โกรธได้ วิพากษ์ได้ ไม่ต้องใช้ ‘อำนาจรัฐ’ ตัดจบวิวาทะ ‘พระพุทธอุลตร้าแมน’

โหมแรงเล่นใหญ่ประหนึ่งไฟลามทุ่งลาเวนเดอร์ หนำซ้ำดูทรงคล้ายจะไม่ยุติง่ายๆ แต่สุดท้ายพลิกล็อกกันน่าดูถล่มทลาย ตัดจบแบบงงๆ ให้ได้ยิ้มมุมปาก สำหรับประเด็นฮอตกึ่งพุทธกาลในแดนไทยอย่างกรณี “พระพุทธอุลตร้าแมน” บนผืนผ้าใบที่ไม่ใช่แค่การถกเถียงกันอย่างดุเดือด ทว่า ขยับขยายกลายเป็นเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีโดยกลุ่มชาวพุทธผู้ปักธงพิทักษ์พระพุทธศาสนาและภาพแทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยถูกพลังศรัทธาออกฤทธิ์ใส่ถ้วนทั่ว ตั้งแต่นักศึกษาสาวครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาผู้จรดฝีแปรง จนถึงศิลปินใหญ่ อย่าง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ร่วมด้วยผู้ให้สัมภาษณ์เชิงหนุน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีการถอนแจ้งความด้วยเหตุผลที่ว่าบุคคลเหล่านี้คือเครื่องมือที่ถูกกระทำ แต่แจ้งความบุคคลอื่นเพิ่มเติม 2 รายในประเด็นลิขสิทธิ์ “อุลตร้าแมน” นอกจากนี้ กลุ่มชาวพุทธดังกล่าวยังแง้มว่าในภาพเจ้าปัญหามีการสังเกตพบ “สัญลักษณ์” บางประการอันลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนสุดขีด

การถอนแจ้งความนี่ เกิดขึ้นหลังปรากฏการณ์ที่ผู้ควักกระเป๋าซื้องานศิลป์ชุดนั้นไปก่อนเกิดมาม่าชามใหญ่ก็ออกมาโพสต์ประกาศกร้าว ไม่ยอม! หากจะมีการนำภาพไปเผาทำลาย พ่อค้าขายหมูนาม ปกรณ์ พรชีวางกูร นำขบวนงัดกลยุทธ์เปิดประมูลภาพเพื่อการกุศลที่สุดท้ายได้เงินไปเบาๆ รวม 2.6 ล้าน จากที่ซื้อมาภาพละ 4,500 บาท เตรียมซื้อเครื่องช่วยหายใจพร้อมเซตเครื่องสำรองไฟมอบโรงพยาบาลด่านขุนทดบริจาคในชื่อนักศึกษาและพ่อแม่ อีกส่วนมอบเป็นทุนให้คนวาดและครอบครัวชื่นใจ ที่เหลือซื้อขนมแจกเด็กในโรงเรียนที่ขาดแคลน

พระพุทธอุลตร้าแมน จึงกลายเป็น “ฮีโร่” ขึ้นมาจริงๆ เสียอย่างนั้น

ย้อนอ่าน : เมื่อศิลปะไต่เส้นศรัทธา จาก’ภิกษุสันดานกา’ ถึง’พระพุทธอุลตร้าแมน’

Advertisement

แน่นอนว่า เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกวิพากษ์หนักอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งตั้งมั่นปกป้องความดีงามในนิยามของตนเองโดยแจกคดีให้คนเห็นต่าง คนอีกกลุ่มกลับสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่ชีวิตจริงของเพื่อนมนุษย์

การโต้กลับไปมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้านหนึ่งถูกตราหน้าว่า “สร้างความแตกแยก” อีกด้านหนึ่งคือการที่สังคมได้ย้อนหลังไปเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ท่ามกลางสงครามในสนามรบทางความคิด

รูปเคารพหรืองานศิลปะ? เหตุ ‘ดราม่า’ เพราะสถานะ ‘เหลื่อมซ้อน’

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจนี้ ทำเอาผู้เชี่ยวชาญทั้งศิลปะในแนวประเพณี อย่าง รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และ อ.ธนาวิ โชติประดิษฐ นักวิชาการรุ่นใหม่ผู้สันทัดในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย ออกมาอัดคลิปเผยแพร่ในนามภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

Advertisement

ในตอนหนึ่ง มีประเด็นตรงเป้าที่ฟังแล้วเข้าใจได้โดยง่าย ไม่ต้องปีนกะไดเปิดอักขราภิธานศัพท์ โดย ธนาวิ บอกว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่งานศิลปะถูกทักท้วงโดยคนในสังคม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะทุกสังคมมีสิ่งที่อ่อนไหว สำหรับประเทศไทย กรณีที่เกิดขึ้นบ่อยคือเมื่อมีศิลปินสักคนหนึ่งที่ทำงานศิลปะร่วมสมัยโดยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในรูปแบบที่คนทั่วไปไม่ได้คุ้นเคยอย่าง “รูปเคารพ” หรือจิตรกรรมในวัดวาอาราม ก็มักพาให้เกิดข้อถกเถียงโดยระดับความร้ายแรงแตกต่างกันไป แต่ครั้งนี้ดูรุนแรงมาก อาจเพราะเป็นยุคโซเชียลฯที่คนมีส่วนร่วมได้ แสดงความเห็นได้ สรุปคือ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่รุนแรงมากขึ้นอย่างมี “นัยสำคัญ”

“พระพุทธรูปที่เป็นพุทธศิลป์ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นรูปสมมุติที่แทนพระพุทธเจ้าหรือหลักธรรมในฐานะรูปเคารพ เมื่อออกจากบริบทแวดล้อมที่เคยอยู่ เช่น ในศาสนสถาน ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ มิติของการจัดแสดง ก็มีสถานะอื่นที่ซ้อนทับเข้ามา นั่นคือการเป็นงานศิลปะ คือรูปเคารพมี 2 สถานะในตัวเองได้อยู่แล้ว

พุทธศิลป์จำนวนมากที่เป็นงานศิลปะร่วมสมัย ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นรูปเคารพตั้งแต่แรก ถึงแม้ว่างานเหล่านั้นจะได้แรงบันดาลใจจากศาสนาก็ตาม ไม่ว่าจะในแง่ของแรงบันดาลใจเชิงบวก คือ ต้องการนำเสนอความศัทธา หรือต้องการวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งการล้อเลียน

ดังนั้น การจะพูดถึงเรื่องนี้ ต้องตระหนักว่าเรากำลังพูดถึงของที่มีสถานัหลายอย่างซ้อนทับอยู่ซึ่งบางครั้งยากที่จะแยกออก

ดราม่าที่เกิดขึ้นก็เพราะสถานะที่เหลื่อมกันนี่แหละ เลยทำให้เกิดความไม่พอใจกันขึ้นมาในการเห็นสิ่งที่ไม่ได้คุ้นเคยมากนัก ถ้าคุณเทียบกับคนในวงการศิลปะร่วมสมัยที่ดูอะไรเหล่านี้ตลอดเวลา หรือมากกว่านี้อีก เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติมากๆ”

ส่วนประเด็นเสรีภาพของศิลปิน ธนาวิมองว่า เวลาที่พูดถึงเสรีภาพ ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรก็ได้แล้ว “ลอยตัว” แต่ศิลปินก็ต้องรู้ว่ามีสิทธิได้รับผลสะท้อนที่จะกลับมา

“ในขณะที่เราดีเฟนต์ว่าศิลปะต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ไม่ว่าจะอยากยกย่องพุทธศาสนา อยากยกย่องพระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่ในสายตาของเด็กว่ามีอะไรบางอย่างคล้ายอุลตร้าแมน หรืออยากวิพากษ์วิจารณ์ ล้อเลียน เหล่านี้ทำได้ทั้งหมด แต่เขาต้องรู้ว่ามีสิทธิที่จะได้รับผลสะท้อนกลับมาในรูปแบบที่อาจไม่พึงปรารถนา คำด่าทอที่อาจหยาบคายมากๆ”

มีสิทธิโกรธ มีสิทธิด่า แต่อย่าใช้ ‘อำนาจรัฐ’

วิวาทะที่ว่านี้ หากย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นจะมองเห็นสิ่งสำคัญบางอย่างที่ดูเหมือนมีส่วนกระพือความเข้มข้นของภาพเหตุการณ์ กระตุ้นความเร็วแรงของอัตราการเต้นของหัวใจในกลุ่มเห็นต่าง นั่นคือ “อำนาจรัฐ” ที่เข้ามาเอี่ยว กลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญไม่ว่าจะมีเจตนาใด และจงใจหรือไม่ก็ตาม ทั้งการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพานักศึกษาเข้าขมาเจ้าคณะจังหวัด ซ้ำเล็งออกมาตรการควบคุมไม่ให้เกิดซ้ำ จนถึงการที่กลุ่มชาวพุทธเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ประเด็นนี้ ธนาวิ ตั้งคำถามว่า อำนาจรัฐเกี่ยวอะไร? และเมื่ออำนาจรัฐ “เทกไซด์” จึงเป็นสนามที่ไม่แฟร์

“ชาวพุทธที่ไม่เห็นด้วย มีสิทธิโกรธ มีสิทธิด่า ในขณะเดียวกัน คนอีกกลุ่มที่ไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกับคุณ คือรู้สึกว่าภาพสวยดี รู้สึกว่าต้องทำได้ ไม่เสียหาย เขามีสิทธิโต้กลับเช่นกัน พูดอย่างบ้านๆ คือ เถียงกันไป ด่ากันไป ต้องปล่อย แต่มีความจำเป็นอย่างไรที่อำนาจรัฐต้องเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งในกรณีนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่คนทั่วๆ ไป ที่เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ภาพ ซึ่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่ถึงจุดหนึ่ง มันมีสิ่งที่ใหญ่กว่าเราๆ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยไปเทกไซด์ข้างใดข้างหนึ่ง จึงกลายเป็นสนามที่ไม่แฟร์ ในเมื่อยังเป็นแค่การวิจารณ์โดยความเห็นที่ไม่ตรงกัน ไม่จำเป็นต้องไปถึงจุดนั้น ถามว่าอำนาจรัฐควรเข้ามาตอนไหน คือเมื่อมีคนเอาปืนไปยิงหลังคาบ้านของศิลปิน หรือในทางกลับกันถ้าศิลปินสักคนบอกว่าฉันจะเผาบ้านของคนนี้ แล้วบอกว่านั่นคืองานศิลปะ โดยเจ้าของบ้านไมได้รู้อะไรด้วย นั่นคือตำรวจต้องเข้ามาจัดการ

ตราบใดที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในเรื่องกายภาพ ไม่ว่าจะร่างกาย ทรัพย์สิน ในลักษณะที่ไปละเมิดในระดับนั้น ก็ปล่อยให้เถียงกันไป

ในโลกตะวันตก ดราม่าแบบนี้ก็มี อย่างศิลปินที่วาดพระเจ้าเป็นคนผิวสี เป็นผู้หญิง คนก็ออกมาประท้วง ด่าทอ เมื่อไม่กี่วันนี้เอง พิพิธภัณฑ์ในเนเธอร์แลนด์ที่จัดแสดงงานดีไซน์จากยุคนาซีเพื่อเป็นการศึกษาว่างานดีไซน์ยุคนั้นเป็นอย่างไร ปรากฏว่ามีกลุ่มต้านนาซีไปประท้วง โดยมองว่าเสี่ยงที่จะทำให้คนชื่นชมนาซี

แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ ไม่เหมือนเราตรงไหน คือตรงที่สังคมมีความขัดแย้งก็ปล่อยให้วิพากษ์วิจารณ์กันไป รัฐไม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้ง

ความขัดแย้งนี้ควรจบนานแล้ว ไม่เข้าใจทำไมยาวนานขนาดนี้ คำถามคือ ขอโทษแล้วยังไม่พอ แล้วต้องยังไงอีก มองว่า มันต้องจบแค่การถกเถียง ต้องไม่เลยไปถึงความรุนแรงด้านอื่นๆ ทั้งฟ้องร้อง ทั้งจะเอารูปมาทำลาย ทำไมคนที่ซื้อรูปมาโดยสุจริตต้องยอมให้รูปถูกทำลายเพื่อตามใจคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ใช่ตัวแทนของคนที่นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด ไม่มีใครเป็นตัวแทนของใครทั้งหมดอยู่แล้ว มีคนที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากที่ไม่ได้มีปัญหากับภาพนี้”

ปรับเปลี่ยนตามสมัย ‘จินตนาการ’ ในพระพุทธเจ้า

ความเห็นข้างต้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ผู้กล้าหาญออกมาแสดงความเห็นเป็นคนแรกๆ ตั้งแต่ดราม่ายังไม่ลุกลามร้อนแรงถึงเพียงนี้

“ไม่น่าถึงขั้นที่ต้องไปฟ้องร้อง” คือความเห็นของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ซึ่งมองว่า ศิลปินต้องมีอิสระในการสร้างสรรค์ ส่วนพุทธศาสนิกชนก็มีสิทธิปกป้องความเชื่อของตนในส่วนที่รู้สึกว่าผิดไปจากระเบียบแบบแผนซึ่งเชื่อต่อๆ กันมา ประเด็นคือ สิทธิออกมาประท้วง แสดงความเห็นต่าง น่าจะเป็นไปในเหตุผล การค่อยๆ อธิบายในมุมมองของตัวเองคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่น่าถึงขั้นฟ้องร้อง

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเทียบเคียงสถานการณ์ในวันนี้

“พระพุทธรูปไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพ แต่เพิ่งมีหลังปรินิพพาน 500-600 ปี ดังนั้น จินตนาการถึงพระพุทธเจ้าของแต่ละกลุ่ม แต่ละเวลา จึงไม่เหมือนกัน พูดง่ายๆ คือในเชิงวิวัฒนาการ การสร้างสรรค์พระพุทธรูปใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องปกติ

อย่างพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ทรงเครื่องใหญ่อย่างกษัตริย์ที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานว่า ชาวศรีลังกาที่เดินทางมาอยุธยา มองเห็นก็ไม่เข้าใจ เพราะคติลังกา พระพุทธรูปต้องครองจีวร ไม่มีทางมาสวมมงกฎ หรือเครื่องทรงกษัตริย์เด็ดขาด พอมาเห็นที่อยุธยา ก็ไม่เข้าใจว่าเครื่องประดับแบบนี้จะไปใช้กับพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ในเมื่อพระพุทธเจ้าทรงสละหมดแล้ว


คนอยุธยาก็มีคติในการรองรับความเชื่อ โดยอธิบายว่านี่คือตอนที่พระพุทธเจ้าเนรมิตพระองค์ให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่มีทรัพย์ศฤงคาร มีพระราชอำนาจมากกว่ากษัตริย์องค์อื่นๆ ก็คือพญามหาชมพู เพื่อโปรดพญาองค์นี้ว่าอย่ามีทิฏฐิมาก ให้มาอยู่ในศีลในธรรม

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่ผมอยากยกขึ้นมาให้เห็นว่าความต่างทางความคิดในการสร้างสรรค์พระพุทธรูป ไม่ได้เกิดกับสังคมปัจจุบันเท่านั้น”

เขยิบลงมาอีกนิด สมัย ร.4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยมากมาย พระพุทธรูปก็เปลี่ยนรูปแบบไปตามการตั้งคำถามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“พระองค์ทรงมีคำถามว่า พระพุทธรูปของไทยที่มีมหาบุรุษลักษณะ ไม่ว่าจะกะโหลกพระเศียรที่นูนขึ้นมา และอะไรต่างๆ เป็นเรื่องจริงหรือ ทรงบอกด้วยซ้ำว่าบางลักษณะเป็นบุรุษโทษมากกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้นจะเห็นว่าการแสดงความเห็นต่อพระพุทธรูปเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต จึงเกิดการสร้างสรรค์ใหม่ในรัชกาลของพระองค์ คือไม่มีการสร้างให้พระเศียรนูน หรือแม้แต่ทำพระกรรณที่สั้นลง

อย่างไรก็ตาม ในอดีตเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผู้เปลี่ยนเป็นชนชั้นนำในสังคม แต่ปัจจุบันกลับกัน มองว่าการออกแบบพระพุทธรูปใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติ แต่จะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งไม่รุนแรงบานปลาย” รศ.ดร. รุ่งโรจน์ระบุ ก่อนชี้แนะแนวทางลดละวิวาทะในอนาคต

“เรื่องนี้ถ้าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก การที่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยุด เช่น ศิลปินห้ามสร้างแบบใหม่ หรือศาสนิกชนห้ามวิพาษ์วิจารณ์ มันไม่ใช่เรื่องถูก แต่ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในจุดของตัวเองได้แล้วไปด้วยกัน คือสิ่งที่น่าจะเป็น”

ครูอาจารย์สถานศึกษา ‘หายไปไหน’ ในสถานการณ์ร้อน?

ไม่ใช่แค่คำอธิบายความเป็นมาของวิวาทะ และแนวทางที่ควรจะเป็น ทว่า นักวิชาการและผู้คนในแวดวงการศึกษากลุ่มหนึ่งยังตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงว่าในนาทีนี้ อาจารย์ผู้เกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์ดังกล่าวหายไปไหน? เหตุใดจึงไม่ออกมาแสดงจุดยืนปกป้องนักศึกษาซึ่งสร้างผลงานออกมาภายใต้การดูแลของตัวเอง

กระทั่งต่อมามีข่าวว่า อาจารย์ที่ปรึกษาก็ถูกแจ้งความจากกลุ่มชาวพุทธด้วยในฐานะผู้สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการวาดภาพดังกล่าว โดยอธิการบดี มรภ.นครราชสีมา ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้ง พร้อมสู้คดีเต็มที่ด้วยฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นก็ขอโทษสังคม วอนทุกฝ่ายยุติเพื่อเห็นแก่อนาคตของนักศึกษา แต่ต่อไปขอให้รอบคอบ เพราะงานศิลปะที่เกี่ยวกับความเชื่ออาจไปก้าวล่วงจนกลายเป็นคดีความ แต่ส่วนตัวถ้า “คนที่รู้ตัวว่าผิด” ออกมาขอโทษก็น่าจะจบ

ความเห็นของอธิการบดีมีประเด็นน่าสนใจว่า สุดท้ายแล้ว นักศึกษาที่สร้างงานตกอยู่ในมุมที่เป็นผู้กระทำผิดใช่หรือไม่?

วงการ ‘พุทธไทย’ ใครทำเสื่อม?

ประเด็นผิด-ไม่ผิดนี้ ยังถูกสังคมโยงใยถึงความประพฤติที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ จนถึงขั้นร้ายแรงทั้งผู้นุ่งห่มไตรจีวร และฆราวาสผู้เกี่ยวข้องกับวงการผ้าเหลือง ไหนจะข่าว “ฉี่ม่วง” ยกวัด, ผลประโยชน์จาก “เงินทอน” ที่พุทธศาสนิกชนบางรายดูคล้ายจะมีเอี่ยว, พระสงฆ์โดดลงมาเป็นแกนนำม็อบการเมือง และอื่นๆ อีกมายที่ฉุดดึงให้ภาพลักษณ์บริสุทธิ์ของพุทธศาสนาดิ่งลงยิ่งกว่าจิตรกรรมร่วมสมัยที่ผู้วาดอธิบายชัดถึงแนวคิดที่ว่าตนมองพระพุทธเจ้าเป็น “ฮีโร่” เสมือนอุลตร้าแมนปล่อยลำแสงกู้โลก

ข่าวคราวแบบ “คาวๆ” ของวงการสงฆ์นี้ ไม่ใช่เพิ่งมี แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานและถูกสังคมวิพากษ์ตลอดมา ทั้งตำหนิติเตียนตามแนว “เถรวาท” อย่าง คอลัมน์ข้างวัด ในสยามรัฐรายวัน ของ จำรัส ดวงธิสาร นามปากกา ประสก และในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ด้วยนามปากกา คามหุโน

กระทั่งหลัง 14 ตุลา ประชาชาติรายวัน มีคอลัมน์วิพากษ์พระอย่างเข้มข้นแต่เป็นแนวทางตรงข้ามกับคอลัมน์ในค่ายสยามรัฐ กล่าวคือเป็นสาย “ก้าวหน้า” ในยุคนั้น จรดปากกาโดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ยังไม่นับ “ชานหมากนอกกระโถน” ของขรรค์ชัย บุนปาน ที่วิจารณ์ เสียดสี แวดวงผ้าเหลืองอย่างแสบสันต์

เช่นเดียวกับความขัดแย้งทางความคิดที่ถึงขั้นเกิดเหตุการณ์ “กรีดรูป” ของศิลปินดัง ถวัลย์ ดัชนี เมื่อ พ.ศ.2514 ซึ่งเจ้าตัวต้องการสื่อถึงทางเลือกระหว่างความดี ความชั่ว แต่ถูก “ตีความ” ผิดพลาด

“ถ้าเป็นสมัยก่อนเด็กผู้หญิงคนนี้อยู่ไม่ได้แล้ว น่าดีใจที่กระแสสังคมต่อต้านฝ่ายอนุรักษนิยมที่ออกมาด่าเด็ก ขนาดตอนถวัลย์ ดัชนี ที่โดนกรีดรูปยังต้องเงียบกริบ” คือความเห็นสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังอีกรายที่วิพากษ์วงการพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องด้วยความเคารพตลอดมา โดยอยู่ร่วมปรากฏการณ์สำคัญหลากช่วงสมัย

“นี่คือความก้าวหน้าทางพุทธศิลป์ ตั้งแต่ยุคที่ใช้ใบหน้าเทพอพอลโลของกรีกมาเป็นพระพุทธรูปของอินเดียยุคคันธารราฐ ซึ่งเป็นช่วงแรกที่เกิดพระพุทธรูป การวาดภาพพระพุทธอุลตร้าแมนไม่เห็นจะเป็นไร ซ้ำเป็นความก้าวหน้า ต้องให้รางวัลเหรีญทอง”

สุจิตต์ยังบอกว่า น่าดีใจที่กระแสสังคมเป็นไปในทางให้กำลังใจนักศึกษาเจ้าของผลงานมากกว่าการก่นด่า

สะท้อนความก้าวหน้าทางความคิดของสังคมไทยในพุทธศักราชนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image