การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ที่เมืองอโยธยา

การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ที่เมืองอโยธยา

การประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี
ที่เมืองอโยธยา

การประลองวงยอดฝีมือเยาวชนดนตรีรอบชิงชนะเลิศที่เมืองอโยธยา เป็นกิจกรรมคู่ขนานกับการแสดงของวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เพื่อส่งเสริมเยาวชนดนตรีแนวใหม่ สร้างโอกาสในการใช้พลังดนตรีให้ความสุข สร้างความบันเทิงแก่ผู้ชม เปิดทางเลือกใหม่ในการสร้างงานดนตรี ให้โอกาสเยาวชนได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมดนตรี ใช้เสียงดนตรีร้อยจิตใจคนให้มีความรักและผูกพันต่อกัน เพราะดนตรีและเพลงเป็นหัวใจของการจัดเทศกาลต่างๆ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้ง่ายขึ้น ดนตรีเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

การประลองวงยอดฝีมือเยาวชนดนตรีเป็นวิธีการสร้างพื้นที่ใหม่ สร้างโอกาสเพิ่มและสร้างสรรค์บทเพลงต้นฉบับจากภูมิปัญญาวัฒนธรรมดนตรีดั้งเดิม เปิดโอกาสให้นักดนตรีเยาวชนอายุ 15-25 ปี ที่เล่นเครื่องดนตรีจากเสียงธรรมชาติ (Acoustic) รวมตัวกันเป็นวงดนตรี (2-5 คน) เสนอผลงานเพลงที่เรียบเรียงและสร้างสรรค์ใหม่ ใช้ความสามารถและศักยภาพความเป็นเลิศ ส่งผลงานเข้าร่วมการประลองชิงรางวัลในครั้งนี้

การประลองวงยอดฝีมือเยาวชนดนตรี กำหนดให้นักดนตรีเล่นเพลงที่ได้เรียบเรียงขึ้นใหม่จากเพลงที่มีรากเหง้าดั้งเดิมของท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงพื้นบ้าน ไทยเดิม เพลงประจำชาติที่เป็นเพลงต้นฉบับยังคงเอกลักษณ์รักษาความเป็นท้องถิ่นเอาไว้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่นักดนตรีใช้ในการสร้างสรรค์เพลงจากทำนองเก่ามาหลายยุคหลายสมัยและหลายชั่วอายุคน

Advertisement

หัวใจสำคัญของการประลองวงยอดฝีมือเยาวชนดนตรี คือการนำเพลงในอดีตที่เป็นมรดกที่ยังไพเราะงดงามมาพัฒนาเพื่อรับใช้สังคมใหม่ จากรากฐานสู่ความเป็นพื้นฐาน แล้วนำไปสร้างให้ได้มาตรฐานนานาชาติหรือได้มาตรฐานสากล เพื่อใช้ดนตรีสร้างความภูมิฐานเป็นสินค้าวัฒนธรรมเพลงให้แก่ผู้ฟังไทยและนักท่องเที่ยว

มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับพันธมิตรสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดการประลองในครั้งนี้

คณะกรรมการตัดสินได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญดนตรี นักดนตรี ครูดนตรีคนสำคัญ ดำเนินการจัดงานโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข การตัดสินรอบแรก (รอบออนไลน์) มีวงดนตรีที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 24 วง คณะกรรมการตัดสินชุดละ 5 คน คัดเลือกวงดนตรีที่มีฝีมือมีความสามารถ วงดนตรีที่ผ่านเข้ารอบนี้ ต้องได้คะแนนจากคณะกรรมการอย่างน้อย 4 คน ซึ่งมีวงดนตรีที่ผ่านเข้ารอบ 10 วง และได้สละสิทธิไป 1 วง

Advertisement

คณะกรรมการตัดสินรอบออนไลน์มี พันเอกพิเศษ ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ กรมดุริยางค์ทหารบก อาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ชูวิทย์ ยุระยง อดีตอธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิ

วงดนตรีที่ผ่านเข้ารอบ 9 วง ได้แสดงสดที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2567 มีวงบ้านแขก เล่นเพลงโยสลัม วงพิชชโลห์ เพลงบรรทมไพร ฆ้องวงใหญ่คู่ (Duet) วงอุดรถิ่นอีสาน เพลงสาวน้อยร้อยดอกจันทร์ วงลวนรินทร์ เพลงระบำลพบุรี วงศิลป์บรรลือ เพลงเซิ้งบั้งไฟรวมมิตร วง Sunshine Duo เพลงค้างคาวกินกล้วย วงอ้ายมาสี่คน เพลงโหมโรงแห่ช้าง วง Chinnawat Guitar Academy เพลงพม่ากลองยาว และวง Chicken Wind Quintet เล่นเพลง Fantasia on a Theme of Som-Det

คณะกรรมการตัดสินในรอบนี้ที่เวทีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีอาจารย์ดำริห์ บรรณวิทยกิจ ศิลปินศิลปาธร คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรพลเรือตรี ภาสกร สุวรรณพันธ์ อดีตผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือ ดร.บำรุง พาทยกุลสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผศ.ดร.จักรกฤษ เจริญสุข วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายธชย ประทุมวรรณ ดาราและศิลปินเพลง

รอบแสดงที่เวทีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แต่ละวงมีเวลาตั้งวงและตั้งเครื่องดนตรีเทียบปรับเสียง 30 นาที มีเวลาแสดงผลงาน 5 นาที คณะกรรมการตัดสินมีหน้าที่ให้ความเห็นและให้คำแนะนำ เพื่อให้นักดนตรีแต่ละวงจะได้นำข้อแนะนำไปปรับปรุงต่อไป

วงที่ผ่านเข้ารอบ 6 วง ได้ไปแสดงที่วัดกุฎีดาว พระนครศรีอยุธยา ทุกวงได้ร่วมแสดงกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา มีวงพิชชโลห์ ฆ้องวงใหญ่คู่ (Duet) มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วงลวนรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี วงศิลป์บันลือ จากจังหวัดเลย วง Chicken Wind Quintet มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงบ้านแขก มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วงอุดรถิ่นอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี การเรียบเรียงเพลงและควบคุมวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา โดยพันเอกพิเศษ ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์

คณะกรรมการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2567 เวทีแสดงวัดกุฎีดาว เมืองอโยธยา รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผศ.ดร.ประยูร ลิ้มสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินแห่งชาติ ผศ.ดร.ทินกร อัตไพบูลย์ มหาวิทยาลัยนครพนม อาจารย์บฤงคพ วรอุไร วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ

สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ดนตรีไทยตายแล้ว ดนตรีพื้นบ้านก็ตายไปหมดแล้ว ความตายหมายถึงไม่มีคนเรียนหรือสืบทอดฝีมือ เพราะไม่มีพื้นที่ ไม่มีเวที และที่สำคัญคือไม่มีอาชีพในการทำมาหากิน เรียนดนตรีไทยดนตรีพื้นบ้านแล้วไม่มีงานทำ ตกงาน ดังนั้น เยาวชนที่ชอบดนตรีก็เล่นดนตรีกันเล่นๆ แล้วก็ทอดทิ้งไป

การประลองวงยอดฝีมือเยาวชนดนตรี จึงเป็นโอกาสให้เยาวชนดนตรีได้ฝึกซ้อมเพลงเพื่อการประลอง โดยมีรางวัลเป็นทุนการศึกษาและเป็นรายได้ เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เห็นฝีมือดนตรีของเยาวชน ซึ่งฝีมือจะนำทางไปสู่โอกาส สร้างเวที สร้างพื้นที่แนวใหม่ โดยมีวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราห่อวงเยาวชนไว้อีกชั้นหนึ่ง

การประลองวงยอดฝีมือเยาวชนดนตรีเป็นช่องว่างเล็กๆ เป็นโอกาสน้อยๆ ที่จะทำได้ เยาวชนดนตรีที่มีความสามารถได้ขึ้นเวทีแสดงดนตรี ใช้พื้นที่สาธารณะ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เห็นฝีมือ โอกาสนั้นเป็นสิ่งสุดยอดของนักดนตรี เพราะโอกาสจะสร้างโอกาส ฝีมือที่ได้แสดงออกไป จะติดตาตรึงใจผู้ชมไปอีกนาน นั่นคือโอกาสของนักดนตรี


วงพิชชโลห์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เล่นเพลงบรรทมไพร


วงลวนรินทร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี เล่นเพลงระบำลพบุรี


วงบ้านแขก นักศึกษาวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เล่นเพลงโยสลัม


วงศิลป์บันลือ จากจังหวัดเลย เล่นเพลงเซิ้งบั้งไฟรวมมิตร


วง Chicken Wind Quintet ศิษย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่นเพลง Fantasia on a Theme of Som-Det


วงอุดรถิ่นอีสาน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เล่นเพลงสาวน้อยร้อยดอกจันทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image