‘อ็อตโต เคลมเพอเรอ : ดนตรีที่หนักหน่วงจริงจังกับชีวิตซึ่งกลั่นมาจากวิกฤตการณ์แห่งชีวิตจริง’

‘อ็อตโต เคลมเพอเรอ : ดนตรีที่หนักหน่วงจริงจังกับชีวิตซึ่งกลั่นมาจากวิกฤตการณ์แห่งชีวิตจริง’

มีความเชื่อกันอยู่ว่าดนตรีและศิลปะมักจะเชื่อมโยงกับชีวิตจริงหรือสะท้อนภาพแห่งชีวิตจริงอยู่บ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง, ไม่มากก็น้อย นี่จึงถือเป็นคุณูปการอย่างหนึ่งของดนตรีกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งความเชื่อมโยงที่ว่านี้ก็อาจมีสัดส่วนแตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน แต่สำหรับเรื่องราวในชีวิตของศิลปินดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 20 หลายๆ คน, หลายๆ กรณี มักจะมีความเชื่อมโยงระหว่างดนตรีกับชีวิตให้น่าศึกษาค้นคว้าอยู่มาก โลกที่ผ่านวิกฤตในระดับสงครามโลกกับศิลปินที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เอาตัวรอด ทำให้เรื่องราวเหล่านี้น่าตื่นเต้นราวกับละครชีวิต ซึ่งเมื่อกล่าวถึงในแง่นี้เรื่องราวของวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกชาวเยอรมันอย่าง “อ็อตโต เคลมเพอเรอ” (Otto Klemperer) จึงมีประเด็นอันน่าสนใจศึกษาติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ชื่อเสียงและผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ของ “อ็อตโต เคลมเพอเรอ” ต่อผู้คนในยุคหลังๆ ก็เห็นจะได้แก่ มรดกงานบันทึกเสียงการตีความบทเพลงซิมโฟนีครบชุดทั้ง 9 บท ของ เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) กับวง “ฟิลฮาร์โมเนีย ออร์เคสตรา” (Philharmonia Orchestra) แห่งประเทศอังกฤษ ที่บันทึกไว้ในช่วงทศวรรษ 1960 ในช่วงที่อ็อตโต เคลมเพอเรอ ได้ย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัยแล้วและมีสภาพสังขารร่างกายที่ทรุดโทรมจนอาจเรียกได้ว่า “กึ่งพิการ” แต่การตีความดนตรีของเบโธเฟนของเขาในช่วงนี้ ก็กลายเป็นแบบฉบับที่ได้รับการยอมรับยกย่องจากผู้รู้และผู้รักดนตรีทั่วโลกว่าแสดงมาตรฐานแห่งเนื้อหาดนตรีซิมโฟนีของเบโธเฟนได้กระจ่างชัด, มีความพอเหมาะพอดี สร้างคุณค่าแรงบันดาลใจในเชิงเนื้อหาปรัชญาทางความคิดต่อผู้ฟังได้เป็นอย่างดียิ่งซึ่ง น่าจะมีความต้องตรงกับวัตถุประสงค์และลักษณะของ “ความเป็นเบโธเฟน” อย่างแท้จริง เนื้อหาบทความในครั้งนี้ได้รับเนื้อหาและแรงบันดาลใจเป็นอย่างมากจาก ข้อเขียนของปรมาจารย์นักวิจารณ์ดนตรีชาวอังกฤษคนสำคัญคือ “เซอร์ เนวิลล์ คาร์ดุส” (Sir Neville Cardus) และบทสัมภาษณ์ของ “อลัน บลายธ์” (Alan Blyth) ที่ได้พูดคุยกับเคลมเพอเรอ ในปี พ.ศ.2513 ก่อนเคลมเพอเรอจะถึงแก่กรรมเพียง 3 ปี

คุณค่าและความน่าเชื่อถือในด้านการตีความทางดนตรีของเคลมเพอเรอ หรือบรรดาวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่หลายๆ ท่านแห่งศตวรรษที่ 20 ก็คือท่านเหล่านี้เกิดขึ้นมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่ดนตรียังมีสถานะอันสำคัญต่อโลกและสังคม ดนตรียังคงเป็นหนึ่งในศูนย์กลางในการศึกษาเพื่อบ่มเพาะวุฒิภาวะของความเป็นมนุษย์ มิใช่เป็นเพียงมรหสพเพื่อความบันเทิงเป็นใหญ่แบบในยุคหลังศตวรรษที่ 20 สายธารแห่งมรดกทางปัญญาในศิลปะดนตรีในศตวรรษที่ 19 จึงยังคงความบริสุทธิ์สดใสทางปัญญาเอาไว้ได้เป็นอย่างมาก สายธารที่ยังคงพอจะเชื่อมโยงกับบรรยากาศแห่งยุค “แสงสว่างทางปัญญา” ของเบโธเฟนอย่างพอจะสัมผัสต่อเนื่องได้บ้าง นี่จึงเป็นเหตุผลที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับการตีความของศิลปินดนตรีบรมครูทั้งหลายที่มีชีวิตถือกำเนิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ที่มีวิสัยทัศน์ต่อดนตรีและศิลปะด้วยความเทิดทูนจริงจัง ไม่ใช่เรื่องเสียงดนตรีผ่านๆ หูเพื่อความบันเทิง และอ็อตโต เคลมเพอเรอ ก็คือหนึ่งในตัวอย่างของความเป็นเลิศนั้น

Advertisement

อย่างที่ได้บอกกล่าวไปแล้วว่า มรดกในงานบันทึกเสียงทางดนตรีของเคลมเพอเรอ ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงพวกเราในยุคปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 ในยามที่เคลมเพอเรอ ล่วงเข้าวัย 80 แล้ว มีสภาพร่างกายที่ทรุดโทรม แต่ยังสูงด้วย “กำลังภายในทางดนตรี” อีกทั้งกำลังสติปัญญาและประสบการณ์สั่งสม ในกรณีนี้เราคงต้องยกคุณงามความดีให้กับ “วอลเตอร์ เลกจ์” (Walter Legge) ผู้อำนวยการผลิตและการบันทึกเสียง (Producer) ของบริษัท อีเอ็มไอ, คลาสสิก ที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ในการมองการณ์ไกลว่าหลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไป เทคโนโลยี, เครื่องมือในการบันทึกเสียงดนตรีดีขึ้น แต่ทว่าบรมครูวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่ทางการตีความดนตรีคลาสสิกสายออสเตรีย-เยอรมันที่สูงด้วยพุทธิปัญญาความน่าเชื่อถือสองยักษ์ใหญ่อย่าง “วิลเฮล์ม เฟิร์ทเวงเลอร์” (Wilhelm Furtwangler) และ “อาร์ทูโร ทอสกานินี” (Arturo Toscanini) ได้ล่วงลับไปแล้ว มรดกการตีความทางดนตรีที่น่าเชื่อถือในชั้น “บรมครู” ห่างหายไปจากวงการ เหลือแต่เคลมเพอเรอเพียงผู้เดียวที่ยังดำรงชีวิตเหลืออยู่ นี่จึงเป็นที่มาในการนำเอาวาทยกรในช่วงปัจฉิมวัยในสภาพกึ่งพิการมาแจ้งเกิดใหม่ด้วยวัย 80 ปี

เคลมเพอเรอ เกิดในปี ค.ศ.1885 เป็นชาวเยอรมันเชื้อสายยิว อาจพอจะกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งที่เขามิได้มีความเจริญรุ่งเรืองในระดับ “แถวหน้า” ในช่วงวัยหนุ่มก็คือ เขาต้องทำงานอำนวยเพลงให้กับวงดนตรีหรือคณะอุปรากรในระดับชั้นรอง และมิได้เป็นการทำงานที่ยาวนานต่อเนื่อง เขาถูกเงาทะมึนของสองวาทยกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยอย่าง “เฟิร์ทเวงเลอร์” และ “ทอสกานินี” บดบังมาโดยตลอด ต้องลี้ภัยนาซีในช่วงสงครามโลกไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก เคลมเพอเรอป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง และในวัยกว่า 70 ปี ก็เกือบจะถูกไฟคลอกตายในขณะล้มป่วย สิ่งเหล่านี้บั่นทอนสุขภาพกายของเขาเป็นอย่างมาก แต่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าภัยคุกคามจนแทบเอาชีวิตไม่รอดนี้ ไม่อาจคุกคาม “ขุมทรัพย์ทางปัญญา” แห่งมันสมองอีกทั้งประสบการณ์ความคิดของเขาได้ เขายังคงเป็นศิลปินและนักคิดผู้มีความแหลมคมเฉียบขาดแบบที่เราอาจเรียกได้ว่า “คนโบราณ” คนโบราณที่มีความซื่อตรงต่อตนเอง และเทิดทูนต่อดนตรีและศิลปะ ปากคอเราะราย ใช้วาจาเชือดเฉือนบุคคลรอบข้างอย่างแสบสัน (หรือนี่อาจจะเป็นสาเหตุแห่งความไม่รุ่งในชีวิตวัยหนุ่ม?) อารมณ์ขันของเขาบาดลึกเป็นที่เลื่องลือ บุคลิกแบบคนโบราณที่ไม่ประจบเอาใจใคร

Advertisement

ความไม่ประจบเอาใจใครนี้สะท้อนมาถึงวิธีการตีความทางดนตรีของเขาอีกด้วย คงจะเป็นที่ยากต่อความเข้าใจของใครบางคนถ้าหากเราจะกล่าวว่า เคลมเพอเรอเป็นวาทยกรที่ไม่ใส่ใจกับ “ความงามในน้ำเสียง” ของวงออร์เคสตรา เราจะพบเรื่องบอกเล่าทางดนตรีในอดีตเสมอๆ ว่า เสียงของวงออร์เคสตราในอดีตภายใต้การอำนวยเพลงของวาทยกรแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไป (งดงามต่างๆ กันไป) แต่ทั้งจากคำบอกเล่าและหลักฐานในงานบันทึกเสียงที่ตกทอดมาถึงยุคเรา มันบ่งบอกว่า เคลมเพอเรอไม่ให้ความสำคัญกับการทำให้วงออร์เคสตราของเขาเป็นวงที่มีน้ำเสียงไพเราะงดงาม (เสมือนวาจาอันเชือดเฉือนของเขา) อ้าว เมื่อไม่ทำให้วงเสียงเพราะแล้วเราจะไปฟังดนตรีของเขาหาพระแสงอะไร? คำตอบก็คือ เคลมเพอเรอมองข้ามความงามของน้ำเสียงไปแล้ว ความงาม, ความไพเราะของน้ำเสียงวงดนตรีจึงเป็นเพียง “กระพี้” ภายนอกทางดนตรีสำหรับเขา เมื่อเราฟังดนตรีของเคลมเพอเรอ เราจึงมุ่งไปสู่ “ดนตรี” ที่เป็นเนื้อในอย่างแท้จริง

สำหรับเคลมเพอเรอแล้ว ดนตรีกับชีวิตจริงดูจะมีอะไรๆ ที่สอดคล้องกันมาก ความจริงจัง (หรือแม้แต่จะกระเดียดไปถึงเคร่งเครียด), ความหนักแน่น, การไม่มุ่งประจบประแจงเอาใจใคร, การไม่มุ่งสร้างความพึงพอใจ (อันตื้นเขิน) สิ่งเหล่านี้ สะท้อนอยู่ในกระแสเสียงทางดนตรีของเขา ราวกับจะบอกว่าเราไม่ควรจะฟังดนตรีเพียงเพื่อเสพความงดงามทางเสียงแต่เราควรมุ่งไปที่สาระแก่นแท้ภายใน เซอร์ เนวิลล์ คาร์ดุส นักวิจารณ์เน้นย้ำเสมอว่า ราวกับเป็นความจงใจของ เคลมเพอเรอที่เขาได้พยายาม ปรับเสียงของวงออร์เคสตรามาสู่เสียงทึมๆ แบบ “ภาพขาว-ดำ” จนวาทยกรร่วมสมัยผู้โด่งดังชาวอังกฤษอย่าง “เซอร์โธมัส บีชัม” (Sir Thomas Beecham) เหน็บแนม เคลมเพอเรอว่าเป็นพวก “หูบอด” (Tone Deaf) นี่คือสิ่งสะท้อนภาพศิลปินผู้มุ่งเผยแพร่หลักธรรม-ปรัชญาทางศิลปะ ที่ไม่ต้องการให้ผู้ฟังดนตรีเกิดความหลงใหลหรือติดยึดกับรูป-รสภายนอก

อารมณ์ขันอันทั้งบาดลึกและผ่าซากของเขากับนักดนตรีเพื่อนร่วมงาน เป็นประเด็นที่น่าหยิบยกมาบอกเล่าเป็นอย่างยิ่ง บุคลิกภาพของเขาไม่ใช่ “ซุปเปอร์สตาร์” ใดๆ มันเป็นบุคลิกภาพของบุรุษผู้มั่นคง, เปล่งรัศมีที่เปี่ยมด้วยความรู้และกำลังภายในทางดนตรี ที่ไม่ต้องการเอาใจใคร และในทางตรงกันข้ามก็พร้อมที่จะชี้นำหรือแม้แต่จะครอบงำผู้ที่อยู่รอบข้างด้วยซ้ำไป เซอร์เนวิลล์ คาร์ดุส กล่าวว่า สายตาของเขาเสียดแทงทะลุทะลวงไปจนถึงนักดนตรีทั่ววง เมื่อเวลาซ้อมวงสิ้นสุดแล้วนักไวโอลินคนหนึ่งกระวนกระวาย อยากเลิกซ้อมเพื่อที่จะไปเที่ยวในบ่ายวันเสาร์ แต่เคลมเพอเรอก็ไม่รู้ไม่ชี้ ในที่สุดเขาจึงส่งภาษากายด้วยการยกนาฬิกาข้อมือขึ้นมาดูบ่อยๆ สักพักหนึ่ง เคลมเพอเรอก็ไม่อินังขังขอบใดๆ ถามกลับไปแบบไม่รู้ไม่ชี้ “เป็นยังไง มันยังเดินอยู่มั้ย?” หรืออีกคราหนึ่งเมื่อ เขาต้องการให้คนตีกลองคอยนับจังหวะให้แม่นยำ เขาตะโกนเน้นย้ำว่า “นับจังหวะด้วย, นับจังหวะด้วย” นักตีกลองเบื่อกับคำจ้ำจี้จ้ำไชแบบนี้จากวาทยกร จึงตะโกนกลับไปว่า “โอ๊ย ไม่ต้องมาบอกหรอก นับมาทั้งชีวิตแล้ว” (ฮากันทั้งวง)ไม่ต้องยั้งคิด เคลมเพอเรอสวนกลับไปทันที “อ๋อเหรอ แล้วนับได้เท่าไหร่แล้วล่ะ?” (เสียงฮา น่าจะดังกว่าเดิม)

ลองไปฟังผลงานบันทึกเสียงของเคลมเพอเรอดูเถิด เราจะไม่เคยพบกับคุณลักษณะในแบบรื่นเริง, มีชีวิตชีวา หรือสนุกสนาน หรือแม้แต่น่าตื่นเต้น ในบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 (From the New World) ของ อันโตนิน ดวอชาค (Antonin Dvorak) ในท่อนที่สอง แนวทำนองคิดถึงบ้านโดยปี่คอร์อังเกลส์(Cor Anglais) อันเป็นที่ตราตรึงต่อแฟนเพลงทั่วโลกใครๆ ก็รู้ว่ามันคือ “แนวทำนองหลัก” อันไพเราะแบบจับขั้วหัวใจ แต่เคลมเพอเรอกลับมองข้ามมัน เขากลับไปให้ความสำคัญต่อส่วนเชื่อมต่อ (Transition) ที่บรรเลงโดยกลุ่มเครื่องสายที่ติดตามมา วาทยกรทั้งหลายและแฟนๆ เพลงก็รู้ว่ามันเป็นเพียงส่วนเชื่อมต่อ แต่เคลมเพอเรอกลับเน้นย้ำมันจนฉายแสงอย่างโดดเด่น มันกลายเป็นแนวทำนองแห่งความทุกข์ระทมของมวลมนุษยชาติ (ฤๅว่านี่คือแนวทำนองที่เคลมเพอเรอต้องการย้อนให้เห็นถึงความทุกข์ร้อนและการคร่ำครวญของชาวยิวจากชะตากรรมในสงครามโลกครั้งที่สองที่ตัวเขาประสบพบพานมาด้วยตนเอง) นี่คือตัวอย่างวิสัยทัศน์อันแหลมคมของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ เห็นศักยภาพอันเจิดจรัสในสิ่งที่ผู้อื่นมองไม่เห็น

อ็อตโต เคลมเพอเรอ กับดนตรีสีชืดๆ สีทึมๆ ประดุจภาพขาว-ดำ ดังที่เนวิลล์ คาร์ดุส กล่าวไว้ เชฟปรุงอาหารชั้นยอดมักไม่เติม “เครื่องชูรส” ใดๆ ลงไปในอาหารของเขา และมักจะไม่ปรุงอาหารให้เกิดรสชาติจัดจ้าน, ร้อนแรง ในทางตรงกันข้าม เขากลับมุ่งมั่นกระทำทุกวิถีทางในอันที่จะดึงรสชาติเนื้อในและธำรงคุณค่าของอาหารดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด, วัตถุดิบชั้นดีมีรสชาติ (และคุณค่าทางอาหาร) อันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมันอยู่ในตัวเอง เชฟผู้ยิ่งใหญ่จะตระหนักดีในปรัชญาความคิดนี้ เขาจึงไม่พยายามปรุงแต่งมันให้มากเกินควรจนไปทำลายรสชาติและคุณค่าดั้งเดิม นี่คือปรัชญา “การกลับคืนสู่ธรรมชาติ”, ความสงบ หรือแม้กระทั่ง “ความว่างเปล่า” อ็อตโต เคลมเพอเรอ ก็เฉกเช่นเดียวกัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image