แท็งก์ความคิด : ราชทัณฑ์เชิงรุก

ราชทัณฑ์เชิงรุก

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีโอกาสเดินทางไปเรือนจำจังหวัดภูเก็ต

วันที่ 17 เมษายน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “ห้องสมุดพร้อมปัญญา”

โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญาเกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานมาตั้งแต่ปี 2546

Advertisement

ทรงมีพระประสงค์ให้ห้องสมุดพร้อมปัญญาเป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ของผู้ต้องราชทัณฑ์

ทำให้รู้หนังสือ อ่านออก เขียนได้ และรักการอ่าน

และเมื่อกลับคืนสู่สังคมจะได้ไม่กระทำผิดซ้ำ

Advertisement

กรมราชทัณฑ์ร่วมมือกับเครือข่าย ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ มากมายเข้ามาช่วยกันทำให้โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญาเกิดขึ้น

บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และ มูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการนี้ ด้วยความหวังจะเห็นผู้ต้องขังมีอนาคตหลังจากพ้นโทษ

ณ วันเวลาที่เรือนจำจังหวัดภูเก็ตมีหมายกำหนดการเสด็จเปิดห้องสมุดพร้อมปัญญา มติชนจึงเป็นหนึ่งในเครือข่ายราชทัณฑ์ที่เข้าเฝ้าฯรับเสด็จ

สำหรับเรือนจำจังหวัดภูเก็ต เป็นเรือนจำลำดับที่ 32 ที่มีห้องสมุดพร้อมปัญญา

การจะได้ชื่อห้องสมุดพร้อมปัญญานั้นไม่ง่าย เรือนจำแต่ละแห่งต้องดำเนินการจนผ่านเกณฑ์ทางวิชาการ กระทั่งครบถ้วน

เมื่อครบถ้วนทุกอย่างแล้ว จึงได้เปิดดำเนินการ

กรมราชทัณฑ์หวังว่า หนังสือและความรู้ที่ผู้ต้องโทษได้รับ จะทำให้ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก

ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักอาชญาวิทยาที่ว่า ระดับการศึกษามีความสำคัญต่อการลดการกระทำผิด และไม่กลับมาทำผิดซ้ำ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับระดับการศึกษาของผู้ต้องขัง พบว่า ขณะนี้มีผู้ต้องขังที่มีการศึกษาไม่ถึงมาตรฐานตามกฎหมายกำหนดจำนวนมาก

จำนวนผู้ต้องขังที่ไม่มีการศึกษา และมีระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.6 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาฟรีนั้นมีมากถึง 77.39 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้ต้องขังทั่วประเทศ

จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 290,089 คน มีผู้ต้องขังที่มีการศึกษาน้อยกว่ามาตรฐาน 224,503 คน

นอกจากนี้ เรือนจำทั่วประเทศยังประสบปัญหาความแออัด

สาเหตุหนึ่งที่เรือนจำแออัด เพราะมีผู้ต้องขังเกี่ยวกับยาเสพติดมากล้น

จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 290,089 คน พบว่า มีผู้ต้องขังยาเสพติด 212,029 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 73.09

ในกลุ่มผู้ต้องขังยาเสพติดทั้งหมด พบว่า ส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น 166,635 คน หรือ ร้อยละ 78.59

วกมาดูสถิติผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำ

พบว่า จากจำนวนผู้ต้องขัง 290,089 คน มีผู้กระทำผิดซ้ำ 131,620 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 45.37

ในจำนวน 131,620 คน พบว่า ผู้ต้องขังที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น 105,116 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 79.86

จากข้อมูลที่ปรากฏ ทำให้เชื่อว่า ระดับการศึกษามีผลต่อการกระทำผิดซ้ำ

นอกจากนี้ ยังพบว่า ระดับการศึกษามีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจตัดสินใจจะรับผู้ต้องขังเข้าทำงานหรือไม่อีกด้วย

ถ้าผู้ต้องขังพ้นคุกแล้วไม่มีงานทำ โอกาสที่จะทำผิดซ้ำอีกก็มีสูง

แต่ถ้ามีอาชีพ มีรายได้ มีความเป็นอยู่เพียงพอ หลังจากพ้นโทษ โอกาสจะกระทำผิดซ้ำก็น้อยลง

กรมราชทัณฑ์จึงเดินหน้าส่งเสริมความรู้ และส่งเสริมอาชีพให้ผู้ต้องขัง

ได้ยินมาว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถือเอาเรื่องนี้เป็นภารกิจสำคัญ

มีแนวคิดเพิ่มความรู้ให้แก่ผู้ต้องขังทั่วประเทศ

มีไอเดียที่จะประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จับมือกับกรมราชทัณฑ์ สร้างผู้ต้องขังให้มีคุณภาพก่อนพ้นโทษ

ต่อไปกรมราชทัณฑ์อาจจะเชิญท้องถิ่นมามีส่วนร่วมในการสร้างคุณภาพผู้ต้องขัง

อย่าลืมว่า ผู้ต้องขังคือคนในท้องถิ่น หากทำให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ เท่ากับเป็นการเพิ่มคุณภาพให้ท้องถิ่นด้วย

เข้าใจว่า พ.ต.อ.ทวี และกรมราชทัณฑ์จะเร่งดำเนินการตามไอเดียนี้ เพื่อผลักดันให้ประสบความสำเร็จ

อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ต้องขังมีระดับการศึกษาเพิ่มขึ้น และหวังว่าจะลดจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำหลังจากพ้นโทษได้เรื่อยๆ

ถือเป็นการผลักดันให้ราชทัณฑ์เปิดเกมรุก

วิธีการนี้แม้จะไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะทำให้ผู้ต้องขังไม่กระทำผิดอีก

แต่วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่สำคัญที่จะช่วยให้ความหวังดังกล่าวเกิดขึ้น

วิธีเพิ่มระดับการศึกษา ส่งเสริมความรู้ เพิ่มคุณภาพให้คน

เปลี่ยนคนคนหนึ่ง จากคนที่ต้องถูกคุมขัง กลายเป็นคนที่สังคมต้องการ

ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อใดที่สังคมไม่รังเกียจ คนคนนั้นก็คงไม่อยากกระทำผิดซ้ำ

เพราะคงไม่มีใครอยากกลับไปติดคุกอีกรอบ

นฤตย์ เสกธีระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image