ส่งรักถึงสภา 35,905 รายชื่อ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ ถ้ารัฐจริงใจก็ง่ายนิดเดียว?

ส่งรักถึงสภา 35,905 รายชื่อ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ ถ้ารัฐจริงใจก็ง่ายนิดเดียว?

ส่งรักถึงสภา 35,905 รายชื่อ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’
ถ้ารัฐจริงใจก็ง่ายนิดเดียว?

ยื่นแล้วเรียบร้อยด้วยยอด 35,905 รายชื่อประชาชนไทยที่ร่วมลงนามหนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน

กาปฏิทิน ‘วาเลนไทน์’ ด้วยความตั้งใจ ดังเช่นปากคำของ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่เผยว่า อยากส่งความรักให้กับคนทุกคนอย่างเท่ากัน จึงตั้งใจเลือกวันวาเลนไทน์ เป็นสัญลักษณ์

“ตั้งใจเลือกวันแห่งความรัก เพราะมันมีคนเกลียดชังกันในทางการเมือง มันทำให้คนโกรธ เกลียดกัน ทำร้ายกัน บางครั้งในอดีตและในต่างประเทศก็ฆ่ากัน ซึ่งเราไม่อยากให้ถึงอย่างนั้น ก็คิดว่า เราไม่ต้องเห็นด้วยทางการเมืองเหมือนกันหรอก เรามีวิธีอยู่ร่วมกันคือ รัฐสภา มีการเลือกตั้ง ใครคิดอย่างไรก็พูดออกมา เราไม่ต้องดำเนินคดีกัน

Advertisement
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผอ.ไอลอว์

วิจารณ์กันได้ เห็นต่างก็ใส่กันด้วยคำพูดเท่านั้น ที่เคยดำเนินคดีกันมาก่อน ก็เลิกไหม ไม่ได้จะต้องการให้เราสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ต้องคิดเหมือนกัน แต่ยังเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์ที่เรายังพอรักเขาได้บ้าง ในฐานะมนุษย์ คือจุดประสงค์ของการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เสนอยกเลิกคดีทางการเมือง ก็คือเรื่องความรักนี่แหละ” ยิ่งชีพสรุป

ลานประชาชน รัฐสภา เกียกกาย กรุงเทพฯ คึกคักด้วยผู้คนที่เดินทางเข้าร่วมกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร ในกิจกรรม ‘ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน’ ในขณะเดียวกัน ยังมีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมล่ารายชื่อเข้ามาเสริม โดยมีการนับแบบเรียลไทม์ อาทิ พีมูฟ 69 รายชื่อ, ธรรมศาสตร์ รังสิต 224 ชื่อ, ศิลปากร 100 รายชื่อ, อักษรศาสตร์ จุฬาฯ 328 รายชื่อ และ ม.ขอนแก่น 45 รายชื่อ เป็นต้น โดยตัวแทน ส.ส.จากพรรคการเมือง ร่วมรับฟังการนับยอด

กระทั่งส่งมอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน พร้อมแนบรายชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว ให้กับประธานรัฐสภาและหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค หลังรณรงค์เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ถึงเทศกาลแห่งความรัก

Advertisement

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส่งหมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นตัวแทนเปิดงาน โดยเดินเท้าจากอาคารรัฐสภาที่ภายในกำลังถกเข้ม

“พลังของภาคประชาชนในการเสนอกฎหมาย ที่ผ่านมาเราอาจจะรู้สึกว่าทำเป็นสัญลักษณ์ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่อยากจะบอกว่า เมื่อกฎหมายของภาคประชาชนได้รับการรับรอง ประกบกับร่างของ ส.ส.วาระที่ 1 ก็จะทำให้มีตัวแทนจากภาคประชาชน เข้าไปประชุมในวาระที่ 2 ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ดังเช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

อยากบอกนักเคลื่อนไหว และทุกท่านที่เคลื่อนไหวอยู่ว่า เราช่วยกันสร้างบทสนทนาที่สันติภาพให้ได้ ไม่ว่าเราจะขัดแย้งกันอย่างไร ผมสื่อสารถึงทุกฝ่าย ไม่ว่าเราจะเห็นต่างกัน แต่เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ถือใบอนุญาตฆ่ากลางเมืองได้” หมออ๋องกล่าวในตอนหนึ่ง

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนเวทีเสวนา
โปสการ์ดและงานศิลปะแสดงความในใจ วาดหวังให้ปล่อยเพื่อนเรา

ในงานนี้ ไม่ได้มีแค่การเคาต์ดาวน์นับยอด หากแต่ยังมีเวทีเสวนาถึงปัญหาและผลกระทบจากการดำเนินคดีการเมือง โดย รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิฆเนศ ประวัง ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงเพื่อนของ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ ‘เก็ท’ กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ผู้ต้องหา ม.112

ถ้ารัฐจริงใจก็ง่ายนิดเดียว! แนะประกาศให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมือง

พิฆเนศ ประวัง ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมาแทน คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ หัวหน้าฝ่ายคดีศูนย์ทนายสิทธิฯ ที่ติดภารกิจในการเป็นทนายความยื่นประกันตัว ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, แฟรงค์ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือสายน้ำ ซึ่งเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

พิฆเนศให้ข้อมูลว่า คดีความผู้ต้องหาทางการเมือง นับตั้งแต่วันที่ศูนย์ทนายฯ ก่อตั้ง คดีที่ยังคงเหลืออยู่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีมาตรา 112 รวมกว่า 1,000 คดี โดยอัตรากำลังศูนย์ทนายฯ มีเพียงแค่ 8-9 คน และทนายอาสา 30-40 คน ที่กำลังช่วยดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ในช่วงเวลาอันสั้น หากรัฐหรือผู้มีอำนาจ อยากแสดงความจริงใจว่าต้องการนิรโทษกรรมประชาชน อยากจะให้ทุกคน ทุกฝ่ายได้หลุดพ้นออกไปจากโทษทางการเมือง ที่เราแบกรับกันอยู่ในขณะนี้ ง่ายนิดเดียว คือ ให้ประกาศว่าจะมีการให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ยังอยู่ข้างในเรือนจำ แล้วมาพูดคุยกัน เดินหน้าไปด้วยกัน

“ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมควรกลับไปหาหลักเรื่องสิทธิประกันตัว การสันนิษฐานว่าเขาบริสุทธิ์อยู่ จนกว่าจะถึงศาลฎีกา หรือสูงสุด หรือคดีของเขาถึงที่สุด ตัดสินว่าเขาผิด” พิฆเนศกล่าว

บรรยากาศเรียกร้องภาคส่วนต่างๆ ให้ร่วมหนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ทวงคืนความยุติธรรม

เคลียร์ประวัติ ลบตราบาป ใต้วาทะ ‘ภัยความมั่นคง’

ด้าน รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรารู้กันอยู่ว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนฉบับนี้ รวบรวมคดีหลากหลาย ตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมา ตั้งแต่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีของคนเสื้อแดงปี 2553 การเผา ม.112 ม.116 หลายคนอาจะพ้นโทษไปแล้ว การคุมขังยุติลงแล้ว ถามว่าเขาหมดปัญหา หลังพ้นจากการถูกจองจำหรือยัง?

“การคุมขังคนที่เป็นคนที่รักในครอบครัว ก็เหมือนคุมขังคนอื่นๆ ไปด้วย ถูกจองจำอยู่กับปัญหา กับความทุกข์นี้ สำหรับนักโทษที่สิ้นสุดอายุความแล้ว เขาจะมีประวัติติดตัว ไม่สามารถทำงานราชการได้แน่ๆ บางครั้งบริษัท ห้างร้านจำนวนมาก จะถามว่า คุณเคยติดคุกมาก่อนหรือต้องโทษคดีอาญามาก่อนหรือไม่ ซึ่งรวมทั้ง ม.112 ม.116 ภัยความมั่นคงต่างๆ แม้แต่งานเป็นไรเดอร์ส่งอาหารก็ทำไม่ได้ เขามีความยากลำบากอย่างมากในการหางานทำ เคยเจอนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝันอยากเป็นอาจารย์ แต่เป็นไม่ได้ เพราะถูกตัดสิน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อปี 2553 ซึ่งมีคนโดนเป็นพันคน จะตัดสินภายในวันเดียว ตำรวจส่งฟ้องทันที

มีตราบาปติดอยู่ในประวัติ คนเหล่านี้เราต้องเคลียร์ประวัติให้เขาด้วย เขาทำอะไรร้ายแรง เขย่าความมั่นคงของรัฐหรือไม่ ความจริงรัฐ ใช้อาวุธ ปราบปรามผู้คนอย่างอยู่หมัด ในปี 2553 รวมถึงคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง” รศ.ดร.พวงทองกล่าว

รศ.ดร.พวงทองกล่าวต่อไปว่า คนเหล่านี้ต้องการให้ล้างประวัติเหล่านี้ออกไปด้วย เพราะการทำธุรกรรม ทำธุรกิจ กู้ยืมเงินธนาคารไม่สามารถทำได้ จะย้ายไปต่างประเทศก็ไปไม่ได้ ทำไม พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ไม่ผ่านสักที เพราะมี ม.112 อยู่ ซึ่งในทรรศนะเราไม่ได้ร้ายแรง หรือทำร้ายร่างกายใคร แต่ในทรรศนะของผู้มีอำนาจ กลับกลายเป็นคดีที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับพวกเขา มันเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ประนีประนอมไม่ได้ เพราะหากยอมรับ คือยอมรับให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีพื้นที่แสดงออก

เมื่อถามว่า หากมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะส่งผลดีได้อย่างไรบ้าง?

รศ.ดร.พวงทองตอบว่า เวลาเราพูดถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คนที่ได้ประโยชน์มีเยอะมาก ถ้ากระบวนการยุติธรรมเอาผิดกับคนเหล่านั้นได้ ก็ดำเนินคดีไป แต่กระบวนการมีปัญหาใหญ่ตั้งคำถามเสมอ อย่างการตัดสินใน 1 วัน หรือการเผาศาลากลางจังหวัด เจ้าหน้าที่ และคนเสื้อแดง ที่ยืนยันว่าเข้าไปดับไฟ แต่ความเห็นนี้ไม่มีน้ำหนัก เพราะมีอคติหรือไม่ หลักฐานจำนวนมากที่รับไว้ เป็นภาพถ่ายที่กำกวมมาก จึงเป็นเหตุผลที่ต้องนิรโทษกรรมประชาชน เพราะเราไม่เชื่อในกระบวนการ นี่คือเหตุผลสำคัญในการเรียกร้อง

เตือนความจำ คนเดือนตุลาฯในรัฐบาล อย่าทำประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

อีกประเด็นที่ รศ.ดร.พวงทองเน้นย้ำคือบรรยากาศที่ชวนหวาดหวั่นในความรุนแรงจากความเห็นต่าง

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมลงชื่อสดๆ ในงาน
สแตนดี้ผู้ต้องขังทางการเมือง ก่อนถูกรุมแปะสติ๊กเกอร์หัวใจ

“ช่วงนี้ในโซเชียลมีเดีย พูดถึง 6 ตุลาคม 2519 กันมาก มีความรู้สึกว่า จะเข้าสู่ 6 ตุลาฯ สิ่งหนึ่งที่เห็นคือบรรยากาศความกลัวที่เกิดขึ้น เรากำลังเดินหน้าไปสู่ภาวะ อึมครึม มืด และคงใช้ความรุนแรงมากขึ้นทุกทีหรือไม่”

อาจารย์รัฐศาสตร์ยังกล่าวถึงข้อความจากทวิตเตอร์ หรือเอ็กซ์ ของบุคคลบางรายซึ่งระบุว่า ขณะนี้เราอยู่ในยุครัฐบาลประชาธิปไตย ไม่เกิด 6 ตุลาฯหรอก มีแต่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งชี้นำ

“คำพูดในลักษณะนี้ คือการปรักปรำ ว่าฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรม เป็นพวกสุดโต่งใช่ไหม หรือพูดง่ายๆ คือพรรคก้าวไกลใช่ไหม ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของเยาวชน อยากให้เกิด 6 ตุลาฯ เพื่อสร้างพื้นที่ให้ตัวเอง คิดอย่างนี้ใช่หรือไม่ นี่คือการปรักปรำ

การพูดในลักษณะนี้ดำเนินมาสักพักแล้ว เราคงไม่เกิด 6 ตุลาในระยะอันใกล้ แต่เป็นการปูทางไปสู่การปราบปรามประชาชน พวกคุณนั่นแหละที่พยายามสร้างนิยายสมคบคิดขึ้น ปูทางให้กับการจับกุมคุมขังคน”

จากนั้น รศ.ดร.พวงทอง ย้อนอดีตกรณี 6 ตุลาฯ 19 ว่าบุคคลที่ถูกโจมตีใส่ร้าย คือ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้นที่อยู่ในภาวะอันตราย จึงตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศเร่งด่วน ในวันที่ 6 ตุลาคม แต่ก็มีบุคคลไปทำร้ายที่สนามบิน ดังนั้น อยากเตือนคนเดือนตุลาฯในรัฐบาลว่าอย่าลืมประวัติศาสตร์ของตัวเอง

“อย่าลืมประวัติศาสตร์ของพวกท่านเอง ในปี 2519 พวกท่านเป็นแกนนำในขบวนการนักศึกษา เมื่อเกิด 6 ตุลาฯ พวกท่านหนีเข้าป่า จับอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะถูกกล่าวหาจากฝ่ายขวาจัด ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ …ถ้าไม่มีการตัดสินใจ หรือนโยบายอนุญาตให้คนที่เข้าป่า กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ลบประวัติว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นพวกคอมมิวนิสต์

 

ถ้าไม่มีการประนีประนอม พวกคุณก็จะไม่มีอนาคตทางการเมืองอย่างเช่นทุกวันนี้ คุณอาจต้องจับอาวุธปืน ต่อสู้กับรัฐต่อไป ถ้าไม่มีการประนีประนอมทางการเมืองไทย ในทศวรรษ 30 ก็จะสูญเสียบุคลากรที่มีค่าจำนวนมาก ทำไมไม่เป็นแบบอย่าง คืนอิสรภาพในคนรุ่นหลังบ้าง

พวกคุณก็เคยเป็นเยาวชน ที่มีความหวัง ความฝัน ทำให้สังคมไทยดีขึ้น เยาวชนที่ติดคุกอยู่ขณะนี้ ก็เป็นเหมือนพวกคุณ พวกคุณเคยได้ประโยชน์มาแล้ว ในการประนีประนอมทางการเมือง” รศ.ดร.พวงทองฝากไว้ให้คิด ก่อนทิ้งท้ายว่า

อยากเห็นคนรุ่นใหม่ มีเสรีภาพอีกครั้ง

ทีมข่าวเฉพาะกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image