แทนฤทัยกล่าว

มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ นำขบวน “ตามหาคนหาย” ก่อนหยุดปราศรัย ที่สยามสแควร์ เมื่อ 30 ส.ค.

ด้าน ‘มิ้นท์’ กลุ่ม ‘นาดสินปฏิวัติ’ ตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในประเทศนี้ สำหรับนักกิจกรรมและคนเห็นต่าง ว่ายังมีพื้นที่อยู่หรือไม่?

“เรามีความเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐ ออกมาพูดถึงปัญหา เราอยากบอกว่า ทุกคนสามารถโดนอุ้มหายได้ทุกคน มีหลายเคส ทั้งกรณีถังแดง ซึ่งรัฐไทยพยายามทำให้คนลืม และเราเชื่อว่าความทรงจำจะเป็นเครื่องมือทวงคืนความยุติธรรมได้”

“ขอใช้โอกาสนี้จัดกิจกรรมเพื่อคืนความทรงจำให้ทุกคน ว่ามีบุคคลที่สูญหาย แล้วเขายังไม่ได้รับความยุติธรรม อย่างกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกอุ้ม ซึ่งความจริงควรจะจับตัวคนร้ายได้ หรือได้รับความยุติธรรม จนปี 2565 แล้ว ก็ยังไม่ได้คำตอบจากรัฐว่าเกิดอะไร ถ้าตายไปแล้ว ยังมีศพให้รำลึกถึง แต่การหายไป ตายหรือไม่ก็ไม่รู้ บางทีมันมีความหวัง แต่ก็ไม่รู้หวังอะไร เสียใจได้ไม่สุดเพราะยังไม่เห็นศพ คือความรู้สึกจากการสัมผัสญาติของผู้ที่ถูกอุ้มหาย ไม่รู้จะหวังไปถึงเมื่อไหร่ คนอยู่มันเจ็บปวด เราสัมผัสได้ ระหว่างนี้เราไม่มีอำนาจใดๆ ไปจัดการ อย่างน้อยให้เขายังอยู่ในความทรงจำของเรา เขาอาจจะตายไปในโลกนี้ แต่อุดมการณ์เขายังอยู่” มิ้นท์กล่าว

ไม่ใช่ ‘คัมภีร์วิเศษ’ แต่เป็นก้าวที่ไกลเกินฝัน
ชัยชนะสำคัญภาคประชาชน

สำหรับบรรยากาศในวันรุ่งขึ้นที่รัฐสภา 31 สิงหาคม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … แถลงความสำเร็จหลังความพยายามผลักดัน

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในฐานะหนึ่งใน กมธ. และหลานของ ‘หะยีสุหลง’ ผู้ถูกบังคับให้สูญหายเมื่อ 68 ปีก่อน ถึงกับสะอื้นไห้ในบางช่วงบางตอน

“หลายครอบครัวยังรอทราบชะตากรรมของชีวิตในครอบครัว ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ และในฐานะที่ผ่านมา มองว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ ให้ครอบคลุมทุกประเด็น การประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการเริ่มต้น แม้ไม่ใช่คัมภีร์วิเศษหยุดยั้งบุคคลกระทำผิด แต่เราต้องติดตามอย่างเข้มข้นเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งเลวร้ายกับครอบครัวอื่น พร้อมเยียวยาดูแลครอบครัวผู้ที่ถูกอุ้มหายและซ้อมทรมาน” พญ.เพชรดาวกล่าว

ทั้งยังขอบคุณ ธิษะณา ชุณหะวัณ บุตรสาว ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งล่าสุดได้กล่าวขอโทษครอบครัวโต๊ะมีนา ที่ตระกูลของตนมีส่วนในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้เคยได้รับคำขอโทษครั้งแรกจากไกรศักดิ์มาก่อนแล้ว

“คำขอโทษถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น มีคุณค่าและความหมายต่อจิตใจครอบครัวผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก การให้อภัยเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในศาสนาอิสลามและทุกศาสนา เมื่อความจริงปรากฏ ความเท็จย่อมมลายหายสิ้น” พญ.เพชรดาวทิ้งท้าย

ตามด้วย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เปลี่ยนแปลงกระบวนการสืบสวนสอบสวนจากที่มีในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ฝ่ายปกครองและอัยการต่างช่วยกันถ่วงดุล สืบสวนสอบสวนทั้งการทรมาน กระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งใหม่ให้การสอบสวนและรวบรวมหลักฐานเป็นธรรมให้ประชาชนมากขึ้น

ในขณะที่ รังสิมันต์ โรม แห่งพรรคก้าวไกล ย้ำว่าความเจ็บปวดจากการใช้อำนาจรัฐเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันกฎหมายนี้

“เรามาไกลเกินกว่าความตั้งใจหรือความคิดแรกที่ได้ฝันเอาไว้ เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างการเมืองปัจจุบัน ได้เท่านี้ก็นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของภาคประชาชนและของคนที่ครั้งหนึ่งถูกกระทำไว้” โรมเผย

ด้าน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคือการที่เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องทำความเข้าใจ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อไม่ให้มีการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตลอดจนเข้าข่ายการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในอนาคตหากเราประสบกับรายละเอียดที่จะต้องแก้ไขในกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องแก้ไข

ปิดท้ายที่ สมศักดิ์ ชื่นจิตร ที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ลูกชาย ผู้ถูกตำรวจซ้อมทรมานที่จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ต่อสู้มา 15 คำพิพากษา วันนี้เดินทางมารัฐสภาเพื่อขอบคุณผู้แทนราษฎรที่ผ่านกฎหมายนี้ ซึ่งมีประโยชน์และคุณอนันต์ให้ประชาชนมีหลักประกันว่าจะเท่าเทียม ตลอดจนปกป้องและป้องกันจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ลุแก่อำนาจ

คาดหวังว่าจะมีพัฒนาการต่อไปในวันข้างหน้า

11 รายนามนักเคลื่อนไหวที่ถูกบังคับสูญหาย
หลังรัฐประหาร 2557

ใบหน้า 11 ผู้หายสาบสูญ หลังรัฐประหาร 2557 “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” แถลง เรียกร้องรัฐ กำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำให้บุคคลสูญหายอีกต่อไป

1.วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกนำตัวขึ้นรถ ขณะแวะซื้อของหน้าอาคารที่พัก ณ กรุงพนมเปญ ช่วงเย็นของวันที่ 4 มิถุนายน 2563 หลังลี้ภัยในกัมพูชา กรณีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. (ไม่ทราบชะตากรรม)

2.เด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน สูญหายเมื่อ 16 เมษายน 2559 ที่ ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ (เสียชีวิต)

3.พอละจี รักจงเจริญ หรือ ‘บิลลี่’ นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สูญหายเมื่อ 17 เมษายน 2557 (เสียชีวิต)

4.อิทธิพล สุขแป้น หรือ ‘ดีเจซุนโฮ’ สูญหายเมื่อ 22 มิถุนายน 2559 ที่ สปป.ลาว (ไม่ทราบชะตากรรม)

5.วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ ‘โกตี๋’ สูญหาย 29 กรกฎาคม 2560 ที่ สปป.ลาว (ไม่ทราบชะตากรรม)

6-8.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน (ไม่ทราบชะตากรรม), ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ‘สหายภูชนะ’ (เสียชีวิต) และ ไกรเดช ลือเลิศ หรือ ‘สหายกาสะลอง’ (เสียชีวิต) ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปยัง สปป.ลาว หลังรัฐประหาร 2557 ทั้ง 3 สูญหายเมื่อ 12 สิงหาคม 2561 ที่ สปป.ลาว

9-11.สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง, กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด และ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง 3 ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ถูกส่งตัวกลับจากเวียดนามมายังไทย แต่ยังคงหายสาบสูญไม่ทราบชะตากรรม ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image