ลิ้มกอเหนี่ยว กับ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ‘ตระกูลลิ้ม’ พี่น้องจากเมืองจีน ในรัฐปตานี

ครอบครัวชาวจีนตระกูลลิ้ม (ในรัชสมัยพระเจ้าซื่อจง ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์เหม็ง) มีบุตรสองคน คนโตเป็นผู้ชายชื่อ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” ส่วนคนน้องเป็นผู้หญิงชื่อ “ลิ้มกอเหนี่ยว”

เมื่อถูกกล่าวหาใส่ร้ายว่าสมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกอพยพหลบภัย โดยอาศัยเรือ 30 กว่าลำมุ่งหน้าเกาะไต้หวัน และเกาะลูซอน (ฟิลิปปินส์ ขณะนั้นอยู่ใต้การปกครองของสเปน)

จากนั้นได้แล่นเรือผ่านเวียดนามและแวะพักที่อยุธยา จนในที่สุดลิ้มโต๊ะเคี่ยมและพวกก็ได้หนีร้อนมาพึ่งเย็นในแผ่นดินปตานี (รัฐอิสระไม่ขึ้นกับสยาม อยุธยา) เมื่อ พ.ศ. 2121

ต่อมาลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้เปลี่ยนรับนับถือศาสนาอิสลามและสมรสกับบุตรีขุนนางปตานี โดยได้ชื่อมุสลิมว่า ยะกู๊บ หรือ โต๊ะอาโฆ๊ะ (โต๊ะยะกู๊บ) แล้วได้รับความไว้วางใจเป็นหัวหน้าด่านศุลกากรประจำราชสำนักปตานี

Advertisement

ลูกหลานชาวมลายูเชื้อสายจีนตระกูลลิ้มโต๊ะเคี่ยมจำนวนมาก มีบทบาทสำคัญในปตานี เช่น เป็นอุละมาอฺ เป็นผู้นำศาสนา เป็นนักการค้า และเป็นนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงตราบจนปัจจุบัน

ฮวงซุ้ยเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ต.ตันหยงลุโละ อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี

เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นน้องสาวคนเดียวของลิ้มโต๊ะเคี่ยม นางได้ขออนุญาตมารดาเพื่อตามหาพี่ชายที่ลี้ภัยการเมืองจากเมืองจีน

นางพร้อมด้วยบรรดาญาติมิตรได้นำเรือออกเดินทางรอนแรมเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งถึงเขตเมืองปตานี นางได้แวะสอบถามชาวบ้าน ทำให้ทราบว่าพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม (ลิ้มเต้าเคียน) ยังมีชีวิตอยู่ มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สำคัญ นางได้ขอเข้าพบพี่ชายพร้อมกับเชิญชวนพี่ชายให้กลับไปเยี่ยมมารดาซึ่งกำลังป่วยหนักอยู่ที่เมืองจีน

Advertisement

ลิ้มโต๊ะเคี่ยม กล่าวกับน้องสาวว่าตัวเองไม่สามารถกลับเมืองจีนได้ เพราะยังติดคดีการเมืองกับทางการจีน ประกอบกับขณะนี้ตนและพรรคพวกผู้ติดตามได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามแล้ว ทำให้ลิ้มกอเหนี่ยวผู้เป็นน้องสาวผิดหวังและเสียใจมาก

ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดในพระราชวัง มีการแย่งชิงอำนาจ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเข้าร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องราชบัลลังก์ของปตานี ด้วยความเป็นห่วงพี่ชายเกรงว่าจะได้รับอันตราย ลิ้มกอเหนี่ยวจึงเสี่ยงชีวิตเข้าช่วยรบกับฝ่ายกบฏอย่างห้าวหาญ แต่ด้วยกำลังฝ่ายตรงข้ามที่มีมากกว่าทำให้นางสละชีวิตตัวเองด้วยการใช้ดาบกระทำอัตวินิบาตกรรมเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น

อีกตำนานหนึ่ง กล่าวว่าลิ้มกอเหนี่ยวน้อยใจพี่ชายที่ไม่ยอมทำตามที่ตนขอร้อง คือขอให้พี่ชายกลับไปหามารดาที่เมืองจีน จึงคิดจบชีวิตตนเองด้วยการผูกคอใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์

ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้นำศพน้องสาวไปฝังที่ฮวงซุ้ยชาวจีน ริมชายหาดตันหยงลุโละ ชาวบ้านเรียก “แญระจีนอโต๊ะกงแมะ” [หมู่ 2 (กือบงโต๊ะนะแด) ต. ตันหยงลุโละ อ. เมืองฯ จ. ปัตตานี]

เรื่องราวของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจึงเป็นที่กล่าวขานกันอย่างแพร่หลายในหมู่สังคมชาวจีนในปตานี และเป็นที่มาของการเฉลิมฉลองงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นประจำ หลังวันตรุษจีน 15 วันของทุกปี (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ตามจันทรคติของจีน หรือตรงกับวันเพ็ญ เดือน 3 ตามจันทรคติของไทย)

ปัจจุบันศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวหรือศาลเจ้าเล่งจูเกียง ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อ.เมืองฯ จ. ปัตตานี

มัสญิดกรือเซะ ต.ตันหยงลุโละ อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี

เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

มัสญิดกรือเซะ มีชื่อเต็มว่า “มัสญิดสุลต่านมุซ็อฟฟัรฺ ชาฮฺ เป็นมัสญิดหลังแรกของเอเชียอาคเนย์ที่สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2057 ตามสถาปัตยกรรมแบบตะวันออกกลาง ด้วยอิฐแดง (ผลิตจากหมู่บ้านตาระบาตอ ต. กะมิยอ อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี)

โดยใช้เปลือกหอยผสมกับข้าวเหนียวดำตำละเอียด แล้วนำมาคลุกเคล้ากับไข่ขาวและน้ำตาลเหลวเพื่อใช้ก่ออิฐ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในยุคนั้น

ถือเป็นมัสญิดประจำราชสำนักของปตานี เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ เป็นศูนย์กลางกิจการด้านศาสนา รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้วิชาการด้านต่างๆ ของศาสนาอิสลาม

สภาพรอยปรักหักพังที่ปรากฏอยู่บนโดมของมัสญิดกรือเซะในปัจจุบัน เป็นผลพวงมาจากสงครามระหว่างปตานีกับสยาม ในเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2329

[คำว่า “กรือเซะ” เป็นภาษามลายู หมายถึง เม็ดทรายที่มีสีขาวสะอาดดุจดั่งสีขาวของไข่มุก]

ปืนใหญ่ศรีปตานี หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ

ในรัชสมัยของสุลต่านอิสมาอีล ชาฮฺ ปฐมกษัตริย์ของปตานี พระองค์ทรงได้รับการถวายเครื่องราชบรรณาการกระสุนปืนใหญ่จากพ่อค้าชาวจีน เพื่อขอพระบรมราชานุญาตเปิดสถานีการค้าในปตานี หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีบัญชาให้มุขมนตรีจัดหาช่างและทองเหลือง เพื่อหล่อปืนใหญ่ในเมืองปตานีเป็นครั้งแรก

สถานที่หล่อปืนใหญ่เดิมเรียกว่า หมู่บ้านตือมาฆอ (หมู่บ้านทองเหลือง) ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานของพระราชวังกรือเซะ ซึ่งเปรียบเสมือนโรงงานหล่อปืนใหญ่ของปตานีโดยมีช่างหล่อปืนใหญ่ ชื่ออับดุซซอมัด อัรรูมีย์ ชาวปตานีเชื้อสายตุรกี

[สถานที่หล่อปืนใหญ่ อยู่หมู่ที่ 2 ต. บาราโหม อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี (ตรงข้ามโรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา)]

ต่อมาในรัชสมัยกษัตรีย์ฮีเญา บินติ อัล-มัรฮูม สุลต่านมันศูรฺ ชาฮฺ มีบันทึกระบุว่า โชกุน โอกุกาวา อิยะซุ จากญี่ปุ่นได้ส่งตัวแทนมาขอซื้อปืนใหญ่ที่ปตานี บันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงความรู้ ความสามารถและภูมิปัญญาด้านวิศวกรรมศาสตร์และความเจริญรุ่งเรืองด้านการพาณิชย์ของปตานีในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

ปืนใหญ่เป็นอนุสรณ์คู่บ้านคู่เมืองของปตานี และปัจจุบันเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดปัตตานี

จิตรกรรมร่วมสมัยแสดงวิถีชีวิตมลายูปตานี

ลำดับเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์

พ.ศ. 743 จักรพรรดิ Marcus Aurelius แห่งจักรวรรดิโรมัน ทรงสั่งซื้อสินค้าจากลังกาสุกะ เช่น การบูร ไม้จันทน์ กานพลู ลูกจันทน์เทศและขิง

พ.ศ. 1318 ลังกาสุกะนับถือศาสนาพุทธ

พ.ศ. 1693 ศาสนาอิสลามมีบทบาทสำคัญในดินแดนลังกาสุกะ

พ.ศ. 1948 แม่ทัพเรือชาวจีนมุสลิมชื่อ เจิ้งเหอ เยือนลังกาสุกะ

พ.ศ. 2043 (ประมาณ) กำเนิดราชอาณาจักรปตานี ดารุสสลาม

พ.ศ. 2060 อับดุซซอมัด อัรรูมี ชาวกรือเซะ เป็นช่างหล่อปืนใหญ่ 3 กระบอกชื่อ ศรีปตานี, ศรีนัครี และศรีมหาเลลา

พ.ศ. 2073 สุลต่านมุซ็อฟฟัรฺ ชาฮฺ ทรงสร้างมัสยิดกรือเซะและมัสยิดดาโต๊ะ

พ.ศ. 2092 สุลต่านมุซ็อฟฟัรฺ ชาฮฺ ทรงประทับ “เรือกอและ” หรือ “เรือย่าหยับ” ในการเสด็จทางชลมารคเยือนอยุธยา

พ.ศ. 2184 กษัตรีย์กูนิง ทรงเสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยา เพื่อฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับสยามประเทศ

พ.ศ. 2329 ปตานีอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม

ย้อนอ่าน : มลายู อยู่ก่อนไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image