ย้อนอดีต คืนชีวิต ‘ศาลาการเปรียญ วัดแก้วไพฑูรย์’ เรือนไม้อันวิเศษหนึ่งเดียวในสยาม

จิตรกรรมบนคอสอง หลังผ่านการอนุรักษ์

สำเร็จบริบูรณ์อย่างงดงามยิ่งสำหรับ “ศาลาการเปรียญ” วัดแก้วไพฑูรย์ หลังการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยความประณีตละเอียดลออสมถ้อยความ “เรือนไม้อันวิเศษ” จากปากคำของนักปราชญ์ด้านศิลปะ “น. ณ ปากน้ำ” ซึ่งโจษขานถึงฝีมือช่างไว้ในหนังสือศิลปกรรมในบางกอก ตอนหนึ่งว่า

“การเปรียญนี้ทำด้วยฝีมือช่างในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง ควรถือเป็นศิลปะอันสำคัญที่ต้องทะนุถนอม ช่วยกันรักษาไว้ให้ดีคงสภาพเดิมไว้ทุกอย่าง ต่อไปข้างหน้าคงจะไม่มีใครรู้จักเรือนไม้อันวิเศษเช่นนี้อีกแล้ว”

เช่นเดียวกับศิลปินแห่งชาติและอดีตอธิบดีกรมศิลปากรอย่าง พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ชาวบางขุนเทียนโดยกำเนิด ซึ่งมอบวลี “หนึ่งเดียวในสยาม” ให้ศาลาการเปรียญแห่งนี้ ตอกย้ำความล้ำค่าที่ไม่อาจหาสิ่งทดแทน

ย้อนเวลากลับไปกว่าร้อยปีก่อน ศาลาการเปรียญแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาที่ “วัดบางประทุนใน” ในย่านบางประทุนอันตั้งอยู่ใกล้ย่านข้าหลวงเดิมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างบางนางนอง โดดเด่นด้วยความวิจิตรบรรจงของฝีมือจำหลักไม้ที่สลักเสลาเรื่องราวของสุธนุชาดกบนฝาปะกน งดงามเป็นที่เลื่องลือ

Advertisement

รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นเรือนไทย ใต้ถุนสูงขนาด 7 ห้อง ก่อสร้างด้วยวิธีเข้าไม้แบบโบราณ หลังคาทรงจั่วลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องหางมน เครื่องลำยองประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ตามอย่างศิลปะไทยแบบประเพณี ผนังโดยรอบเป็นฝาไม้ปะกน จำหลักไม้ทั้งหลังด้วยลวดลายแฝงความหมายอันเป็นมงคลในวัฒนธรรมจีน ผสานความเชื่อแบบไทยๆ

(ซ้าย) ภาพถ่ายเก่า พ.ศ.2529 สะท้อนความทรุดโทรมของศาลาการเปรียญที่มีปัญหาจากน้ำท่วม จึงมีการถมดินจนเสมอพื้นที่อาคาร, (ขวา) สำเร็จบริบูรณ์หลังบูรณะนานเกือบ 5 ปี
จิตรกรรมบนเสาและคอสองลบเลือนตามกาลเวลา

พื้นที่ด้านล่างบริเวณมุมทั้งสองของกรอบหน้าต่าง สลักภาพชุด “สุธนุชาดก” จากปัญญาสชาดก แผ่นแรกจากมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ วนไปทางขวาแบบทวนเข็มนาฬิกา รวม 44 ช่อง

เนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระสุธนุ ผู้เชียวชาญศาสตร์การยิงธนู ต้องเผชิญอกุศลกรรมจากอดีตชาติที่เคยหยอกเย้าสามเณรด้วยการกระทุ่มน้ำเป็นคลื่น ซัดเรือจนล่ม ในชาติปัจจุบันจึงต้องพลัดพรากจากพระนางจิรัปภาผู้เป็นชายากลางมหาสมุทร สุดท้ายได้พบกันที่ศาลาโรงธรรมซึ่งมีภาพจิตกรรรมประดับภาพชีวิตตั้งแต่แรกพบ ครองรัก จนประสบเคราะห์กรรม จบเรื่องด้วยการกลับไปครองเมืองพร้อมชายาอย่างมีทศพิธราชธรรม

Advertisement

ครั้นเวลาผ่านไป สถาปัตยกรรมดังกล่าวได้ทรุดโทรมลงตามลำดับ ประกอบกับเสี่ยงน้ำท่วมหลายครั้งหลายคราจนต้องถมดินโดยรอบ ฝาไม้ที่ผุพังถูกนำสังกะสีมาปิดไว้ เสาไม้ถูกเปลี่ยนเป็นคอนกรีตในครั้งซ่อมแซมตั้งแต่ พ.ศ.2496 โดยยังทำหน้าที่อาคารที่ถูกใช้งานโดยชุมชนตลอดมา ทว่า ความเสียหายยังเกิดขึ้นไม่อาจหยุดยั้งจนลดทอน ปิดบังความงามสง่าลงไปอย่างน่าใจหาย

กระทั่งจดหมายฉบับหนึ่งในจำนวนหลายร้อยหลายพันฉบับที่ส่งถึงเครือ “มติชน” ถูกเปิดอ่านโดย ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ข้อความในนั้นเท้าความให้ไปเยือนวัดแก้วไพฑูรย์โดยระบุว่า ศาลาการเปรียญของ หลวงปู่บุญ หลังเก่าโทรมนัก ประกอบด้วยไม้แกะสลักแต่ละชิ้นไม่ซ้ำกันทั้งหลัง ทั้งยังท้าด้วยว่า พากลุ่มพวกไปดูหน่อยเถิด สมควรให้พังตามกาล หรือจะยื้อยุดไว้ตามควรแก่กรณี

สภาพภายในศาลาก่อนบูรณะ
ฝาปะกนจำหลักลายวิจิตรบรรจง ก่อนการบูรณะ

การลงพื้นที่และรวบรวมคณะทำงาน อีกทั้งนักปราชญ์ราชบัณฑิต นักวิชาการจึงเกิดขึ้น โดยมีแผนบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเก่าแก่แห่งนี้ให้กลับกลับมามีชีวิตดังเดิม ภายใต้โครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” ในวาระเข้าสู่ปีที่ 35 ของเครือมติชน

ครั้นมีการพิจารณาสภาพอันร่วงโรย อีกทั้งผิดเพี้ยนไปจากรูปแบบดั้งเดิม เนื่องจากมีการเทปูนรอบพื้นที่ตั้ง ทำให้ตัวศาลาซึ่งเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง กลายเป็นอาคารชั้นเดียว ลวดลายรดน้ำลบเลือน ภาพจำหลักไม้สุธนุชาดกสูญหายไปบางส่วน เสานับสิบต้นเริ่มผุกร่อน ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมอีกหลายจุดเสียหาย งบประมาณเบื้องต้นในการบูรณะที่ถูกคาดการณ์ไว้จึงตกราว 30 ล้านบาท

เมื่อครั้ง ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บ.มติชน จำกัด (มหาชน), พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น, รศ.สมใจ นิ่มเล็ก, โสมสุดา ลียะวณิช อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เยี่ยมชมศาลาการเปรียญเตรียมวางแผนการบูรณะ เมื่อ พ.ศ.2554

ตุลาคม 2555 มีการ “ทอดผ้าป่า” ขรรค์ชัย บุนปาน และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รวมกับเงินของทางวัดซึ่งชาวบ้านร่วมใจบริจาค พระครูวิมลรัตนาธาร หรือหลวงพ่อจรินทร์ กระต่ายแก้ว เจ้าอาวาส ก็แข็งขันผลักดันการชุบชีวิตโบราณสถานแห่งนี้อย่างเต็มความสามารถ

นอกจากนี้ มติชน ร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ ได้ประกาศเชิญชวนสมทบทุนเพื่อการดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลต่างๆ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากมายจนไม่อาจเอ่ยนามได้หมด

ประมุข บรรเจิดสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะโบราณสถาน นำทีมบูรณะโดยพยายามรักษาให้คงสภาพเดิม

รศ.สมใจ นิ่มเล็ก ราชบัณฑิตชาวบางขุนเทียนผู้ล่วงลับ, สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านศิลปวัฒนธรรมในเครือมติชน, โสมสุดา ลียะวณิช อดีตอธิบดีกรมศิลปากร, บุญยืน สวนชัง หัวหน้าช่างไทย และอีกหลายต่อหลายท่านร่วมให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ อย่างดียิ่ง

เมื่อทุกอย่างพร้อม ขั้นตอนแรกจึงเริ่มต้น นั่นคือการรื้อศาลาดังกล่าวรวมถึงอาคารฝั่งขวาออกทั้งหมด เพื่อขยับตัวอาคาร โดยมีจุดประสงค์ให้สามารถต่อเติมระเบียงสำหรับเดินชมภาพจำหลักได้โดยรอบ สร้างบันไดด้านข้างตามแบบเดิม ยกพื้นให้สูงขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมและความชื้นดังที่เคยประสบตลอดมา นำไม้ใหม่เข้าแทนที่ไม้ที่ผุพังเพื่อเสริมความมั่นคง เสาไม้นับสิบต้นยังคงใช้ของเดิม โดยซ่อมแซมบางส่วนที่เสียหาย พื้นที่ชั้นล่างทำเป็นห้องสำหรับใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม ส่วนลวดลายรดน้ำที่ลบเลือน ช่างฝีมือได้บรรจงวาดขึ้นตามแบบเก่าราวกับมีชีวิตและลมหายใจ

ระหว่างการบูรณะ ยกพื้นสูงแก้ปัญหาความชื้นและน้ำท่วม ทำระเบียงให้เดินชมภาพจำหลักได้รอบ

นับแต่วันแรก เมื่อสำรวจสภาพในวันที่ 11 มิถุนายน 2554 แล้วจัดพิธีบวงสรวงเพื่อเริ่มการบูรณะร่วมกับ กรมศิลปากร และชาวบ้านในท้องถิ่น เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดใช้งานโดยมีการทำบุญเมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560 พร้อมด้วยปี่พาทย์ท้องถิ่นโหมโรงเย็นและประลองเพลงอย่างครึกครื้น ล่าสุด ยังมีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้กลมกลืน อีกทั้งร่มรื่นเขียวขจีด้วยต้นไม้นานาพรรณ

ล่วงมาถึงวันนี้ ศาลาการเปรียญไม้จำหลักที่วัดแก้วไพฑูรย์ได้กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ดังเช่นที่เคยเป็นมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น และผู้ใฝ่ใจในงานศิลป์แบบโบราณ หลั่งไหลเดินทางมาศึกษาหาความรู้และซึมซับความอ่อนช้อย วิจิตรบรรจง

และนี่คืออีกงานศิลปกรรมอันเป็นรากเหง้าของชาวสยามที่จะยังคงอยู่ จากนี้สืบไปเมื่อหน้า

 

ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วย บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับไม้จำหลักเรื่องสุธนุชาดก ระหว่างการปฏิสังขรณ์
หลังบูรณะจนงดงามสมบูรณ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image