คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์: วิธีปรับสภาพดาวอังคารให้อยู่ได้เหมือนโลก

ปัญหาแรกของการไปอยู่บนดาวอังคาร คือ อุณหภูมิ

อุณหภูมิเฉลี่ยบนดาวอังคารคือ -63 องศาเซลเซียสซึ่งค่อนข้างต่ำเกินไปสำหรับมนุษย์ การทำให้อุณหภูมิของดาวอังคารสูงขึ้นนั้นเป็นเรื่องจำเป็นซึ่งเคยมีนักวิทยาศาสตร์เสนอไว้หลากหลายวิธีดังนี้

1. แดนดริดจ์ แมคฟาร์ลาน โคล (Dandridge MacFarlan Cole) วิศวกรอวกาศและนักเขียน ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการปรับสภาพดาวอังคารไว้ในปี 1964 ว่าควรนำก๊าซแอมโมเนียที่มีอยู่อย่างมหาศาลในระบบสุริยะชั้นนอกมาเติมใส่ดาวอังคาร ก๊าซแอมโมเนียเหล่านั้นจะทำให้ชั้นบรรยากาศดาวอังคารหนาขึ้นและดาวอังคารจะอุ่นขึ้น นอกจากนี้ แอมโมเนียยังมีองค์ประกอบเป็นธาตุไนโตรเจน ซึ่งเป็นก๊าซที่มีอยู่มากที่สุดในอากาศบนโลก ในวันหนึ่งมันสามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของอากาศที่มนุษย์ใช้หายใจได้ด้วย

2. ในปี 1973 นักดาราศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง คาร์ล ซาแกน (Carl Sagan) เสนอว่าควรทำให้ผิวดาวอังคารกลายเป็นสีเข้มโดยการขนส่งสารที่มีสีดำไปกระจายให้ทั่วดาวอังคาร สารดังกล่าวอาจเป็นฝุ่นสีเข้มจากดวงจันทร์ทั้งสองของดาวอังคาร หรือใช้วิธีปลูกพืชที่มีสีเข้มๆ หรือสาหร่ายที่ทนต่อสภาวะบนดาวอังคารได้ไว้ที่ขั้วดาวอังคารซึ่งมีน้ำแข็งเกาะอยู่ในปริมาณมาก

Advertisement

วิธีนี้จะทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นเพราะสีเข้มๆ จะดูดกลืนความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ดีและทำให้ดาวอังคารมีสภาพอากาศใกล้เคียงกับโลกมากขึ้น นอกจากนี้ พืชจะช่วยให้บนดาวอังคารมีออกซิเจนมากขึ้นด้วย

3. ในปี 1982 Christopher McKay นักดาราศาสตร์ด้านดาวเคราะห์ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง “Terraforming Mars” ในวารสาร Journal of the British Interplanetary Society ว่าด้วยการทำให้ดาวอังคารมีระบบนิเวศที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง คำว่า Terraforming ถูกใช้เป็นครั้งแรกในการเขียนและกลายเป็นคำที่นิยมใช้ในเวลาต่อมา

4. ในปี 1984 James Lovelock และ Michael Allaby เสนอว่าวิธีการทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นด้วยการใช้สารซีเอฟซี (chlorofluorocarbons หรือ CFCs) ซึ่งเป็นแก๊สเรือนกระจก

5. ในปี 1993 Dr.Robert M. Zubrin และ Christopher P. McKay เสนอแนวคิดว่าจะใช้กระจกสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ไปอุ่นดาวอังคารโดยตรง นอกจากนี้ หากทำให้น้ำแข็งแห้งที่มีอยู่มากมายบริเวณขั้วของดาวอังคารละลายออกมากลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นเรือนกระจกที่ทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นได้อีก โดยกระจกดังกล่าวจะโคจรอยู่รอบๆ ดาวอังคาร พวกเขายังเสนอความเป็นไปได้ในการใช้ดาวเคราะห์น้อยที่มีอยู่ในระบบสุริยะของเรามาชนพื้นผิวดาวอังคารจนฝุ่นฟุ้งกระจายในชั้นบรรยากาศและทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นด้วย

6. ในปี 2001 ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Division of Geological และ Planetary Sciences แห่ง มหาวิทยาลัย Caltech เสนอให้ใช้ก๊าซเรือนกระจกแบบรุนแรง(super-greenhouse gases) ซึ่งเป็นสารประกอบประเภทฟลูออรีน ก๊าซดังกล่าวสร้างสภาวะเรือนกระจกได้รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นับพันเท่า เพื่อทำให้สภาวะอากาศบนดาวอังคารมีเสถียรภาพในระยะยาว

นี่เป็นตัวอย่างแนวคิดที่หลายๆ แนวคิดดูหลุดโลกและอาจดูเพ้อฝันไปบ้าง แต่หากมีกระบวนการที่สามารถทำให้แนวคิดเหล่านี้เป็นจริงได้ ดาวอังคารอาจกลายเป็นบ้านหลังที่สองของมนุษย์ และในอนาคต Planetary engineering ซึ่งเป็นสาขาวิชาด้านการปรับสภาพดาวเคราะห์อาจเป็นสาขาวิชาที่มนุษย์เราเรียนรู้กันเหมือนวิศวกรรมด้านอื่นๆ ทั่วไปในวันนี้ก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image