เปิดวงปล่อยแก่ที่ภูเก็ต คุณภาพและมาตรฐานต่อรองไม่ได้

การเปิดตัววงปล่อยแก่ภูเก็ต ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

เปิดวงปล่อยแก่ที่ภูเก็ต
คุณภาพและมาตรฐานต่อรองไม่ได้

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เพื่อสนับสนุนวงปล่อยแก่ภูเก็ตเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นวงปล่อยแก่ที่มีสมาชิกมากที่สุด 203 คน วงปล่อยแก่ภูเก็ต ได้นัดซ้อมกันเป็นพิเศษอย่างเอาจริงเอาจังมาก โดยเพิ่มวันซ้อม เพิ่มเวลาร้อง ในวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน เวลา 13.00-15.00 น. อาศัยสถานที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เพื่อให้วงปล่อยแก่พัฒนาตัวให้ทันกับวงปล่อยแก่ที่เกิดขึ้นมาก่อน

สำหรับอาจารย์ผู้สอนนั้น ได้อาศัยผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระศักดิ์ อักษรถึง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เนื่องจากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูง เป็นผู้นำวงปล่อยแก่ที่เทศบาลนครยะลา และนำวงซิมโฟนียะลาด้วย ซึ่งต้องบินจากหาดใหญ่ไปภูเก็ตทุกสัปดาห์ แม้สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่เพื่อคุณภาพที่สูงจึงต้องทำ ทำแล้วคุ้มกับคุณภาพ การต่อรองราคานั้นสามารถจะทำได้ แต่การต่อรองเรื่องคุณภาพ ทำไม่ได้

โดยสภาพและธรรมชาติสังคมไทย ส่วนใหญ่จะจำยอมและยอมจำนนกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ในที่สุดมาตรฐานที่ได้คือ “ไม่เป็นไร” ซึ่งเป็นมาตรฐานแบบโหลๆ หยวนๆ สแตนดาร์ด ไม่สามารถพัฒนาให้สูงขึ้นได้

Advertisement

ในการทำงานกับวงปล่อยแก่ภูเก็ต เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะได้เห็นความสุข เห็นบรรดาคนแก่ทั้งหลายตั้งใจทำงาน ความตั้งใจก็เป็นความสุข การแต่งตัวสวยงามเป็นความสุข การได้ฟังวงปล่อยแก่ภูเก็ตร้องเพลง ยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีก

วิธีคิดพื้นๆ มีอยู่ว่า “ฤๅษีหรือคนแก่สอนไม่ได้” เพราะผู้เฒ่าเหล่านี้ต่างก็มีความรู้และมีความสามารถสูง ผ่านประสบการณ์ในชีวิตมาเยอะ ที่สำคัญก็คือทุกคนต่างก็ร้องเพลงแบบ “คาราโอเกะ” ได้อยู่แล้ว ทำไมวงปล่อยแก่ภูเก็ตต้องอ่านโน้ต ต้องมีห้องเรียน ต้องมีครูฝึกซ้อมการออกเสียง ต้องมีครูเล่นเปียโน ต้องมีการเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลง ต้องร้องเพลงให้ถูกเสียงลงจังหวะ ต้องมีคณะนักร้องอย่างน้อย 30 คน ต้องร้องพร้อมกัน

การร้องเพลงแบบ “คาราโอเกะ” นั้น คนที่ได้ร้องมีความสุขอยู่คนเดียว แต่คนนั่งฟังไม่สนุก เพราะเป็นทรมานบันเทิง นานๆ เข้า คาราโอเกะก็เป็นพวกเอ็ดตะโรโฟนี ส่วนการขับร้องประสานเสียงในวงปล่อยแก่ ไม่ได้มีเป้าหมายที่ความไพเราะ แต่เป็นโอกาสให้ทุกคนได้ร้อง ไม่มีใครเป็นผู้ฟังเพราะทุกคนได้ร้องหมด

Advertisement

วงปล่อยแก่ภูเก็ต สามารถผ่านเงื่อนไขและอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ทั้งๆ ที่วงปล่อยแก่ภูเก็ตเป็นวงปล่อยแก่ที่เกินจากงบประมาณที่ได้รับจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ แต่เมื่อเห็นความตั้งใจของหัวหน้าวงและคนทำงาน (อาจารย์ถาวร เกียรติถาวรวงศ์) จึงตัดสินใจลงไปช่วยวงปล่อยแก่ภูเก็ต อย่างเต็มกำลัง

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน เป็นวันเปิดโครงการวงปล่อยแก่ ได้ซ้อมนัดกัน 10.30 น. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หิรัญ ประสารการ นายกสมาคมศิลป์ภูเก็ต คุณอัญชลี วานิช เทพบุตร มาร่วมกล่าวเปิดงาน โดยวงปล่อยแก่ภูเก็ตได้ขับร้อง 3 เพลง คือ สุขกันเถอะเรา ภูเก็ตเมืองงาม และราซาซายัง (Rasa Sayang)

เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองนานาชาติ มีเพลงท้องถิ่นของภูเก็ตคือเพลงชาวเล ซึ่งหาฟังได้ยากแล้ว เพราะชาวเลที่ภูเก็ตถูกวัฒนธรรมใหม่กลืนหมดแล้ว กลืนทั้งความเป็นอยู่ วิถีชีวิตถูกทำลายหมดสิ้น ไม่มีพื้นที่ทำกินจึงไม่สามารถที่จะสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมเพลงและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้ เมืองใหญ่อย่างภูเก็ตจึงไม่มีชาวเลอีกต่อไป

ที่ภูเก็ตมีเพลงฝรั่งดั้งเดิมอยู่ เพลงพวกละติน เพลงโปรตุกีส เพลงยุโรป ตัวอย่างเพลง จังซีลอน (Junk Ceylon) หรือเพลงโยสลัม ซึ่งรู้จักในดนตรีไทยภาคกลาง มีลูกหลานเครือญาติของเพลงโยสลัมมากมาย ตั้งแต่เพลงยวนย่าเหล ตามองตา นางใจ เกลียดห้องเบอร์ห้า น้ำตาโนราห์ ชุมทางเขาชุมทอง เพลงปี่โนรา ปี่หนังตะลุง เพลงมะโย่ง ลิเกป่า ก็เป่าเพลงโยสลัมทั้งสิ้น ล้วนเป็นเพลงที่มีต้นตอมาจากเมืองภูเก็ต แต่คนภูเก็ตเองก็ไม่รู้

บุคคลสำคัญที่รักในเสียงดนตรี ให้การสนับสนุนวงปล่อยแก่ภูเก็ต

เพลงฝรั่งสมัยใหม่ เมื่ออังกฤษยึดเมืองปีนังได้ ซึ่งเป็นต้นแบบวัฒนธรรมเพลงใหม่ได้เกิดขึ้นที่เกาะปีนัง ตั้งแต่ปี 2329 คราวที่สยามได้เสียเกาะหมากหรือเกาะปีนังให้แก่อังกฤษ เมืองปีนังได้พัฒนาโดยเฉพาะเมืองจอร์จทาวน์ (George Town) ที่ได้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่แบบยุโรป มีเพลงสากลตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อวัฒนธรรมเมืองภูเก็ตอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคเหมืองแร่และยุคยางพารา

ขณะเดียวกันก็มีคนจีนจำนวนมากได้อพยพเข้ามาทำงานทั้งที่ปีนังและเข้ามาทำงานในเหมืองแร่และยุคยางพาราที่ภูเก็ตด้วย เหมืองแร่และยางพาราได้สร้างเศรษฐกิจใหม่ให้ภูเก็ตเจริญรุ่งเรือง เมื่อหมดยุคเหมืองแร่และหมดยุคยางพาราแล้ว ภูเก็ตได้เข้าสู่ยุคการท่องเที่ยวขายทะเล ขายชายหาด ขายที่ดิน ขายที่พัก และขายศิลปวัฒนธรรม ยุคนี้เพลงจีนมีบทบาทที่สำคัญมาก

อย่าลืมว่า เมืองภูเก็ต เมืองปีนัง สิงคโปร์ และเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย ในมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และในอินโดนีเซีย มีวัฒนธรรมเพลงร่วมกันอยู่มาก ทั้งอาหารการกิน เสื้อผ้า ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมร่วม ซึ่งจะทำให้คนเป็นมิตรกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่แตกแยกกัน ดังนั้น การร้องเพลงของวงปล่อยแก่ภูเก็ต จึงเป็นมิติทางวัฒนธรรมที่จะ “อวดความเป็นฉัน” ได้อย่างสวยงาม

วงปล่อยแก่ภูเก็ต สามารถที่จะร้องเพลงไทย เพลงจีน เพลงมาเลย์ เพลงชาวเกาะ เพลงฝรั่ง เพลงละตินเหล่านี้ได้อย่างงดงามและไพเราะด้วย เพราะเป็นบริบทที่อยู่รอบๆ ตัว ได้ยินปู่ย่าตายาย อากงอาม่า ร้องเพลงให้ฟังมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งได้เปรียบกว่าวงปล่อยแก่ในพื้นที่อื่นๆ

เมื่อภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกไปแล้ว มีคนทั่วโลกรู้จักและอยากจะไปเที่ยวที่เมืองภูเก็ต เมื่อคนไปเที่ยวชายหาด ไปเที่ยวเกาะกันหมด ใจกลางเมืองภูเก็ตก็ตายกลายเป็นเมืองร้างอยู่ระยะหนึ่ง เหตุการณ์โรคระบาดโควิด ชาวเมืองภูเก็ตได้พลิกภูมิปัญญาขายพื้นที่เมืองเก่า แถบถนนกระบี่ ถนนถลาง ถนนพังงา ถนนเทพกระษัตรี ใช้วันอาทิตย์เปลี่ยนให้เป็นถนนคนเดิน มีดนตรีเปิดหมวก มีอาหารทะเลที่สะอาดและน่ารับประทาน ทำให้เมืองภูเก็ตเปลี่ยนไป

วงปล่อยแก่ภูเก็ต และวงเครื่องเป่า 5 ชิ้น แสดงที่ลานมังกร

การเสนอวงปล่อยแก่ภูเก็ตให้นำนักดนตรีเครื่องทองเหลือง 5 ชิ้น (Thai Symphony Brass Quintet) มาเล่นประกบกับวงปล่อยแก่ภูเก็ต เพราะวงเครื่องเป่าทองเหลืองจะช่วยอุ้มให้การขับร้องของวงปล่อยแก่ภูเก็ตกระปรี้กระเปร่าและกระชุ่มกระชวยขึ้น เพราะเสียงดนตรีจะอุ้มเสียงร้อง อุ้มบทเพลง และอุ้มจังหวะเพลงที่ร้อง ให้สนุกและไพเราะได้มากขึ้นด้วย

เย็นวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 วงปล่อยแก่ภูเก็ตเดินทางไปขึ้นร่วมแสดงกับกิจกรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ที่ลานมังกรใกล้ๆ กับถนนคนเดิน ซึ่งทำให้สมาชิกวงปล่อยแก่ภูเก็ตทุกคนมีความสุขมาก แต่งตัวสวยงามตั้งแต่เช้า มีเพชรพลอยกี่ชิ้นทั้งของจริงของแปลก เอามาใส่เสริมสวยหมด สมาชิกบางคนที่อยู่บ้านนอนป่วยลุกไม่ไหว บ้างก็บอกว่าเจ็บเข่า เจ็บขา แต่วันนี้ถามว่าไม่ป่วยหรือ ก็ได้คำตอบว่า “อาจารย์ให้ร้องเพลงจะต้องจำเนื้อเพลงให้ได้ ต้องยืนร้อง เลยลืมไปว่าป่วย”

วงปล่อยแก่ภูเก็ต กลายเป็นตัวอย่างของการช่วยเหลือคนแก่ให้มีชีวิตที่มีประสิทธิภาพได้อย่างงดงาม ความสุขได้เกิดขึ้น หยุดความเจ็บป่วย มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะคลุกเคล้ากับความสุข เห็นไมตรีของคนแก่ที่มีต่อกัน เพราะต่างก็เหลือกันไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปีแล้ว ชีวิตที่เหลือก็ควรอยู่ให้มีความสุข

ความสุขที่เกิดจากคุณภาพ เพราะคุณภาพเป็นราคาที่ต่อรองไม่ได้ คุณภาพเป็นเรื่องของมาตรฐาน เมื่อมีมาตรฐานแล้วก็ต่อรองไม่ได้ ส่วนมาตรฐานนั้นมีอยู่มาตรฐานเดียวคือ มาตรฐานสากล วงปล่อยแก่ภูเก็ตได้เตรียมตัว อย่างมีรากฐาน มีพื้นฐาน มีมาตรฐาน จึงทำให้สมาชิกทุกคนในวงปล่อยแก่ภูเก็ตมีความภูมิฐานในการร้องเพลง คืนนั้นทุกคนกลับบ้านแล้วยังนอนไม่หลับ เกิดปีติที่ตัวเองได้ร้องเพลง มีคนดู มีเสียงปรบมือ มีช่อดอกไม้ มีลูกหลานจูงมือไปในเมืองภูเก็ตในฐานะดาราแสนสวยคนหนึ่ง

วันนี้ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข รวมทั้งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีภาระต้องดูแลวงปล่อยแก่ 13 วงด้วยกัน มีที่บ้านคา เกาะลอย ราชบุรี เทศบาลนครยะลา วงปล่อยแก่ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ โคราช เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง อุดรธานี บุรีรัมย์ และที่ชมรมสายใยที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพฯ

วงขับร้องประสานเสียงปล่อยแก่ขยายตัวไปเร็ว เพราะมีความจำเป็นและมีความต้องการ การควบคุมให้ได้คุณภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เพราะบทเพลงที่ไพเราะจะทำให้นักร้องทั้งหลายลืมความแก่และได้ปล่อยความแก่ออกไปโดยไม่รู้ตัว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image