‘ยังไม่ตัดสินใจ แต่ไม่ทิ้ง (การเมือง) แน่’ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับมุมมอง ‘นิรโทษกรรม’ และ ‘หนี้’ ในนามคนเสื้อแดง

‘ยังไม่ตัดสินใจ แต่ไม่ทิ้ง (การเมือง) แน่’ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับมุมมอง ‘นิรโทษกรรม’ และ ‘หนี้’ ในนามคนเสื้อแดง

“นึกถึงอยู่ตลอด”

คือคำตอบของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ต่อคำถามของใครคนหนึ่งขณะเยี่ยมชมนิทรรศการรำลึกคนเสื้อแดง ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

‘คนเสื้อแดง’ คำเรียกอย่างลำลองของกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับแต่พุทธศักราช 2553 สืบมา

Advertisement

อดีตแกนนำเสื้อแดงที่ผันตัวทำธุรกิจร้านอาหาร ‘เยี่ยมใต้’ และเครื่องดื่มชูกำลัง กวาดสายตาอ่านข้อความพาดหัวหน้า 1 หนังสือพิมพ์หลากหลายฉบับ หวนคืนความทรงจำผ่านภาพถ่ายที่ถูกกดชัตเตอร์บันทึกไว้ตลอดกาล

2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์สามัญชน ร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ร่วมจัดงานเสวนาส่งท้ายนิทรรศการดังกล่าว ในหัวข้อ ‘คนเสื้อแดง ภาพวาดปีศาจร้ายการเมืองไทย’

บอกเล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมองของการต่อสู้ทางการเมือง ย้อนบทเรียนการถูกปราบปราม โดยมี อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ‘ไอลอว์’ ในฐานะผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน จับไมค์ดำเนินรายการโดยไม่ลืมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อผลักดันร่างกฎหมาย ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ ที่คิกออฟไปแคมเปญไปแล้วเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยิวยาวจรด14 กุมภาฯ วาเลนไทน์ ก่อนยื่นส่งสภา

Advertisement

และนี่คือบทสรุปเนื้อหาการสนทนาดังกล่าวโดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน และ อมธ. ที่ ณัฐวุฒิ ‘น้ำตาคลอ’ ในบางช่วงบางตอน

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำนปช. และ อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ในเสวนา ‘คนเสื้อแดง ภาพวาดปีศาจร้ายการเมืองไทย’ ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

‘ผมขอยกมือไหว้ขอบคุณนักศึกษา’

นิทรรศการภาพนิ่งที่ ‘เคลื่อนไหว’ ในความทรงจำ

ณัฐวุฒิ เริ่มต้นถ้อยคำ ‘ขอบคุณ’ และชื่นชมคณะผู้จัดทำที่เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวและรำลึกถึงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเพื่อให้คนในยุคปัจจุบันได้เห็น หรือนำมาศึกษาต่อ

“ผมขอยกมือไหว้ขอบคุณน้องๆ นักศึกษา และคณะผู้จัดงานที่กรุณานึกถึงคนเสื้อแดงและการต่อสู้ของพวกเรา หยิบจับมาขับเน้นให้ผู้คนรุ่นปัจจุบันได้แลเห็น พูดคุย หรือกระทั่งถูกอภิปรายด้วยความเห็นด้วย หรือเห็นต่างกันก็ตาม

คนเสื้อแดงไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่ และมีที่ทางอย่างชัดเจนในบรรทัดประวัติศาสตร์ของไทย แต่อาจไม่ได้เป็นที่พึงประสงค์ หรือาจไม่ใช่ความสุขของคนบางกลุ่ม อำนาจบางอำนาจก็ตาม”

อดีตแกนนำเสื้อแดง กล่าวด้วยว่า ระหว่างชมนิทรรศการที่แสดงเป็นภาพนิ่ง แต่สำหรับตนเห็นว่ามันเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีเสียง และอารมณ์ความรู้สึกที่วิ่งเข้ามาปะทะในความทรงจำ โดยเฉพาะวัตถุจัดแสดงชิ้นที่รู้สึกสะเทือนใจที่สุดคือ ภาพเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะคืนวันนั้นเป็นวันที่หนักหนาที่สุดในชีวิตที่เขาไม่มีวันลืมทุกวินาที เป็นวันที่มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 20 ราย จากการใช้กำลังของรัฐในการใช้อาวุธสงครามปราบปรามประชาชนมือเปล่า

โดยคืนวันนั้น ประจำการอยู่ที่แยกราชประสงค์ จากนั้น ไปยังเวทีผ่านฟ้าอยู่กับพี่น้องประชาชนจนเช้าตรู่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้กำลังเข้าปราบ หลังจากนั้นมีการปิดล้อม ประชาชนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ตนเป็นแกนนำเจรจากับรัฐบาลเพื่อให้ยุติความรุนแรง รวมถึงปลอบประโลมญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย บรรยากาศขณะเป็นไปอย่างโกลาหล ระงมไปด้วยเสียงร่ำไห้และคราบน้ำตาของประชาชนที่เปียกเสื้อของตน

“เสื้อที่เปียกน้ำตาประชาชนวันนั้นมันหนาว อย่างที่ผมเคยพูดว่าในวิถีการต่อสู้ของคนเสื้อแดง เราผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แต่สำหรับผม ไม่มีหนาวอะไรเท่าหนาวน้ำตาประชาชน หนาวเหน็บจริงๆ”

เสื้อแดง ‘คนแปลกหน้า’ ในประวัติศาสตร์ไทย สู่ปีศาจร้ายทางการเมือง

ย้อนไปถึงนิยาม ‘คนเสื้อแแดง’ ณัฐวุฒิให้คำจำกัดความว่า คือ คนไทยธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตสุจริตโดยปกติของตัวเองท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและการเมืองภายหลังกติการัฐธรรมนูญปี 2540

คนจำนวนไม่น้อยในขณะนั้นที่รู้สึกผูกพันกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ จำนวนหนึ่งเป็นคนที่อาจจะไม่ได้รู้สึกผูกพันกับนโยบายหรือพรรคการเมืองใด แต่เห็นความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมือง เห็นการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ก่อเกิดคำว่า ‘สองมาตรฐาน’

อีกส่วนหนึ่งคือ คนที่มีจุดตัดในคืนวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก่อนหน้านั้นอาจไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก หรือบางคนก็เคยชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรตอนไล่รัฐบาลไทยรักไทย แต่เมื่อเกิดรัฐประหารคนเหล่านี้ไม่ได้ข้ามเส้น ต่อมาก็ได้รวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งปรากฏครั้งแรกที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี ในเวที ‘ความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 1’ จำนวนพัน-หมื่นกว่าคนที่ใช้สัญลักษณ์เสื้อแดงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ก่อนหน้านี้ เคยมีการเคลื่อนไหวโดยใช้สีเสื้อแดงมาก่อนแล้วนั่นคือตอนที่ไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากเท่ากับครั้งดังกล่าว

ณัฐวุฒิมองว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คนเสื้อแดงเหมือน ‘คนแปลกหน้า’ เพราะไม่เคยมีมวลชนใดที่มีรูปลักษณ์และวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบคนเสื้อแดงมาก่อนตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ส่วนใหญ่คนเสื้อแดงที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นคนเมืองที่แม้ว่าอาจมีถิ่นกำเนิดมาจากชนบทก็ตาม แต่พวกเขาเป็นประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เป็นนิสิต นักศึกษาซึ่งแตกต่างจากกลุ่มเคลื่อนไหวนิสิต นักศึกษา สมัยเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เป็นการรวมกลุ่มของสหายชาวนาและกรรมกร

คนเสื้อแดงคือ การไหลบ่าของคนระดับรากฐานของสังคมที่เข้ามาส่งเสียงใจกลางมหานคร เพื่อฉีกหน้ากากใครก็ตามที่ถูกวางสถานะสำคัญของประเทศ แสร้งว่าเชื่อมั่นในประชาธิปไตย สังคมไทยไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน อีกทั้งวิถีการต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็ไม่ได้ยึดกับขนบใดๆ

ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีเสียงดนตรีหมอลำ ลูกทุ่ง เต้นได้ทุกจังหวะทุกสถานที่ ในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ คนเสื้อแดงก็นึ่ง
ข้าวเหนียว ตำส้มตำ ซักผ้า ด้วยภาพลักษณ์เช่นนี้ จึงทำให้ถูกตั้งคำถามและกล่าวหาว่าเป็นพวกที่ไม่เข้าใจการเมือง พวกถูกล้างสมอง, ม็อบไร้การศึกษา และอีกสารพัดวาทกรรมที่วางไว้ให้กับคนเสื้อแดง เพื่อทำให้พลังของเสื้อแดงไร้ค่า แม้กระทั่งชีวิต

ณัฐวุฒิ ย้ำด้วยว่า ในความสูญเสียจากการต่อสู้ทางการเมืองในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการยอมรับว่ารัฐทำผิดจริงและนิรโทษกรรมตนเองเพื่อให้พ้นผิด ทว่าร้อยชีวิตของคนเสื้อแดง กลับไม่มี

“14 ตุลา 6 ตุลา หรือแม้กระทั่งพฤษภา 35 เราจะเห็นว่าหลังการสูญเสีย มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ แต่ 100 ชีวิตของคนเสื้อแดง ไม่มีครับ ไม่มี”

เหลือง-แดง ขัดแย้งจบ แต่การต่อสู้ยังไม่จบ!

หนุน #นิรโทษกรรมประชาชน

สำหรับการนิรโทษกรรมประชาชนคดีทางการเมือง ณัฐวุฒิ เห็นด้วยเต็มที่ โดยมองว่าจะเป็นการปลดพันธนาการความผิดที่รัฐยัดใส่ประชาชน เพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารซึ่งควรจะได้รับการยอมรับจากรัฐว่าไม่ใช่การกระทำผิด หากแต่เป็นสิทธิโดยชอบ การนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นการช่วยเหลือคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะนักโทษทางการเมือง

การนิรโทษกรรมประชาชนคดีทางการเมืองไม่ได้มีเจตนาที่ทำร้ายหรือทำลายสิ่งใด หากแต่เป็นการยื่นอ้อมกอดความเมตตาให้กับเด็กและเยาวชนที่บางคนก็ถูกคดีทางการเมืองกันจำนวนไม่น้อยกว่า 20 -30 คดี ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับตนที่ทุกวันนี้ก็ยังต่อสู้คดีการเมืองปี 2551-52 อยู่เลย หากปล่อยให้สังคมเป็นเช่นนี้ต่อไป คนหนุ่มสาวเหล่านี้อาจต้องขึ้นโรงขึ้นศาลจนถึงวัยเกษียณ

เมื่อถามว่า ความขัดแย้งสีเสื้อในขณะนี้ จบแล้วหรือไม่ ? ได้คำตอบว่า แม้ความขัดแย้งสีเสื้อระหว่างเหลืองกับแดงจะจบลงแล้ว แต่การต่อสู้ยังไม่จบ ยังคงมีการขับเคี่ยวระหว่างอนุรักษนิยมและเสรีนิยม

จากกอดคอ สู่ ‘แตกคอ’

เลือกแบบไหนก็อย่าทิ้งศักดิ์ศรี ‘นักสู้’

ในตอนท้าย ณัฐวุฒิ ส่งความคิดถึงและความห่วงใยถึงคนเสื้อแดงที่เคยร่วมทางผ่านช่วงเวลาทั้งดีและร้าย

“นานเหลือเกินแล้วที่เราเรียกตัวเองว่าคนเสื้อแดง และเชื่อว่าจำนวนมากไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยน

นานเหลือเกินแล้วที่เราผ่านทุกข์-สุข ผ่านช่วงเวลาโหดร้าย ผ่านช่วงเวลาที่มีความสุข สนุกสนานมาด้วยกัน

ถึงวันนี้สถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปมาก เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งแม้แต่ตัวเรายังอาจไม่รู้จักหรือเข้าใจตัวเอง

แม้แต่พี่น้องที่เคยต่อสู้ด้วยกัน วันนี้ก็อาจจะกลายเป็นเหมือนคนไม่รู้จักกัน

แม้แต่คนที่เคยกอดคอ ฝ่าดงกระสุนแล้วรอดชีวิตมาจนปัจจุบัน ก็กลายเป็นแตกคอ ไม่สามารถร่วมวงสนทนาทางการเมือง หรือกระทั่งการต่อสู้กันได้อีก

ถ้าใครก็ตามเดินมาถึงจุดนั้น ผมเคารพเสรีภาพของทุกคน แต่อยากให้เก็บเอาความเป็นคนเสื้อแดง เก็บเอาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความเป็นนักสู้ประชาชนไว้กับตัว ท่านจะตัดสินใจอย่างไร จะเลือกวิถีทางการเมืองแบบไหน เป็นสิทธิ แต่อย่าทอดทิ้งหลงลืมวิถีที่เดินกันมา”

ณัฐวุฒิ เปิดใจว่า ไม่มีสักวันที่ลืมความเป็นคนเสื้อแดง ตนตั้งชื่อลูกชายว่า ‘นปก’ (นปก. อักษรย่อของ แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ชื่อเดิมของ นปช.) ตั้งชื่อลูกสาวว่า ‘ชาดอาภรณ์’ (แปลว่า เสื้อแดง) เพราะต้องการบอกตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าการต่อสู้นี้คือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต

“ไม่มีทางที่ผมจะหักหลังมัน ไม่มีทางที่ผมจะทรยศต่อ นปก หรือชาดอาภรณ์ ไม่มีทางที่ผมจะละเลยต่อความเจ็บปวด ของ นปก หรือคนเสื้อแดง บางคนถามว่า จะไม่กลับมาการเมืองแล้วหรือ ทิ้งกันไปแล้วหรือ ไม่ร่วมขบวนการต่อสู้แล้วหรือ กลับมาการเมืองหรือไม่ ขอเรียนตรงๆว่า ยังไม่ได้คิด ยังไม่ตัดสินใจ แต่ไม่ทิ้งแน่ ไม่เคยลืมการต่อสู้”

ณัฐวุฒิ ทิ้งท้ายว่า ตนเห็นการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุคนี้ มองว่ามีเรื่อง ‘น่าเป็นห่วง’ อยู่บ้าง แต่ไม่เคยไม่ให้กำลังใจ ไม่เคยแสดงความคิดเห็น ถ้าไม่ถูกถาม

“ผมเคารพในวิถีของการเป็นนักต่อสู้ ไม่ใช่ว่าเกิดก่อน สู้มาก่อน อายุมากกว่าแล้วจะเสนอหน้าไปชี้นำใครได้ ไปแนะซ้าย แนะขวาใครเขาทั่ว ไม่ใช่!

นักต่อสู้เมื่อมาอยู่ในสนาม เขาเอาหนึ่งชีวิต หนึ่งอิสรภาพ หนึ่งหัวใจมาเดิมพันไว้เสมอ

ถ้าวันหนึ่งดอกผลของการต่อสู้ของคนเสื้อแดง มันพอที่จะมีชิ้นเนื้ออันเป็นประโยชน์กับการต่อสู้ของคนในยุคนี้ ผมมั่นใจว่าคนเสื้อแดงพร้อมและยินดีที่จะนำเสนอสิ่งนั้นต่อทุกคน

ถ้ามีอะไรที่จะเป็นความผิดพลาด เป็นความเสียหาย ไม่ดีงาม ที่เกิดขึ้นระหว่างการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ผมขอรับเอาไว้และ

ขอให้เป็นบทเรียนจากคนที่พลาดมาก่อน”

หลังจบเสวนา ณัฐวุฒิ ผูกโบสีขาวที่รถกระบะ le truck (รักเธอ)

ร่วมจรดปากกาลงนามรณรงค์ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image