เรียนรู้แบบสร้างสรรค์พัฒนา “เด็ก-ชุมชน-ธุรกิจ” ด้วย “Constructionism”

เป็นที่รู้กันดีว่า ‘การศึกษา’ คือ หนทางเเห่งการพัฒนา ‘คน’ ที่ดีที่สุด

มูลนิธิศึกษาพัฒน์ จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานการพัฒนาต้นทุนมนุษย์ด้วยศาสตร์ Constructionism หรือ การเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ขึ้นที่ ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้

นิทรรศการจากโรงเรียนบ้านสันกำแพง

ภายใต้การสัมมนาวิชาการนานาชาติ “Constructionism 2016” ครั้งเเรกเอเชีย โดยมีบุคลากรด้านการศึกษาจากทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ร่วมสัมมนากับนักการศึกษาของไทย ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และฮ่องกง เพื่อนำเสนอแนวคิด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน

Advertisement

ซึ่งการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism หรือ การจัดการเรียนการสอนแบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์ Seymour Papert แห่ง Massachusetts Institute of Technology (MIT) บนความเชื่อที่ว่า “มนุษย์ทุกคนสามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา” ดังนั้นการจัดการศึกษาที่แท้จริงคือการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมผู้เรียนให้สร้างการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ที่ประกอบไปด้วยปัจจัย 4 ประการได้แก่ ความเป็นเจ้าของ ทำด้วยใจ เรียนรู้ร่วมกัน และเรียนรู้วิธีเรียน ผ่าน 3 กระบวนที่หมุนเวียนในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่องคือ ฝึกการคิดและจินตนาการ เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และรับฟังมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างจากเพื่อนและครู

(จากซ้าย) พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา, อัจฉรา เตชะสินธุ์ธนา
(จากซ้าย) พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา, อัจฉรา เตชะสินธุ์ธนา

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และผู้อำนวยการโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Constructionism ในประเทศไทย เปิดเผยว่าการจัดการประชุม Constructionism ไม่เคยจัดที่อื่นนอกจากกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาเลย เเต่เมื่อสองปีที่แล้วเราได้ส่งคนไทยไป 17 คน เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้นำเอาหลักคิดของ Constructionism มาใช้พัฒนาคนได้ทุกภาคส่วนของสังคมตั้งแต่ชาวไร่ชาวนาผู้ยากจน

เช่น ชุมชนบ้านสามขามีคุณภาพชีวิตที่่ขึ้น หรือ โรงเรียนก็มีผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ดีขึ้นได้รับรางวัลมากมาย ขณะที่ภาคเอกชนเมื่อนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ก็สามารถประหยัดเงินได้นับพันล้านบาท หรือนำไปใช้กับธุรกิจด้านขายปลีกก็พบว่าประหยัดเงินไปได้สองเท่าในระยะเวลา 5 ปี

Advertisement

“กว่า 20 ปีที่เรานำการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ไปใช้ พบว่าสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผ่านวิธีการที่ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ เด็กของเราจะคิดเป็นและทำเป็น ไม่ใช่แค่ท่องจำหรือฟังจดจำจากการสอนบนกระดานดำ เพราะหลักของ Constructionism สร้างให้เด็กเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างให้คนเป็นนวัตกร เมื่อเขาโตขึ้นจะสามารถเรียนรู้เพื่อรู้หรือ learning how to learn ซึ่งจะทำให้เขาคิดต่อไปเองได้ โรงเรียนดรุณสิกขาลัยก็เป็นฐานของการขยายผลการดำเนินงานออกไปที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนทัศนคติของผู้ใหญ่ในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบเดิมมาเป็นรูปแบบใหม่นั้นยังเป็นเรื่องยากซึ่งจะต้องใช้เวลา และที่สำคัญคือผู้บริหารของสถานศึกษาต้องเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าวจึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงกับการศึกษาของไทยได้” พารณระบุ

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงาน

ในงานนี้ประเทศไทยได้นำเอากรณีศึกษาของ ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มานำเสนอซึ่งพบว่าเด็กนักเรียนมีความชื่นชอบและสนุกที่จะเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยจะมีคุณครูเป็นผู้ที่ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ นำหลักและทฤษฎีต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการจัดการเรียนรู้ที่สามารถทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์องค์ความรู้ต่างๆ ขึ้นได้ด้วยตนเอง

ส่วนประเทศคอสตาริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบที่นำกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Constructionism ไปใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 กับการจัดการเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ได้ร่วมนำเสนอแนวคิดของการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ว่าการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งจะต้องดึงพลังความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาทั้งภาครัฐ เอกชน กระทรวง มูลนิธิร่วมมือกัน โดยจะต้องไม่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาข้องเกี่ยว

Leda Munoz ผู้แทนจากมูลนิธิ Omar Dengo ประเทศคอสตาริกา บอกว่า ความเข้าใจของครูส่งผลต่อความเข้าใจของเด็ก ดังนั้นการขับเคลื่อนการเรียนรู้แบบ Constructionism ให้ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีการอบรมครูอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศคอสตาริกามีโรงเรียนกว่า 2,500 แห่งที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ และทำให้เกิดการปฏิวัติการศึกษาและสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในประเทศได้

บรรยากาศในชั้นเรียนที่แสนสนุกของเด็ก

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้รับการยืนยันจาก อัจฉรา เตชะสินธุ์ธนา ครูระดับประถมศึกษา กล่าวถึงการจัดการเรียนการรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญาว่า เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ซึ่งหลายครั้งเรามักจะคิดและวางแผนการทำงานอยู่เพียงในหัวของเราอย่างเดียว แต่เมื่อไรก็ตามที่เราลงมือทำ ก็จะเป็นการเอาความคิดเหล่านั้นตีความออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นสิ่งที่ทำและเข้าใจว่าความคิดนั้นมีความสับสนอยู่ตรงไหน

“เป็นการเรียนรู้ที่เปิดกว้างมาก เราได้มองเห็นความคิดของตัวเราเองและลงมือปฏิบัติ เมื่อเกิดผลขึ้นก็สามารถมองย้อนกลับไปหาตัวเองได้ว่า “ผล” หรือ “สิ่งที่ทำ” นั้นดีหรือไม่ดี มีปัญหาตรงไหน แล้วจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร สิ่งที่เด็กๆ จะได้รับจาก Constructionism หลักๆ ก็คือ คิดเป็น คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ ผ่านการลงมือทำ แล้วก็การทำงานร่วมกันเพื่อที่จะแบ่งปันให้กับคนอื่น ที่สำคัญคือความรู้ที่เขาได้รับจากการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ใช่ความรู้มือสองที่ได้จากการที่ใครมาพูดหรือบรรยายให้ฟัง แต่เป็นความรู้มือหนึ่งที่เขาได้จากการลงมือทำเอง ซึ่งหมายความว่าเขาจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ และความรู้นี้จะติดตัวเขาไปเป็นความเข้าใจที่จะสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง” คุณครูอัจฉรากล่าว

ปัจจุบัน “มูลนิธิศึกษาพัฒน์” ได้เผยแพร่และต่อยอดกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญาสู่ภาคสังคมผ่าน “โครงการจัดการหนี้สิน” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมผ่าน “โครงการพัฒนาบุคลากรแบบ Constructionism” ที่เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้บุคลากรในองค์กรมีความสามารถในการเรียนรู้ เกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน และสามารถคิดค้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้

พร้อมที่จะขยายผลการออกไปสู่สถาบันการศึกษาและทุกภาคส่วนในสังคมไทยเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และทุนมนุษย์ของคนไทยให้สูงขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image