อธึกกิต แสวงสุข วิเคราะห์แนวโน้ม ‘ปรากฏการณ์ด้านกลับ’ มองลึก ส.ว.ชุดใหม่ ‘ใจต้องเด็ด’

อธึกกิต แสวงสุข
วิเคราะห์แนวโน้ม ‘ปรากฏการณ์ด้านกลับ’
มองลึก ส.ว.ชุดใหม่ ‘ใจต้องเด็ด’

ยังลึกซึ้งและเฉียบคมไม่มีเปลี่ยน

สำหรับมุมมองของ ‘ใบตองแห้ง’ อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์การเมืองชื่อดังที่ยังคงโลดแล่นเป็นคอมเมนเตเตอร์ผ่านสื่อต่างๆ อีกทั้งเฟซบุ๊กส่วนตัวที่โพสต์รัวๆ ก่อนตามมาด้วยยอดไลค์ปังๆ แทบทุกสเตตัส

เช่นเดียวกับคอมเมนต์ที่เจ้าตัวจับไมค์เผยความเห็นในประเด็น ‘ส.ว.ที่ดี สามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างไร?’ ภายในงานแถลงข่าวแคมเปญ ‘มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select’ เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด

Advertisement

ภายใต้ความร่วมมือของสื่อในเครือ ได้แก่ มติชน, มติชนทีวี, มติชนสุดสัปดาห์, ข่าวสด, ศูนย์ข้อมูลมติชน หรือ MIC ทั้งยังผนึกกองบรรณาธิการสื่อออนไลน์ Way Magazine และพันธมิตรนักวิชาการชั้นนำ

“คนที่เข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อาจจะต้องมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยว ตรงที่ว่าต้องเปิดกว้างให้ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิก ส.ว. อย่างที่เราพูดกันว่าเข้ามาเป็น ส.ว.เพื่อจะล้มกติกาตรงนี้ เพราะฉะนั้นคนที่เป็น ส.ว.จะต้องเข้มแข็งพอสมควรในแง่ของจุดยืน อุดมการณ์ มุ่งมั่นในเรื่องประชาธิปไตย”

คือวาทะในตอนหนึ่งซึ่งเน้นย้ำภารกิจสำคัญในมุมมองของ ‘ใบตองแห้ง’

Advertisement

บรรทัดจากนี้ คือถ้อยคำจากปากคอลัมนิสต์ชื่อดังฝั่งประชาธิปไตยที่ชวนให้ขบคิดไปพร้อมๆ กัน

อุดมการณ์ประชาธิปไตย ‘1 ใน 3 ไม่พอ’
ส.ว.ชุดใหม่ ใจต้องเด็ด

สิ่งที่เราคาดหวังส่วนใหญ่ คือ เรื่องของการที่ ส.ว.จะมีส่วนในการผ่านมาตรา 256 ในการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต้องผ่านการประชามติครั้งแรกก่อน ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐบาลที่มัดมือชกไปแล้วว่าจะเป็นการลงประชามติเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวด 1-2 หรือไม่ หลังจากนั้นถ้าผ่านประชามติจะเข้าสู่มาตรา 256 การแก้มาตรา 256 เพื่อตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ซึ่งหมายความว่า เราต้องการ ส.ว.67 คน แต่คงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะเข้าใจว่าถึงตอนนั้นคงมีเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน ว่าจะมี ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งแล้วมีการแต่งตั้ง ส.ส.ร.ไปโดยรัฐสภา ซึ่งเสียงของ ส.ว.ก็จะมีส่วนอีก

เวลาเราคิด เราจะบอกว่าต้องการ ส.ว.ที่มีอุดมคติ มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยสัก 1 ใน 3 ส่วนตัวคิดว่าไม่พอ มันอาจจะต้องเกิน 100 กว่าด้วยซ้ำไป เพราะโดยสัดส่วนของพรรคการเมืองในปัจจุบัน คือ ส่วนที่เราเชื่อว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญ เช่น พรรคเพื่อไทย ถ้ารวมกับพรรคก้าวไกล อาจจะรวมกับพรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้าน จะได้ 300 เสียง จากจำนวน 700 เสียงผ่าน ส.ว.67 เสียง แต่จริงๆ แล้วต้องการ ส.ว. อีก 100 เสียง เพื่อได้ประมาณ 400 เสียง ในการที่จะแก้ไขมาตรา 256 และอาจจะถกเถียงกัน แม้แต่พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็จะเถียงกันเองว่าตกลงแล้ว ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่

ผมไม่แน่ใจว่าเพื่อไทย จะเอา ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ ก็จะเป็นเวทีที่ต้องถกเถียงกันเยอะมาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ส.ว.จะมีส่วนในการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วถึงตอนท้ายที่สุดอาจจะมีขั้นตอนของการที่สภาอาจจะกลับมาเกี่ยวข้อง

ผมข้องใจว่าถึงตอนนั้นรัฐสภาอาจจะขอผ่านร่าง ส.ส.ร.ก่อน ซึ่งคนที่เข้าไปเป็น ส.ว.อาจจะต้องมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยว ตรงที่ว่าต้องเปิดกว้างให้ ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิก ส.ว. อย่างที่เราพูดกันว่าเข้ามาเป็น ส.ว.เพื่อจะล้มกติกาตรงนี้ เพราะฉะนั้นคนที่เป็น ส.ว.จะต้องเข้มแข็งพอสมควรในแง่ของจุดยืน อุดมการณ์ มุ่งมั่นในเรื่องประชาธิปไตย

วิธีเลือกตั้ง ‘ไร้เดียงสา’ หรือแฝงเจตนา?

ในส่วนของการเลือกองค์กรอิสระ ที่กว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ คงจะใช้เวลาเป็นปีๆ มีองค์กรอิสระผ่านเข้ามาให้เลือกอีกหลายองค์กร แม้ ส.ว.จะมีอำนาจโหวต แต่ปัญหาองค์กรอิสระ จะเห็นได้ว่าการสรรหามีการบล็อกโหวตไว้อยู่แล้ว

รัฐธรรมนูญ 2560 บล็อกการสรรหาไว้อยู่แล้ว เพราะคนที่สรรหาองค์กรอิสระ คือ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็น รองประธาน ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้านที่เหลือ คือ การเอาองค์กรอิสระอื่นส่งกรรมการมาเลือก แล้วนำมาเป็นกรรมการสรรหา เป็นการชงกันเอง ซึ่งมีโอกาสยากที่จะได้คนที่อยู่นอกวงของอุดมการณ์รัฐนิยม แต่ถ้า ส.ว.มีความเข้มแข็งเกินครึ่งของ 200 คน ก็มีโอกาสที่จะตีตกให้เขาเลือกใหม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่หลายคนคงจะรู้ว่าอำนาจ ส.ว.เป็นอย่างไร แล้วจำเป็นจะต้องเข้าไปทำอะไร

ผมขอประเมินแบบสื่อว่า ถ้าเราดูการร่างรัฐธรรมนูญตรงนี้ตั้งแต่ยุคมีชัย ฤชุพันธุ์ การประชามติคำถาม เมื่อปี 2559 เขารับสืบทอดรัฐธรรมนูญบางส่วนจากบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

รัฐประหาร พอไม่มีความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญ พยายามจะอ้างอิงหาอำนาจแต่งตั้งที่มาจากแต่งตั้งอย่างเดียวมันใช้ได้ชั่วคราว เขาจึงมี ส.ว.แต่งตั้งแค่ 5 ปี และพยายามที่จะมองว่า ทำอย่างไรที่จะให้ได้เครือข่ายของฝ่ายที่อนุรักษนิยม ที่มีความคิด หรือแนวคิดอนุรักษนิยมต่างๆ มาเป็น ส.ว.คอยคุมอำนาจจากการเลือกตั้งนักการเมืองเลว วิธีคิดตรงนี้จะเห็นได้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ ไม่ว่าจะเป็น การปราบชาวบ้าน มีประชาสังคม แต่รัฐธรรมนูญของมีชัย ไปทำให้มีการบล็อกมากยิ่งขึ้น

วิธีการเลือกตั้งที่เรามองว่าดูไร้เดียงสา ความจริงแล้วมีการแฝงเจตนา อย่างเช่น เลขาฯ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) บอกว่า เอาผู้ทรงคุณวุฒิ เขามีคุณธรรม จริยธรรม มีความสามารถ รู้อยู่แล้วว่าจะไปเลือกใคร ซึ่งมันคือกลุ่มจัดตั้ง เพราะฉะนั้นเขาก็หวังว่าเป็นกลุ่มวิชาการ กลุ่มวิชาชีพต่างๆ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มประชาสังคม กลุ่มทนายความ ฯลฯ

เขาเชื่อว่าเครือข่ายแบบนี้ เป็นเครือข่ายที่ไม่เอาพรรคการเมือง เครือข่ายที่ค่อนความคิดไปทางอนุรักษนิยม เพราะว่าอายุเกิน 40 ปี ค่าสมัคร 2,500 บาท ซึ่งก็เป็นข้าราชการเกษียณ เป็นส่วนใหญ่ เพราะบางอาชีพที่เป็นพนักงานเอกชน บางทีก็จะต้องมีการลาออก ซึ่งเขาก็คาดหวังว่าคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีแนวโน้ม แนวคิดไปทางอนุรักษนิยม และจะเป็นเครือข่ายที่มีการจัดตั้งเข้ามา แต่เครือข่ายที่มีการจัดตั้งเข้ามา จะเลี่ยงไม่พ้นว่าส่วนหนึ่งเริ่มมีเครือข่ายพรรคการเมือง เพียงแต่ว่าเข้ามาไม่หมด ซึ่งจะเข้ามาในเฉพาะโซนจังหวัดที่แข็งๆ การเลือกตั้งทุกวันนี้ก็จะเหมือนกัน เรื่องพรรคการเมืองจะเข้ามาในโซนจังหวัดที่เขาแข็งๆ แต่เขาจะทำได้ทั้งประเทศหรือไม่

มีเพื่อนเคยคุยกับพรรคการเมือง เขาถามว่า จะส่งคนลงไหม พรรคการเมืองบอกว่า ระบบซับซ้อนยุ่งยากเกินไป เขาจัดตั้งไม่ไหว และจะต้องใช้ทรัพยากรเท่าไหร่ในการที่ไปจัดตั้งคน เป็นจังหวัดอาจจะมีการทำกัน แต่ทั้งประเทศเขาทำไม่ได้หรอก

คนต้านแรง 250 ส.ว.
‘สิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คาดคิด’

สิ่งที่มันเกิดขึ้น ถ้านับมาตั้งแต่ปี 2559-2567 สิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คาดคิด คือ คนต่อต้าน ส.ว. 250 คน อย่างรุนแรง ถึงแม้ตอนลงประชามติปี 2559 ตอนประกาศรัฐธรรมนูญปี 2560 ผู้คนไม่ได้ตระหนัก แต่ว่าหลังเลือกตั้งปี 2562 มีประชากรตกใจกันมากที่มี ส.ว. 250 คน มาช่วยโหวตนายกฯ ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และมาตกใจกันมากในปี 2566 ที่ ส.ว.ไม่โหวตเลือกพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แล้วมีการดีลข้ามขั้วเพื่อไปโหวตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

ผมคิดว่าการปฏิเสธ ส.ว.แบบเดิมมันแรงมาก เพราะฉะนั้นจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ต่อให้เป็นการเลือกที่เงียบที่สุดในโลก ผมเชื่อว่าตอนนี้มีคนตื่นตัวที่จะลงสมัคร ส.ว. โดยที่ไม่ได้มาประกาศตัวแบบท่านทั้งหลายอีกเยอะ และมีความรู้สึกที่คิดว่าเขาก็อยากเปลี่ยนเหมือนกัน แต่มันจะสู้กันระหว่างเครือข่ายของฝ่ายอนุรักษนิยม เครือข่ายของฝ่ายข้าราชการ ที่อาจจะค่อนไปทางอนุรักษนิยม แต่ก็จะมีคนที่มีความคิดที่ใหม่ หรือความคิดที่ว่าไม่เอาแล้วแบบนี้ ซึ่งเป็นผลสะเทือนตั้งแต่ปี 2562 และปี 2566 ทำให้คนรู้สึกว่าการปฏิเสธ ส.ว.แบบนี้อย่างรุนแรงมาก

ผมคาดหวังขั้นต่ำในการเลือก ส.ว.ในครั้งนี้คือ คาดหวังว่าจะมีความกระจัดกระจาย อาทิ กลุ่มของพรรคการเมือง กลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มที่มีความคิดอุดมคติ เป็นต้น ขั้นต่ำขอแค่การกระจัดกระจาย เพราะถ้ากระจัดกระจายแล้ว เขาแพคเสียงใครไม่ได้ และกระแสสังคมจะสามารถกดดันให้เขาลงมติ และมีความเห็นต่างๆ ที่มันคล้อยตามสังคมประชาธิปไตย นอกจากนี้ ความคาดหวังถัดมา หวังว่าจะมีคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเข้าไปเกินครึ่ง

คนโกรธระบบเดิม ‘ปรากฏการณ์ด้านกลับ’
คือความคาดหวังสุดท้าย

อย่างที่ผมบอกว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนโกรธระบบเดิม และหวังว่าจะเข้าไปเปลี่ยนเหมือนการเลือกตั้งปี 2566 ส่วนนี้ผมก็คาดหวังว่าจะมีคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งผมว่ามีซุ่มซ่อนอยู่เป็นจำนวนมากกว่าที่เราเห็น

ความคาดหวังสุดท้าย คือ ถ้าเกิดปรากฏการณ์ด้านกลับ มันจะเป็นการปฏิเสธรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว. และนำไปสู่การแก้ไขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่าง ท่านทั้งหลายที่อยู่ตรงนี้ ผู้ที่มีชื่อเสียง ได้ใบดำกันหมด

ผมว่าสังคมจะปฏิเสธการเลือก ส.ว.ครั้งนี้อย่างรุนแรง จะมีการต่อต้าน และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง

นภัสสร มงคลรัฐ – เรื่อง
รัฐสีมา พงษ์เสน – ภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image