อาศรมมิวสิก : เยาวชนไทย-เยอรมัน เชื่อมฝีมือดนตรี

เยาวชนไทย-เยอรมัน เชื่อมฝีมือดนตรี

โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข มีความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนงานการศึกษาดนตรีกับโรงเรียนดนตรีเบลเวอเดีย (Belvedere) ที่เมืองไวมาร์ (Weimar) ประเทศเยอรมนี ได้แลกเปลี่ยนครูดนตรี นักเรียนดนตรีกันมาหลายครั้งแล้ว สำหรับครั้งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากได้ผ่านการพิสูจน์เรื่องความจริงใจ ความตั้งใจ อุดมการณ์ที่แน่วแน่ ความศรัทธาในการพัฒนาการศึกษาดนตรี ฝีมือกับประสบการณ์ในการทำงาน และความเชื่อมั่นในสิ่งที่เกิดประโยชน์จากการเรียนรู้ของเยาวชนดนตรี โรงเรียนดนตรีเยอรมันให้การยอมรับในคุณภาพและความน่าเชื่อถือของฝ่ายไทย จึงได้ยกวงออร์เคสตราเยาวชน 50 ชีวิต มาแสดงที่เมืองไทย 3 ครั้ง โดยจัดแสดงที่กรุงเทพฯ และที่ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 3-9 เมษายน พ.ศ.2567

ฝ่ายไทยนั้นได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ โดยมีมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้พัฒนาเด็กที่เรียนดนตรีให้มีศักยภาพและมีฝีมือดนตรี โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีได้เปิดหลักสูตรดนตรีสอนในระดับมัธยมศึกษา มีนักเรียนที่มีฝีมือดนตรีสูง ที่สำคัญโรงเรียนมีหอแสดงดนตรีที่ดี และโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวอาเซียนวิทยา จังหวัดภูเก็ต เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ มีวงดนตรีของโรงเรียนที่แข็งแรงและยังมีหอแสดงดนตรีที่ทันสมัย ได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวให้การสนับสนุนพื้นที่แสดง ให้ใช้ลานด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ที่ติดกับถนนกระบี่ ซึ่งเทศบาลเมืองภูเก็ตได้จัดให้เป็นถนนคนเดินที่มีความคึกคัก เป็นพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง

เมื่อโลกเปิดกว้างและสะดวกมากขึ้น อาศัยเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดน คนรุ่นใหม่สามารถสื่อสารใช้ภาษา ใช้เทคโนโลยีใหม่ ติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญก็คือ ใช้คุณภาพและศักยภาพด้านดนตรีของเยาวชนดนตรีทั้ง 2 ประเทศ ให้สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ด้านฝีมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นมิติของการเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ เพราะการที่เยาวชนดนตรีจะได้เล่นดนตรีในวงเดียวกัน เล่นเพลงเดียวกันได้นั้น ต้องฝึกฝนฝีมือให้ใกล้เคียงกัน ไม่มีใครเป็นตัวถ่วงหรือขัดหูความไพเราะของเพลง ทุกคนสามารถที่จะสร้างความสุขในการเล่นดนตรีร่วมกัน

Advertisement

เยาวชนไทยรุ่นใหม่ที่เรียนดนตรี มีศักยภาพและคุณภาพในการเล่นดนตรีคลาสสิกสูงขึ้น โดยเฉพาะนักดนตรีประเภทเครื่องสาย ดังนั้นในการเล่นดนตรีร่วมวงซิมโฟนีออร์เคสตราเดียวกัน ทำให้เด็กได้ประสบการณ์สูงมากขึ้น หากเยาวชนไทยมีความประสงค์ที่จะไปศึกษาต่อวิชาดนตรีในประเทศเยอรมนีหรือในประเทศแถบยุโรปก็จะสามารถเข้าใจคุณภาพและเป้าหมายในการเรียนดนตรีโดยเฉพาะการเตรียมตัว การสร้างความมั่นใจ พัฒนาด้วยความมุ่งมั่น และบ่มเพาะความกล้าหาญให้พอ การสร้างความพร้อมและตั้งหน้าตั้งตาฝึกซ้อมดนตรีให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถเข้าใจกระบวนการศึกษาดนตรีได้มากขึ้น

การเล่นดนตรีและการเรียนดนตรี โดยเล่นรวมวงดนตรีของเด็กเยาวชน ช่วยขจัดและลดอัตตา (Ego) ซึ่งจะเกิดขึ้นกับศิลปินทุกสาขา ความมีตัวตน ความสำคัญในตน การยึดมั่นถือมั่นตนว่าเก่งกว่าคนอื่น การอวดตัวว่าเก่ง การยึดถือตัวกูของกู การเอาชนะผู้อื่น ล้วนเป็นอัตตาพื้นฐานของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้นการแสดงดนตรีรวมวงในครั้งนี้ คือการลดความเก่งให้รู้จักยอมรับผู้อื่น และรู้จักยกย่องฝีมือของคนอื่นด้วย

วงซิมโฟนีออร์เคสตราของโรงเรียนดนตรีเบลเวอเดียจากเมืองไวมาร์ เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2567 เข้าที่พักแล้วก็จะเดินทางไปซ้อมที่หอแสดงของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีร่วมกับนักดนตรีของโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์และนักดนตรีของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

Advertisement

รายการแสดง 5 เพลงแรกเป็นการแสดงของวงซิมโฟนีออร์เคสตราของโรงเรียนดนตรีเบลเวอเดีย ซึ่งมีนักดนตรี 50 คน อีก 3 เพลงสุดท้ายเป็นการเล่นร่วมกัน โดยมีนักดนตรี 80 คน การแสดงวันเสาร์ที่ 6 เมษายน ในเวลา 16.00 น. ค่าบัตรผ่านประตูเข้าชม 600 บาท เพื่อสนับสนุนโครงการดนตรีของโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

มีรายการเดียวแสดงเหมือนกันทั้ง 3 วัน แต่ต่างพื้นที่และมีกลุ่มผู้ชมคนละกลุ่มเป้าหมายกัน มีเพลงทีเด็ด คือเพลงลาคูดูวอ (La Gudua) เพลงรองเง็งของภาคใต้ เรียบเรียงโดย ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล เป็นงานทดลองทั้งผู้เรียบเรียงและตัวเพลง ซึ่ง ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล เป็นผู้ควบคุมวงและเป็นนักเรียบเรียงเพลงรุ่นใหม่

การแสดงครั้งที่ 2 วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ.2567 เวลา 18.00 น. ที่ลานพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ถนนกระบี่ กลางเมืองภูเก็ต เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชมฟรี ไปก่อนได้ที่นั่งก่อน พื้นที่สามารถจุผู้ชมได้ 300 ที่นั่ง การแสดงกลางแปลงครั้งนี้ วงซิมโฟนีออร์เคสตราโรงเรียนดนตรีเบลเวอเดียไม่มีประสบการณ์มาก่อน ส่วนมากนักดนตรีเครื่องสายจะกลัวการเล่นกลางแจ้งมาก เพราะเครื่องสาย (ไวโอลิน วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส) ทำด้วยไม้ มีราคาแพง เมืองไทยไม่มีช่างซ่อม เมื่ออยู่กับอุณหภูมิร้อนหรืออุณหภูมิไม่คงที่ จะทำให้ไม้ขยายตัวและหดตัวไม่เท่ากัน ทำให้เสียงที่ออกมาเปลี่ยนไป

การแสดงของวงซิมโฟนีออร์เคสตราในวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้ขอเชิญ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ศิลปินวาดภาพระดับนานาชาติ ซึ่งเดินทางไปวาดภาพระหว่างดนตรีแสดง เพื่อสร้างสีสันและบรรยากาศที่ดี เป็นการต้อนรับ “เบียนนาเล่ภูเก็ต” ปลายปีหน้า พ.ศ.2568 โดยเปิดประมูลภาพให้เศรษฐีภูเก็ตได้ชื่นชมและสัมผัสงานศิลปะก่อนที่จะมีงานใหญ่ระดับนานาชาติ เพื่อมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว โรงเรียนภูเก็ตไทยหัวอาเซียนวิทยา วงขับร้องประสานเสียงปล่อยแก่ภูเก็ต และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

ชาติเจริญด้วยการพัฒนาเยาวชน พัฒนาการศึกษา พัฒนาฝีมือ สังคมไทยได้ทดลองผู้นำรูปแบบต่างๆ มาหลากหลาย ผู้นำทุกรูปแบบต่างก็เชื่อว่าจะนำพาพัฒนาประเทศและสร้างชาติให้เจริญได้ ตั้งแต่ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ผู้นำเผด็จการ ผู้นำนักการตลาด ผู้นำขายฝันขายความมหัศจรรย์ (Amazing Thailand) ผู้นำที่เป็นนักการเมือง นักการทหาร การทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า เพราะต่างเชื่อว่าผู้นำจะทำให้แก่ประชาชนและทำให้ชาติเจริญก้าวไปข้างหน้าได้ หรือการอาศัยผู้นำที่เป็นนักธุรกิจ ต้องการขายทุกอย่าง หาคนต่างชาติมาลงทุน สุดท้ายคนไทยเองก็ได้แค่ขี่มอเตอร์ไซค์รับส่งของและขายแรงงานต่อไป

หากจะลองนำชาติโดยการพัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนาคุณภาพและศักยภาพคนให้สูง การพัฒนาฝีมือคนในชาติให้มีประสิทธิภาพในทุกๆ อาชีพ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้ประเทศพัฒนาก้าวไปได้ไกลกว่านี้ เพราะประชาชนในชาติเป็นคนที่มีคุณภาพ มีฝีมือ และมีปัญญา ซึ่งการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของชาติให้เด็กเยาวชนเชื่อถือ เชื่อมั่น เมื่อเข้าไปศึกษาแล้วจะเก่งและดี มีคุณภาพในทุกสาขาวิชาและอาชีพ เพราะคุณภาพการศึกษาคือคำตอบ

สำหรับการจัดกิจกรรมวงซิมโฟนีออร์เคสตราร่วมกันระหว่างเด็กไทยกับเด็กเยอรมันครั้งนี้ เป็นคำตอบที่ชัดเจนได้ว่า อุดมศึกษาไทยยังทำกิจกรรมดนตรีแบบนี้ไม่ได้ เด็กเยาวชนไทยที่เก่งดนตรีเหล่านี้ก็ไม่เข้าเรียนดนตรีในสถาบันอุดมศึกษาดนตรีของไทย กลายเป็นเด็กพิเศษที่ไม่มีอนาคต ไม่มีสถานศึกษาที่สามารถรองรับฝีมือหรือต่อยอดฝีมือในการเรียนดนตรีในเมืองไทยได้ แล้วประเทศไทย การศึกษาไทย จะเจริญต่อยอดจากที่เด็กเก่งๆ เหล่านี้ได้อย่างไร เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นพยานบอกให้ทราบว่า สถาบันดนตรีระดับอุดมศึกษาของไทยนั้นล้าหลังและมีคุณภาพต่ำ

สุกรี เจริญสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image