คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์ : ดวงอาทิตย์มีอะไรน่าสนใจบ้าง (2)

ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์พบว่าดวงอาทิตย์มีอายุประมาณ 4,600 ล้านปี มวลแทบทั้งหมดของดวงอาทิตย์เป็นแก๊สไฮโดรเจนที่เกาะกลุ่มกันด้วยแรงโน้มถ่วงมหาศาล จนกระทั่งแก๊สเหล่านั้นมีความดันและอุณหภูมิสูงพอจะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่ใจกลางซึ่งปลดปล่อยพลังงานออกมาโดยรอบอย่างต่อเนื่องยาวนาน

การสังเกตผิวดวงอาทิตย์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งแผ่นกรองแสงแบบไฮโดรเจนแอลฟา

เราจะสามารถสังเกตเห็นพื้นผิวดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โครงสร้างดังกล่าวเรียกว่า กรานูล (Granule) ซึ่งเกิดจากการพาความร้อนในชั้นที่ลึกลงไปจากผิวดวงอาทิตย์ ทำให้ผิวของดวงอาทิตย์มีลักษณะคล้ายกับกาแฟร้อนๆ ที่มีการไหลวนขึ้นลงของกาแฟอยู่ตลอดเวลา

Advertisement

 

เหนือชั้นโฟสโตสเฟียร์ขึ้นมาเล็กน้อย มีชั้นบรรยากาศเรียกว่า โครโมสเฟียร์ (chromosphere) สามารถสังเกตเห็นได้เมื่อเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่มาบังแสงสว่างของดวงอาทิตย์จะทำให้เราจะเห็นสีชมพูของชั้นโครโมสเฟียร์ปรากฏอยู่เหนือชั้นโฟโตสเฟียร์

Advertisement

การสังเกตโครโมสเฟียร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ติดตั้งแผ่นกรองแสงแบบไฮโดรเจนแอลฟา

เราสามารถสังเกตเห็นโครงสร้างที่เรียกว่า ฟิลาเมนต์ (filament) ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นทึบพาดผ่านดวงอาทิตย์ และ สปิคุล (spicule) ซึ่งมีลักษณะเหมือนเปลวไฟเล็กๆ ปรากฏขึ้นที่ขอบดวงอาทิตย์ราว 5-15 นาที ก็หายไป บางครั้งเราอาจสังเกตเห็น โพรมิเนนซ์ (prominence) ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่พุ่งออกมาจากจากผิวดวงอาทิตย์ ขึ้นไปถึงบรรยากาศชั้นบนสุดของดวงอาทิตย์มักมีลักษณะเป็นวงปิด (Loop) (จริงๆ แล้วฟิลาเมนต์ก็คือโพรมิเนนซ์ที่ถูกมองจากมุมด้านบนนั่นเอง)

 

ฟิลาเมนต์พาดผ่านบริเวณซีกใต้ของดวงอาทิตย์

 

สปิคุลปรากฏที่ขอบดวงอาทิตย์

บรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์เรียกว่าโคโรนา (Corona)

เราสามารถสังเกตเห็นโคโรนาได้ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง โดยจะบรรยากาศชั้นนี้จะมีลักษณะเป็นเส้นเหยียดยาวออกจากดวงอาทิตย์โดยรอบมากกว่า 20 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ แม้บรรยากาศชั้นโคโรนาจะสว่างน้อยกว่าโฟโตสเฟียร์ แต่มันมีอุณหภูมิสูงนับล้านเคลวินด้วยกลไกที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัด

ธรรมชาติของบรรยากาศชั้นโคโรนานั้นน่าสนใจมาก เพราะมันเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ลมสุริยะ (Solar Wind) ซึ่งเป็นกระแสอนุภาคมีประจุไฟฟ้าที่พุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์ปริมาณมหาศาล เมื่อลมสุริยะมีความรุนแรงในระดับพายุสุริยะ อาจส่งผลต่อระบบดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกได้

โพรมิเนนซ์ขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นมุมบนซ้ายของดวงอาทิตย์

องค์การนาซาจึงมีกำหนดการส่งยานอวกาศชื่อ โซลาร์โพรบพลัส (Solar Probe Plus) ไปศึกษาบรรยากาศชั้นโคโรนาในปี 2018

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image