ที่มา | อาทิตย์สุขสรรค์, มติชนรายวัน อาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม, 2565, หน้า 13-14. |
---|---|
ผู้เขียน | พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร - เรื่อง/ ยิ่งยศ เอกมานะชัย - ภาพ |
“หนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกว่า ในที่สุดประเทศไทยเราต้องประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่า เราจะไม่เลือกข้างไหนทั้งนั้น เราจะไม่อยู่ข้างอเมริกา เราจะไม่อยู่ข้างจีน ข้างเดียวที่เราเลือกได้คือ เราจะเลือกข้างรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย”
คือคำตอบของ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม เจ้าของผลงาน Amidst the New World Order ไทยในระเบียบโลกใหม่ ที่มีคำโปรยปกหน้าว่า ‘อ่านมหาอำนาจ วางยุทธศาสตร์เพื่อปรับ เมื่อโลกเปลี่ยน’
ผู้อ่านหลากรุ่นหลายเจนพากันต่อคิวขอลายเซ็นและพูดคุยอย่างไม่ขาดสาย ณ บูธ ‘สำนักพิมพ์มติชน’ i48 ในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา
ทะยานสู่อันดับ 3 หนังสือขายดีประจำบูธมติชนในวันเดียวกัน ก่อนพุ่งขึ้นอันดับ 2 ในวันรุ่งขึ้น (อ่านแฟนคลับ ‘ปิติ ศรีแสงนาม’ บอก ไม่ตามอ่านก็ปรับตัวไม่ทัน แห่ประทับชื่อบนปกร้อน ‘ไทยในระเบียบโลกใหม่’)
พ็อคเก็ตบุ๊กส์แนววิชาการเนื้อหาสุดเข้มข้นใน 4 บทที่ทันสมัยและสดใหม่อย่างเหลือเชื่อ ราวกับเพิ่งตีพิมพ์ร้อนๆ พร้อมสถานการณ์ข่าวในเช้าวันนี้
“ทันสมัยที่สุดจนบรรณาธิการยังแอบบ่น เพราะผมขอแก้จนเขาบอกว่า อาจารย์คะ เขากำลังจะเอาเข้าโรงพิมพ์วันนี้แล้ว ยังจะแก้ต้นฉบับอยู่เลยเหรอ อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)”
ยืนยันว่าแม้ประเด็นแน่นหนัก แต่อ่านไม่ยาก หลอมรวมส่วนผสมจากหลายศาสตร์ รวมถึงเศรษฐศาสตร์ ที่นักวิชาการท่านนี้ชื่นชอบมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งเป็นนิสิตทั้งปริญญาตรีและโท คณะเศรษฐศาสตร์ รั้วสีชมพู ก่อนคว้าทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาระดับปริญญาเอก PhD in Economics and Commerce ที่ The University of Melbourne ออสเตรเลีย พ่วงรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ประเภทดาวรุ่ง ปี 2562
กลับมารับตำแหน่งอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ สำนักสามย่าน
ปัจจุบัน ยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ
เรียกได้ว่า ‘อยู่จุฬาฯมาตั้งแต่เกิด’
เติบโตมาในครอบครัวที่บิดาเป็นแพทย์ มารดาทำงานบริษัทเอกชน
เป็นเด็กหน้าห้องที่ชอบทำกิจกรรม นั่งเก้าอี้ ‘ประธานสภานักเรียน’ ทำทุกอย่างที่โรงเรียนให้ทำ เคยหนีเรียนไปซื้อของทำค่ายที่สำเพ็ง
“ชอบ (เศรษฐศาสตร์) ตั้งแต่เรียนมัธยมที่สาธิตจุฬาฯ เพราะเล่นเกมซิมซิตี้ นึกออกไหมว่า โจทย์คือ คุณมีเงินจำกัดและต้องพัฒนาเมือง ต้องทำการค้าขายระหว่างประเทศ ต้องพัฒนาคน ต้องทำอะไรต่อมิอะไร เพื่อทำให้เมืองประสบความสำเร็จมากที่สุด สิ่งนี้ตรงกับวิธีคิดในวิชาเศรษฐศาสตร์มากๆ” รศ.ดร.ปิติเล่าด้วยแววตาสดใส ย้อนความทรงจำครั้งเป็น ‘เด็กหน้าห้อง’
“ผมเป็นเด็กหน้าห้อง เพราะชอบเรียนหนังสือ และรู้สึกว่าถ้าฟังอาจารย์ก็ดี ฟังให้จบ จะได้ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ (หัวเราะ) แต่ก็ชอบทำกิจกรรมมาก ตีกลองในวงโยธวาทิตตั้งแต่เด็กๆ เป็นลูกเสือช่วยจัดค่ายให้น้องๆ เพราะรู้สึกตลอดเวลาว่า โลกจริงควรต้องออกไปอยู่ข้างนอก ไม่ใช่แค่เรียนในหนังสืออย่างเดียว ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็ทำกิจกรรม ออกค่ายเป็นเรื่องปกติ ชอบไปไกลๆ”
รศ.ดร.ปิติ เล่าด้วยว่า นอกจากเกมซิมซิตี้ ที่ทำให้ชอบเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังชื่นชอบภาพยนตร์ อินเดียน่า โจนส์ ที่จุดประกายการ ‘ลงพื้นที่’ ของอาจารย์มหาวิทยาลัย อาชีพของพระเอก แน่นอนว่าหนังสือแนวที่ชอบเป็นพิเศษคือ ประวัติศาสตร์ ติดตามอ่านนิตยสารศิลปวัฒนธรรมตลอดมา ติดใจความมีชีวิตชีวาของ ‘กรุงแตกยศล่มแล้ว’ นิยายอิงพงศาวดารผลงาน สุจิตต์ วงษ์เทศ
“อินเดียน่า โจนส์ เป็นนักโบราณคดี เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ปัญหาคือการเป็นนักโบราณคดีในประเทศไทย ในสภาพการทำงานจริงๆ ก็มีข้อจำกัดหลายเรื่อง แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นวิชาชีพที่สามารถลงพื้นที่ทำวิจัยเรื่องที่ตัวเองสนใจได้ และสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากที่สุดคือ รูปที่ผมเห็นตั้งแต่เด็กๆ มาตลอดคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปยังพื้นที่ห่างไกลที่สุด พระองค์ทรงมีแผนที่อยู่ในพระหัตถ์ตลอด ทรงเข้าถึง และเข้าใจเงื่อนไขและสภาพพื้นที่ บริบทสังคมตรงนั้น
เวลาทรงงาน รอบตัวมีแต่นักวิชาการเก่งๆ จึงสามารถนำเอาองค์ความรู้ไม่ใช่แต่เรื่องภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ แต่เอาทุกองค์ความรู้มารวมกันและพัฒนาได้ ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุด ว่าต่อไปนี้ถ้าคุณเรียนเศรษฐศาสตร์มา ก็ต้องเอาเศรษฐศาสตร์ไปวางลงบนแผนที่จริงๆ ว่าในโลกมันอยู่ตรงไหน และอย่าใช้แค่เศรษฐศาสตร์อย่างเดียว ต้องเอาสหสาขาวิชามาประกอบด้วย จึงจะสามารถเข้าใจเรื่องนั้นๆ ได้ จริงๆ ซึ่งตรงกับวิธีคิดในหนังสือที่เรียกว่า ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ”
บรรทัดจากนี้ คือการพูดคุยในช่วงเวลาสั้นๆ หลังจบกิจกรรมแจกลายเซ็นที่ยังคงมีผู้อ่านซึ่งมาไม่ทัน ฝากกระซิบขอคิวเพิ่มเติมอีกหลายต่อหลายราย เน้นย้ำความฮอตและฮิตในอีกห้วงเวลาสำคัญของโลก
⦁เนื้อหาเข้มข้น 424 หน้า ใช้เวลาเรียบเรียงนานแค่ไหน ถ้าไม่นับการใช้เวลา 20 ปีสั่งสมประสบการณ์และองค์ความรู้?
(หัวเราะ) จริงๆ แล้วเนื้อหาหลักในหนังสือเล่มนี้มาจากงานวิจัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมกับการที่ผมให้สัมภาษณ์และเขียนบทความลงสื่อต่างๆ ที่เป็น Current Issue มันก็ทำให้มีประเด็นในการนำมาเขียนมากยิ่งขึ้น และเนื้อหาทั้งหมดก็ถูกนำไปสอนนิสิตในวิชาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงเป็นหนังสือที่อ่านง่าย เพราะทดลองใช้สอนในห้องเรียนมาแล้ว
ถ้าพูดถึงระยะเวลาในการเตรียมเนื้อหาจริงๆ น่าจะ 5-6 ปี รีไวซ์ น่าจะราว 7-8 เดือนในการอัพเดตให้สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว ทันสมัยที่สุด ณ วันนี้ ทันสมัยที่สุดจนบรรณาธิการยังแอบบ่น เพราะผมขอแก้จนเขาบอกว่า อาจารย์คะ เขากำลังจะเอาเข้าโรงพิมพ์วันนี้แล้ว ยังจะแก้ต้นฉบับอยู่เลยเหรอ อะไรอย่างนี้ (หัวเราะ)
⦁สำหรับคนทั่วไป คำว่า ‘ระเบียบโลกใหม่’ รวมถึง ‘ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ’ อาจค่อนข้างเข้าถึงยาก อยากให้ช่วยอธิบายว่า 2 คำนี้เกี่ยวพันกับชีวิตเราอย่างไรจึงต้องหันมาเรียนรู้?
ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจมาจาก 3 วิชามารวมกันคือ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ สำหรับภูมิศาสตร์ เรากำลังเรียนรู้ว่าเงื่อนไขทางธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ ลำคลอง ที่ดิน แหลมต่างๆ ภูมิอากาศหนาวร้อนเย็น มันมีผลอย่างไรกับพฤติกรรมของคน
ส่วนรัฐศาสตร์ พูดถึงการที่เรามาอยู่รวมกัน มีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เต็มไปหมด ทั้งในระดับประเทศ ในระดับชุมชน ในระดับระหว่างประเทศ แล้วมันจะสามารถบริหารผลประโยชน์ระหว่างกันได้อย่างไรบ้าง
สำหรับเศรษฐศาสตร์ ถ้าคุณมีเป้าหมาย มีจุดมุ่งหมายที่จะไป แต่มีข้อจำกัดต่างๆ มีเงื่อนไขบริบทที่แตกต่างกัน คุณจะหาทางเลือกที่ดีที่สุดได้อย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้น เมื่อรวม 3 ศาสตร์เข้าด้วยกัน ทำให้สามารถอธิบายความเป็นไปเป็นมาของโลกนี้ได้ และแน่นอน โลกเดิมมันเคยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศ ระหว่างกลุ่มประเทศกับกลุ่มประเทศ ระหว่างมหาอำนาจกับคนที่อยู่ใต้อิทธิพล เราเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า ‘ระเบียบโลก’ วันหนึ่งถ้ามีอะไรสักอย่างมากระแทก ทำให้เราหลุดจากดุลยภาพเดิม โดยสิ่งที่มากระแทกมันใหญ่เกินกว่าที่เราจะรับมือได้ อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี หรือการที่มหาอำนาจหนึ่งอำนาจถดถอยลง มหาอำนาจหนึ่งขยายตัวมากยิ่งขึ้น หรือโรคระบาดที่หยุดทุกอย่าง หรือยิ่งใหญ่กว่านั้นอาจเป็นเรื่องของวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม พอมันกระแทกเข้ามา ทุกคนหลุดจากดุลยภาพเดิมหมด ทุกคนก็พยายามจะสร้างและหาชุดระเบียบ กติกาที่จะปฏิสัมพันธ์กันใหม่ นี่คือการนำไปสู่ ‘ระเบียบโลกใหม่’
เพราะฉะนั้นชุดความรู้ที่บอกถึงภูมิศาสตร์ซึ่งบอกว่าเรามีปฏิสัมพันธ์อย่างไร ธรรมชาติกำหนดให้เราคิดอย่างไร กับรัฐศาสตร์ แบ่งปันผลประโยขน์ เกื้อกูลกันหรือว่าจะห้ำหั่นกัน จะอยู่ด้วยกันอย่างไร เศรษฐศาสตร์ที่บอกว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดจะเป็นอย่างไรภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด พอเอาทั้ง 3 ศาสตร์มาวิเคราะห์ ก็น่าจะพอเข้าใจระเบียบโลกใหม่ที่จะมากระทบกับเราได้
⦁‘ประเทศไทยต้องมีจุดยืน มีหลังพิง และมีอำนาจต่อรอง’คือบทสรุปที่ให้ไว้ในเล่ม ถ้าให้เลคเชอร์สั้นๆ ในที่นี้?
ช่วงนี้โลกค่อนข้างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความขัดแย้งเยอะ ประเทศมหาอำนาจเองก็ต้องการสร้างพันธมิตรในการปิดล้อม ห้ำหั่นกับอีกมหาอำนาจหนึ่งด้วย หลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาตลอดหลายปี หลายคนถามผมว่า โอ๊ย! ประเทศไทยเราควรเลือกข้างไหน เลือกข้างจีนหรืออเมริกา หนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกว่า ในที่สุดประเทศไทยต้องประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่าเราจะไม่เลือกข้างไหนทั้งนั้น เราจะไม่อยู่ข้างอเมริกา เราจะไม่อยู่ข้างจีน ข้างเดียวที่เราเลือกได้คือ เราจะเลือกข้างรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย
แต่แน่นอนว่าการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยในเวลาที่ทั่วโลกกำลังห้ำหั่นกัน จุดยืนแค่นั้นไม่พอ มันไม่มั่นคง เราต้องมีหลังพิงด้วย คือกฎ กติกา หลักการที่นานาชาติยอมรับ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ รักษากฎเกณฑ์อย่างเช่นการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้ายึดหลักการแบบนั้นได้ เราก็จะยืนนิ่งในจุดยืนของเราได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกันเราก็ต้องต่อรองผลประโยชน์กับประเทศต่างๆ ไม่ใช่ว่าพอเรื่องนี้ ไทยมีประโยชน์กับอเมริกา เราก็พร้อมทำนโยบายกับอเมริกา โดยที่จีนเองก็ว่าเราไม่ได้ เพราะเรามีหลักการแล้ว แต่คำถามสำคัญคือ ผลประโยชน์ที่ได้กับอเมริกา มันจะแบ่งกันได้อย่างแฟร์ๆ ไหม หรือในทางตรงกันข้าม ผลประโยชน์ของเรากับจีนจะแบ่งกันได้อย่างแฟร์ๆ ไหม ถ้าจะทำให้แฟร์ได้ เราเองก็ต้องมีอำนาจต่อรองด้วย และวิธีที่จะมีอำนาจต่อรองก็คงต้องเล่นบทบาทนำในเวทีประชาคมอาเซียน
⦁แล้วไทยควรเดินหน้าดำเนินการอย่างไรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น?
เราคงต้องสร้างจิตสำนึกให้คนของเรามองเห็นว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยซึ่งมีเกียรติ มีความภาคภูมิ มีผลประโยชน์ของชาติที่ต้องรักษา แต่สิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นไทย’ มันก็เป็นสิ่งเดียวกันกับความเป็นลาว ความเป็นกัมพูชา ความเป็นพม่า เพราะเส้นแบ่งประเทศเพิ่งเกิด ในขณะที่ความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันเกิดขึ้นมานานแล้ว คนส่วนใหญ่กินอาหารคล้ายๆ กัน ไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กัน คิดเหมือนกัน มีความเชื่อทางศาสนาเหมือนกัน และทุกคนก็อยากเดินหน้าเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเรามองเห็นประเทศเพื่อนบ้าน มองเห็นคนที่คล้ายกับเรา มีความเป็นเราในเขา และเขาในเรามากยิ่งขึ้น แล้วร่วมกันผลักดันในหลายๆ เรื่องไปด้วยกัน โอกาสที่จะผลักดันเรื่องเหล่านั้นในเวทีโลกจะง่ายกว่า
⦁เพราะฉะนั้น นอกจากมิติทางการเมืองแล้ว ‘วัฒนธรรมร่วม-ประวัติศาสตร์สังคม’ สำคัญมาก?
ถูก เพราะบางครั้งการเมืองมีความขัดแย้งกัน อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า รัฐศาสตร์เป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นบางครั้งผลประโยชน์ขัดกัน ก็ทำให้คุยกันยาก แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือ เวลาคุณเจอผม เวลาผมเจอคุณ เราเจอกันในบริบททางสังคมแบบไหน เรามีวัฒนธรรมร่วมกันไหม เรามีรากร่วมกันไหม เรามีเรื่องไหนไหมที่คิดไปในทิศทางเดียวกัน
ถ้าเราเริ่มต้นจากเรื่องพวกนั้นก่อน เปิดใจให้กว้างมากยิ่งขึ้นจะรู้เลยว่าจริงๆ แล้วเราสามารถแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกับประเทศอื่นๆ ได้เยอะมาก แต่สิ่งที่จะเป็นประตูให้เราเข้าใจเรื่องพวกนี้ คือมิติด้านสังคมวัฒนธรรม ดังนั้น เรื่องนี้จึงสำคัญมาก เผลอๆ อาจสำคัญกว่าเศรษฐกิจการเมืองด้วยซ้ำ
⦁อะไรคือสิ่งที่ยากและท้าทายที่สุดของไทยท่ามกลางสถานการณ์การงัดข้อกันของมหาอำนาจ?
ผมคิดว่าหลายครั้งคือชุดความคิดและทัศนคติคนของเราที่ยังคล้ายๆ แฟนกีฬาแบบฮูลิแกน คือ มองว่าความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับจีนเหมือนมวยฝ่ายแดงกับฝ่ายน้ำเงิน แล้วเราก็เลือกข้างโดยการวางเดิมพัน พอเล่นพนันไว้ข้างฝ่ายแดง ก็อินกับฝ่ายแดงจัด เลยบูลลี่แฟนกีฬาฝ่ายน้ำเงิน ฝ่ายน้ำเงินก็เหมือนกัน พอวางเดิมพันไว้ ก็อินกับฝ่ายน้ำเงินมาก บูลลี่ฝ่ายแดง จึงกลายเป็นสังคมที่แตกแยกและแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยลืมไปว่าเวลาที่ต่อยกัน เราต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองต่างหาก ไม่ใช่รักษาผลประโยชน์ให้ทั้ง 2 ฝ่าย
ตอนนี้เราเห็นเยอะว่ามันมีความแตกแยกจริงๆ บางกลุ่มก็โอ้โห! มองว่าเราเป็นเหมือนสุนัขรับใช้โลกตะวันตก ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็มองว่า โอ๊ย! เราเหมือนเป็นมณฑลหนึ่งของโลกตะวันออก ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น และถ้าเห็นอย่างนั้น นั่นแปลว่าเผลอๆ เราเองอาจจะเป็นกลางคนหนึ่งเลย มองว่าเราอยู่ข้างอเมริกา ในขณะที่อีกคนหนึ่งมองว่าเราอยู่ข้างจีน จริงๆ แล้วเราอาจดำเนินนโยบายเป็นกลางก็ได้ เพราะฉะนั้นเราคงต้องกลับมาทบทวนว่าผลประโยชน์ของประเทศไทยอยู่ตรงไหน ต้องทำให้ทั้งคนไทยและเวทีโลกเข้าใจว่าวิธีการคิด วีธีการดำเนินนโยบายของเราจะเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
⦁แนวนโยบายการต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน สอดรับสถานการณ์โลกมากน้อยแค่ไหน?
ผมคิดว่าจริงๆ แล้วหลายประเทศในโลกเวลาเรียนเรื่องการต่างประเทศ ไทยถือเป็นกรณีศึกษา เป็นกรณีตัวอย่างในการเป็นประเทศมหาอำนาจขนาดกลางๆ ที่สามารถเล่นบทบาทนำในเวทีภูมิภาค แล้วใช้เวทีภูมิภาคในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองในเวทีโลก นี่คือจุดยืนที่ไทยทำมาโดยตลอดในเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถ้าพูดถึงช่วง 150 ปีที่ผ่านมา เผลอๆ อาจจะเกินด้วยซ้ำ ตั้งแต่เราเริ่มคิดที่จะดึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง ขึ้นมาแล้วเซ็นสนธิสัญญาไมตรีกับอังกฤษ ทำให้เรารอดพ้นจากการถูกล่าอาณานิคมได้โดยการเปิดเสรีการค้า ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนตรงนั้นทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราสามารถบริหารความขัดแย้งของมหาอำนาจได้โดยการเล่นบทบาทสำคัญๆ ในกฎกติกาที่ทั่วโลกเขายอมรับกัน
⦁มองการที่ผู้นำบางประเทศไม่มาร่วมประชุม ‘เอเปค’ อย่างไร?
อย่างแรกสุด ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปีนี้ ก็จะเจอสถานการณ์แบบนี้ทั้งนั้น เพราะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและนาโตซึ่งนำโดยสหรัฐมันกระทบกระเทือนไปทั้งโลก นี่คือสงครามครั้งใหญ่ระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ระหว่างเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกๆ
ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นประเทศไทยรับหน้าที่เป็นประธาน เป็นเจ้าภาพในปีนี้ ถามว่าเรารู้ไหมว่าโอกาสที่จะมีความขัดแย้ง ไม่ประสบความสำเร็จ คำตอบคือ รู้ ถามว่ารู้แล้วเตรียมตัวไหม เราเตรียมตัว ที่ผ่านมาเราใช้วิธีประสานงานกับประเทศทั่วโลกอย่างหนักตลอดปีที่ผ่านมา อย่างน้อยสมมุติว่าในที่สุดตอนจบไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ แต่ทุกประเทศที่เราคุยก็ยอมรับในหลักการที่เราเสนอ ซึ่งก็คือ เป้าหมายกรุงเทพฯ Bangkok goals ซึ่งตอนนี้เกือบทุกเขตเศรษฐกิจในเอเปคเห็นด้วยหมดแล้ว เพราะฉะนั้นแม้ไม่ได้ออกแถลงการณ์ร่วม แต่เป็นแถลงการณ์ของประธานก็คงไม่ได้มีลักษณะแตกต่างจากแถลงการณ์ร่วมมากนัก และทุกประเทศก็คงจะรับรองให้ ดังนั้น ถามว่าประสบความสำเร็จไหม ตอบว่าประสบความสำเร็จ
การที่ผู้นำบางประเทศไม่มา โดยเฉพาะกรณีที่คนจับตา คือ โจ ไบเดน ถามว่านี่คือความล้มเหลวของประเทศไทยหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะไทยสามารถผลักดันเป้าหมายกรุงเทพฯได้ จัดการประชุมที่ทุกคนมาได้ และนี่ก็ไม่ใช่ความล้มเหลวของอเมริกาด้วย เพราะอเมริกาเองก็ให้อำนาจเต็มกับคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ในการเดินทางมาและเจรจาต่อรองเรื่องต่างๆ และก็ไม่ใช่ความล้มเหลวของ 21 เขตเศรษฐกิจด้วย เพราะทุกเขตเศรษฐกิจก็สามารถมาคุยกัน เจรจากันได้
ถ้ามันจะเป็นความล้มเหลว ก็เป็นความล้มเหลวของตัวบุคคล นั่นคือ โจ ไบเดน เพียงแค่คนเดียว เพราะเลือกที่จะอยู่ในงานแต่งงานหลานสาวมากกว่าที่จะมาคุยกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนพลโลก 2 พันล้านคน คุณกำลังเห็น
ผลประโยชน์ของครอบครัวเหนือผลประโยชน์ของประชากรใน 21 เขตเศรษฐกิจ
อเมริกามีส่วนที่จะทำให้โลกดีขึ้นได้ แต่เขาเลือกที่จะไม่มา ในขณะเดียวกัน ก็ควรตอบคำถามในเรื่องภาวะผู้นำและธรรมาภิบาลในหลายเรื่อง เช่น กำหนดการว่าจะประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ร่วมกันแถลงว่าจะเกิดขึ้นในเดือนนี้มาตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่กำหนดการแต่งงานออกมาในเดือนกรกฎาคม
นอกจากนี้ การให้หลานสาวเข้าไปแต่งงานในทำเนียบขาว ครอบครัวไบเดนแถลงว่า จ่ายเงินเต็มเช่าสถานที่ คำถามคือ ถ้าผมอยากเปิดตัวหนังสือ โดยขอเช่าทำเนียบขาวบ้างได้ไหม แล้วผมจ่ายเงินให้เต็ม ทำเนียบขาวยอมผมไหม
หรือสมมุติ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ อยากแต่งงานหลานสาว จะขอเช่าทำเนียบขาว เพราะกลายเป็นสถานที่ให้เช่าแต่งงานแล้ว คำถามคือ ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ทำไมหลานสาวคุณทำได้
ผมคิดว่านี่จะเป็นผลเสียกับไบเดน ทำให้ถูกตั้งคำถามเยอะมากในการเลือกตั้งกลางเทอมซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนด้วย
⦁คำถามสุดท้าย ปรัชญาในการทำงานคืออะไร?
อาจารย์ผู้ใหญ่ที่เป็นต้นแบบของผมหลายท่าน สอนมาตลอดเวลาว่า เวลาทำงานวิจัย อาจได้เงินมาก้อนใหญ่ แต่อย่าคิดว่าจะเก็บเงินก้อนนั้นไว้ทำรายได้ แต่ให้เอาเงินนั้นลงทุนไปกับงานวิจัยให้มากที่สุด ลงพื้นที่ให้เยอะ ไปคุยกับคนให้เยอะ ไปเรียนรู้ของจริงให้เยอะ คุณอาจไม่ได้เงินจากการทำวิจัยหรอก แต่สิ่งที่ได้จากงานวิจัยจริงๆ คือ ความรู้แล้วเดี๋ยวความรู้นั้น คุณจะได้เอามาสอนให้เด็กเก่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็สามารถนำไปใช้หารายได้ทางอื่น เช่น เอามาเขียนหนังสือก็ได้ค่าต้นฉบับจากสำนักพิมพ์ หรือเขียนบทความต่างๆ ในสื่อ เขาก็ให้ค่าเขียนมาบ้าง
องค์ความรู้จากการลงพื้นที่จริงๆ เดี๋ยวก็มีบริษัทเอกชน ห้างร้าน กิจการต่างๆ เชิญคุณไปเล่าเรื่องให้ฟัง แล้วตอนนั้นคุณก็ค่อยได้เงินตรงนั้นมากกว่า เดี๋ยวประสบการณ์และความรู้นั้น ค่อยมาสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวแทน
เพราะฉะนั้น ปรัชญาในการทำงานของผมคือ งานวิจัยงานวิชาการ ไม่ใช่งานที่จะทำให้ร่ำรวย แต่เป็นงานที่ทำให้คุณได้ความรู้
สั่งซื้อหนังสือคลิกที่นี่