นิวเยียร์ นิวยู ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ชวนรีเซตจิต ฉีดวัคซีนใจ ‘เสียงความห่วงใยจาก BMHH’

นิวเยียร์ เรสโซลูชั่น ที่คนส่วนใหญ่ขีดเขียนเมื่อสิ้นสุดปีเก่า ตั้งเป้าหมายตั้งใจที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ ออกเที่ยวชาร์จพลัง ทิ้งความเชื่อที่ฝังลึกจนกลายเป็นความคุ้นชินก่อนจะแปรเปลี่ยนมาเป็นนิสัย

แต่ในยุคสมัยที่ผันผวนรวดเร็วไปเสียทุกอย่าง เทคโนโลยีดิสรัปต์ โรคใหม่ๆ อุบัติขึ้นได้ทุกเมื่อ แน่นอนว่ายังมีอีกหลายชีวิตที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงนี้ ยังไม่นับการใช้ชีวิตที่ผู้คนในปัจจุบันหันมาอยู่แบบสันโดษ ยังไม่รวมปัจจัยด้านปากท้องที่ผกผันโดยตรงกับ ‘แรงใจ’ อันมีวันถดถอย

2.5 ล้านคนที่เข้ารับการรักษา เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ

2 เท่าในรอบ 6 ปี ตามที่กระทรวงสาธารณสุขคอนเฟิร์ม ไม่ได้เป็นเพียงแค่ยอดผู้ป่วยจิตเวชในปี 2565 ที่พุ่งสูงขึ้นแบบยกกำลัง แต่ยังเป็นจุดโหว่เล็กๆ ที่ค่อยๆ เปลี่ยนบรรยากาศของสังคม กระทบต่อการใช้ชีวิต ประสิทธิภาพการทำงานลด ลามลงไปถึงความสัมพันธ์ และปิดจบด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วยทางร่างกาย เพราะใจสัมพันธ์กับกายอย่างเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุดหากรักษาไม่ทันอาจนำมาซึ่งจุดจบอันน่าสลด

Advertisement

“เราไม่มีกรมเด็ก กรมหัวใจ กรมมะเร็ง แต่มีกรมสุขภาพจิต ชัดเจนว่าปัญหาความเจ็บป่วยทางใจสูงขึ้นถึงขั้นที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดตั้งกรมขึ้นมา ถ้าลองค้นกูเกิลจะเห็นว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) มีเซ็กชั่นโรคทางจิตเวชโดยเฉพาะ เพราะเขาประมาณได้ว่าความเจ็บป่วยด้านจิตเวชของประชากรโลกสูงขึ้นชัดเจน แต่ด้วยกระบวนการรักษาที่ดีขึ้น จึงควบคุมได้”

เสียงความห่วงใยของ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ (BMHH) นั่งเปิดใจใต้ชายคาสถานรักษาโรคทางใจ ในเครือโรงพยาบาลเวชธานี ย่านซอยติวานนท์ 39 ที่เพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่นาน แต่มาตรฐานเทียบเท่าสถานพยาบาลใจชั้นนำระดับโลก สะท้อนให้เห็นว่า การรับมือกับโรคทางใจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในสังคม สำคัญไม่แพ้ระบบสาธารณสุขที่ดี

ชวนคนไทยหันมาเช็กสภาพจิต โฟกัสวิธีที่จะช่วยฮีลใจ ฮีลความรู้สึกหนักหน่วงหลังพ้นช่วงปีที่ผ่านมา

Advertisement

• ปัจจุบันสถิติการเสียชีวิตจากโรคจิตเวชในไทย เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน?

สมัยก่อนมนุษย์เรามีปัญหาเจ็บป่วยรุนแรงจากโรคติดเชื้อทั้งหลาย ปัจจุบันนี้เบาลงไปเยอะ กลายเป็นกลุ่มที่เรียกว่า NCD หรือโรคไม่ติดต่อที่สูงขึ้น ทั้งเบาหวาน ความดัน หัวใจ สโตรก เส้นเลือดสมองตีบตันแตก โดยโรคจิตเวชก็เป็นกลุ่มหนึ่งใน NCD ประเด็นคือ WHO เห็นแล้วว่า ภาวะของสังคมโลกเปลี่ยนไปจากผลกระทบสงคราม เศรษฐกิจ ทำให้ความเป็นอยู่ตึงเครียดขึ้นเนื่องจากภูมิต้านทานลดลง

ทางโรคติดเชื้อ จะมีภูมิต้านทานได้โดยการฉีดวัคซีน แต่ในด้านจิตเวชเราต้องมี ‘ภูมิต้านทานทางใจ’ ปัญหาใหญ่คือไม่มีวัคซีนให้ฉีด เมื่อภูมิต้านทานทางใจของมนุษย์เราลดลง ส่งผลให้เจ็บป่วยทางจิตเวชสูงขึ้น

• กลุ่มไหนที่เจอมากสุดในเวลานี้?

กลุ่มที่เราเจอมากสุดในปัจจุบันเป็นกลุ่ม ‘ภาวะวิตกกังวล’ สังคมโลกทำให้มนุษย์เราวิตกกังวลสูงขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนอยู่ที่บ้าน อยู่ยังไงก็ได้ เลี้ยงลูกเป็น 10 คน ไม่มีกินก็หาหยิบหากินได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่เลย ลูกคนเดียวยังเลี้ยงยากด้วยซ้ำไป ค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะส่งไปเรียน มันเลยกลายเป็นความเครียดที่สูงมาก กลุ่มที่เจอเยอะอันดับ 2 คือ ‘โรคซึมเศร้า’ เป็นปัญหาใหญ่เพราะถึงขั้นตายได้ ถัดมาคือ ‘ไบโพลาร์’ มีอาการแปรปรวน

ต้องบอกว่าภายใต้โรคจิตเวชมีอยู่ประมาณ 12 กลุ่มโรค ยกตัวอย่างที่พบบ่อย ไล่เรียงมาตั้งแต่กลุ่มที่ 1 ‘โรคทางด้านสมอง’ มีอาการทางจิตและด้านพฤติกรรมอารมณ์ กลุ่มที่เจอมากสุดเช่น ‘โรคสมองเสื่อม’ ซึ่งสมองยังแยกออกเป็น ‘กลุ่มยาเสพติด’ ที่ใหญ่มาก และขณะนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ตั้งมินิธัญญารักษ์ ทุกจังหวัด ขอชื่นชมว่าเป็นรัฐมนตรีที่เก่ง ทำเรื่องนี้แล้วใช่เลย รับรองเลยว่าจะมีชื่อติดไว้ในประวัติศาสตร์การเป็นรัฐมนตรี

กลุ่มที่ 2 คือ โรคจิต แต่มีเพียง 1% เท่านั้น ที่ใหญ่สุดในกลุ่มนี้คือ ‘จิตเภท’ ที่มักเข้าใจผิด ความจริงมีเพียงนิดเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีโรคจิตอื่นๆ อีกคือ ‘พารานอยด์’ มีความรู้สึกว่าใครจะคิดไม่ดีกับตัวเอง หวาดระแวงว่าภรรยาไปมีชู้ ว่าสามีไปมีหญิงอื่น แต่บางคนรุนแรงเพราะเชื่ออย่างจริงจัง ทั้งที่ความจริงไม่มีอะไรเลยสักนิดแต่คิดไปเอง เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ ในสังคมตอนนี้เยอะขึ้นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยามีปัญหาเยอะ บางคนสามีดี แต่ผู้หญิงมีปัญหาทางจิตใจ สุดท้ายมีปัญหาในครอบครัว ถัดมาคือ กลุ่มโรคจิตที่มีอาการทางอารมณ์ด้วย ซึมเศร้าหนักๆ แล้วเริ่มระแวง คือกลุ่มที่ 2

กลุ่มที่ 3 คือ โรคทางอารมณ์ มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ‘ไบโพลาร์และซึมเศร้า’ ปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ ไบโพลาร์จะมีอาการทั้ง 2 ด้านเลย ด้านหนึ่งคือซึมเศร้า บางช่วงจะมีอาการ ‘แมเนีย’ คือ พูดเก่ง มีความสุข ใช้จ่ายเงิน เข้าหาคน คุยสนุกสนานเลย บางช่วงก็แยกตัว ซึม

ถัดมากลุ่มที่ 4 โรคทางด้านวิตกกังวล ที่มากสุดตอนนี้ มีตั้งแต่กังวลทั่วไป ผมเคยเจอบางคนกังวลได้ทุกเรื่องเลย พูดกี่ทีแล้วก็ยังวนกลับมาอยู่ดี กังวลลูกไปถึงโรงเรียนไหม มีปัญหาไหม จะตกงานไหม คิดใหญ่ไปเรื่อยเปื่อยจนคนที่อยู่รอบข้างรำคาญมาก อะไรจะกังวลไปทุกเรื่องขนาดนี้ เจ้าตัวรู้นะ แต่เขาอดไม่ได้ มันเป็นปัญหาทางด้านจิตใจ แล้วก็มีแพนิก ย้ำคิดย้ำทำ มีกระทั่งกลัววัว หมาแมว คนใกล้ชิดผมกลัวแมลงสาบมาก คือเป็นโรควิตกกังวล

ถัดไปคือกลุ่มที่ 5 โรคเข้าทรง โรคจิตเวชมีประเภทเข้าทรงแต่ไม่ได้หลอกคน เช่น ตอนเช้ากับกลางคืน บุคลิกสามารถแปรเปลี่ยนจากเดิมไปเป็นอีกคนหนึ่ง เป็นโรคจิตที่มี 2 ใบ

กลุ่มที่ 6 โรคโซมาไทเซชั่น มาด้วยความรู้สึกที่ว่าจะต้องเป็นโรคอะไรสักอย่าง จะต้องไปหาหมอให้ตรวจ เดี๋ยวใจสั่น ตรวจคลื่นหัวใจแล้วผลปกติ หาว่าหมอตรวจไม่ละเอียด เอคโค่เสร็จไม่เจออะไร มีความกังวลสูงว่าจะเป็นโรค ก็จะย้ำอยู่อย่างนั้น ส่วนอีก 4 กลุ่มที่เหลือ คือโรคเด็ก เช่น ออทิสติก สมาธิสั้น ซึ่งปัจจุบันนี้โรคสมาธิสั้นสูงมาก เพราะเด็กติดเกม เจอเยอะขึ้นเรื่อยๆ

 

• เรียกว่าไม่ใช่แค่เทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป แต่เทรนด์โรคก็เปลี่ยนไปทุกวัน จะแซงหน้าโรคยอดฮิตหรือไม่?

ความวิตกกังวลนำไปสู่ปัญหา อย่าง ‘แพนิก’ สมัยก่อนผมเจอไม่เยอะเลย แต่ปัจจุบันนี้เยอะมาก สัปดาห์ก่อนเจอเกือบ 10 ราย มาด้วยอาการแพนิก เช่น ขับรถอยู่ดีๆ แล้วใจสั่น วิงเวียนศีรษะ ชาปลายมือปลายเท้า บางทีจับพวงมาลัยแล้วเกร็ง ต้องหยุดรถข้างทาง พยายามหา รพ. แต่ตรวจแล้วไม่เจออะไร ซึ่งทุกคนยืนยันว่าไม่ได้มีความเครียด อยู่เฉยๆ ก็เป็นขึ้นมา มีหลายอาการพร้อมๆ กัน บางคนขึ้นเครื่องบินไม่ได้เลย เขาจะรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ ต้องขอให้กัปตันเอาเครื่องบินลง ซีเรียสนะ ผมเจอบ่อยสำหรับคนที่เกิดแพนิกรุนแรง

• อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ?

ไม่มี เป็นปัญหาทางด้านจิตเวชจากความเครียดสะสม แล้วเกิดอาการแพนิกขึ้นมาฉับพลัน บางคนก็มาด้วยอาการ ‘ย้ำคิดย้ำทำ’ คือคิดย้ำอยู่นั่น พูดซ้ำๆ ‘เอ๊ะ เสร็จหรือยัง’ ‘ประตูปิดหรือยัง’ เช็กแล้วเดินออกจากบ้านแล้วก็กลับมาหมุนอีกทีล็อกจริงหรือเปล่า? หรือออกจากบ้าน แล้วกลับมาดูอีก ย้ำคิดว่ามันปิดไม่สนิท เอ๊ะไฟปิดหรือเปล่า? กลับมาดูอีก เริ่มเยอะขึ้นๆ บางคนก็เรื่องความสะอาด มีหมอคนนึงย้ำทำเพิ่งตรวจคนไข้โรคเอดส์ กลัวมากว่าจะเอาเชื้อไปติดที่บ้านก็ล้างมืออยู่นั่น 9 ครั้งก็ไม่พอ ต้องล้างให้ครบ 10 มันจะมีลักษณะที่ว่า ต้องทำเป็นตัวเลขประจำ เช่นว่า ล้างมือต้อง 10 ครั้ง ถึงรู้สึกว่าสะอาด 11 ครั้งคือเกินตัวเลขที่ตั้งไว้ต้องล้างใหม่ แปลกไหม คือบางคนจริงจังมีความคิดที่วิจิตร ทำน้อยไปก็ไม่ได้ มากไปก็ไม่ได้ คนไข้บางคนเป็นผู้มีชื่อเสียง เดินผ่านศาลพระภูมิไม่ได้เลย เขาจะกลัวมาก ต้องพยายามเลี่ยง

• หรือเพราะมีปมอะไรกับสิ่งนั้นๆ เกี่ยวข้องไหม?

ไม่ใช่สิ่งนั้น แต่มีปมในใจ ต้องมีวิธีทำงานผ่านกลไกทางจิต เวลาคนที่มีความตึงเครียด จะสะสมความเครียดเข้าไปเรื่อยๆ แล้วมนุษย์เราจะทำงานโดยใช้ EGO Function ซึ่งอยู่ระหว่าง Super EGO (คุณธรรม) กับ ID (สัญชาตญาณดิบ)ซึ่งบางคนออกมาชัดมาก ก้าวร้าวด่าทอ เพราะ EGO Function ไม่ดี มากกว่านั้น Super EGO หรือคุณธรรมไม่มีเลย คือหมายความว่าคนเราเวลาเครียดสะสม อีโก้ฟังก์ชั่นทำงาน ความเครียดจะออกมาอย่างดิบๆ ไม่ได้ แล้วข้างบน Super EGO ก็สั่งว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องล็อกประตูดูให้ละเอียดเดี๋ยวไฟไหม้ อีโก้มันก็เลยต้องพยายามประสาน

• คิดว่าโซเชียลหรือเทคโนโลยีในปัจจุบันมีส่วนทำให้คนเกิดความกังวลมากขึ้นไหม?

ผมว่ามีส่วน เอาตรงๆ ตั้งแต่โควิดแค่ช่วงเดียว ทำคนกังวลมากว่าจะติด บางคนพกแอลกอฮอล์ 3 ขวด ขวดนี้ต้องใช้ส่วนนี้ แต่บางคนไม่เห็นกังวลเลย ไม่ใส่แมสก์ด้วยซ้ำไป นี่คือความกังวลที่ไม่เท่ากัน ในสังคมจะเห็นชัด

• คนที่มีทุกอย่างเพียบพร้อม ครอบครัวอบอุ่นก็มีโอกาสป่วยทางจิตได้?

โรคจิตเวช ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความอบอุ่น ไม่ได้พูดถึงฐานะ ไม่ได้พูดเรื่องการศึกษา อย่างโรคสมองเสื่อม ครอบครัวอบอุ่นก็เป็นได้ ถ้าเกิดที่บ้านเขามีกรรมพันธุ์ที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม บางทีอบอุ่นมากเกินไปก็มีปัญหา เช่น รักลูกมากไป (over protect) ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหา เหมือนกับถ้วยเบญจรงค์ สวยงามและมีราคาแพง แต่ถ้าตกพื้นก็แตก ดังนั้นควรจะเลี้ยงลูกให้เป็นโถเหล็ก หล่นยังแค่บิดเบี้ยว แต่โถที่ดีที่สุดคือ โถพลาสติก (ยิ้ม)

ปัญหาเรื่องความเจ็บป่วยสำคัญที่สุดมี 3 ปัจจัย สาเหตุในปัจจุบันเราจับได้หลักใหญ่คือ Bio-Psycho-Social (ชีวะ จิต สังคม) ซึ่ง Bio เป็นเรื่องทางชีววิทยา เป็นเรื่องของเคมีทางสมองและเนื้อสมองด้วย เช่น บางคนเกิดอุบัติเหตุ เนื้อสมองเสียทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน หลังถูกรถชนสมองกระทบกระเทือน พูดรู้เรื่อง ทำงานได้ แต่คุมอารมณ์ไม่ได้ โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าที่คุมเรื่องพฤติกรรม ถ้ามันเสีย ส่วนอื่นดี ยังคำนวณ วาดภาพ ทำงานได้หมด พูดคุยปกติ แต่สมองส่วนหน้าเกี่ยวข้องกับสันดาน มันไม่สนใจ ไม่มีคำว่า Super Ego เพราะว่ารวนแล้ว

ต่อไปคือเรื่องของสารเคมี อย่าง ‘สมองเสื่อม’ เกี่ยวข้องกับสารเคมีบางอย่างในสมองที่มีมากเกินไปเลยทำให้เซลล์ตาย สมองจึงเสื่อมเร็ว ซึ่งก็ต้องมาดูต่อว่าอะไรในปัจจุบันที่ทำให้เซลล์ตายง่าย ปัจจุบันนี้เรารู้แล้วว่าวิธีป้องกันไม่ให้สมองเสื่อมไม่ใช่อาหารเสริม ท่องไว้เลยสิ่งที่จะป้องกันมี 3 ป. ที่ทุกคนรู้จักดี 1.กินอาหารที่มีประโยชน์ ลงลึกขึ้นคือกินอาหารที่มีแอนตี้ออกซิแดนต์ จะช่วยยืดอายุสมอง 2.ออกกำลังกายเป็นประจำ ง่ายจะตายแต่ปัญหาคือรู้แต่ไม่ทำ พอแนะนำก็บอกไม่มีเวลา งานเยอะ 3.ปรับอารมณ์ เมื่อเครียดสมองจะเริ่มตาย เครียดทีเดียวเซลล์สมองตายเป็นหมื่นเป็นแสนเซลล์เลยนะ เอากลับคืนไม่ง่าย ดังนั้นอารมณ์สำคัญ เมื่อไหร่ที่เฉาต้องพยายามทำให้อารมณ์โพซิทีฟ เป็นบวกให้ได้

• หลังผ่านเรื่องร้าย หนักหน่วง มีวิธีฮีลใจตัวเอง จัดการอารมณ์อย่างไรให้จบแค่วันนั้น?

Mirror Therapy เลย อยู่กับตัวเองที่หน้ากระจก คุยให้กำลังใจตัวเอง ‘วันนี้ฉันจะสวยที่สุด ฉันจะมีความสุขที่สุด ฉันจะประสบความสำเร็จ วันนี้ฉันทำดีที่สุดแล้ว’ บางคนทำศัลยกรรมครั้งที่ 4 แล้ว 2 ข้างยังไม่เท่ากัน กลายเป็นเครียดเลย นั่งจ้องหน้าตัวเองทั้งวัน แก้ไปแก้มาสุดท้ายพัง นี่คือจิตเวช กลุ่มโรค Body dysmorphic disorder จะรู้สึกตัวเองยังไม่สวย ยังไม่ดีพอ ไม่สมดุล วิตกกังวลว่าหน้าตาไม่ดี เพราะ Self Esteem ต่ำ

• ‘นอนไม่หลับ’ ถือเป็นปัญหาทางจิตเวชด้วย มีวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้นอนหลับได้เร็วไหม?

ปัญหานอนไม่หลับก็เป็นปัญหาโรคจิตเวชเหมือนกัน ต้องปรึกษาจิตแพทย์ ผมมีวิธีที่ง่ายที่สุดเลย คือตกเย็นมาออกกำลังกายให้เหนื่อยที่สุด หลับแน่นอนไม่ต้องพึ่งยา แต่ถ้าเป็นโรคอย่างซึมเศร้า ต้องกินยา

• เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าตัวเองหรือคนรอบบข้างเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า มีวิธีสังเกตอย่างไร?

วิธีการสังเกตมี 3 ข้อง่ายมาก 1.เจ้าตัวรู้ตัวสึกว่า ตัวเองไม่สบายใจจนจะต้องไปหาหมอ อารมณ์แปรปรวนจนทนไม่ไหว อันนี้ชัดที่สุด 2.ถึงขั้นทำร้ายผู้อื่นหรือทำร้ายตัวเอง 3.มีลักษณะของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจนมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือกระทบหน้าที่การงาน แค่ข้อใดข้อหนึ่งก็เข้าข่ายแล้ว

เมื่อมาหาหมอก็จะเริ่มซักประวัติคนไข้ว่าอาการเข้าข่ายกลุ่มไหนใน 12 กลุ่ม แล้วก็จะไล่เรียงไปว่าเป็นโรคอะไรในกลุ่มนี้ คิดต่อว่าจะใช้วิธีไหน เพราะทั้ง 12 กลุ่มโรคนี้รักษาไม่เหมือนกันเลย

• เจาะไปที่ซึมเศร้ากับไบโพลาร์ ต้องรักษาอย่างไร?

พูดถึงสาเหตุของโรคมาจาก ‘Bio-Psycho-Social’ วิธีรักษาก็ต้องใช้แนวทาง ‘Bio-Psycho-Social’ เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าคนไข้อยู่กลุ่มไหน ถ้า Bio 80% อย่างโรคสมองเสื่อม รักษาด้วยการคุยไม่ได้ ต้องใช้ยาไม่น้อย ถ้าทางด้านยาเสพติดกลุ่มนี้ใช้ยา 80-90% เพื่อให้ถอนยา อีกราว 20% ใช้วิธีคุย ถัดมาโรคจิต ใช้ยาเกือบเต็ม 100% เพราะถ้าจิตแพทย์พูดคุยให้หายบ้าอาจจะบ้าพอๆ กัน (หัวเราะ) ซึ่งการรักษาจะหายช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้ด้วย

อีกสาเหตุหนึ่ง นอกจากสมองเสื่อมและสารเคมีในสมองผิดปกติ ยังเกี่ยวข้องกับ ‘กรรมพันธุ์’ ด้วย อย่างโรคซึมเศร้าก็ใช่ แต่ไบโพลาร์สูงกว่า ยกตัวอย่างเคสที่ผมเคยเจอ ในบ้านเป็นถึง 4 คน แม่เป็นโรคซึมเศร้าเฉยๆ แต่พ่อเป็นไบโพลาร์ ลูกก็เป็นไบโพลาร์หมด ถ้าเป็นโรคกลางๆ อย่าง ‘วิตกกังวล’ ก็ใช้ยาน้อยหน่อย แต่คุยเยอะเพื่อช่วยลดปมในใจ ลดความตึงเครียด มีวิธีการแก้เครียดให้ดีขึ้น ใช้วิธีที่เหมาะสม เพราะกลไกทางจิตเป็นเรื่องใหญ่มาก บางคนเครียดมาก ก็หันเหความเครียดไปเป็นเรื่องอาการทางกาย จะไปหาหมอท่าเดียวเปลี่ยนเรื่องไปเลย แต่มันต้องแก้ให้ถูกจุด

• อย่างตัวผู้ก่อเหตุ เช่น กราดยิง หรือคนที่ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาทางใจไหม?

นั่นคือ PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) เป็นหัวข้อใหญ่มาก ซึ่งผมเป็นคนดูแลผู้ลี้ภัยที่มาอยู่เมืองไทย มีตั้งแต่อิรัก อิหร่าน เทียนอันเหมิน พม่าที่เผาทั้งหมู่บ้าน ศรีลังกา เขมร บางคนมีปัญหาทางจิตใจผมก็เป็นคนดูแล มีทั้งคุยและให้ยา เคสรายหนึ่งที่ผมดูแล เขาอยู่ศรีลังกา คิดดูสามีเห็นภรรยาของเขาถูกข่มขืนและฆ่าต่อหน้า ตัวเขาเองก็คาดว่าจะต้องถูกตีหัวจนตาย แต่พอดีสลบไปเสียก่อนแล้วทหารคิดว่าตาย ก็เลยรอดมาได้ เมื่อรอดก็กลายเป็นปมในชีวิต ฝันร้าย เราก็ต้องค่อยๆ ช่วยคลายปม

• ป่วยทางใจมีวิธีป้องกันไหม?

ภาวะทางจิตใจ เราต้องเรียนรู้พัฒนาการ เรียนรู้ความเป็นไปในแต่ละช่วงชีวิตว่ามีปัญหาอะไร เราจะได้เข้าใจว่าอะไรคือเรื่องปกติ ถ้าเมื่อไหร่ที่หลุดจากนี้คือผิดปกติ ผมเรียกว่า 8 Ages of Man หรือ ‘8 ช่วงชีวิต’ เรื่องนี้คุยได้เป็นตอนเลย ไล่ไปเลยว่าเด็กตั้งแต่ 1 ขวบแรกจะต้องทำอะไร 1 ขวบครึ่ง – 2 ขวบ ต้องเทรนเรื่องอะไร พอ ม.ต้น ต้องเรียนรู้อะไร ตอนที่เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนจะต้องทำอะไร ถ้าไม่ปกติจะเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่นช่วงสำคัญ ต้องเกิดออโตโนมี่ รู้ว่าตัวเองอยากจะทำอะไรแล้ว มีความชัดเจน มีเป้าหมายแล้ว แต่ถ้าไม่มีจะเป็นวัยรุ่นที่สับสน เที่ยวเล่น

พอผ่านช่วงวัยรุ่น เรียนจบมหาวิทยาลัยจะทำอะไรต่อ ทำงานแล้วต่อไปก็คือการแต่งงาน เมื่อไม่นานนี้ ครม.ก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมแล้ว แต่งงานข้ามเพศได้ แต่ถ้าไม่แต่งก็ อยู่แบบโดดเดี่ยว ช่วงต่อไปคือมีลูก มีทรัพย์สินมีอะไรมั่นคง ถ้ามีเงินก็แย่เลย จากนั้นก็เข้าสู่ชีวิตสุดท้ายคือ ‘วัยชรา’ รู้สึกมองย้อนกลับไปในชีวิต เราทำดีมีความสุขแล้ว ลูกก็ดี ประสบความสำเร็จ อยู่กับสามี-ภรรยา เที่ยวด้วยกันตลอดก็จะเกิดความชัดเจนมั่นคง แต่บางคนชีวิตที่ผ่านมาล้มเหลว คู่ชีวิตทะเลาะ แยกทาง ลูกผลาญสมบัติ ตัวเองไม่มีอะไรเหลือ เป็นซึมเศร้า

8 ช่วงชีวิตเป็นเรื่องของไซโคโลจิคอล อีกด้านก็มีอีโก้ฟังก์ชั่น มาเกี่ยวข้องด้วย

• ผ่านปีใหม่มาแล้ว แต่หลายคนอาจจะมีภาวะเครียดสะสม เราควรรีเฟรชตัวเองอย่างไรให้พร้อมเริ่มต้นสู้ชีวิตใหม่?

ผมใช้คำว่า 7 Activity ในการรีเซตตัวเองช่วงปีใหม่ คือ

1.Joyful พยายามทำให้ตัวเองมีความสนุกสนานกับเทศกาล เป็นการรีเซตอย่างหนึ่งจากที่เราทำงานทั้งปี ซ้ำๆ ซากๆ รถติด ทำงานเช้าจนเย็น แล้วกลับบ้านทำงานบ้านซ้ำๆ เราต้องรีเซตตัวเองให้จอยเข้าไว้ สนุกสนานไปกับเทศกาล

2.Start your New Year with Your New life ที่ผ่านมาให้ผ่านไป ทิ้งสิ่งที่ไม่ดีไว้กับปีเก่า แล้วตั้งต้นการเดินทางครั้งใหม่ในปีต่อไป เขียนลิสต์ว่าปีหน้าเราจะทำอะไร ให้มีเป้าหมายชีวิตใหม่ๆ ไม่ใช่นั่งตอกย้ำของเก่าว่าทะเลาะกับคนนั้นคนนี้ คนอื่นเขาเลิกหมดแล้วเรายังนั่งคิด ต้องเลิก

3.Make Friends for your New Year ซึ่งเพื่อนเรามีอยู่แล้ว แต่บางคนอยู่ตรงนั้นไม่ได้ เพราะเพื่อนเปลี่ยนไปตามช่วงวัยของชีวิต สมัยก่อนเป็นเพื่อนนักเรียน เพื่อนมหา’ลัย พอทำงานก็ต้องเซตเพื่อนทำงาน เพื่อนเก่าก็ยังคบกันไป ปีใหม่พบเจอเพื่อนใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ยิ่งต้องเมกเฟรนด์ให้เป็น Younger ผมแนะนำให้อยู่เป็นเพื่อนกับเด็กๆ ให้มาก นึกภาพคนแก่เจอกัน ผมไม่ชอบเลยนะ รักษาโดยจับคนแก่มานั่งคุยด้วยกัน คุยแต่เรื่องตาย (หัวเราะ) ต้องไปทำกิจกรรมกับเด็ก จะทำให้รู้สึกเลยว่าชีวิตเขาสดใสมีความหมายมากขึ้น

4.Globalization สมัยก่อนไม่จำเป็น เราอยู่ในอำเภอไม่ได้ยุ่งกับใคร แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ไปท่องเที่ยวดูโลกบ้าง อยู่กับโลกภายนอกเยอะๆ เด็กอายุ 20 กว่า ทำงานแค่ 2-3 เดือนเขาก็ไปเที่ยวต่างประเทศแล้ว ผมแนะนำตามเทรนด์ให้เป็น

5.Health ฝากไว้เลยว่าต้องพยายามดูแลสุขภาพตัวเอง เป็น 1 ใน 7 แอคทิวิตี้ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะแต่ละปีผ่านไปร่างกายเราทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ถ้าร่างกายไม่ดีส่งผลต่อสุขภาพใจอย่างชัดเจน อย่าตั้งเป้าแค่เรื่องเงิน เพราะถึง Money มีมากแค่ไหน แต่ถ้า Health มีปัญหาเงินก็ซื้อไม่ได้ ต้องคิดถึงการออกกำลังให้สภาพร่างกายตัวเองเข้มแข็ง ป้องกัน ดูแลพฤติกรรม การกิน การนอน

6.Lifelong learning ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ใครที่ติดอยู่ที่เดิม ปีใหม่นี้ต้องพยายามเรียนรู้ เรื่อง IT ที่เข้ามาก็ต้องตาม ลองเล่น ไม่อย่างนั้นชีวิตไม่ทันคนอื่น ย่ำอยู่กับที่ อยู่กับปีเก่าๆ เหมือน 20 ปีที่แล้ว ต้องดูยูทูบ เรียนรู้เพื่อให้อยู่ในโลกนี้ต่อไปได้

7.Reset Mental Health สุขภาพใจต้องรีเซต ปีที่ผ่านมาใจเราเป็นอย่างไร หาอะไรมาบำรุงใจของเราให้เบิกบาน ทำใจให้มีความสุข แบ่งปันความสุขให้คนอื่นบ้าง ลดซึ่งความเห็นแก่ตัว ง่ายที่สุดคือการเอาของไปแจก แบ่งปันของเล็กๆ น้อยๆ ให้กับคนยากไร้ ตามที่เราพอให้ได้ หรือถ้าไม่มีเงินก็ไปทำจิตกุศล อ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง ไปช่วยโบกรถ เก็บขยะตามชายหาดก็ได้

รีเซตสักหน่อย ผมว่าประเทศไทยหนักมาก เพราะเห็นแก่ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน

อธิษฐาน จันทร์กลม, สุภัทตรา น้อยสอาด – เรื่อง
ภิญโญ ปานมีศรี – ภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image