ประท้วงเพราะไม่ปกติ รสชาติของ‘สิทธิ’ เสรีภาพที่ไกลลิบ เมื่อคนรุ่นใหม่อาสา ทวงอำนาจที่หายไป

ประท้วงเพราะไม่ปกติ
รสชาติของ‘สิทธิ’ เสรีภาพที่ไกลลิบ
เมื่อคนรุ่นใหม่อาสา ทวงอำนาจที่หายไป

เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งยากเย็น เป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยที่ต้องฝ่าหลายด่าน

ผ่านพ้นไปแล้วในรอบแรก แต่ยังต้องจ้องหน้าจอลุ้นต่อไปแบบไม่รู้จะไปสิ้นสุดตรงไหน เพราะว่าที่ผู้นำคนใหม่จากพรรคก้าวไกล คาข้อครหาปมถือหุ้นสื่อไอทีวี เมื่อ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแบบปุบปับมีพิรุธ สุ่มเสี่ยงว่า ส.ว.จะไม่หนุนให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ

ทันใดนั้นแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม #นายกพิธา ทะยานติดท็อปเทรนด์ในทวิตเตอร์ นัดม็อบหน้ารัฐสภา สะท้อนเจตจำนงอันแรงกล้า ว่าประชาชนไม่ยินยอมให้หักล้างมติมหาชนอีกหน เพราะทนไม่ไหวที่สิทธิเสรีภาพของคนไทยถูกลิดรอนไปอย่างใหญ่หลวงในช่วงรัฐบาลที่ผ่านพ้น

Advertisement

เมื่อไม่นานมานี้ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดกิจกรรม ‘Light of Rights แสง-สร้าง-สิทธิ’ เพื่อสะท้อนบทสรุปการเรียนรู้ประเด็นทางสังคมของอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนรุ่น 17 นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เยาวชนคนรุ่นใหม่และผู้รักในประชาธิปไตย มุ่งหน้าสู่ GalileOasis เขตราชเทวี มุงหน้าจอชมภาพยนตร์เรื่อง “Myanmar Diaries” ช่วงมื้อเที่ยง ลิ้มรสความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
ผ่านฟุตเทจเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นจริงในเมียนมา ก่อนจะล้อมวงเสวนา ‘คนรุ่นใหม่กับการปกป้องสิทธิมนุษยชน’ แชร์ประสบการณ์ของการเลือกก้าวเข้าสู่เส้นทางอาสาสมัครด้านสิทธิ ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม หวังขจัดความไม่ปกติในสังคม เพราะเป็นทางเดียวที่จะเรียกคืนอนาคตในประเทศนี้

⦁ปกติไหม? อยู่เหนือ ไปฟ้องใต้
เดี๋ยวได้ประกัน เดี๋ยวถูกถอน

ในตอนหนึ่ง สิทธิพัฒน์ ทองสุข หรือแจ๊ค เล่าถึงการทำงานร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน ซึ่งมีกว่า 1,200 คดี ที่ยังค้างอยู่ประมาณกว่า 800 คดี ทั้งหมดเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ลงโซเชียล หรือชุมนุมบนท้องถนน ล้วนถือเป็นความท้าทายเพราะบุคลากรที่ช่วยเหลือมีไม่มากพอ

Advertisement

“มีการกลั่นแกล้งจากกลุ่มที่เห็นต่าง สมมุติคนอยู่เหนือ ไปฟ้องที่ใต้ คนอยู่ใต้ไปฟ้องที่เหนือ มีการดักทำร้ายคุกคามจากภาครัฐ ไปขู่โดยไม่มีหมาย ไม่ทำตามกฎหมายที่ถูกต้อง ตีความกฎหมายกว้างเกินกว่าที่ควรจะเป็น
คดีที่ยังตัดสินไม่แล้วเสร็จก็ไม่ได้ประกันตัว” คือสิ่งที่ สิทธิพัฒน์ตั้งข้อสังเกต

ยังไม่รวมบางกรณีที่ยื่นคำร้องไปแล้วได้ประกัน สักพักไม่ได้ประกัน หรือโดนไต่สวนถอนประกันก็มี เป็นเหตุการณ์มากมายที่ชวนสงสัยว่ามีความผิดปกติของการตีความและการบังคับใช้หรือไม่? อย่างการชุมนุม ‘ราษฎรหยุดเอเปค 2022’ เจ้าหน้าที่รัฐสลายม็อบไม่ชอบธรรม มีเหตุจับกุมยามวิกาล ถูกจับไว้ก่อนไม่ให้ทนายเข้า

ถึงอย่างนั้นในฐานะเยาวชน ‘แจ๊ค’ ยังคงมีความหวัง ตั้งบาร์ขั้นต่ำที่อยากเห็นคือ กฎหมาย = ความยุติธรรม เป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่ขัดกับหลักการสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างการประกันตัว
ยังอยากให้ผู้ใหญ่เข้ามารับฟังความรู้สึก รับฟังปัญหา และตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา

“มันไม่มีเหตุปกติจริงๆ ในบ้านเมืองหรือ ดีกว่านี้ได้หรือไม่ ไม่ต้องเชื่อก็ได้ แต่อยากให้รับฟังว่ามันเกิดอะไร คนที่ออกมาแสดงออกประท้วง ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล เขาคิดอะไร อยากเห็นบ้านเมืองไปในทางที่แย่ลงจริงๆ หรือ?ทุกคนล้วนหวังดีกับประเทศชาติทั้งนั้น”
สิทธิพัฒน์วอนคนไทยเปิดใจรับฟังความเห็นต่าง

⦁ปลุกพลัง ‘ตั้งคำถาม’
ปัจจัยเร่ง พังทลายโครงสร้างที่กดทับ

การชุมนุมทางการเมืองปี 2562-2563 เป็นจุดเชื่อมโยงให้ กัญญ์วรา หมื่นแก้ว หรือกัญญ์ เข้าสู่เส้นทางอาสาสมัคร เพราะได้รับรู้ชุดข้อมูลใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ตามยุคสมัย คำถามมากมายผุดขึ้นในหัวเมื่อได้ไปสัมผัสกับม็อบ saveบางกลอย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ที่มาชุมนุมข้างทำเนียบ ได้ฟังสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้อง พบว่าล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จากรัฐบาลที่ไม่เคารพสิทธิประชาชน

จุดนี้เองที่ทำให้ กัญญ์วรา เริ่มโฟกัสประเด็นพี่น้องชาติพันธุ์อย่างมาก จึงลองสมัครเข้าโครงการของมูลนิธิอาสาเพื่อสังคม (มอส.) เพราะอยากรู้ให้ลึกขึ้น อยากลองพาตัวเองไปอยู่กับการทำงานที่ไม่ได้ตอบสนองทางการเงินอย่างเดียว แต่ตอบสนองความเชื่อและอุดมการณ์

กัญญ์ ไม่รีรอที่จะแบ่งปันประสบการณ์จากการขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับปัญหา ‘ป่าไม้ ที่ดิน’ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงสิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์ ทั้งยังอยากชวนทุกคนมองว่าอะไรที่เป็นปัญหาจริงแท้?

“ทุกคนมีที่อยู่อาศัย อยากให้กลับไปดูว่ามั่นคงปลอดภัยทางความรู้สึกไหม ต้องหวาดระแวงไหมว่าวันดีคืนดีเราจะถูกอพยพออกจากบ้าน หรือวันดีคืนดีจะมีกฎหมาย มีเขตพื้นที่ประหลาดๆ มาประกาศทับบ้านที่เราอยู่ ส่วนตัวรู้สึกว่าสิ่งที่ชาวบ้านต่อสู้เรียกร้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมากๆ ตลอดเวลาที่ทำงานได้เห็นข้อมูล พอมองย้อนกลับไปก็ตั้งคำถามว่ากฎหมายหรือเขตพื้นที่อุทยานฯ
ป่าสงวนฯ เขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า กับบ้านคนหรือสิ่งที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ สิ่งไหนเกิดก่อนกัน มองแบบพื้นฐาน ถ้าบ้านพี่น้องอยู่ในพื้นที่ป่าตรงนั้น แล้วกฎหมายมาทีหลัง แบบนี้เท่ากับกฎหมายละเมิดรึเปล่า” กัญญ์วราชวนคิด

พร้อมยืนยันอีกเสียงว่า ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านว่าห้ามมีอุทยานฯ ซึ่งภาครัฐหรือหน่วยงานก็มีการปรับตัวเหมือนกัน ใช้เครื่องมือที่ดูซอฟต์ลง มาในรูปของ ‘โครงการปลูกป่า’ ดูเหมือนชาวบ้านได้ผลประโยชน์ แต่พอมากางดูเงื่อนไขที่ซ่อนอยู่ ถ้ายอมรับการหยิบยื่นนั้น ก็เหมือนกับเช่าที่ดินของรัฐอยู่

ชวนกลับไปสังเกตชีวิตตัวเองดูว่า มีความสุขจริงไหม หรือมันดีกว่านี้ได้อีก เพราะส่วนตัวเชื่อในความสงสัยและการตั้งคำถาม ว่าจะนำไปสู่การหาคำตอบและแนวทาง

“วันนี้เราอาจจะรู้สึกว่าอำนาจประชาชนมันไม่ได้อยู่ในมือของเราจริงๆ มีคนบางกลุ่ม บางคนบางพวกที่ดึงอำนาจไปจากมือเราไป ด้วยรูปแบบที่แยบยลมาก แต่เชื่อเถอะว่าอำนาจจริงๆ มันเป็นของเรา”
กัญญ์ทิ้งท้ายว่า สำหรับคนที่ตื่นแล้ว คนที่รับรู้แล้วว่ามีปัญหา ‘ไม่ปกติ’ อยากให้มีความหวังต่อไป ถ้าเหนื่อยก็พักแล้วสู้ต่อ

“เชื่อเถอะว่าสิ่งที่กดทับเราอยู่ มันเกลียดการตื่นรู้ เกลียดการพยายามต่อต้านเรียกร้องของเรา อยากให้เชื่อมั่นในความเป็น ‘คน’ เหนื่อยก็พักแล้วให้ทำต่อไป อย่างน้อยถ้าเรายังทำต่อเรื่อยๆ มันก็เป็นตัวเร่งเวลาให้โครงสร้างหรืออะไรก็ตามที่กดทับเรา พังทลายเร็วขึ้น ถ้าเราปล่อยให้เวลาทำงานของมันแล้วโครงสร้างก็จะพังช้าลง แต่ถ้าเราหรือทุกคนเข้ามาเป็นตัวเร่ง ให้โครงสร้างนี้มันจบไวเท่าไหร่ ก็จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตแบบที่เราอยากใช้ ได้ไวเท่านั้น

“สำหรับคนที่บอกว่า มันก็ปกติดี มันปกติจริงหรือ? ลองตั้งคำถามกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ดู อย่างรถติด หรือการที่คนเข้ามาทำงานในเมืองหลวง จังหวัดที่มันเล็กมากแต่มีคนมาทำงานไม่รู้กี่ล้านคน ต่างจังหวัดไม่มีงานเหรอ ตั้งคำถามจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว หรือจริงๆ แล้วมันไม่ปกติเลย แต่เราถูกสังคมทำให้เรารู้สึกว่ามันปกติ”
กัญญ์พาขบคิด

⦁คนรุ่นใหม่ วอน หยุดยัดคดีการเมือง
หวังคนไทย ‘ปกป้องสิทธิตัวเอง’

ชนัตตำ บิลม่าหลี หรือฟาด้า อาสาสมัครเจ้าหน้าที่ประสานงาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล็งเห็นว่าชุดความคิดชุดวิธีการแก้ปัญหาที่เบสิก กลับถูกใช้แบบผิดปกติ จึงมองว่าตัวเองก็สามารถเป็นจิ๊กซอว์ช่วยขับเคลื่อนให้ถูกต้องได้

จากการที่ได้ทำงานที่ศูนย์ทนายฯ ช่วงหลังเป็นคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ไม่มีทีท่าว่าจะจบ จากปกติจะต้องส่งหมายเรียกให้ไปรายตัว แต่คดีมาตรา 112 กลับไม่ยอมส่งหมายเรียก ทำให้คดีล่าช้า

“อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการประวิงเวลาก็เป็นได้ จึงทำให้ผลนั้นได้มาจบอยู่ที่จำเลย อาจโดนตัดสินว่าเป็นผู้ผิดทั้งที่ยังไม่ได้มีคำตัดสิน”

สิ่งที่ท้าทายในมุมของชนัตตำ คือการรับมือกับสถานการณ์ทันด่วน หาวิธีรับมือในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้ตัวเองดำดิ่งกับความเครียดจากการทำงานมากเกินไป

“ความท้าทายที่เจอ คือการที่จะต้องเผชิญหน้ากับผู้บังคับใช้อำนาจโดยตรง ในหลายๆ ครั้งก็ทำให้คนที่เข้าไปประสานงานถูกมองข้ามไป ทั้งที่จริงสามารถคุยกันได้ด้วยเหตุผล ทำให้ต้องหาวิธีการในการเจรจาและมีสติในทุกครั้งที่ต้องคุย

“เมื่อในมือของเขามีอำนาจที่จะบังคับใช้ เขาก็ข่มขู่ ทำให้เราตัวเล็กลง ทั้งที่เราคุยกันได้ด้วยหลักการเหตุผล แต่เขาก็ยังคงใช้อำนาจเพื่อมาข่มเหงเรา ทำให้เราจะต้องหาวิธีการ จะพูดคุยกับเขายังไง ถึงจะทำให้ผลเป็นไปตามที่ต้องการ”

ความคาดหวังในอนาคต สำหรับ ‘ฟาด้า’ คือ อยากให้ทุกคนรู้ถึงสิทธิพื้นฐานและสามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้เมื่อมีการละเมิดสิทธิ อีกหนึ่งความหวังคือ ต้องการให้มีการยุติการดำเนิดคดีทางการเมือง เพราะผู้ที่ออกมาชุมนุมใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น และอยากให้ผู้ที่กำลังต่อสู้กับเรื่องสิทธิมนุษยชน จงภูมิใจในตัวเอง ว่าอย่างน้อยก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อพัฒนาสังคม

“สำหรับคนที่ยังไม่เปิดรับในส่วนนี้ อยากให้คิดว่าวันหนึ่งสิ่งที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ ถ้าเป็นคุณเองที่ต้องไปดำเนินคดี คุณอยากจะได้ความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือช่วยเหลือตัวเองได้” ชนัตตำทิ้งท้าย

⦁เป็นพลเมืองไทย แสนยุ่งยาก
ไร้สัญชาติ ไม่ใช่แค่พลาดสิทธิ

ต่อเนื่องกับความเห็นของ นันท์ธีรา ดารารัตน์ หรือสตางค์ อาสาสมัครที่ทำงานกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.เชียงราย เปิดใจถึงเหตุผลที่สนใจในประเด็น ‘ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ’ เพราะคาใจว่า ทำไมคนบางกลุ่มในสังคมยังไม่มีสัญชาติ แม้ตัวเองจะเรียนจบด้านกฎหมาย แต่ขอเลือกเส้นทางเอ็นจีโอ แทนที่จะไปเป็นทนาย

“ถ้าเป็นทนายหรืออัยการ มีเงิน มีหน้ามีตาก็จริง แต่ในส่วนนี้คือการที่ทำให้คนคนหนึ่งเขาได้มีสัญชาติ ได้เข้าถึงสิทธิ ได้มีตัวตน ได้มีข้อมูลของเขา มีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้ มันคือความตื้นตันใจ มากกว่าเงินเหล่านั้น” นันท์ธีราเผยเหตุผล

เพราะมองเห็นผู้เฒ่าบางคนยื่นขอสัญชาติไป แต่เสียชีวิตก่อนจะได้มา

“มีผู้เฒ่าที่ได้ถ่ายบัตรประชาชนจริง เมื่อ 14 พฤษภาคม 2556 เขาดีใจมากที่เขาได้บัตรประชาชน รู้สึกว่าเป็นคนที่มีฐานะเดียวกัน เขาไม่กล้าไปที่ไหนเนื่องจากกลัวถูกตำรวจจับ ไม่กล้าไปโรงพยาบาล มองในมุมของกฎหมายและโครงสร้าง ทำไมถึงการได้สัญชาติถึงเป็นเรื่องยาก”

สตางค์ แยกปมนี้ออกเป็น 2 กรณี คือ

1.ผู้เฒ่าที่เกิดในประเทศไทย แต่ถูกบันทึกผิดในเอกสารของรัฐบาล

2.ผู้เฒ่าที่เกิดนอกประเทศ แต่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยและไม่สามารถเดินทางกลับไปที่เดิมได้ อีกทั้งมีลูกหลานเป็นคนไทย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิแบบที่คนอื่นได้รับ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เยาวชนผู้นี้ จึงเรียกร้องให้พัฒนากฎหมาย ที่ไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

“ถามว่าอายุเยอะแล้วจะทำบัตรไปทำไม แต่ผู้เฒ่าไม่ได้อยากได้แค่เบี้ยยังชีพคนชรา เขาอยากมีตัวตน เป็นพลเมืองของประเทศ ไม่ใช่แค่สิทธิรักษาพยาบาล”

ยังไม่รวมกรณีที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไทย แต่ก็มีการเสนอแนวคิดใหม่ๆ อย่างเช่น ‘การทำประชาคมหมู่บ้าน’ เพื่อแสดงถึงสิทธิในการอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม มีการตราจดีเอ็นเอกับญาติพี่น้องที่มีสัญชาติไทยแล้ว แต่ในบางพื้นที่การทำประชาคมหมู่บ้านยังไม่ได้รับการยอมรับ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจและทัศนคติของผู้มีอำนาจว่าคิดเห็นอย่างไร จุดนี้เองที่ท้าทาย เพราะบางคนมีทัศนคติเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติในทางที่ไม่ดี

สำหรับ นันท์ธีรา คาดหวังว่าทุกคนจะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เรื่องของการมีสัญชาติได้โดยง่าย ไม่ต้องมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน ต้องรอหลายปีเพื่อให้ได้สัญชาติมา

“ทุกคนควรจะมีความเท่าเทียม ทุกคนสามารถเรียกร้อง และมีสิทธิมีเสียงเหมือนกัน หนทางที่กำลังดำเนินไปอาจจะดูยากที่จะทำให้สำเร็จในเร็ววัน ยังอยากให้ทุกคนมีความเชื่อ มีความหวังอยู่เสมอ ว่าทุกอย่างสามารถทำให้เป็นไปได้ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว แต่มันต้องเป็นไป และเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น” นันท์ธีราทิ้งท้าย

คือความเห็นจากเยาวชนที่มีต้นทุนทางสังคม แต่เลือกทำงานอาสา หวังปลุกใจเพื่อนร่วมชาติที่อาจรู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิต ให้ลงมือสร้างไปด้วยกัน คิดฝันถึงสังคมที่ดีกว่า สะสมชัยชนะเล็กๆ แปรเปลี่ยนเป็นพลังครั้งยิ่งใหญ่

ในวันที่คนไทยยังต้องลุ้นว่านายกฯคนใหม่จะเป็นใคร เชื่อในประชาธิปไตยหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image