อโยธยาพังแน่! ศิษย์เก่าโบราณคดีแห่ Save ขุดราก‘ความเป็นไทย’ก่อนรถไฟพุ่งชน

อโยธยาพังแน่! ศิษย์เก่าโบราณคดีแห่ Save ขุดราก‘ความเป็นไทย’ก่อนรถไฟพุ่งชน

ถือเป็นทริปประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกจดจารในหน้าหนังสือพิมพ์ สำหรับกิจกรรมของสมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีในเขตอโยธยา ซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงจะพาดผ่าน (อ่าน หลากความเห็น ‘หนุน-ไม่หนุน’ รถไฟความเร็วสูง กลางมรดกโลก ‘อยุธยา’)

วัดอโยธยา
วัดกุฎีดาว
ฐานเจดีย์วัดมเหยงคณ์

เส้นทางเริ่มต้นจากวัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำแหน่งริมน้ำลำป่าสักสบเจ้าพระยา, วัดใหญ่ชัยมงคล, วัดสมณโกฏฐาราม, วัดกุฎีดาว, วัดมเหยงคณ์, วัดอโยธยา และวัดวิหารขาว ตามลำดับ

บรรยายจัดหนักโดย ‘รุ่นใหญ่-ตัวตึง’ ในวงการ ไม่ว่าจะเป็น สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒธรรม, รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง และ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

‘อโยธยาศรีรามเทพนคร’
จุดเริ่มต้นความเป็นไทย ทำไมถูกลืม?

Advertisement
สุจิตต์ วงษ์เทศ

เปิดประเด็นด้วยหลักฐานยืนยันการมีตัวตนของเมืองอโยธยา โดยสุจิตต์ยืนเด่นโดยท้าทาย บรรยายกลางวัดพนัญเชิง งัดกฎหมายที่เรียกว่า กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ซึ่งตราขึ้นก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 115 ปี และเก่ากว่าสุโขทัย

“มีกฎหมายประมาณ 4-5 ฉบับที่ตราขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยา ล้วนแล้วแต่เป็นกฎหมายของอโยธยาศรีรามเทพ มันแสดงให้เห็นว่าสภาพสังคมอโยธยาพัฒนามาจนถึงขั้นไม่เอาระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน คือมีสินไหมทดแทน ไม่ฆ่าตอบ” นายสุจิตต์กล่าว และท้าให้ไปดูศักราชหรือสำนวนภาษาได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีศิลาจารึกหลายหลัก โดยเฉพาะศิลาจารึกวัดส่องคบ จังหวัดชัยนาท และศิลาจารึกเขากบ จังหวัดนครสวรรค์ ระบุชื่อ อโยธยา
ศรีรามเทพนคร มีโบราณสถาน โบราณวัตถุเต็มไปหมด เศียรพระธรรมิกราช ซึ่งขณะนี้จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา มีตำนานและพงศาวดาร โดยเฉพาะพงศาวดารเหนือ

Advertisement

“อย่าลืมว่ารัชกาลที่ 1 โปรดให้รัชกาลที่ 2 ทรงชำระพงศาวดารเหนือ ถ้าไม่สำคัญเขาจะสืบเนื่องกันมาทำไม ทุกวันนี้ยังมีต้นฉบับที่ชำระไม่หมดอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ และสุดท้ายการขุดค้นทางโบราณคดี เราพบว่ามีชั้นดินก่อนสมัยอยุธยาอยู่ที่วัดพนัญเชิง

กรมศิลปากรชอบอ้างว่าขุดชั้นดินแล้วไม่พบ มันอยู่ที่คนขุดว่ามีฝีมือได้รับการยอมรับหรือไม่ และสถานที่ ตำแหน่ง ไปขุดตรงไหน” สุจิตต์กล่าว
สุจิตต์ย้ำด้วยว่า อโยธยาเป็นเมืองต้นกำเนิดความเป็นไทย เพราะมีการเริ่มใช้ภาษาไทย พอถึงสมัยอยุธยาจะมีหลักฐานว่าเรียกตัวเองคนไทย ความเป็นไทยมันเริ่มต้นที่อโยธยาและเติบโตที่อยุธยา ถัดมาคือประเทศไทย ถ้าถามว่ามาจากไหน? ก็มาจากอโยธยา

“เพราะว่าอโยธยาสืบสายตรง จากอโยธยาเป็นอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประเทศไทยสายตรง ไม่แวะที่ไหนเลย แต่ถ้าก่อนอโยธยา ทั้งสุพรรณ ละโว้ หรืออาจจะทั้งเชียงใหม่ ล้านนา แต่ไม่ได้เป็นสายตรง สายตรงคือที่นี่ ความเป็นไทยที่รู้จักในสมัยโบราณ เหนือสุดมันแค่อุตรดิตถ์ ใต้สุดยังแค่นครศรีธรรมราช หรือเพชรบุรี วัฒนธรรมที่คุณบอกว่าความเป็นไทย เป็นวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำภาคกลาง มีภาคเหนือ อีสาน ใต้ เสียเมื่อไหร่” สุจิตต์อธิบาย

ไม่เพียงเท่านั้น เถรวาทแบบลังกาวงศ์ก็เริ่มที่อโยธยา สิ่งนี้ไม่เคยศึกษากัน เพราะไปติดกับดักของ ‘ปู่ครูมหาเถร ลุกแต่นครศรีธรรมราช’ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีหลักฐานนอกจากศิลาจารึกหลักที่ 1 หลักเดียว แต่เถรวาทแบบลังกาวงศ์มีความเชื่อมโยงหมด ตั้งแต่พุกามจนถึงสะเทิม มีเอกสารอ้างอิง และวรรณกรรมไทยเริ่มต้นที่อโยธยา เมื่อพูดถึงวรรณกรรมไทยมักจะคิดถึงรามเกียรติ์ คิดถึงบทกลอนทั้งหลายทั้งปวง แต่กฎหมายก็เป็นวรรณกรรม

ถอดรหัสวัดวาบนแผ่นดิน ‘อโยธยา’

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

จากนั้น ก่อนเที่ยงเล็กน้อย คณะ Save อโยธยา เดินทางสำรวจวัดวาอารามในโซนเมืองอโยธยา นอกเกาะเมือง เริ่มที่วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งพงศาวดารระบุชัดว่าสร้างขึ้นในแผ่นดินพระรามาธิบดีที่ 1
รศ.ดร.รุ่งโรจน์รับหน้าที่บรรยาย โดยกล่าวว่า วัดแห่งนี้มีปรากฏอยู่ในเอกสารหลายชิ้นว่า ตำแหน่งสมเด็จพระวันรัตสถิตอยู่ ณ วัดแห่งนี้ ถ้าตรงนี้ไม่สำคัญจริง จะให้สมเด็จพระวันรัตมาสถิตตรงนี้ทำไม

“ที่นี่มีสมเด็จพระวันรัตหลายพระองค์ สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะเสี่ยงเทียนก็มาที่นี่ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ก็บอกว่าสมเด็จพระวันรัตวัดนี้ออกไปขออภัยโทษให้ขุนนางหลายคน เพราะฉะนั้น วัดแห่งนี้จึงมีความสำคัญอยู่ตลอดเวลา” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชี้

ต่อมาเดินทางถึง วัดสมณโกฏฐาราม ซึ่งคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม พูดถึงมหาธาตุหลักพระนคร แสดงว่าตำแหน่งนี้เคยเป็นเมืองมาก่อน

บ่ายคล้อยถึง วัดกุฎีดาว โดย ผศ.พิพัฒน์เผยว่า เราไม่รู้ว่าวัดนี้สร้าง พ.ศ.ไหน แต่เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นวังหน้า ในพงศาวดารระบุว่ามีการเข้ามาบูรณะที่วัดแห่งนี้ จากการขุดค้นสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกต มักจะเจอว่าวัดบริเวณนี้มีการซ้อนทับกันหลายยุคสมัย ซึ่งวัดกุฎีดาวมีการสร้างซ้อนทับมาแล้วอย่างน้อย 3 สมัย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์เสริมว่า ถ้าไม่สำคัญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะมาซ่อมทำไม และในพระราชพงศาวดารเขียนว่ามาที 3-4 เดือนเกิดขึ้น ถึงขนาดตั้งตำหนักหลวงตรงนี้ขึ้นมา และที่นี่ไม่เคยร้างคน คนอยู่ต่อเนื่องกันมา เพียงแต่ว่าระบบการศึกษาของเราลืมตรงนี้ไป

จากนั้นมุ่งหน้าวัดมเหยงคณ์ ซึ่งสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ตกอยู่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ห่างจากการสถาปนากรุงศรีอยุธยาไม่ถึง 100 ปี ถือเป็นวัดที่มีความเป็น ‘ลังกา’ สูงมาก ทั้งชื่อวัดและรูปแบบเจดีย์ช้างล้อม

ปิดท้ายจุดสุดท้ายที่วัดอโยธยา หรือ ‘วัดเดิม’ ในยามเย็น โดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์คาดว่าวัดนี้สร้างขึ้นร่วมสมัยกับวัดมเหยงคณ์ ไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่าสร้างขึ้นโดยใคร แต่ในพงศาวดารเหนือบอกว่าวัดนี้แต่เดิมเคยเป็นวังมาก่อน เมื่อมีการย้ายวัง จึงอุทิศให้เป็นวัด

“อยู่ดีๆ ทำไมเรียกว่าวัดอโยธยาและเรียกมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แถมมีชื่อเดิมว่าวัดเดิม ความทรงจำของวัดนี้ปรากฏอยู่ในบทนมัสการตำราหล่อพระพุทธรูปที่บอกว่า สมภารวัดนี้เป็นครูช่างหล่อพระ และเป็นครูที่เวลามีไหว้ครูของเหล่าช่างก็ต้องไหว้ครูท่านนี้ทุกครั้ง” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ชวนตั้งข้อสังเกต

ซัดหมัดตรง ปม ‘รถไฟ’
แหวกปัญหาเชิงโครงสร้าง
ยันไม่ต้านความเจริญ
แต่ทำลายของเก่าไม่ได้!

มาถึงตรงนี้ ได้เวลาซัดหมัดตรงถึงประเด็นการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา)

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ยอมรับว่ารุ่นเก่าๆ อย่างเราอาจจะละเลยไป และไม่ได้พูดถึงความรู้เกี่ยวกับอโยธยามาก วันนี้ต้องขอโทษทุกคนที่ไม่ได้เผยแพร่วิชาความรู้เกี่ยวกับด้านอโยธยาให้ทราบ

“วันนี้ที่เรามา ไม่ได้ออกมาต่อต้านความเจริญ แต่กำลังพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ที่มันจะไปพร้อมความเจริญ วันนี้ที่พามาอยากจะให้ทุกท่านทราบว่า จริงๆ แล้วเมืองตรงนี้สำคัญอย่างไร มันกระทบกระเทือนต่อระบบประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างไร ความเป็นไทยที่เราภูมิใจกันหนักหนามันจะต้องถูกทำลายหรือไม่ สมัยก่อนตอนเราเรียน ใครกันที่เผาอยุธยา พม่า? ต่อไปในรุ่นลูกของเราใครทำลายอยุธยา คำตอบตรงนี้ของจริงกว่า” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

ในขณะที่ ผศ.พิพัฒน์ย้ำว่า ต้องแจ้งให้ชัดเจนว่า คนจะอยู่ร่วมกับโบราณสถานกระบวนการต้องทำอย่างไร แต่ตอนนี้คนกลัวมรดกโลก เพราะเดี๋ยวจะสร้างหลายอย่างไม่ได้ ที่ดินจะราคาตกลง เพราะไม่สามารถสร้างตึกสูงได้ แต่ข้อมูลเชิงสถิติทางด้านเศรษฐกิจของเมืองมรดกโลกหลายที่ ราคาที่ดินขึ้น ไม่ได้ลง

“ทางที่ควรจะทำคือไปประท้วง ตอนเสนอเรื่องตัวสถานี รฟท.เอาตัวสถานีแบบญี่ปุ่นเสนอไปซึ่งเป็นสถานีขนาดเล็ก เขาก็ตกลงให้สร้างได้ ปรากฏว่าตอนจะสร้างจริงกลายเป็นสถานีแบบจีน ซึ่งใหญ่และมีห้างสรรพสินค้า คำถามคือ สรุปแล้ว เราสร้างเพื่อจะให้นักท่องเที่ยวลง หรือว่าสร้างเพื่อสร้างตัวห้างขึ้นมา มันก็มีผลประโยชน์บางอย่างที่เรามองไม่เห็นหรือเราไม่รู้ แม้ในท้ายที่สุดเหมือนจะถอยกลับไปสร้างตามแบบญี่ปุ่น” ผศ.พิพัฒน์ชี้

ผศ.พิพัฒน์มองถึงปมปัญหาว่ามีอยู่ 2-3 เรื่อง คือการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องของการอนุรักษ์ หลายๆ คนทำน้อยไป จึงทำให้ไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์เรื่องของการอนุรักษ์ที่ควบคู่ไปกับการพัฒนา

“ในเมื่อเรากำลังเดินทางไปสู่ศตวรรษใหม่ มีทางเลือกของเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างลอดใต้ไป และยังอยู่บนแนวเส้นทางเดิม แต่หลายคนอาจจะมองว่า ถ้าไม่สร้างข้างบนมันจะช้า ในท้ายที่สุดมันอาจจะนำไปสู่การไม่ได้สร้างอะไร ในคนที่สนับสนุน ผมก็มองว่ามันเป็นที่ปัญหาเชิงโครงสร้างของบ้านเราที่มันผลักคน

กลายเป็นว่าถ้ามันมีการพัฒนา ปีหน้าจะดีขึ้น บ้านเราไม่มีแผนแบบระยะยาวในการทำให้คนรู้สึกถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มันก็เป็นความกดดันที่ทำให้รู้สึกว่าปีหน้าเดี๋ยวมันจะดีขึ้น แล้วถ้ามันช้าไปมันก็จะเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นผมไม่คิดว่ามันเป็นความผิดของใคร มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระดับหนึ่งเลย ไม่ใช่แค่เชิงปัจเจก” ผศ.พิพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ สามารถติดตามความคืบหน้ากรณีรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองอโยธยาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ‘Saveอโยธยา’

ผู้เข้าร่วมทริป Save อโยธยา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image