ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย เปิดชีวิต ‘นิโคลา เทสลา’ อัจฉริยะเดียวดายที่โลกไม่จำ

“จงบอกชื่อนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกที่คุณรู้จัก”

โจทย์ง่ายๆ ที่ไม่ต้องแก้สมการ แถมยังเดาได้ไม่ยากว่าคำตอบจะประกอบด้วยใครบ้าง

แน่นอนว่า “นิโคลา เทสลา” คงไม่ใช่ 1 ใน 5 ชื่อแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึง

ทั้งที่แท้จริงแล้ว ผลงานของบุคคลผู้นี้อยู่รายล้อมรอบตัวเรา นั่นคือ ไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้กันในทุกบ้านเรือน

Advertisement

ความประหลาดใจต่อการถูกหลงลืมในตัวตนของนักวิทย์ผู้นี้ ประกอบกับความประทับใจในผลงานยิ่งใหญ่ที่ส่งผลให้ “โลกไม่เหมือนเดิม” กลายเป็นแรงผลักดันให้ “รศ.ดร.ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย” อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงมือแปลต้นฉบับหนังสือ “Prodigal Genius : The Life of Nikola Tesla” ของ John J O’Neill ร้อยเรียงเป็นภาษาไทยในชื่อ “นิโคลา เทสลา อัจฉริยะนักฝันผู้เดียวดาย” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

ยุทธนาเกิดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 ในครอบครัวคนจีน จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนทวีธาภิเศก ได้เป็นตัวแทนนักเรียนรุ่นแรกไปแข่งฟิสิกส์โอลิมปิก สอบเข้ามหาวิทยาลัยสำเร็จด้วยคะแนนสูงลิ่ว เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ตามใจเรียกร้อง แทนการเดินเข้าสู่โรงเรียนแพทย์ทั้งที่ความสามารถอยู่ในระดับ “เก่งเลือกได้”

ตกหลุมรักผลงาน และความแปลกประหลาดของ “เทสลา” ผู้มีชีวิตอันเดียวดาย ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างน่าอดสู ราวกับความอัจฉริยะของเขาเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่จริง
เคยฉีกสัญญาที่จะสามารถทำเงินให้ตัวเองอย่างมหาศาล

Advertisement

ทั้งยังปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงต่อความรักแบบชายหญิง ด้วยตั้งใจจะทุ่มเททั้งชีวิตในการศึกษาวิจัย กระทั่งเป็นเจ้าของผลงานอันยิ่งใหญ่ ทว่า โลกกลับไม่จำ!

ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใด ดร.หนุ่มจากเคมบริดจ์ พ่วงดีกรีเจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อย่าง ยุทธนา จึงหันมาสนใจบุคคลที่หนังสือเรียนไทยมักให้ข้อมูลไว้แค่ชื่อ “หน่วยสนามแม่เหล็ก” ว่า “เทสลา”

เริ่มสนใจวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

ตอนเด็กๆ เคยอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ คือเป็นคนชอบอ่าน อ่านทุกอย่าง หนังสือพิมพ์ กับวารสารก็อ่าน เลยค่อยๆ ซึมซับ ยุคนั้นมีวารสาร ‘ทักษะ’ และ ‘รู้รอบตัว’ มีบทสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ไทย รู้สึกว่าน่าสนใจดี

ความชอบในนักวิทยาศาสตร์แต่ละคน หรือวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ แต่ละช่วงวัยต่างกันไหม

โอ้! ตอนเด็กมากๆ เราไม่รู้หรอกว่านี่คือฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เราคิดว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์แหละ แต่ไม่รู้ว่านี่คือควอนตัม คือดาราศาสตร์ พอช่วง ม.ปลายถึงจะเห็นว่าต่างกัน จริงๆ แล้วตอน ม.3 ค่อนข้างกลัวมาก เพราะเป็นคนเรียนไม่ค่อยดี พี่ชายเรียนดีกว่า อยู่สวนกุหลาบคนนึง เตรียมอุดมฯคนนึง พี่บอกว่า เฮ้ย! สายวิทย์มันยากนะ ผมก็พยายาม พยายามตั้งใจ ทั้งอ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัด เรียนกวดวิชา ทำมันทุกอย่าง สิ่งที่ไม่ถนัดคือวิชาท่องจำ แนวชีววิทยา แต่คล่องฟิสิกส์ เคมีมากกว่า

ทำไมเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ได้คะแนนสอบสูงระดับที่เข้าเรียนแพทย์ได้

เพราะเรียนแล้วชอบ คิดว่าจะทำได้ดี และเชื่อว่าน่าจะมีหนทางอาชีพที่เดินไปได้ ตอนเรียน ม.5 ได้ไปเข้าค่ายเยาวชนช้างเผือกปูนซีเมนต์ไทย มีการแข่งคัดเลือกตัวแทนจังหวัดต่างๆ ฟิสิกส์โอลิมปิก ก็ติดเข้าไปเป็นตัวแทนกรุงเทพฯ ทำให้รู้จักนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น ยิ่งทำให้เห็นภาพว่ามีความน่าสนใจอยู่ รู้สึกว่าน่าจะมีทางไป ตอนนั้นประเทศก็พยายามสนับสนุน เริ่มมีโครงการ สสวท. หรือโครงการอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ก็เปิดโอกาส โดยไม่ได้เอาความฝันของเขามาใส่เรา ทางบ้านก็ไม่ได้ถึงกับมีฐานะ เป็นครอบครัวคนจีน เปิดร้านขายของธรรมดา แต่ก็ดำรงชีพได้ ไม่ได้ยากจนข้นแค้น จริงๆ ผมคิดว่าเขาแอบเสียดายบ้าง แต่ก็ไม่ได้บังคับ ตอนนี้ไม่ได้เป็นหมอ ก็ไม่ได้เสียใจ ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และได้ทำในสิ่งที่ชอบ

นักวิทยาศาสตร์มีมากมาย ทำไมเลือกแปลชีวิตเทสลา

ผมรู้จักเทสลาตอนไปเข้าค่ายฟิสิกส์โอลิมปิก อาจารย์วุทธิพันธุ์ ปรัชญพฤทธิ์ ปรมาจารย์ด้านฟิสิกส์มาสอน ตอนไปห้องแล็บ จำได้ว่ามีเครื่องมือที่เป็นขดลวด มีพวกหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เราเรียกว่านีออน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นปรากฏการณ์การเพิ่มความต่างศักย์อย่างมาก จนเกิดสปาร์กเหมือนฟ้าแลบ

เป็นประสบการณ์ที่เราไปเห็นจริง ภาพยังติดตา กลิ่นยังติดจมูก เป็นความประทับใจ เป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำมาตลอด แล้วตอนนั้นอาจารย์เล่าประวัติเทสลา ว่าเป็นคนคิดค้นเรื่องไฟฟ้ากระแสสลับซึ่งใช้อยู่ตามบ้าน พวกสายส่งกำลัง ระบบการส่งกำลังไฟฟ้าทั้งหลายที่เราใช้กันในปัจจุบัน สมัยก่อนรู้จักแต่เอดิสัน พอไปเข้าค่าย เลยรู้ว่าเทสลามีบทบาทอย่างมาก ผมก็ยังประหลาดใจว่าทำไมคนที่มีบทบาทขนาดนี้ไม่มีคนพูดถึง แม้กระทั่งหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ ม.ปลาย ก็แทบไม่มี

เทสลาคิดค้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีผลต่อโลกปัจจุบันขนาดนี้ ทำไมคนไม่รู้จัก

พอศึกษาชีวิตเขามากขึ้น ก็พบประเด็นหลายอย่าง คือ อาจเพราะไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์สายหลัก ผลงานของเขาก็มีการจดสิทธิบัตรไว้บ้าง แต่อาจไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ หรือไม่ได้ลงลึกในลักษณะการเขียนทฤษฎีชัดเจน เลยทำให้ไม่เกิดการอ้างอิงต่อ คนที่รู้จักและสนใจเทสลาอยู่ในมุมเล็กๆ เป็นแบบเฉพาะกลุ่ม เป็นแฟนพันธุ์แท้ ตอนหลังมีอินเตอร์เน็ต ข้อมูลถึงกันมากขึ้น ก็จะเริ่มเห็นว่า อ้อ! มีคนสนใจเทสลากันอยู่ในโลก

ปัจจุบันมีชื่อรถไฟฟ้าที่ใช้ชื่อเทสล่า เทสล่ามอเตอร์ อะไรอย่างนี้ ก็ทำให้คนสงสัยว่า เอ๊ะ! เทสลาคืออะไร ตอนหลังมีภาพยนต์ของคริสโตเฟอร์ โนแลน เรื่อง ‘เดอะเพรสทีจ ศึกมายากลหยุดโลก’ ก็เป็นการเอาเทสลามาอยู่ในป๊อป คัลเจอร์ ทำให้คนรู้จักมากขึ้น

ต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ.1944 เราต้องแปลภาษาให้ย้อนยุคตามไหม

ภาษาต้นฉบับมีความยาก เป็นกึ่งภาษาโบราณ มีคำศัพท์ที่ปัจจุบันอาจจะไม่ได้ใช้ในความหมายนั้น รวมถึงรูปประโยคที่ซับซ้อนและยาวมาก บางทีแปลออกมาพิลึกๆ ดูแล้วไม่ใช่ ก็ต้องค้นข้อมูลเพิ่ม เลยใช้เวลานานเป็นปี และโดน บก.แก้เยอะ (หัวเราะ)

ผมพยายามจะแปลให้มันเข้าใจได้มากที่สุด มันไม่ค่อยง่าย พูดอย่างนี้แล้วกัน ถ้าใครได้ลองไปอ่านต้นฉบับก็อาจจะงงๆ อีกอย่างหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตคือ วิธีการทำบท คือ หนังสือเล่มทุกวันนี้ อาจเป็นบทสั้นๆ กระชับ เพราะวิธีคิดและสมาธิคนสั้น ในขณะที่หนังสือเก่าอย่างต้นฉบับเรื่องนี้ ค่อนข้างยาว กว่าจะอารัมภบท มันไม่ใช่สไตล์ปัจจุบัน แต่ผมก็พยายามคงลักษณะเดิมของหนังสือไว้

การค้นพบหรือประดิษฐกรรมใดของเทสลาที่ทำเอาอึ้งไปเลย

งานหลักของเขาคือไฟฟ้ากระแสสลับที่มีประโยชน์ต่อโลกมาก อันนี้ชัดเจน เพราะทุกวันนี้เราใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ แต่อันที่ดูแปลกคือความพยายามส่งพลังงานไฟฟ้าไปตามแหล่งต่างๆ บนโลกโดยไม่ใช้สายส่ง เช่น ส่งไปตามพื้นดิน ซึ่งปรากฏในหนังเดอะ เพรสทีจ ที่มีการนำหลอดไฟไปปักตามสนามหญ้าแล้วมีไฟติด เทสลาคิดว่าน่าจะดั๊มพ์พลังงานไฟฟ้าส่งเข้าไปในโลกแล้วให้มันแพร่กระจายไปได้ อย่างนี้มันฟังดูแปลก เหมือนไม่น่าจะทำได้ แต่แนวคิดคล้ายๆ กันนี้ก็ถูกคนเอาไปปรับแต่งใช้ในรูปแบบต่างๆ ปัจจุบันเรามีที่ชาร์จโทรศัพท์แบบวางเฉยๆ ไม่มีสาย แต่ใช้วิธีส่งพลังงานไฟฟ้าหากัน ถ้าขี้ตู่ หรือพยายามเชียร์หน่อยๆ ก็อาจบอกได้ว่าแนวคิดพวกนี้มาจากเทสลา เขาเคยคิดไว้ก่อนแล้ว

คุณสมบัติอะไรของเทสลาที่นักวิทยาศาสตร์ควรเอาเป็นแบบอย่าง และในทางตรงข้าม อะไรที่ไม่ควรทำตาม

ผมคิดว่าเทสลามีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา มองว่าปัญหาพวกนี้มีความสำคัญต่อโลก พยายามเอาความรู้ไปช่วยแก้ปัญหาของโลก นับเป็นเรื่องจิตสาธารณะแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติ แต่ที่ไม่น่าเอาตามอย่างคือ การที่เขาไม่ค่อยเผยแพร่ผลงานในรูปแบบที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ จะเอาไปใช้ต่อได้ เขาอาจจะเขียนบทความลงนิตยสารบ้าง แต่ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็นและอาจมีการจดสิทธิบัตรในบางส่วน หลายเรื่องที่เขาทำอยู่ มีหลักฐานบันทึกเป็นแบบคร่าวๆ มาก เขาคงคิดว่าจะทำให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเผยแพร่ หรืออาจคิดว่าตัวเองยังมีชีวิตอีกไกล เอาไว้ตอนแก่แล้วค่อยทำให้สมบูรณ์แล้วเผยแพร่ทีเดียว แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจำเป็นต้องเผยแพร่องค์ความรู้ของเราให้คนอื่น เพราะจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน สมมุติว่างานเรายังไม่ดี คนอื่นจะเสนอให้เกิดการปรับปรุง จะทำให้งานดีขึ้น ส่งผลดีต่อโลก

บุคลิกแปลกประหลาด ส่งผลเสียต่องานบ้างหรือไม่

ในวงการวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องหาคนมาแทนที่เรา เพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างนักวิทย์คนถัดไป แต่เทสลาไม่มีลักษณะแบบนั้น การที่เขาเก็บตัว ไม่มีลูกศิษย์ชัดเจน เลยทำให้องค์ความรู้หายไป

เทสลาบอกตั้งใจอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่องาน เลยตัดเรื่องความรักออกไป แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะความกลัวหรือสาเหตุอื่นได้หรือไม่

เขาเคลมเรื่องความสะอาด กลัวติดเชื้อโรค อาจเพราะในอดีตเคยป่วยหนัก ส่วนเรื่องกลัวการสานสัมพันธ์ก็อาจเป็นไปได้ เราก็ไม่รู้ ข้อมูลไม่ชัด เป็นเกย์ไหม อันนี้ก็ไม่รู้ แต่โดยภาพรวมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะเขาเชื่อในอะไรบางอย่างที่อาจไม่ถูกต้องเมื่อเทียบกับมาตรฐานปกติของสังคม

อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งทุ่มเททั้งชีวิต หมดเงินทอง ทั้งที่มีความอัจริยะจะสร้างทรัพย์สินมหาศาล แต่ไม่ทำ

คงเป็นอุดมคติของเขา (ยิ้ม)

ถ้าโลกนี้ไม่มีเด็กชื่อเทสลาเกิดขึ้นมา อะไรจะหายไปจากโลกปัจจุบัน

พูดยาก เพราะเชื่อว่าด้วยวิวัฒนาการของโลก วันหนึ่งคงต้องมีคนคิด เพราะมันจำเป็น แต่อาจจะช้าลง เช่น ตอนนี้เราอาจจะยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรืออาจจะอีก 20 ปีข้างหน้าเราถึงจะมีอินเตอร์เน็ต อะไรอย่างนี้มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้ากระแสสลับ คงมีคนคิดได้ แต่ช้ากว่ามากเท่านั้นเอง

ในความเป็นนักวิทยาศาสตร์ เทสลาได้คะแนนดีเยี่ยม เป็นอัจฉริยะ แต่ในความเป็นปุถุชน ถือว่าสอบตกไหมในการใช้ชีวิต

คงเป็นอย่างนั้น ปัจจุบันเรียก ‘ไอคิวได้ อีคิวตก’ แต่ก็พูดยาก เพราะในมุมของการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างเป็นทางการ ก็ดูจะทำได้โอเค สามารถผูกมิตร มีเพื่อน เอ็นเตอร์เทนก็ทำได้ แต่เหมือนเขาไปจำกัดตัวเองกับบางอย่าง

ในหนังสือ เหมือนมีหลายอย่างย้อนแย้งกันในอุปนิสัยของเทสลา เช่น บอกว่าเป็นคนมีมารยาทอันเปี่ยมเสน่ห์ แต่ในโปรยปกบอกเดียวดาย

ใช่ มันเหมือนกับว่าเขาเลือกที่จะทำอะไรบางอย่าง เขาจำกัดตัวเอง เพราะจริงๆ เป็นคนแต่งกายดูดี บุคลิกภายนอกก็ดูดี น่าจะมีคนสนใจ การสานสัมพันธ์ไม่น่ายาก แต่ก็เป็นตัวเขาเองที่เลือกจะไม่ทำ เลือกจะอยู่แบบนี้

ชีวิตเทสลาสอนอะไรแก่คนรุ่นหลัง

ผมคิดว่าเราคงได้เห็นถึงความสำเร็จของคนและเห็นจุดบกพร่องของเขาด้วย ไมได้เห็นในฐานะที่เป็นเทวดา เขาทำให้เรารู้ว่าคนที่เก่งมากๆ ก็ยังมีจุดอ่อน ถ้าเราเรียนรู้ตรงนี้ ไม่ได้เรียนรู้เฉพาะจุดดี อาจจะวางแผนชีวิตดีขึ้น อย่างเรื่องผลประโยชน์ ผมไม่คิดว่าเราต้องรักษาผลประโยชน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ท้ายที่สุดหลายๆ อย่างมันก็อาจจะต้องมองถึงส่วนรวมเหมือนที่เทสลาทำ แต่ก็คงไม่ได้ตัดสินใจเหมือนเทสลา คือ ไม่มีจะกินก็ยอม ผมว่าเราต้องทำให้ตัวเองอยู่ได้ในระดับหนึ่งก่อนด้วย

ภาพในหนังฮอลลีวู้ด เปรียบเทียบกับหนังสือหรือภาพจำอื่นของเทสลา เหมือนหรือต่างกันไหม ตรงกับความจริงหรือเปล่า

คาแรกเตอร์โดยรวมค่อนข้างใช่นะ เดี๋ยวปลายปีนี้จะมีหนังอีกเรื่องหนึ่งออกมา ชื่อ ‘เดอะ เคอเร้นท์ วอร์’ เกี่ยวกับเอดิสัน เวสติ้งเฮาส์ และเทสลา ในช่วงที่ว่าจะพัฒนาไฟฟ้ากระแสตรงหรือกระแสสลับดี น่าจะเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่คนในสังคมจะได้มองเห็นเทสลา มีเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ เล่นเป็นเอดิสัน และนิโคลัส ฮอลท์ แสดงเป็นเทสลา

นักวิทยาศาสตร์ยุคนั้นมีความอิจฉาริษยากันไหม เวลาใครคิดค้นอะไรได้

แน่นอน มีความขัดแย้ง ไม่ถูกกัน อย่างเอดิสันกับเทสลา เอดิสันถึงขนาดเล่ห์กล เช่น พยายามโฆษณาว่าไฟฟ้ากระแสสลับของเทสลาอันตราย เคลมว่าเอาไปชอร์ตช้าง บอกว่าใช้ประหารชีวิตคน ทำให้คนตายได้ เทสลาก็พยายามพิสูจน์ข้อกล่าวหาเหล่านี้โดยตัวเขาทดสอบเองด้วยการผ่านกระแสสลับความศักย์สูง เพื่อพิสูจน์ว่าไม่เป็นอะไร แสดงว่ามั่นใจมาก เขารู้หลักการของมันมากพอ กรณีแบบนี้คือความต่างศักย์สูงจริง แต่ตัวกระแสต่ำ พอคิดสะระตะแล้ว ไม่มีผลต่อร่างกาย รวมถึงความถี่สูงๆ เซลล์ร่างกายก็ไม่ตอบสนองกับความถี่สูง

มีข้อสงสัยในงานของเทสลาที่อยากถามกับเจ้าตัวบ้างไหม

คงถามเขาว่า จินตนาการถึงปัจจุบันยังไง คิดว่าผลจากสิ่งที่ทำ มันจะเกิดอะไรขึ้นกับตอนนี้

ถ้าให้เดาคำตอบเทสลา คิดว่าเขาจะตอบว่าอะไร

เทสลาฝันไว้เยอะนะ เขาคงลิสต์มา แล้วผมก็จะบอกว่าบางอย่างมันเกิดขึ้นแล้ว เช่น มีการส่งผ่านพลังงานแบบที่ไมได้เป็นสายส่งแล้วนะ และคงบอกว่าเดี๋ยวนี้มีอินเตอร์เน็ต สามจี สี่จี ทำให้คนดู The Mask Singer ได้ เขาคงดีใจ (ยิ้ม)

อะไรบ้างที่เทสลาพยายามพัฒนา แต่ยังไม่สำเร็จในตอนที่เขามีชีวิตอยู่

การควบคุมระยะไกล อย่างที่ในหนังสือเล่มนี้พูดถึง ‘ออโตเมตรอน’ ในลักษณะของหุ่นยนต์ อันนี้ปัจจุบันเกิดขึ้นจริงแล้ว ส่วนที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่มีคนพยายามจะทำคือระบบทำลายล้างด้วยเลเซอร์ ลำแสงมฤตยู ลำแสงพลังงานสูง

วงการวิทยาศาสตร์ไทยในอนาคตสดใสหรือไม่

ถ้าดูภาพกว้าง วงการวิทยาศาสตร์ไทยดีขึ้นกว่า 20-30 ปีที่ผ่านมาแน่ๆ แต่ถามว่ามันได้รับความสนใจ หรือช่วยแก้ปัญหาของประเทศมากเท่าที่ควรจะเป็นหรือยัง ก็คิดว่ายัง อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มที่ดี เพียงแต่จะเร็วหรือช้าเท่านั้น ซึ่งสำหรับเมืองไทยถือว่าค่อนข้างช้า คิดว่าท้ายที่สุดนอกประเทศจะมากดดัน ให้ต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทำไมเดี๋ยวนี้บริษัทใหญ่ๆ ต้องทำวิจัย เพราะเขาต้องไปแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจกับนอกประเทศ ไม่งั้นโดนแย่งตลาด กลายเป็นความจำเป็นที่ทำให้เกิดการพัฒนา ในมุมของจำนวนคนหรือคนเก่งที่เข้ามาเรียน ยังน้อยอยู่ ถ้ารัฐบาลมีแผนชัดเจนในการจูงใจคนเก่งเข้ามาเรียนแล้วทำงานได้เต็มศักยภาพของเขา เชื่อว่าจะไปได้ดี อย่างมาเลเซียก็ทำเรื่องพวกนี้แล้วทำได้ดี ที่ผ่านมาเราเคยมีโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ แต่สักพักก็เงียบไป ในขณะที่มาเลเซียมีโครงการคล้ายๆ กันในการผลักดันงานวิจัยของเขา ซึ่งทำแล้วเวิร์ก บ้านเราพอเปลี่ยนรัฐบาล การสนับสนุนก็ไม่ต่อเนื่อง นโยบายเปลี่ยน โอ๊ย! สารพัด

ถ้าไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ทำไมควรอ่านเล่มนี้

นี่คือชีวประวัติของคนที่น่าสนใจ ชีวิตแปลก เราอาจจะไม่คิดว่ามีคนแบบนี้อยู่ในโลก เราจะได้เห็นถึงวิธีคิดแบบอุดมคติของเทสลาซึ่งเป็นคนที่พยายามทำเพื่อสังคมในมุมของนักวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้ความรู้เรื่องเรื่องไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ โดยมีเกร็ดและที่มาน่าสนใจ

มีส่วนไหนของตัวเองเหมือนเทสลาบ้างไหม

โอ้ว! ผมก็คงสนใจวิทยาศาสตร์เหมือนเทสลาไง (หัวเราะ) แต่รายละเอียดคงไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ผมชื่นชมสิ่งที่เขาทำให้กับโลกและมวลมนุษย์

…เราอาจไม่คิดว่ามีคนแบบนี้อยู่ในโลก เราจะได้เห็นวิธีคิดแบบอุดมคติของเทสลาซึ่งพยายามทำเพื่อสังคมในมุมของนักวิทยาศาสตร์ ผมชื่นชมสิ่งที่เขาทำให้กับโลกและมวลมนุษย์…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image