แท็งก์ความคิด : อยากเที่ยว‘อโยธยา’

อยากเที่ยว‘อโยธยา’

ตั้งแต่ต้นปีใหม่จนมาถึงขณะนี้ หลายคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของสำนักพิมพ์มติชนคงได้ทราบว่ามีหนังสือใหม่ๆ ออกมาเพียบ

ช่วงต้นปีสำนักพิมพ์มติชนทำเซอร์ไพรส์ด้วยการทำอีบุ๊กแจกฟรี

หนังสือบันทึกประเทศไทย 2566 ความหนา 600 หน้า เปิดให้อัพโหลดฟรีตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม-9 กุมภาพันธ์

Advertisement

มีผู้ตอบรับเข้าไปโหลดจำนวนมาก

ขณะที่หนังสือเล่มใหม่ๆ น่าอ่านเริ่มทยอยออกมานำเสนอเรื่อยๆ

ในจำนวนนี้หนังสือเกี่ยวกับอยุธยาออกใหม่ และถือเป็นเล่มฮิต หนีไม่พ้น “อโยธยาก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา”

Advertisement

เขียนโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คำนำเสนอโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ช่วงบทนำ ได้แยกแยะหัวข้อให้ศึกษาอย่างช้าๆ เพื่อความละเอียด

เริ่มจากหัวข้อย่อย “การศึกษากรุงอโยธยาที่ผ่านมา” ตามมาด้วย “ปัญหาเรื่องกรอบความคิดทางประวัติศาสตร์โบราณคดี”

แล้วก็มาถึงหัวข้อ “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก” ซึ่งน่าสนใจ

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อ “พระอู่ทองพระพักตร์แบบหน้าเหลี่ยมเกิดขึ้นพร้อมกับพระอู่ทองพระพักตร์แบบหน้าเรียว” ซึ่งทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของอโยธยาได้ดีมากขึ้น

จากบทนำเข้าสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับ “ผังเมืองอโยธยา”

บทนี้บอกอาณาเขตที่คาดว่าเป็นผังเมืองอโยธยา เช่น ข้อสันนิษฐานคูเมืองทิศต่างๆ ซึ่งขุดก่อน พ.ศ.1893 ซึ่งเป็นปีกำเนิดกรุงศรีอยุธยาคงจำกันได้

ช่วงที่ 3 มีเรื่องเกี่ยวกับวัดวาอารามในช่วงอโยธยาให้อ่าน ในหัวข้อใหญ่ “หลักฐานโบราณวัตถุสถานฝั่งอโยธยา”

โดยมีหัวข้อย่อยเกี่ยวกับวัดวาอาราม ทั้ง “วัดสมณโกฏฐาราม คือ พระมหาธาตุหลัก กรุงอโยธยา” “วัดใหญ่ชัยมงคล เจดีย์หลักพระนคร” “วัดอโยธยา ตำแหน่งวังเดิมของกรุงอโยธยา”

แล้วยังมี “ตำนานสร้างวัดพนัญเชิง ร่องรอยความทรงจำเมืองอโยธยา” “วัดกุฎีดาว วัดกษัตริย์กรุงอโยธยา” รวมไปถึงกลุ่มประติมากรรมรุ่นพุทธศตวรรษที่ 17-18 ที่พบในเขตกรุงศรีอยุธยา

ช่วงที่ 4 กล่าวถึง “สังคมกรุงอโยธยา” ผู้เขียนได้สรรหาความเป็นมนุษย์ในสมัยนั้น

สืบเสาะหาหลักฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนอโยธยา

ซึมซาบ “ช่วงสมัยของการกำเนิดกรุงอโยธยา” “การขัดแย้งของมหายานกับเถรวาท” “กษัตริย์อโยธยาสถาปนาพระองค์ขึ้นดั่งพระเป็นเจ้า”

ที่น่าสนใจคือหลักฐานเกี่ยวกับการปกครอง

มีทั้ง “การแบ่งระบบทหารและพลเรือนมีมาก่อน พ.ศ.1893” “ระบบศักดินามีมาแต่ครั้งกรุงอโยธยา”

รวมไปถึง “การแบ่งคดี” “ระบบไพร่-ทาส” และ “บทลงโทษ”

หลังจากอ่านจบช่วงนี้ก็จะเข้าสู่ช่วงสรุป แล้วท้ายสุดมีบรรณานุกรมสำหรับผู้ต้องการค้นคว้าต่อไป

และเพื่อเป็นการฉายหนังตัวอย่าง ขอคัดบางช่วงที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ความรู้ไว้ในคำนำเสนอ

โฟกัสที่หัวข้อย่อย “กรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” มาเป็นตัวอย่างบางข้อบางประการ

เหตุที่กรุงสุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย เป็นเพราะไม่พบหลักฐานวิชาการสนับสนุนว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย

และเชื่อว่าการชูสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกมีเหตุผลทางการเมืองชาตินิยม

ขณะเดียวกัน มีหลักฐานที่นักวิชาการแสวงหาพบว่าอโยธยาเป็นเมืองเก่าก่อนจะมีอยุธยา

อโยธยาถูกโรคระบาดรุนแรงสมัยเมื่อราว 700 ปีมาแล้ว ทำให้อโยธยาต้องย้ายไปอยู่ที่ใหม่

และที่ใหม่ก็คือที่ตั้งอยุธยาปัจจุบัน

ความสนุกของหนังสือเล่มนี้ มีมากมายที่สร้างความน่าทึ่ง

อโยธยา มีชื่อเต็มๆ คือ อโยธยาศรีรามเทพ พอย้ายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า อยุธยา มีชื่อเต็มว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา

ความน่าสนใจของอโยธยา คือ หลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี จำนวนมากสนับสนุนว่าอโยธยามาก่อนสุโขทัย

แต่หากจะให้เล่าถึงรายละเอียดของเนื้อหาในเล่ม ต้องสารภาพว่าทำได้ยาก เพราะเนื้อหาอัดแน่นมาก

เนื้อหาและภาพถ่ายเป็นเสน่ห์ของเล่มที่ผู้เขียนมีความพากเพียรก่อให้เกิด

ความหลากหลายที่นำเสนอ ทำให้เดาใจผู้อ่านไม่ได้ว่าต้องการโฟกัสเนื้อหา และดูที่ภาพไหน

สารภาพตรงๆ ว่า ต้องไปดูกันเองตามความสนใจ

สำหรับคนที่สนใจความเป็นมาของบรรพบุรุษ หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่น่าอ่าน

หลังจากได้อ่าน เชื่อว่าแต่ละคนจะมีไอเดียและความเห็นแตกต่างกัน

แต่เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนน่าจะมีความเหมือนกันหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้

นั่นคืออยากไปเที่ยวอยุธยาอีกรอบ

แต่รอบนี้นอกจากแวะอยุธยาแล้ว ยังต้องเสาะหาพื้นที่ที่เคยเป็นเมืองอโยธยาตามที่ปรากฏในหนังสือด้วย

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image