‘ธิษณา ธนคลัง’ คอกีฬานักจดสถิติ ผู้เคยท้วงข้อมูลฟีฟ่า

เรื่องการเชียร์กีฬา เชื่อว่าแฟนกีฬาไทยไม่น้อยหน้าชาติใดอยู่แล้ว

แต่ใครจะคิดว่ามีแฟนกีฬาไทยตามเก็บสถิติผลแข่งกีฬาทุกประเภท และเมื่อเขาพบว่าสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) บันทึกผลการแข่งขันทีมฟุตบอลไทยผิดพลาดจึงส่งอีเมล์ไปทักท้วง

เมื่อการทักท้วงครั้งแรกสำเร็จ อีเมล์ฉบับต่อๆ ไปจึงตามมาอีก ซึ่งทางฟีฟ่าก็รับฟังเหตุผล และแก้ไขในจุดที่ผิดพลาด

เต้น-ธิษณา ธนคลัง ชายหนุ่มวัย 34 ที่ทุ่มเทชีวิตให้ความชอบเรื่องกีฬาอย่างสุดตัว

Advertisement

ธิษณาเป็นคนนครสวรรค์ เรียนจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากความชอบฟุตบอลตั้งแต่เด็ก เบิกทางให้เขาติดตามดูกีฬาทุกประเภท โดยเฉพาะที่มีแข่งขันในซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิก

จนเข้ามหาวิทยาลัยเขาเริ่มจดสถิติการแข่งขันทีมชาติไทยเก็บเป็นข้อมูลส่วนตัว และวางแผนถึงการสร้างแหล่งข้อมูลที่ให้คนเข้ามาใช้งานได้ในอนาคต

Advertisement

ปัจจุบันเขาคือ Software Development Trainer เป็นอาจารย์สอนพัฒนาซอฟต์แวร์ตามองค์กรต่างๆ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ รับหน้าที่อาจารย์พิเศษสอนด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามมหาวิทยาลัย

อีกบทบาทหนึ่งคือ ผู้ดำเนินรายการกีฬาที่ FM97 Football Station รายการพูดคุยเกี่ยวกับแวดวงกีฬาไทยที่รับหน้าที่มา 3 ปีแล้ว

เขาทุ่มเทความสนใจให้ทั้งงานหลักและงานอดิเรกคู่ขนานมาโดยตลอด

ความรู้เรื่องกีฬาของเขาอาจไม่ได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่สำหรับ “ลูกบ้า” ต้องนับว่ามีไม่น้อย โดยเฉพาะเป้าหมายการรวบรวมสถิติที่หวังยกระดับการชมกีฬาไทย

ธิษณา ธนคลัง

– สถิติที่เก็บรวบรวมมาอยู่ในลักษณะไหน?

เก็บผลการแข่งเฉพาะทีมไทยและนักกีฬาไทย แต่เก็บทุกประเภท โดยเลือกเก็บระดับโลก ระดับทวีป ภูมิภาค และอาเซียนเป็นหลัก แต่บางรายการเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้เก็บ

เมื่อก่อนจดสถิติกีฬาไทยที่ไปแข่งขันทุกชนิดใส่สมุดไว้ เพราะเป็นคนดูกีฬาทุกชนิดอยู่แล้ว แต่ฟุตบอลจะพิเศษหน่อย เพราะเริ่มจากดูฟุตบอลไทยก่อนแล้วจึงดูกีฬาอื่นๆ ตามมา กีฬาโอลิมปิก เอเชี่ยนเกมส์ ซีเกมส์นี่ดูอยู่แล้ว เวลาเก็บสถิติจะมีระดับว่ารายการไหนใหญ่กว่ารายการไหน แต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่บ้านนครสวรรค์ ข้อมูลบางอย่างก็ไปกับน้ำ จึงกลับมาเก็บข้อมูลใหม่ในรูปแบบของไฟล์คอมพิวเตอร์

– เก็บสถิติกีฬาไทยทำไม?

ปัญหาหนึ่งของบ้านเราคือ คนไทยดูกีฬาแล้วยังไม่เข้าใจว่าระดับนี้สำคัญหรือไม่ แมตช์นี้ ทัวร์นาเมนต์นี้สำคัญหรือไม่ อย่างน้องเมย์ รัชนก ไม่ได้เหรียญโอลิมปิก แฟนกีฬาบอกว่าล้มเหลว แต่ถ้าคุณดูว่า ในรอบปีที่ผ่านมาเขาได้แชมป์ซุปเปอร์ซีรีส์ 3 จาก 7 รายการ ซึ่งไม่มีนักกีฬาคนไหนทำได้ แล้วซุปเปอร์ซีรีส์นี้หย่อนกว่าโอลิมปิกมานิดเดียว มีความวิเศษอยู่ พวกนิตยสารกีฬาญี่ปุ่นเขาจะเก็บสถิติพวกนี้ไว้ แล้วคนของเขาจะดูกีฬาเป็น ผมอยากให้คนไทยดูกีฬาเป็น จะได้วิจารณ์กันได้ถูก

สมมุติวันนี้เราชนะฟุตบอลเวียดนาม ต้องถามว่าชนะรายการอะไร ถ้าเป็นบอลโลกรอบคัดเลือกก็สำคัญกว่าซีเกมส์ สำคัญกว่าเอเชี่ยนเกมส์ สำคัญกว่าชิงแชมป์อาเซียน แต้มหรือการยอมรับก็จะไม่เท่ากัน แต่คนจะดูแค่ว่าเราชนะหรือแพ้ ถ้าเราเข้าใจโครงสร้างจะมีความภูมิใจที่มากขึ้น แพ้มาก็ไม่เป็นไรเพราะรู้ว่าเป็นรายการเล็ก เวลาวิจารณ์กันก็จะเข้าใจ

ปัจจุบันข้อมูลต่างๆ มาแบบเรื่องเล่าที่ไม่ได้มีหลักฐาน เช่นการพูดว่าเราเคยชนะทีมนี้มาตลอด เพิ่งมาแพ้ช่วงหลังๆ ถ้าเรามีข้อมูลจะรู้ว่าจริงเท็จอย่างไร หลังการแข่งขันบ้านเราจะมีดราม่า ข้อโต้แย้ง อารมณ์ ความรู้สึก บางครั้งการมีข้อมูลอยู่จะเบรกสิ่งเหล่านี้ได้ ทำให้เราดูกีฬาเป็นและเข้าใจ

– เป็นจุดอ่อนของคนดูกีฬาไทยในปัจจุบัน?

เราดูกีฬาด้วยอารมณ์และความคาดหวัง โดยที่ไม่เข้าใจ อย่างฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกครั้งนี้ เราเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายแล้วทุกคนหวังเลย ปลุกกระแสว่าไทยไปบอลโลก คนที่มีข้อมูลหรือดูฟุตบอลมานานจะรู้ว่ามีสิทธิไปไหม มีสิทธิ แต่เปอร์เซ็นต์น้อยมาก เราก็จะคาดหวังการดูกีฬาครั้งนี้ว่าเรามาเพื่อสร้างบรรทัดฐานและหาประสบการณ์ เราจะสร้างว่าต่อไปนี้ไทยจะเข้ารอบทุกครั้งนะ ครั้งแรกอย่างมากควรเก็บแต้มในบ้านได้ พอเราดูกีฬาเป็น ก็ไม่ต้องมานั่งโต้เถียงกัน ไม่ใช่พอแพ้แล้วเป็นอารมณ์ ด่ากันในโซเชียล

นักกีฬาอาชีพเขาจะไม่ค่อยยุ่งกับโลกโซเชียล เพราะทุกคนมีความเป็นมนุษย์ โดนคนด่ามากๆ ก็สลัดไม่ได้ นักกีฬาระดับอาชีพ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของจิตใจ วันนี้แพ้ พรุ่งนี้ทำยังไงให้ชนะ บางครั้งคุณแพ้มาแล้วต้องการกำลังใจ แต่โลกโซเชียลไม่ใช่อย่างนั้น

มีเส้นบางๆ ระหว่างวิจารณ์กับด่า ผมอยากให้สังคมเราวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมีเหตุผล มากกว่าด่าด้วยอารมณ์ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยพัฒนาคนดูกีฬา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค แล้วเราจะคุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้น สื่อสารมวลชนก็จะนำเสนอสิ่งที่เป็นเหตุผลมีตรรกะมากขึ้น

– เคยยื่นท้วงสถิติฟีฟ่า?

ฟีฟ่าเขารวบรวมผลการแข่งขันเอาไว้ แล้วผมไปเจอผลคู่หนึ่งว่ามันผิด เขาบันทึกว่าเราแพ้ไต้หวัน 4-0 แต่ผมจำได้ว่าเราชนะไต้หวัน 1-0 จึงพยายามทำให้ถูก เพราะคนทั่วโลกเข้ามาดูที่เว็บฟีฟ่าได้ ข้อมูลเป็นเรื่องของความถูกต้องและเรื่องของประวัติศาสตร์ ผมก็หาหลักฐานจากเว็บสถิติ จากข่าวเก่าๆ แล้วส่งข้อมูลอีเมล์ไปให้ฟีฟ่าดู เขาก็แก้ผลให้หลายคู่

ผมเทียบสถิติดู ถ้าไม่ตรงก็ท้วง ต่อให้เราแพ้แต่เขาบันทึกว่าชนะก็ท้วง เพราะข้อมูลต้องแฟร์ๆ ต้องถูกต้องทั้งสองฝั่ง ที่ยื่นไปเป็นผลฟุตบอลในอดีต อาจไม่ได้มีผลต่ออันดับปัจจุบัน แต่มีผลในเชิงความถูกต้องของข้อมูลและสถิติ

– ไม่มีหน่วยงานไหนทำหน้าที่เก็บสถิติพวกนี้?

มีคนพยายามทำ อย่างฟุตบอลก็จะมีสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอล หรือมีเพื่อนๆ บางคนทำ ก็เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แต่กีฬาอื่นๆ จะไม่ค่อยมีคนทำ การเก็บข้อมูลมีหลายประเภท ผมสนใจผลการแข่งขันฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆ ต้องการให้คนไทยรู้ว่าใครไปทำชื่อเสียงให้ประเทศเราบ้าง และรู้ว่าทำชื่อเสียงในระดับไหน รู้ว่าในอดีตเราเคยเจอทีมเหล่านี้ ชนะกี่ครั้ง เสมอกี่ครั้ง แพ้กี่ครั้ง เป็นจุดตั้งต้นให้หาข้อมูลอื่นๆ ได้อีก บางสมาคมจะมีข้อมูลของเขา แต่เราเก็บเรื่องราวในอดีตมาเล่าให้คนรุ่นหลังฟังมากกว่า

– สถิติบอลไทยที่เห็นมีการพัฒนาขึ้นแค่ไหน?

จากอดีตถึงปัจจุบัน เราแค่กลับมายืนที่เดิม คือ “King of ASEAN” ซึ่งเราเคยเป็นมาแล้วและตกลงไป วันนี้เรามายืนที่เดิม ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อาจยากกว่าเมื่อก่อน เพราะเมื่อก่อนอาเซียนยังเป็นเซมิโปรอยู่ แต่วันนี้ทุกคนเป็นมืออาชีพเหมือนกันหมด เรายังยืนจุดเดิม แต่มั่นคงขึ้น วันนี้เราต่อกรกับทีมจากเอเชียได้ดีขึ้นในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ วันนี้เราเขยิบมาเสมอออสเตรเลียได้แล้วในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก การพัฒนาไม่มีก้าวกระโดด มีแต่บันไดทีละขั้น

เมื่อก่อนไทยแพ้ซาอุฯอย่างต่ำ 6-0, 4-0 วันนี้แพ้ 1-0 ในบอลโลกรอบคัดเลือกที่เขาต้องเอาจริงแน่นอน สถิติพวกนี้ทำให้เราเห็นการพัฒนาได้

– การเป็นโปรแกรมเมอร์มีส่วนในความสนใจเรื่องสถิติไหม?

งานไอทีส่วนใหญ่ทุกวันนี้คือการจัดการดาต้า ทำข้อมูลดิบเป็นสารสนเทศ ย่อยแล้วเป็นองค์ความรู้นำเสนอ หลักการเดียวกันกับการเก็บข้อมูล วันนี้ผมสะสมข้อมูลอยู่ การทำงานไอทีทำให้เรามีไอเดียในอนาคตว่าจะเอาข้อมูลนี้นำเสนอให้คนอื่นเข้าใจง่ายได้ยังไง

ในแง่คนทำด้านไอทีหรือซอฟต์แวร์ เมื่อเกิดปัญหาแล้วต้องไปค้นหาคำตอบจากหลายแหล่ง เวลาหาข้อมูลผมก็ใช้แนวทางนี้เหมือนกัน คิดอย่างเป็นตรรกะ มีเหตุผลมารองรับ ผสมกับการหาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์

– ทุ่มเทให้ความชอบขนาดนี้ คนรอบข้างว่ายังไงบ้าง?

คนรอบข้างก็สนับสนุนดี หนังสือบอลเล่มแรกก็ได้จากพ่อ เขาเห็นเราชอบฟุตบอล ทุกอาทิตย์ไปตลาดก็จะซื้อเวิลด์ซอคเกอร์ ซื้อฟุตบอลสยามมาให้ ผมชอบบอลไทยเพราะอ่านฟุตบอลสยาม หนังสือพิมพ์กีฬารายวันเขาก็รับมาให้เราอ่าน พ่อผมเป็นคนชอบดูกีฬา แต่แม่จะไม่ค่อยดู แม่เคยเห็นสถิติที่ผมจดใส่สมุดไว้เมื่อก่อน เขาก็คิดว่าผมเล่นพนัน ซึ่งจริงๆ ผมเป็นคนที่ไม่เล่นพนันเลย ผมเชื่อว่ากีฬาดูสนุกได้โดยไม่ต้องเล่นพนัน ใครบอกว่าติดปลายนวมหน่อยให้ดูสนุกขึ้น แต่หากเรามีข้อมูลและมีทีมที่ชอบจริงๆ อย่างผมจะอินกับทีมชาติไทยทุกประเภทกีฬา ผมจะมีอารมณ์ร่วมโดยที่ไม่ต้องแทงพนัน

 

“…มีเส้นบางๆ ระหว่างวิจารณ์กับด่า ผมอยากให้สังคมเราวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมีเหตุผล มากกว่าด่าด้วยอารมณ์ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยพัฒนาคนดูกีฬา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค แล้วเราจะคุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้น…”

– เก็บเฉพาะผลแข่ง แต่รายละเอียดอื่นๆ ก็จำได้ดี?

ก็มีด้วย มันเป็นความจำเป็นความสนใจที่เราหาข้อมูลอ่าน ส่วนหนึ่งผมซื้อนิตยสารกีฬาอ่านทั้งไทยและเทศ ผมชอบนิตยสารหรือบทความที่นำเสนอเรื่องราวแง่มุมที่ไม่ใช่แค่ผลการแข่งขัน ผมดูกีฬาผมไม่ได้ดูแค่ผล ผมดูตั้งแต่เสื้อที่ใช้แข่ง ลูกฟุตบอล สนาม ลายตาข่าย ถ้วยรางวัล ทุกชนิดกีฬาจะมีเรื่องเล่าของมัน จริงๆ แล้วมีคนรู้เยอะกว่าผม เก่งกว่าผม แต่ละคนจะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป ผมมีเพื่อนที่แม่นความรู้เรื่องเสื้อบอลมากกว่าผม ในแต่ละกีฬาจะมีเรื่องที่แต่ละคนสนใจต่างกันไป เรียนรู้จากเขาและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ผมก็เป็นคนชอบกีฬาคนหนึ่ง ทำแล้วอยากเผยแพร่ในมุมที่ผมสนใจ

– จุดประกายความสนใจเรื่องฟุตบอล?

ดูเป็นเรื่องตลก ตอนเด็กผมชอบฟุตบอล แต่ผมชอบเล่นบอลคนเดียวที่บ้าน ไปซื้อลูกบอลพลาสติกมาขัดออกให้เหลือเป็นลูกขาวๆ เอาปากกาเมจิกวาด ดูจากหนังสือบอลว่า ลูกบอลอาดิดาสลายเป็นอย่างนี้ก็วาดตาม เมื่อก่อนยังไม่มีเสื้อบอล ก็เอาเมจิกมาวาดเสื้อห่านคู่สีขาวเป็นเสื้อทีมชาติ เอากระดาษเอ 4 มาทำเป็นธง เปิดสารานุกรมโลกของเรา ไทยเจอประเทศนี้ ธงเป็นอย่างนี้ แล้วก็เอาข้อมูลมาพากย์บอลคนเดียว ที่บ้านเห็นเราเล่นคนเดียวก็พาไปหาจิตแพทย์ แต่หมอบอกว่าไม่ได้เป็นอะไร ก็กลับมาเล่นเหมือนเดิม

พอถึงจุดหนึ่งเราอยากเปลี่ยนมาเล่นบนคอมพิวเตอร์ที่สมจริงกว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ และผมชอบวิชาประวัติศาสตร์ ค่อนข้างทำคะแนนวิชานี้ได้ดี อาจเพราะสารานุกรมที่ผมเปิดอ่านแล้วเอามาเป็นข้อมูลในการพากย์นั่นแหละ พอถึงวันหนึ่งเราไปดูนิตยสารกีฬาเมืองนอก เขามีสถิติข้อมูลเยอะดี เราอยากทำบ้าง ก็เริ่มเก็บสะสมข้อมูล

– ทีมฟุตบอลที่ชอบ?

สโมสรในเมืองไทยชอบบีอีซี เทโรศาสน ชอบตั้งแต่ปี 2000 กว่าๆ เมื่อก่อนเป็นทีมเก่ง สามารถสู้กับทีมระดับเอเชียได้ ชอบดูทีมไทยแข่งกับทีมต่างประเทศ จะไม่ค่อยดูไทยกับไทยแข่งกันเอง การชอบเทโรฯนอกจากผลงานและยังชอบจากเสื้อแข่งที่ใช้ หลายทีมก็ชอบเพราะเสื้อเหมือนกัน

ถ้าเป็นเมืองนอกชอบลิเวอร์พูล ดูมาแต่แรก ชอบมานานแล้ว ส่วนนักเตะบอลไทยชอบ นที ทองสุขแก้ว เมื่อก่อนทันดูเขาเล่น อาจเพราะตอนไปแข่งแฟนพันธุ์แท้ได้เสื้อของเขาที่ใช้แข่งเหรียญทองซีเกมส์ เข้ามาเติมเต็มจากที่ชอบอยู่แล้ว และชอบโค้ชเฮง วิทยา เลาหกุล เพราะเขาไปเล่นลีกเยอรมนีได้ ไม่ทันดูเขาเล่น แต่ชอบเรื่องราวของเขา ส่วนลิเวอร์พูลชอบ บรูซ โครบเบอลาร์ ผู้รักษาประตู

– สิ่งที่ประทับใจจากความชอบเรื่องกีฬา?

คนบางคนตื่นมายังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร บางคนไม่รู้ว่างานประจำที่ทำอยู่ชอบไหม งานอดิเรกคืออะไร เหมือนชีวิตไม่มีเป้าหมาย แต่ผมชัดเจนทุกอย่าง ผมชอบในงานสอน ก็มาเป็นอาจารย์ เป็นเทรนเนอร์ ในวันพักผ่อนมีงานอดิเรกที่ชอบ วันนี้จะทำอะไรมีแพลนนิ่งหมด วันนี้ทำงานเสร็จ เหนื่อย อาจไปดูกีฬาหาข้อมูลเพิ่ม ผมสามารถมีความสุขกับทุกวันที่ตื่นขึ้นมาได้ นั่นคือชีวิตผมจริงๆ

– เวลาไปดูกีฬาต้องมีเพื่อนไปด้วยไหม?

ผมจะมีเพื่อนที่ชอบแบบเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่จะดูแค่บอล ดูกีฬาใหญ่ๆ อย่างแบดมินตัน วอลเลย์บอล แต่ผมดูทุกอย่าง เคยมีตอนซีเกมส์ 2007 แข่งที่โคราช แต่ยิงปืนแข่งที่กรุงเทพฯ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ผมชวนพี่คนหนึ่งซึ่งไม่เคยดูกีฬาอื่นนอกจากฟุตบอลไปดูด้วยกัน แล้วผมเป็นคนสะสมตั๋วกีฬาด้วย วันนั้นที่สนามยิงปืน ขายตั๋วได้ 2 ใบ คือผมกับเพื่อนที่ลากไปด้วยนี่แหละ คนอื่นในสนามคือสต๊าฟหรือนักกีฬามาดูกันเอง แล้วคนที่ไปด้วยถามว่า “พามาดูอะไร” เราชอบไง บางครั้งเรามีความสุขกับการได้ยินเสียงกระสุนลั่นแล้วมีแต้มขึ้น เป็นรายละเอียดที่ไม่รู้จะอธิบายคนอื่นยังไง ตั๋วใบนี้ผมยังเก็บไว้อยู่เลยหมายเลข 001

– ดูกีฬาที่คนไม่ค่อยดู?

แฮนด์บอลผมก็ดู มีชิงแชมป์เอเชียมาแข่ง คนไม่ค่อยรู้หรอก แต่แฮนด์บอลมีในโอลิมปิกไม่ได้แปลกอะไร ถ้าเป็นซีเกมส์จะมีกีฬาพื้นบ้านบรรจุด้วย เช่น พม่ามีชินลงที่คล้ายตะกร้อ เวียดนามมีชัตเติลค็อกเดาะลูกขนไก่ ผมก็ไปดู พยายามศึกษาหรือนั่งดูถ่ายทอดสดเพื่อเชียร์นักกีฬาไทย เพื่อนผมบอกว่าคงไม่มีใครบ้ามานั่งดูชินลงเป็นวันๆ หรอก ผมก็นั่งดูเพราะคิดว่าเป็นความรู้ใหม่ๆ ก่อนดูก็หาข้อมูลไปก่อน แต่หลักๆ ก็ชอบดูกีฬาที่มีในโอลิมปิกนั่นแหละ

– อะไรที่คิดว่าบ้าสุดที่ทำมา?

เรื่องอีเมล์ไปหาฟีฟ่าก็คงเป็นความบ้าอย่างหนึ่ง คนส่วนใหญ่ก็รู้จักว่าผมบ้าตรงนี้ การไปนั่งตามเก็บข้อมูลเก่าๆ ก็เป็นความบ้าอย่างหนึ่ง หรือผมเคยเจอเหรียญทองซีเกมส์ที่ตลาดนัด เป็นเหรียญโบว์ลิ่งเมื่อปี 1970 กว่าๆ ของนักกีฬาไทย เอามาขายตามแผงเหรียญทั่วไป ผมไปขอซื้อมาเก็บไว้ แล้วไปหาข้อมูล การที่เราไปนั่งดูว่าสนามนี้ลายตาข่ายเป็นแบบไหน อัฒจันทร์เป็นยังไง ลายลูกบอล ลายเสื้อบอล ก็คงเป็นความบ้าบอประมาณหนึ่งแหละ

– มีอะไรที่อยากทำให้สุดทาง?

ปลายทางผมอยากทำให้ข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่ออกไปในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ คิดว่าก่อนตายต้องทำให้ได้ แต่เราก็มีงานประจำ คงต้องใช้เวลาพอสมควร ผมอยากทำแหล่งข้อมูลเป็นพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ให้รู้ว่านักกีฬาไทยไปประสบความสำเร็จอะไรบ้าง

วันหนึ่งผมคงต้องเดินไปหาสมาคมกีฬาบางสมาคมว่าเขามีข้อมูลเหล่านี้เก็บไว้ไหม ต้องใช้ความช่วยเหลือจากคนอื่นแน่นอน การทำระบบไอทีก็มีค่าใช้จ่ายเรื่องโฮสติ้ง ต้องมองว่าจะจุนเจือตัวเองยังไง

จริงๆ คนที่ทำได้ดีที่สุดคือ ภาครัฐ เพราะมีอำนาจในการทำมากกว่า แต่บางครั้งคนทำงานกับคนที่สนใจก็มีมุมมองคนละแบบ เขาก็มีงานประจำที่เขาต้องทำอยู่แล้ว เราอาจมีความสนใจเป็นพิเศษ วันนี้เราพยายามหาข้อมูลให้ได้ครบถ้วนมากที่สุดก่อน

– ถ้าสื่อสารกับแฟนกีฬาไทยได้อยากพูดอะไร?

ผมอยากให้แฟนกีฬาไทยดูกีฬาอย่างเข้าใจในทุกชนิด อยากให้มองนักกีฬาว่าเขาคือมนุษย์คนหนึ่ง มีแพ้มีชนะ เขาต้องมีเวลาส่วนตัว ต้องดูอย่างเข้าใจ เราคาดหวังกับผลการแข่งขันได้ แต่เมื่อไม่เป็นไปตามนั้นก็ควรเข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ทุกวันนี้มีดราม่าโลกโซเชียล คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ในวันที่เขาแพ้มันแย่อยู่แล้ว ความเห็นบางอย่างยิ่งเป็นการซ้ำเติม ถึงบอกว่ามืออาชีพต้องรับมือสิ่งเหล่านี้ได้ แต่คนทุกคนมีเรื่องจิตใจไม่เหมือนกัน

ถ้าเราดูอย่างเข้าใจ จะลดการด่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ได้มากขึ้น

ธิษณา ธนคลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image