สุกรี เจริญสุข : ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทย ตายแล้ว

ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่องโหมโรง

ทำไมจึงตั้งข้อกล่าวหาว่า ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยตายแล้ว

ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทย เป็นดนตรีดั้งเดิมที่มีอยู่ในสังคมไทย มีบทบาทและความสำคัญน้อยลง ไม่มีอะไรใหม่ ลำพังของเก่าที่มีอยู่เดิมก็รักษาไว้ไม่ได้ เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยก็ไม่ได้อยู่ในสายตาของการพัฒนาโดยรัฐแต่อย่างใด ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง อยู่กับวิถีชีวิตในชุมชน อยู่ในวัด อยู่ตามบ้าน แม้ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยจะเข้าไปอยู่ในโรงเรียนบ้าง ก็เป็นเพียงการจ้างชาวบ้านที่เล่นดนตรีได้ให้ตำแหน่งเป็นภารโรง แล้วมีหน้าที่สอนดนตรีให้กับเด็กได้เล่นแก้ความรำคาญเท่านั้น

วันเวลาผ่านไป ครูดนตรีพื้นบ้านและครูดนตรีไทยก็ล้มหายตายจาก ความรู้เรื่องเพลง เนื้อร้อง ทำนองเพลง ทางเพลง เครื่องดนตรี ก็ไม่มีคนสืบทอด ไม่เก่งพอที่จะสืบทอด ได้แต่เพียงจำทรงเอาไว้ เพลงดนตรี เครื่องดนตรี ก็ตายไปกับครูดนตรีด้วย

ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยเป็นประวัติศาสตร์ของสังคมที่มีชีวิต เพราะดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยให้อารมณ์ความรู้สึก ให้รสนิยม ให้บรรยากาศ บอกความเป็นไปของสังคม ทำให้นึกถึงอดีต รู้สึกถึงปัจจุบัน และคิดถึงอนาคต เมื่อนักดนตรีไม่มีงานทำ ไม่มีเวทีแสดง ฝีมือก็ตกต่ำลง รายได้ก็ไม่มี ในที่สุดก็ต้องละทิ้งไป ไม่มีใครได้เห็นของดี นักดนตรีฝีมือดีทั้งหลายก็เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น แขวนเครื่องดนตรีไว้ที่ฝาผนังบ้านแทน คือความตายของดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทย

Advertisement

วันนี้มีบ้านเครื่องดนตรีได้บอกขายเครื่องดนตรี เพื่อให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เก็บรักษาเอาไว้ โดยอ้างว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ดี มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา เป็นเครื่องของครูดนตรีคนสำคัญ ซึ่งไม่อยากให้เครื่องดนตรีตกไปเป็นของคนอื่น (ร้านของเก่า) แต่อยากให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ก็อยากจะขายให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งวันนี้ก็ได้ซื้อเครื่องดนตรีเก็บเอาไว้พอสมควร เพราะความเกรงใจและเสียดายเครื่อง

ทำนองเพลงไทยจำนวนมากหายสาบสูญ เหลือไว้แต่ชื่อเพลง ฝีมือขั้นสุดยอดในการบรรเลงเครื่องดนตรีสูญหาย ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็ไม่สามารถจะทำได้ เนื่องจากไม่ได้เรียนต่อเพลงเอาไว้ เหลือแต่เครื่องดนตรีที่ไม่รู้ว่ามีความวิเศษอย่างไร ไพเราะอย่างไร ได้แต่เล่าสืบต่อกันมาว่า “วิเศษไพเราะเหลือเกิน” แต่ก็ไม่สามารถที่จะสัมผัสความไพเราะเหลือเกินนั้นได้ เพราะความไพเราะของเสียงดนตรีจะต้องได้สัมผัสจากประสบการณ์ตรงเท่านั้น ต้องได้ยินจึงจะรู้สึกได้ ซึ่งไม่สามารถเล่าสู่กันฟังเรื่องความไพเราะได้ ไม่สามารถอ่านแล้วรับรู้ความไพเราะได้

เมื่อระบบการศึกษาอยู่ที่วัด วัดมีเพลงสวด พระสวดมนต์ สวดศพ วัดมีตะโพน กลองทัด ฆ้อง ไว้ตีบอกเวลา มีวงตุ้มโมง กลองตีออกเสียงดังตุ้มบอกเวลากลางคืน ว่าหนึ่งทุ่ม สองทุ่ม หรือสามทุ่ม ส่วนฆ้องไว้ตีบอกเวลากลางวัน หนึ่งโมง สองโมง หรือสามโมง เป็นต้น วัดมีปี่พาทย์บรรเลงประโคมศพ ซึ่งดนตรียังอยู่กับวัด เมื่อการศึกษาแยกออกจากวัดไปอยู่ที่โรงเรียน โรงเรียนไม่ได้เอาเสียงดนตรีไปจัดการศึกษาไว้ด้วย โรงเรียนแห้งแล้งดนตรีจึงตกหล่นอยู่ในวัด ส่วนวัดก็ไม่มีนักเรียนช่วยตีกลองตีฆ้องตีระฆังวัดอีกต่อไป แม้ปี่พาทย์ก็ต้องออกจากวัด เพราะสมภารไล่พวกปี่พาทย์ (ขี้เมา) ออกจากวัด ในระยะ 50-60 ปี ดนตรีพื้นบ้านและครูดนตรีไทยจึงไม่มีอาชีพทำมาหากิน

Advertisement

สิ่งที่สูญเสียก็คือ นักดนตรีได้สูญเสียอาชีพ เมื่อประกอบอาชีพไม่ได้ นักดนตรีพื้นบ้านและนักดนตรีไทยก็ตาย ครูดนตรีได้แต่เล่าเรื่องดนตรีให้นักเรียนฟัง นักวิชาการดนตรีก็ศึกษาหาความรู้เรื่องดนตรี

จะรักษาดนตรีพื้นบ้านและพัฒนาดนตรีไทยได้อย่างไร ซึ่งก็ไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์ ใครทำอะไรได้ก็ควรจะทำ สำหรับสถาบันการศึกษาในระดับพื้นฐานนั้น ไม่มีครูดนตรีที่มีฝีมือจะสอนเด็กในโรงเรียนให้เล่นดนตรีพื้นบ้านหรือเล่นดนตรีไทย เด็กไทยจึงไม่ได้เรียนฝีมือดนตรีตั้งแต่เด็ก เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาแล้ว มือไม้แข็งหมดแล้ว จิตใจก็ไม่ได้รักดนตรี แม้จะมีวิชาเอกดนตรีไทยดนตรีพื้นบ้านให้ศึกษา ก็ศึกษาได้แค่ความรู้แต่ไม่มีความสามารถ ทำให้เด็กไทยไม่รู้ว่าดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยที่ดีเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน หากเมื่อได้พบของดีแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าจะนำดนตรีที่ดีไปประกอบอาชีพได้อย่างไร

เด็กๆ เริ่มสงสัยว่า เรียนดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยแล้ว จะออกไปทำอะไร

ครูสุเชาว์ หริมพานิช ครูสอนปี่พาทย์ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า อาชีพดนตรีไทยในปัจจุบันนั้นไม่มี มีแต่หน้าที่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่และรับเงินเดือนจากราชการ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร กองดุริยางค์ทหาร งานดุริยางค์กรุงเทพฯ เป็นอาจารย์สอนดนตรีในสถาบันการศึกษา โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เพราะว่ามีความมั่นคงดี ได้รับเงินเดือนแน่นอน แม้จะไม่ได้พัฒนาฝีมืออะไรก็ตาม แต่ก็มีเงินเดือนขึ้นทุกปี มีสวัสดิการ และมีความมั่นคง

เมื่อก่อนวงปี่พาทย์ได้เล่นงานศพ งานแต่ง งานวันเกิด ดนตรีประกอบการแสดงโขน แสดงหุ่นกระบอก เมื่อสิ่งเหล่านี้มีน้อยลงจึงไม่มีอาชีพนักดนตรีเหลืออยู่ ที่มีอยู่ที่กรมศิลปากรก็เป็นงานในหน้าที่ประกอบพระราชพิธีหรือใช้ประกอบพิธีของราชการ หากมีงานของผู้มีอันจะกินมาว่าจ้าง ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เน้นดนตรีคุณภาพ ขอให้มีเสียงดังประดับบารมีก็เป็นพอแล้ว

เด็กที่มาเรียนดนตรีกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็มีคนเก่งๆ มาจากบ้านเครื่องก็เยอะ ซึ่งหมายถึงที่บ้านมีวงดนตรีไทย แต่เด็กก็ไม่ต้องการฝึกเพื่อฝีมือ แต่ต้องการมาเรียนเอาใบปริญญาเพื่อไปเป็นครูอาจารย์รับเงินเดือนเสียมากกว่า เมื่อได้เป็นครูสอนดนตรีแล้วก็หมดความพยายามที่จะเล่นดนตรีให้เก่งอีกต่อไป เหลือก็แต่ความรู้ที่ไม่มีความสามารถในการเล่นดนตรี

การที่เด็กจะเรียนดนตรีให้มีฝีมือนั้น ก็ต้องทุ่มเทเอาจริงเอาจังมาก ความจริงหลักสูตรก็ต้องตัดวิชาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ดนตรีออกไปอีกมาก เพื่อเด็กจะได้ฝึกซ้อมดนตรีให้เก่ง ขึ้นชื่อว่าเรียนดนตรีก็ต้องเล่นดนตรีให้เก่ง โรงเรียนก็ไม่มีใครเข้าใจเรื่องความเก่งทางดนตรี จะมุ่งเอาแต่เรียนวิชาความรู้ที่ไม่มีความสามารถ ดนตรีไทยจึงตาย

ทางออกของการเรียนดนตรีไทยก็คือ เรียนดนตรีแล้วต้องเก่ง เก่งแล้วต้องมีเวที และเวทีก็ต้องสร้างอาชีพ เพราะคนที่มีฝีมือก็ต้องมีราคาที่แพง เพื่อให้มีเงินเลี้ยงครอบครัวได้ หากเล่นดนตรีไทยแล้วมีเงินเลี้ยงครอบครัวได้ ก็จะมีคนที่เล่นดนตรีไทยและจะมีคนที่มีฝีมือมากขึ้น การเล่นดนตรีบ่อยๆ ทำให้เกิดความชำนาญและมีความเคยมือ ทำให้มีความเชี่ยวชาญในการเล่นมากขึ้น ดนตรีไทยเมื่อเล่นแล้วดี ก็จะมีคนฟัง

การสร้างเวทีดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการอยู่รอดของดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทย ซึ่งต้องผูกกับชีวิตประจำวัน ประกอบกับ “ความจำเป็นและความต้องการ” ด้วย

ขอยกตัวอย่างในการสร้างเวทีให้ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยอยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน

ศพที่ตายต่อวันในกรุงเทพมหานครนั้น ประมาณ 80 ศพ วัดในกรุงเทพฯ มีอยู่อย่างน้อย 350 วัดที่มีเตาเผาศพ ซึ่งพิธีกรรมความตายเป็นพิธีกรรมใหญ่ของชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับวันเกิด วันแต่ง หรือวันสังสรรค์รื่นเริง พิธีกรรมแห่งความตายเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของคนตาย หากว่ากระทรวงวัฒนธรรมร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ทำพิธีกรรมงานศพ 4.0 เพื่อรักษาพิธีกรรมเอาไว้ รักษาดนตรีไทยและศิลปะการแสดงต่างๆ เพื่อเอาไว้ขายนักท่องเที่ยวเป็นผลพลอยได้ด้วย โดยเลือกวัดหลวงที่มีเตาเผาศพ (เชิงตะกอน) และมีศพที่ตายเผาทุกวันตามเวลาที่เหมาะสม แล้วจัดพิธีกรรมงานศพที่สมบูรณ์ (พิธีไทย) พร้อมพระสวด มโหรีปี่พาทย์ โขนหน้าศพ โดยระบุเวลาที่ชัดเจน อาทิ ทุกวันเวลา 17.00 น. มีพิธีเผาศพที่วัดนี้พร้อมพิธีครบ ออกสื่อไปทั่วโลกว่าอยากดูพิธีศพแบบไทยๆ ให้ไปที่วัดดังกล่าว

หากทำได้ ค่าใช้จ่ายสำหรับนักแสดง ดนตรีปี่พาทย์ เจ้าภาพออกส่วนหนึ่ง ให้รัฐโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกระทรวงวัฒนธรรมร่วมมือกันออกให้อีกส่วนหนึ่ง นักดนตรีวงต่างๆ นักแสดงอาชีพก็ผลัดกันมาแสดง ซึ่งอาจจะมีวัดอื่นๆ ทำกันมากขึ้น วัดก็สามารถที่จะขายพิธีกรรมงานศพได้ ซึ่งเชื่อว่าอาชีพดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยก็จะเกิดมากขึ้น การแข่งขันฝีมือก็จะเกิดขึ้น คุณภาพของดนตรีก็จะดีขึ้น การคิดค้นเพลงใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมาด้วย ความเป็นมืออาชีพนั้น นอกจากฝีมือแล้ว ต้องมีรายได้เลี้ยงตัวและเลี้ยงครอบครัวได้

เมื่อสามารถสร้างวัดให้มีพิธีเผาศพโดยอิงวัฒนธรรมเกิดขึ้น จะต้องนำการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้าไปช่วย อย่าปล่อยให้โต้โผ นายโรง เสี่ย มาเฟีย ฯลฯ เข้าไปฮุบยึดสัมปทานวัดเป็นอันขาด เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทยพัฒนาต่อไปได้ นอกจากตกเป็นทาสของนายทุนผู้มีอำนาจไปอีกทอดหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image