อาศรมมิวสิก : ซิมโฟนีหมายเลข 8 ของบรูคเนอร์ โดยวง ที.พี.โอ. คอนเสิร์ตปิดสมัยกาลที่ 18 เพื่อชาวบรูคเนอร์ (Brucknerian) อย่างแท้จริง

ซิมโฟนีหมายเลข 8 ของบรูคเนอร์ โดยวง ที.พี.โอ.
คอนเสิร์ตปิดสมัยกาลที่ 18 เพื่อชาวบรูคเนอร์ (Brucknerian) อย่างแท้จริง

เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ณ หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร วง ที.พี.โอ. (Thailand Philharmonic Orchestra) นำเสนอคอนเสิร์ตปิดสมัยกาลที่ 18 ได้อย่างยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีวงออร์เคสตราชั้นนำของเมืองไทย ทั้งในแง่รูปแบบภายนอกและศักดิ์ศรีทางดุริยางคศิลป์ ก่อนการแสดงจะมาถึงในวันจริง ผู้เขียนมีความวิตกกังวลแทนวงอยู่บ้าง ในการคัดเลือกดุริยางคนิพนธ์ยักษ์ใหญ่ชิ้นนี้ นั่นคือซิมโฟนีหมายเลข 8 ในบันไดเสียง ซี ไมเนอร์ของ “อันโตน บรูคเนอร์” (Anton Bruckner) ดุริยกวีชาวออสเตรียในศตวรรษที่ 19 มานำเสนอ ภายใต้การอำนวยเพลงโดย “อัลฟอนโซ สการาโน” (Alfonso Scarano) วาทยกรหลัก (Chief Conductor) ของวง บทเพลงนี้มีความยากในการตีความอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเรื่องรสนิยมทางดนตรีเพราะนี่เป็นบทเพลงซิมโฟนีที่มีโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่และมีความยาวมากที่สุดของเขาและเป็นผลงานซิมโฟนีบทสุดท้ายในชีวิตที่เขาประพันธ์เสร็จสมบูรณ์ พิจารณาตามอักขระตัวโน้ตที่เขียนขึ้น มันเต็มไปด้วยความโอ่โถงยิ่งใหญ่สูงด้วยความทะเยอทะยานทางดุริยางคศิลป์ อันเป็นเสมือนกับดักหลอกล่อให้วาทยกรหลงระเริงไปกับสุ้มเสียงอันหรูหราโอ่อ่าภายนอกเหล่านี้จนเสียรสนิยม หรือเสียผู้เสียคนทางดนตรีกันไปได้ทีเดียว น่าชื่นชมที่วาทยกรอิตาเลียนผู้นี้พิสูจน์ตัวเองได้ว่าเขามีวุฒิภาวะและรสนิยมทางดนตรีที่สูงพอที่จะไม่ตกหลุมพรางอันจะนำไปสู่ความตื้นเขินทางดนตรีที่ว่านั้น

คอนเสิร์ตครั้งนี้ไม่มีการแบ่งภาคเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง เพราะลำพังตัวบทเพลงนี้เพลงเดียวก็กินเวลาไปถึงชั่วโมงครึ่ง (90 นาทีโดยประมาณ!) รายการนี้จึงไม่มีบทเพลงโหมโรง (Overture) หรือคอนแชร์โต (Concerto) เดี่ยวเครื่องดนตรีใดๆ บทเพลงนี้จึงเหมือนกับการนำเสนอบทเพลงซิมโฟนีของมาห์เลอร์ (Gustav Mahler) อย่างหมายเลข 2, 3, 8 หรือแม้แต่หมายเลข 5 ที่ยาวจนเต็มรายการเพลงเดียวถือว่า เต็มอิ่มเต็มรสชาติแห่งดนตรีแล้ว เหนื่อยกันไปทั้งผู้บรรเลงและผู้ชม การอุทิศตัวเดินทางออกจากบ้านมาเป็นระยะทางไกลๆ เพื่อมานั่งนิ่งๆ ฟังดนตรีซิมโฟนียาวกว่า 90 นาทีต่อเนื่องกัน จึงอาจจะไม่ใช่เหตุผลเพื่อความบันเทิงเริงใจอย่างแน่นอน หากแต่เป็นความเหน็ดเหนื่อยในการทุ่มเทใช้สมาธิกับเสียงดนตรีอย่างเต็มอิ่ม ในสุนทรียรส และยิ่งกับซิมโฟนีหมายเลข 8 ของบรูคเนอร์บทนี้ด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีปัจจัยอื่นที่เป็น “เครื่องเคียง” มาประกอบแบบซิมโฟนีของมาห์เลอร์ หรือริคาร์ด ชเตราส์ (Richard Strauss) เช่น วงนักร้องประสานเสียงขนาดใหญ่ กลุ่มเครื่องเป่าเสริมจากด้านข้างเวที หรือกลุ่มเครื่องประกอบจังหวะแปลกๆ “อันโตน บรูคเนอร์” ไม่เติมแต่งดนตรีซิมโฟนีของเขาด้วยปัจจัยเบี่ยงเบนเหล่านี้ ซิมโฟนีของเขายังบริสุทธิ์ เรียบง่ายในมโนทัศน์แบบที่เรียกว่า “คลาสสิกบริสุทธิ์” อย่างแท้จริง ดาเนียล บาเร็นบอย์ม (Daniel Barenboim) วาทยกรผู้เชี่ยวชาญและช่ำชองในซิมโฟนีของบรูคเนอร์ กล่าวไว้ถูกทีเดียวว่า ซิมโฟนีของบรูคเนอร์มีลักษณะทางดนตรีคลาสสิกตะวันตกที่ครอบคลุม ทุกยุคสมัย มีพลังความร้อนแรงแบบยุคโรแมนติก มีลักษณะเพลงสวดโบราณแบบยุคกลาง มีลักษณะการไล่ล้อของแนวเสียงต่างๆ แบบยุคบาโรค มีฉันทลักษณ์โครงสร้างทางการประพันธ์ที่กระจ่างชัดเรียบง่ายแบบยุคคลาสสิก (เช่น ซิมโฟนีหมายเลข 8 บทนี้ที่แม้จะมีโครงสร้างแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่เขาก็มิได้ใส่ “เครื่องเคียง” ทางดนตรีใดๆ แบบที่น่าจะกระทำ เขายังรักษาแนวคิดแบบ “ดนตรีบริสุทธิ์” เอาไว้อย่างมั่นคง)

อัลฟอนโซ สการาโน เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “เสน่ห์อันลึกลับ” ในดนตรีซิมโฟนีของบรูคเนอร์ ซึ่งคำนี้มีความหมายแยกออกได้เป็นสองนัยคือ ประการแรกซิมโฟนีของบรูคเนอร์มีน้ำเสียงแห่งความรู้สึกที่เรียกว่า “หลอกหลอน” อยู่บ่อยครั้ง เสียงดนตรีแนวเบสที่ครางหึ่งๆ เสมือนบ่งบอกบรรยากาศของโลกแห่งจิตวิญญาณที่เขาเชื่อมั่นศรัทธา การดีดสาย (Pizzicato) ของกลุ่มเครื่องสายที่ได้ทั้งลักษณะเสียงสูง-ต่ำของดนตรีและลักษณะเสมือนการเคาะจังหวะของกลุ่มเครื่องกระทบอีกด้วย หรือลักษณะของแนวทำนอง (Melody) ในซิมโฟนีของบรูคเนอร์ที่ไม่ใช่แนวทำนองที่มีลักษณะเย้ายวน น่ารักน่าหลงใหลมันไม่ใช่ทำนองแบบเพลงรักโรแมนติก คำว่าทำนองดนตรีของเขามีลักษณะแบบเพลงสวดอันสุขุม ดังนั้นถ้าพูดในความหมายเชิงฉันทลักษณ์แบบที่เรียกว่า “โซนาตา” (Sonata Form) แล้วกลุ่มแนวทำนองที่สอง (2nd Subject) ในซิมโฟนีของบรูคเนอร์จึงมุ่งที่จะนำพาเราไปสู่โลกแห่งความสงบ มิใช่อารมณ์รักเพ้อฝัน อารมณ์และความรู้สึกเช่นว่ามานี้ อัลฟอนโซ สการาโน สร้างมันให้เกิดขึ้นได้อย่างประจักษ์ชัดกับวงดนตรี ที.พี.โอ.

Advertisement

ส่วนนัยความหมายที่สองของคำว่า “เสน่ห์อันลึกลับ” ในดนตรีซิมโฟนีของบรูคเนอร์ ก็คือ “เสน่ห์อันย้อนแย้ง” นั่นคือ เสน่ห์ในดนตรีของบรูคเนอร์เป็นเสน่ห์ในหลายสิ่งที่ฟังดูมีความหมายไปในเชิงลบ หากแต่ในความเป็นจริงมันกลับสร้างความงดงามอันน่าสนใจได้อย่างประหลาด เช่น เสน่ห์แห่งความซ้ำซากจำเจ เมื่อวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างฉันทลักษณ์เราสามารถเดาทางดนตรีของเขาได้ถูกแทบจะทั้งหมด เขาใช้แนวทางหรือ “มุขทางดนตรี” เดิมๆ ในซิมโฟนีของเขา ใจความสำคัญของแนวทำนองที่เรียกว่า “โมทิฟ” (Motif) ถูกเปล่งเสียงซ้ำไป-ซ้ำมา “จุดสุดยอดทางดนตรี” (Climax) เกิดขึ้นหลายครั้งในดนตรีท่อนเดียวกัน จนสังเกตว่าผู้ชมในโรงพากันถอนหายใจ เมื่อดนตรีนั้นไปต่อได้อีก เสียงถอนหายใจของผู้ชมที่ราวกับจะถามว่า “นี่ยังมีต่ออีกหรือนี่?”, “ยังไม่จบอีกรึ?” แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่เมื่อบรรยายลักษณะเช่นว่านี้ที่ฟังดูทั้งน่าเบื่อและน่าขัน แต่ครั้นเมื่อคุณผู้ฟังได้ฟังซิมโฟนีของเขามากขึ้นๆ ได้ฟังความซ้ำซากจำเจนี้ในหลายบท คุณจะตกเข้าไปอยู่ในโลกดนตรีของเขาตกเป็นทาสของเสน่ห์อันลึกลับ หรือเสน่ห์แห่งความจำเจซ้ำซากนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น และในท้ายที่สุดแฟนดนตรีทั่วโลกมากมายจึงพากันกลายเป็น “สาวก” หรือแม้แต่ “ทาส” ในดนตรีซิมโฟนีของเขาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ลักษณะเช่นว่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับ ผู้ชม-ผู้ฟัง (แฟนๆ ดนตรี) และวาทยกรอีกเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกดนตรีซิมโฟนีของบรูคเนอร์อย่างถอนตัวไม่ขึ้นนี้ จนกระทั่งเกิดคำเรียกอีกคำหนึ่งอีกที่ใช้เรียกมนุษย์ดนตรีกลุ่มนี้ว่า “ชาวบรูคเนอร์” (Brucknerian) ซึ่งมีกลุ่ม สมาคม ชมรม ผู้รักดนตรีบรูคเนอร์อยู่มากมายในโลกตะวันตก

ลักษณะความเคร่งครัดทางระเบียบวินัยของวาทยกร “อัลฟอนโซ สการาโน” ที่ฟังดูว่าเคร่งครัดจนอาจจะทำให้เสียงดนตรีแข็งกร้าว หรือขาดความยืดหยุ่นไปในการควบคุมวงของเขาในบางคอนเสิร์ตครั้งก่อนๆ แต่ในซิมโฟนีหมายเลข 8 ในครั้งนี้มันได้ช่วยเสริมสร้างลักษณะความเคร่งขรึมจริงจัง สร้างสมาธิอันเข้มข้นในดนตรีของบรูคเนอร์ได้ตลอดบทเพลงที่กินเวลาอย่างยาวนานกว่าชั่วโมงครึ่ง นี่คือการมีพลังจิตทางดนตรีที่ดีเยี่ยม ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับวาทยกรซิมโฟนีบรูคเนอร์ที่จะต้องสร้างสมาธิอันเข้มข้นและยาวนานให้เกิดขึ้นกับการบรรเลง และสมาธิอันยาวนานต่อเนื่องนี้ก็จะแผ่ซ่านไปทั่วคอนเสิร์ตฮอลล์ การฟังดนตรีซิมโฟนีของบรูคเนอร์ชิ้นนี้จึงเสมือนการร่วมพิธีกรรมฝึกสมาธิร่วมกันของผู้ชมและศิลปินดนตรี อันละม้ายคล้ายกับการร่วมสวดมนต์ที่ปราศจากคำสวด แต่เป็นการบำเพ็ญสมาธิร่วมกัน อัลฟอนโซ สการาโน สร้างบรรยากาศเช่นว่านี้ได้อย่างประจักษ์ชัด การเปรียบเทียบที่ว่านี้เห็นภาพได้ชัดเมื่อ จบท่อนช้าที่ยาวกว่าครึ่งชั่วโมง ผู้ฟังที่เป็นคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นหลายคนเดินออกจากโรง นี่สะท้อนได้ถึงสุนทรีย์ในดนตรีซิมโฟนีของบรูคเนอร์ที่คล้ายกับการฝึกสมาธิหรือฝึกตบะในทางศาสนา เมื่อดนตรีในจังหวะช้าต้องใช้เวลาในการบรรเลงที่ยาวนานจนผู้ฟังที่ยังไม่ได้สมาทานตนเป็น “ชาวบรูคเนอร์” หมดสมาธิ ทนไม่ไหวลุกออกจากที่นั่งกันไปหลายคน ดนตรีและศิลปะบางชนิดก็ต้องใช้พลังชีวิตในการเข้าถึงเป็นอย่างมากมิใช่เพียงศิลปินดนตรีเท่านั้นที่ต้องทุ่มเทอุทิศตน ผู้ชม-ผู้ฟังก็ต้องทุ่มเทอุทิศตนร่วมกัน

Advertisement

การตีความดนตรีซิมโฟนีของบรูคเนอร์ โดยสการาโน จัดเป็นเรื่องที่น่าศึกษาแม้วง ที.พี.โอ.ในครั้งนี้ คุณภาพการบรรเลงในเชิงเทคนิคจะมีข้อบกพร่องให้พบเจออยู่บ้าง แต่ในภาพรวมทั้งสมาธิความเข้มข้นจดจ่อ ความสมดุลทางเสียง วลีและประโยคทางดนตรีเป็นสิ่งที่ สการาโนทำหน้าที่วาทยกรควบคุม องคาพยพทางดนตรีให้ดำเนินต่อเนื่องไปได้ด้วยดี เรื่องรายละเอียดความผิดพลาดในการบรรเลงบางตัวโน้ตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความรับผิดชอบเฉพาะตัวของนักดนตรีอย่างปฏิเสธมิได้ และการเปลี่ยนตัวนักดนตรีระดับหัวหน้ากลุ่มที่สำคัญบางคน ก็ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในระดับ “รายละเอียด” ที่สร้างความไม่ราบรื่นอยู่บ้าง แต่เมื่อมองในเชิงสรุปภาพรวมแห่งการบรรเลงดุริยางคนิพนธ์มหากาพย์ชิ้นใหญ่ชิ้นนี้ ซึ่งเป็น “การบรรเลงจริง” ก็จัดได้ว่าไม่ได้สร้างความผิดหวังใดๆ เลย โดยเฉพาะสำหรับ “ชาวบรูคเนอร์” ทั้งหลาย

ความประทับใจในการบรรเลงของวง ที.พี.โอ.ในครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนอดใจมิได้ที่จะต้องขอโอกาสเข้าไปแสดงความยินดีกับสการาโน ที่ดูจากคุณภาพการแสดงแล้วตระหนักได้ว่าเขา “ทำการบ้าน” มาเป็นอย่างดี การได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับสการาโน แม้จะเป็นเพียงชั่วเวลาอันแสนสั้น แต่ก็ยิ่งทำให้ประจักษ์ยิ่งขึ้นว่าเขามิได้แค่ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี หากแต่เขาเป็น “ชาวบรูคเนอร์” ในระดับเจ้าคณะ หรือชั้นพระครูทีเดียว แค่เพียงผู้เขียนเอ่ยปากถามคำเดียวว่า เขาใช้สกอร์ดนตรีในฉบับที่ใครเป็นบรรณาธิการ ยังไม่ทันจะจบคำถามดีเขาตอบทันทีว่า “โนวาค” (Leopold Nowak, บรรณาธิการผู้รวบรวมชำระสกอร์ในการตีพิมพ์) เขาสาธยายถึงคุณูปการในรายละเอียดของบรรณาธิการคนนี้ว่า ทำงานดีอย่างไร นอกจากนี้ สการาโนพูดถึงเหตุผลในการเลือกใช้ความเร็วของจังหวะที่ค่อนข้างช้าซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ตามอักขระที่กำกับไว้ อีกทั้งอธิบายถึงการเคลื่อนย้ายบันไดเสียง การขับเคลื่อนทางการประสานเสียง (Harmony) ในงานชิ้นนี้ของบรูคเนอร์อย่างละเอียดลออ เขามิใช่เป็นแค่วาทยกรที่แค่ “จำโน้ตได้” แบบเท่ๆ ในความหมายอันตื้นเขิน หากแต่เขาจดจำได้ถึงทิศทางแห่งการเดินทางในการประสานเสียงทั้งหมดของงานมหากาพย์ชิ้นนี้ได้ ซึ่งถ้ามิได้เข้าไปพูดคุยส่วนตัวเราก็มิอาจล่วงรู้ถึงความลึกซึ้งของวาทยกรชาวบรูคเนอร์ระดับชั้นเจ้าคณะคนนี้เลย การตอบคำถามของสการาโน มีความน่าทึ่งอย่างหนึ่งในระดับบุคคลที่ควรกล่าวถึงนั่นคือความว่องไวรวดเร็วทางสัญชาตญาณ มันเป็นการตอบคำถามแบบไม่ต้องรอให้จบก็ล่วงรู้ได้หมดถึงวัตถุประสงค์ของคำถาม และก็พร้อมที่จะเพิ่มเติมรายละเอียดราวกับจะรู้ล่วงหน้าว่าเมื่อรับข้อมูลนี้แล้ว เราจะสงสัยอะไรเป็นประเด็นต่อไป ผู้เขียนเชื่อมั่นเสมอว่าความรวดเร็วว่องไวในสัญชาตญาณและปฏิภาณแบบศิลปินนี้ เป็นสิ่งที่เรียกว่า “ศักยภาพสะสม” ที่ต้องพัฒนาผ่านการทำงานศิลปะอย่างประณีตในช่วงระยะเวลาอันยาวนานมากพอ อยากเปรียบเทียบปฏิภาณแห่งสัญชาตญาณของศิลปินแบบนี้ว่า มันรวดเร็วประดุจการชักดาบของซามูไร ในขั้นต้นเราต้องฝึกฝนมันในระดับเทคนิคและขั้นตอน เมื่อเราฝึกฝนอย่างเคร่งครัดผ่านกาลเวลาที่ยาวนานพอมันจึงเกิดความลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ จนในที่สุดเราก็จะทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วว่องไว อีกทั้งแม่นยำด้วยระดับสัญชาตญาณที่ไม่ต้องตั้งหลักคิด หากแต่ตอบโต้ออกไปอย่าง “ฉับพลันทันที” ประดุจการฟันดาบของซามูไร ที่ต้องว่องไวเหนือระดับการครุ่นคิด (หากมัวแต่ครุ่นคิดอยู่มีหวังถูกศัตรูฟันเอาก่อนแน่นอน)

เหตุการณ์เล็กๆ นี้ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงบทสัมภาษณ์ของนักร้องอุปรากร (Opera) ระดับโลกคนหนึ่งที่เขาเคยหวนรำลึกถึงการได้เคยมีประสบการณ์ร่วมงานกับ วาทยกรระดับตำนานอย่าง “แฮร์แบร์ต ฟอน คารายาน” (Herbert von Karajan) ว่า คารายานเป็นวาทยกรที่รู้ทันนักร้องเดี่ยวดีเยี่ยม ในขณะอำนวยเพลงเขาจะตามติด (ทางดนตรี) นักร้องไปทุกจุด ทุกฝีก้าว ราวกับหมากฝรั่งติดรองเท้าที่แกะไม่ออก และบ่อยครั้งเขาก็รู้ล่วงหน้าเลยว่านักร้องเดี่ยวจะไปทางไหน เขาจะไปดักรออยู่ข้างหน้าทีเดียว การได้พูดคุยกับสการาโนทำให้นึกไปถึงเรื่องนี้ขึ้นมาทันที ดนตรีและศิลปะ (ชั้นดี) ย่อมสูงด้วยคุณูปการในอันที่จะใช้เป็นเครื่องมือในทางการศึกษาเพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์ก็ด้วยเหตุผลดังเช่นที่หยิบยกมานี้ ดนตรีและศิลปะที่ดีจึงทำให้เราทุกคนเป็นผู้มีการศึกษาพัฒนาตนเอง และเป็นผู้เสาะแสวงหาสัจธรรมในชีวิต ซิมโฟนีหมายเลข 8 อันยิ่งใหญ่ของ อันโตน บรูคเนอร์ ก็คือบทหนึ่งแห่งการเดินทางค้นหาแห่งจิตวิญญาณของพวกเรานั้นด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image