แรงบันดาลใจ ‘คนอาชีวะ’ พิสูจน์ ‘ฝีมือแรงงาน’ สู่ระดับโลก

นักเรียนอาชีวะชมบรรยากาศการแข่งขันพร้อมไลฟ์สตรีมผ่านเฟซบุ๊กให้เพื่อนชม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่านิยมในสังคมไทยนิยมให้บุตรหลานศึกษาต่อในระดับมัธยมปลาย ในสายสามัญ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ขาดแคลนแรงงานฝีมือจำนวนมาก

เหตุผลเพราะอคติที่มีต่อการเรียนสายอาชีวะ ซึ่งถูกมองว่าเป็นเด็กช่างมีเรื่องทะเลาะวิวาทใช้ความรุนแรงเป็นประจำ คนเป็นพ่อแม่ย่อมห่วงบุตรหลานหากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ แต่ก็มีพ่อแม่ที่เข้าใจสนับสนุนให้ลูกเลือกเรียนสายอาชีพ

กระทั่งครูอาจารย์ในสายสามัญบางส่วนเองก็ยังมีภาพจำกับการเรียนสายอาชีพในแง่ลบ

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการจัด การแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานอาเซียน หรือ ASEAN Skills Competition 2016 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

Advertisement

เป็นการรวมเอานักเรียนสายอาชีพชั้นยอดมาประชันฝีมือกัน โอกาสอันดีนี้มูลนิธิเอสซีจีจึงได้พานักเรียนอาชีวะไปชมบรรยากาศการแข่งขันเพื่อนำแรงบันดาลใจกลับมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อไป

06

โดยนักเรียนอาชีวะกว่า 40 คนที่ร่วมโครงการมาจาก 1.โครงการอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ เป็นนักเรียนทุนของมูลนิธิเอสซีจีที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 1,300 คน คัดเลือกจากการเขียนเรียงความเข้ามาให้พิจารณา 2.กิจกรรม My Idol ฝีมือชนคนโดนใจ ให้นักเรียนอาชีวะทั่วประเทศส่งเรื่องราวคนอาชีวะที่เป็นต้นแบบในสาขาอาชีพ

Advertisement
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานอาเซียนที่มาเลเซียนี้มีนักเรียนเดินทางมาชมกว่า 2 หมื่นคน ทั้งที่มาเองและโรงเรียนพามา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กว่าโตขึ้นไปจะต้องประกอบอาชีพอะไร
“อย่างในยุโรป อังกฤษ อเมริกา เขาให้ความสำคัญกับทักษะอาชีพ ความเป็นมืออาชีพ แต่ในบ้านเราการจัดแข่งขันฝีมือแรงงานหลายครั้งไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรนัก โดยการแข่งขันครั้งหน้า (ปี 2561) ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ทางกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้จัดงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการให้เด็กได้เห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตอาจไม่ใช่การศึกษาในขั้นอุดมศึกษาอย่างเดียว การใช้ความเป็นมืออาชีพโดยใช้ทักษะและความสามารถก็สามารถประสบความสำเร็จและสร้างรายได้สูงเช่นกัน” ม.ล.ปุณฑริกกล่าว

สุวิมล จิวาลักษณ์
สุวิมล จิวาลักษณ์

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า ทางมูลนิธิพานักเรียนระดับ ปวช.และ ปวส. มาเห็นรุ่นพี่แข่งขันจะได้มีแรงบันดาลใจกลับไปแข่งขันในประเทศบ้าง

“ขณะนี้ไทยต้องการแรงงานอาชีวะภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นจำนวนมาก ขณะที่บัณฑิตปริญญาตรีตกงานกันมาก อาชีวะน่าจะเป็นทางเลือกที่มีโอกาสได้งานทำและศึกษาต่อระดับสูงต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จึงต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเด็กอาชีวะ เราพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เด็กอาชีวะ เพราะคนส่วนน้อยทำให้คนติดภาพที่ไม่ดี ทั้งที่มีเด็กน้ำดีเป็นฝีมือชนที่สร้างชาติได้จริง

“ถ้าเราไม่เร่งผลิตคนให้ทันประเทศเพื่อนบ้านจะน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะสถานการณ์ที่แรงงานเคลื่อนย้ายเสรีในอาเซียนได้ เราจะเจอคู่แข่งมากขึ้น ขณะที่คนไทยมีจุดเด่นเรื่องงานฝีมือและการบริการแต่ต้องฝึกเรื่องภาษาเพิ่มเติม” สุวิมลกล่าว

เปิดใจหนุ่มสาวอาชีวะที่มีโอกาสได้ร่วมโครงการบ้าง

ปราโมทย์ การัมย์
ปราโมทย์ การัมย์

ปราโมทย์ การัมย์ ปวส.2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา กรุงเทพ สาขาการจัดการธุรกิจดอกไม้และงานประดิษฐ์ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติสาขาจัดดอกไม้ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปีหน้า บอกว่า ได้เข้ามาร่วมดูงานการแข่งขันจากโครงการ My Idol โดยไอดอลของเขาคือ พิทักษ์ หังสาจะระ นักจัดดอกไม้ชื่อดังที่เป็นครูฝึกซ้อมให้รุ่นพี่ของปราโมทย์ไปคว้ารางวัลจัดดอกไม้ที่ 2 ของโลกมาแล้ว

“พอเห็นรุ่นพี่ไปแข่งจัดดอกไม้ได้ที่ 2 ของโลก พอกรมฝีมือแรงงานจัดแข่งขันเลยลองสมัครดูบ้างศึกษาด้วยตัวเองจากหนังสือต่างประเทศ เปิดดูสไตล์ การให้สี รูปร่างสัดส่วน ทำตามและซ้อมด้วยเงินของตัวเอง เริ่มจากแข่งระดับภาคจนได้ที่ 1 ของประเทศในปี 2559 และปีหน้าจะไปแข่งที่อาบูดาบี

“การมาที่มาเลเซียทำให้ได้เห็นสนามแข่งระดับอาชีพ น่าจะเหมือนกันในระดับโลก จะได้ไม่ตื่นสนาม ได้เห็นว่าผู้คนเป็นยังไง กรรมการเป็นยังไง เห็นเทคนิคงานอื่นๆ การสร้างแบบ การทำงานและการเตรียมของเพื่อแข่ง” ปราโมทย์กล่าว

ส่วนอนาคตข้างหน้าหนุ่มอาชีวะบอกว่า อยากเป็นครูสอนจัดดอกไม้ เพราะจากประสบการณ์ตัวเองที่ไม่มีคนสอน จึงอยากให้ความรู้รุ่นน้องต่อไป

ทิพเนตร ลิ้มสุขปรีดา
ทิพเนตร ลิ้มสุขปรีดา

อีกหนึ่งสาวนักเรียนทุนโครงการอาชีพวะฝีมือชนคนสร้างชาติของมูลนิธิเอสซีจี ทิพเนตร ลิ้มสุขปรีดา ปวช.1 วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สาขาการโรงแรม บอกว่า การมาดูการแข่งขันที่มาเลเซียทำให้ได้รู้เกี่ยวกับการโรงแรมจะกลับไปบอกอาจารย์ว่างานเป็นแบบนี้ จะได้ส่งคนมาแข่งบ้าง

“เข้าร่วมโครงการโดยการเขียนเรียงความเล่าว่าเรียนอาชีวะเป็นยังไง ได้อะไรบ้าง ส่วนตัวคิดว่าการเรียนอาชีวะทำให้ได้ประสบการณ์มากกว่าการเรียนสายสามัญ ทำงานระหว่างเรียนเพื่อเก็บเงินไปศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นได้ ส่วนตัวเรียนการโรงแรมคิดว่าน่าจะช่วยการบริการในภาคการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นได้ อยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประทับใจ เลือกเรียนเพราะอยากพัฒนาการท่องเทีย่วให้ดีขึ้น คนในอาชีพนี้ยังขาดแคลน” ทิพเนตรกล่าว

การแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานอาเซียนในปีนี้ ประเทศไทยส่งเข้าร่วมจำนวน 17 สาขา 34 คน คว้า 6 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 9 เหรียญทองแดง และ 12 เหรียญยอดเยี่ยมมาได้ โดยจะเป็นตัวแทนไปแข่งระดับนานาชาติต่อไป

พิสูจน์ทักษะฝีมือแรงงานของไทยว่าไม่ด้อยกว่าใคร และยังเป็นแรงบันดาลใจส่องทางให้ ผู้สนใจเรียนในสายวิชาชีพได้เดินตามรอยรุ่นพี่ เพิ่มบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ขาดแคลนแรงงานฝีมือ

ตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานอาเซียน
ตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานอาเซียน
ตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานอาเซียน
ตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานอาเซียน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image