แกะรอยสุนทรภู่ เช็กอิน ‘วัดเจ้าฟ้า’ เมื่อยาอายุวัฒนะเป็นเหตุ

เมืองโบราณอู่ตะเภา ยุคทวารวดี

“วัดเจ้าฟ้าอยู่ไหน เป็นคำถามแรกที่ผู้ฝักใฝ่วรรณคดี 50-60 ปีที่แล้ว พยายามค้นหา”

คือประโยคจากปาก สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน ที่ ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายประชาชื่นฟังแล้วพยักหน้า ด้วยเหตุว่า (อดีต) สองกุมารสยามต่างเคยเป็นนักเรียนหนุ่มผู้หลงใหลในการอ่านวรรณคดี ทั้งยังคลุกคลีในแวดวงดังกล่าวมาเนิ่นนาน

ถ้อยความข้างต้น ถูกเอ่ยขึ้นระหว่างถ่ายทำรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอนสุดท้ายของปี 2562 เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี ในตอน “สุนทรภู่ตามรอยพระเจ้าตากไปวัดเจ้าฟ้าของพระเจ้าเสือ เมืองอู่ตะเภา หนองแซง-หนองแค สระบุรี” ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรมติชนทีวีเช่นเคย

เปิดฉากที่เมืองอู่ตะเภา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ขรรค์ชัย-สุจิตต์ นั่งเก้าอี้รับลมริมคูน้ำของเมืองโบราณที่ชวนให้สงสัยว่าเกี่ยวอะไรกันกับการตามหา “วัดเจ้าฟ้า” ในนิราศวัดเจ้าฟ้า หนึ่งในวรรณคดีอมตะของไทย ที่ถูกเขียนขึ้นโดย “เณรหนูพัด” บุตรชายสุนทรภู่ ก่อนถูกเหมารวมเป็นผลงานของกวีเอกผู้เป็นพ่อ

Advertisement

และต่อไปนี้ คือคำตอบของคำถาม อีกทั้งข้อเสนอใหม่ที่คัดง้างข้อสันนิษฐานเก่าในเรื่องราวของวัดเจ้าฟ้า ซึ่งเดิมเชื่อว่าคือวัดเขาดิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่สุจิตต์ฟันธงว่า ไม่ใช่!

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องทริปสุดท้ายของปี 2562

เมืองอู่ตะเภา เจ้าฟ้าอากาศ คำสำคัญไขปมปริศนา

สุจิตต์บอกว่า เมืองโบราณอู่ตะเภาตั้งชื่อตามนิทานท้องถิ่นที่มีตัวเอกคือ “พระเจ้าอู่ตะเภา” เป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี บริเวณนี้เต็มไปด้วยชื่อบ้านนามเมืองที่เกี่ยวกับหนองน้ำ หรือแอ่งที่มีน้ำขังตลอดปี เช่น หนองแค และหนองแซง นับเป็นพื้นที่ซึ่งมีหนองน้ำมากที่สุด เป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวพันกับที่มาของชื่อจังหวัดสระบุรี ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีสระน้ำจำนวนมากก็เป็นได้ และชื่ออู่ตะเภาก็คือส่วนช่วยไขปริศนาที่ตั้งของ “วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า เนื้อหาเป็นบันทึกการเดินทางจากกรุงเทพถึงอยุธยา นมัสการหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง รวมถึงวัดใหญ่ชัยมงคล แล้วขึ้นไปยังเขตจังหวัดสระบุรีในปัจจุบัน เพื่อหายาอายุวัฒนะ

Advertisement

“ขณะนี้เราอยู่ในเขตเมืองโบราณอู่ตะภา ตำบลม่วงหวาน อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี นั่งบนขอบคูเมืองสมัยทวารวดีซึ่งถูกค้นจากภาพถ่ายทางอากาศโดย ศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ตั้งแต่ผมกับขรรค์ชัยยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดีชื่อเมืองนี้เป็นคำสำคัญที่จะไขความลับว่าวัดเจ้าฟ้า อยู่ที่ไหน” สุจิตต์เกริ่น ก่อนอธิบายลงลึกในรายละเอียด

“ชื่ออู่ตะเภามาจากนิทาน ที่มีตัวเองคือพระเจ้าแผ่นดินชื่อพระเจ้าอู่ตะเภา สุนทรภู่เป็นคนชอบเล่นแร่แปรธาตุ ตามหายาอายุวัฒนะและระบุไว้เองว่าได้ลายแทง เรื่องวัดเจ้าฟ้าจากเมืองเหนือ ซึ่งหมายถึงภาคกลางตอนบนไม่ใช่ล้านนา เล่าถึงพระเจ้าตะเภาทองไปเที่ยวบนเขา พบก้อนหินมหึมาสีขาว จึงสร้างวัดบนเขา ตั้งชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์”

นิราศวัดเจ้าฟ้า จากหอสมุดวชิรญาณ

ความในตอนหนึ่งที่เน้นย้ำความเชื่อเรื่องยาอายุวัฒนะ มีอยู่ว่า

“…ว่ายากินรูปงามอร่ามเรือง แม้ฟันหักจักงอกผมหงอกหาย แก่กลับกลายหนุ่มเนื้อนั้นเรื่อเหลือง”

ทริปนั้น สุนทรภู่และคณะรวม 9 คน ออกเดินทางในวันพฤหสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ.2381 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เวลาราว 1 สัปดาห์

“สุนทรภู่ 1 ลูกชาย 3 คือ เณรพัด เณรกลั่น นายตาบ ศิษย์ 3 คือนายจั่น นายมาก นายบุนนาค คนแจวเรือหัว-ท้าย คือ ตามา ตาแก้ว รวม 9 คน เพราะฉะนั้น อย่าไปเชื่อเรื่องสุนทรภู่ยากจน ร่อนเร่ เขาแค่ไม่รวยเท่ามหาเศรษฐีเท่านั้นเอง งานกวีนิพนธ์ทั้งหมดก่อนมีการพิมพ์ คือการแต่งถวายเจ้านายเป็นความดีความชอบ หรือไม่ก็แต่งอวดกันเองในหมู่ผู้ดีด้วยกัน ไม่ได้ขาย จะขายใคร คนอ่านไม่ออก แล้วจะพิมพ์ที่ไหน สำนักพิมพ์มติชนยังไม่เกิด” กล่าวสาระก่อนตบมุขตอนท้ายสไตล์สุจิตต์

จากนั้น แวะสู่ประเด็นเรื่องเมืองโบราณในย่านนี้ซึ่งมีมากมาย และไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเปลี่ยวเอกา

“เวลาเราพูดถึงเมืองโบราณ เรามักนึกถึงเมืองโดดๆ ไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อน แต่ความจริงแล้ว เมืองหนองแซง หรืออู่ตะภา อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองละโว้ ลพบุรีและเมืองดงละคร นครนายก ลึกเข้าไป มีเขาพระพุทธฉาย มีถ้ำพระโพธิสัตว์ สมัยทวารวดี ทิวเขาแถวนี้เป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น อยู่บนเส้นทางคมนาคม ระหว่างละโว้ ลพบุรี กับเมืองดงละคร นครนายก เมืองมโหสถ ปราจีนบุรี ลึกเข้าไป มีปราสาทสดกก็อกธม สระแก้ว ออกเขมร”

ภาพสลักที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ แหล่งโบราณคดีใกล้เคียง

กลับมาที่ประเด็นวัดเจ้าฟ้า สุจิตต์ยกหลักฐานจากบันทึกคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัดซึ่งระบุว่าพระเจ้าเสือ มีบารมีสูง เลื่องลือทุกสารทิศ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนนุต เวียงจันทน์ ร่มขาว ถวายลูกสาวให้ พระเจ้าเสือทรงรับไว้ เจ้าหญิงพระองค์นี้มีข้าทาสบริวารตามมา พระเจ้าเสือจึงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ “บ้านมะม่วงหวาน” ซึ่งก็คือแถบนี้ สะท้อนถึงความเกี่ยวพันของพื้นที่กับกษัตริย์อยุธยา คือ พระเจ้าเสือ ซึ่งสุจิตต์เชื่อว่าคือพระองค์เดียวกับ “เจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์” ดังจะกล่าวถึงต่อไป

ข้อสันนิษฐานใหม่ ‘วัดสนมไทย’ คือวัดเจ้าฟ้า

จากปมทิ้งท้ายไว้ที่เมืองอู่ตะเภา ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เดินทางต่อไปยังวัดสนมไทย บริเวณเขาพนมยงค์ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี อดีตสองกุมารสยามเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.2505 ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น เคยตั้งข้อสันนิษฐานว่าวัดเจ้าฟ้า คือวัดเขาดิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมา เปลื้อง ณ นคร และคณะนักปราชญ์สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ทำให้เชื่อกันเช่นนั้นตลอดมา อย่างไรก็ตาม จากภูมิศาสตร์ของวัดเขาดินและข้อความที่พรรณนาในนิราศขัดแย้งกัน ทั้งการที่ต้องรอนแรม ปีนโขดหิน และระยะเวลาการเดินทาง ส่วนตัวจึงเชื่อว่าแท้จริงแล้วน่าจะเป็นวัดในจังหวัดสระบุรีมากกว่า โดยก่อนหน้านี้ สุจิตต์เคยออกมาเสนอว่าวัดเจ้าฟ้าคือ วัดพระพุทธฉาย แต่ล่าสุด เมื่อออกสำรวจใหม่ และค้นคว้าหลักฐานต่างๆ ทั้งจากข้อความในวรรณคดีเรื่องดังกล่าว ประกอบกับร่องรอยอื่นๆ มีความเป็นไปได้ว่า วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ คือ วัดสนมไทยมากกว่า

ดังเช่นข้อความในนิราศท่อนที่ระบุว่า “พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูลสูง” ซึ่งใกล้เคียงกับสภาพภูมิประเทศบริเวณวัดแห่งนี้มากกว่า เนื่องจากไม่ได้อยู่บนภูเขา แต่อยู่ช่วงเนินหรือปลายเขาที่พื้นที่ยกสูงไม่มากนักและมีก้อนหินใหญ่น้อยมากมาย ที่โดดเด่นคือ หินขนาดใหญ่ 3 ก้อนเรียงกันที่ดูมีลักษณะพิเศษ ซึ่งในสมัยโบราณมักถูกเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า เจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ยังมีความหมายเชื่อมโยงกับ “พระเจ้าเสือ” แห่งกรุงศรีอยุธยา ยอมรับว่าที่ผ่านมาเคยมองข้ามวัดสนมไทย บนเขาพนมยงค์ไป แต่ไปให้ความสำคัญกับวัดพระพุทธฉาย เนื่องจากเป็น “แลนด์มาร์ก” ซึ่งเป็นที่รู้จักมานาน

คูน้ำสะอาดตาของเมืองอู่ตะเภา

ต่อจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์
เจ้าฟ้าอากาศ คือ ‘พระเจ้าเสือ’

“อากาศ คือท้องฟ้า นาถนรินทร์ คือที่พึ่งของมวลเทวดา ในคำให้การชาวกรุงเก่ากับคำให้การขุนหลวงหาวัด เรียกพระเจ้าเสือว่าพระศรีสุริเยนทร์ ซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ เจ้าฟ้าอากาศคือใคร ก็คือพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นผู้เป็นใหญ่แห่งท้องฟ้า นี่คือสิ่งที่ตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ แม้เป็นไปได้ว่าชื่ออาจพ้องกัน แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ บริเวณนี้ที่เรียกกันว่าเขาพนมยงค์ จริงๆ แล้วเดิมคือคำว่าพนมโยง หมายถึง เป็นพื้นที่เชื่อมต่อ หรือโยงกับเขาลูกใหญ่ ปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิ สมัยอยุธยาแสดงว่าเป็นที่รับรู้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในพระราชพงศาวดารบอกว่า พระเจ้าเสือเคยเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ทั้งหมดนี้ชี้ว่าเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์คือพระเจ้าเสือแน่นอน” คือคำอธิบายของสุจิตต์ ก่อนย้อนเชื่อมโยงกับข้อมูลดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า สุนทรภู่ตามหายาอายุวัฒนะ โดยเล่าถึงพระเจ้าตะเภาทองไปเที่ยวบนเขา พบก้อนหินมหึมาสีขาว จึงสร้างวัดบนเขา ตั้งชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ สอดคล้องกับภูมิศาสตร์วัดสนมไทย

เขาพนมยงค์ และภูมิประเทศเชิงเขาซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของ ‘วัดเจ้าฟ้า’ ในนิราศวัดเจ้าฟ้าตามข้อสันนิษฐานล่าสุดโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ

ไม่เพียงเท่านั้น จากการขุดค้นของกรมศิลปากร ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ให้เห็นว่าเคยมีวัดตั้งอยู่บนเขาพนมยงค์ ประกอบกับเส้นทางที่ปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า ใกล้เคียงกับเส้นทางพระเจ้าตากสิน บ่งชี้ว่าวัดเขาดินตั้งอยู่ในแถบนี้ไม่ใช่อยุธยา

ด้าน ขรรค์ชัย เล่าว่า ในช่วง พ.ศ.2525 หรือเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน เดินทางมาที่วัดสนมไทยเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อพบ “หลวงปู่วัย” ซึ่งช่วยรักษาอาการเจ็บปวดที่หลังให้ตนและชาวบ้านจำนวนมาก เป็นพระภิกษุชื่อดังที่ผู้คนให้ความเคารพมาก แต่ในขณะนั้นตนไม่ได้นึกถึงประเด็นเรื่องวัดเจ้าฟ้า การที่สุจิตต์นำหลักฐานต่างๆ มาเปิดเผยในครั้งนี้ นับเป็นการชำระประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยวรรณคดี ในทริปนี้ ก่อนเดินทางถึงจุดหมาย ขรรค์ชัยยังแวะอุดหนุนภัตตาคารของ “โรงแรมเกี่ยวอัน” จังหวัดสระบุรี ที่กำลังจะปิดตัวลงในสิ้นเดือนนี้หลังให้บริการประชาชนมานานถึงราว 80 ปี พบปะพูดคุยอย่างออกรสกับ สมบูรณ์ ชุมศักดิ์วินิจ ซึ่งคุ้นเคยกันมานาน รับประทานมื้อเที่ยงในเมนูคุ้นเคย

ขรรค์ชัย บุนปาน แวะ ‘เกี่ยวอัน’ โรงแรมในตำนาน รับประทานอาหารพร้อมพูดคุยกับ สมบูรณ์ ชุมศักดิ์วินิจ ที่เตรียมปิดกิจการสิ้นเดือนมกราคมนี้

ย้อนอ่าน : สมบูรณ์ ชุมศักดิ์วินิจ เตรียมปิดตำนาน 80 ปี โรงแรมเกี่ยวอัน ‘ผมสู้ไม่ไหวแล้ว’

เป็นทริปสุดท้ายส่งท้ายปี 2562 ที่ต้องร่วมกันขบคิดต่อไป ว่าข้อเสนอใหม่ๆ สดๆ ซิงๆ ของนักหนังสือพิมพ์ (เคย) หนุ่มทั้ง 2 ท่านจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ นี่คือเสน่ห์และสีสันของประวัติศาสตร์ และวรรณคดีที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งเสมือนหนึ่งแยกจากกันไม่ได้


 

‘นิราศ’ เล่มละ ‘สี่บาทถ้วน’
เปิดประวัติศาสตร์ (กวี) ร่วมสมัย
‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’

ไม่เพียงกวีเอกยุคเก่าที่ทิ้งไว้ซึ่งผลงานอมตะสืบมาจนถึงปัจจุสมัย

ทว่า อดีตนักศึกษา นามขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็เคยขีดเขียน “นิราศ” เป็นผลงานตีพิมพ์เล่มแรกในชีวิตของทั้งคู่ตั้งแต่ยังไม่โด่งดัง จึงมักเป็นเล่ม “ตกสำรวจ” จากการรวบรวมรายชื่อผลงานและในประวัติของบุคคลทั้ง 2

“นิราศเมืองนนท์” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

“นิราศมหาชัย” โดย ขรรค์ชัย บุนปาน

ถูกรวบรวมไว้ในปึกกระดาษขนาดพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มบาง ไม่ระบุจำนวนหน้า

พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง 1,000 เล่ม ราคาสี่บาทถ้วน สงวนลิขสิทธิ์ โรงพิมพ์ไทยแบบเรียน ถนนตีทอง พระนคร นายอาทร บรรณประดิษฐ์ ผู้พิมพ์โฆษณา พุทธศักราช 2507

หน้าปกรูปเจดีย์ทรงระฆัง ฝีมือ อังคาร กัลยาณพงศ์

คำนำ โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เจ้าของคอลัมน์ “บางกอกเกี้ยน” ในมติชนรายวัน หน้า 14

ข้อความตอนหนึ่งว่า

“เด็กทั้งสองเขียนนิราศขึ้น ด้วยความน้อยใจเป็นเหตุ เนื้อความในนิราศจะเป็นเบื้องต้น ฤาเบื้องปลายก็ตาม จึงกลั่นออกมาจากความน้อยใจทั้งสิ้นดุจกัน หากผู้ใหญ่อ่านพบแล้ว โปรดอย่าถือว่าเป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น ดูแคลนเลย อันความน้อยใจนั้น จงแก้ด้วยความเห็นใจเถิด

แม้นผู้ใหญ่ท่านใดจักเรียกไปสั่งสอนเป็นการส่วนตัวก็ขอได้เรียกโดยตรงเถิด..”

นิราศของเมืองนนท์ สำนวน สุจิตต์ เริ่มทอดน่องจาก “ท่าช้าง” เปิดด้วยอารมณ์รักๆ ใคร่ๆ ของวัยฉกรรจ์ ความตอนหนึ่งว่า

“สวาทหวังสังวาสปรารถนา จะแรมร้างห่างถวิลกลิ่นผกา ให้ห่วงหาโทรมซูบทั้งรูปกาย เมื่อนัดกันจันทร์เช้าขึ้นเก้าค่ำมะโรงกำหนดกาลประมาณหมาย ฉศกครบนพมาสมิคลาดคลาย ตรงท่าช้างทางชายเจ้าพระยา”

อ่านแล้วลองตัดภาพมายังรสชาติที่แตกต่างของกลอนหน้า 3 ฉบับทุกวันอาทิตย์ในมติชนรายวันของเจ้าตัวซึ่งคอการเมืองถูกใจนักหนา

ส่วนนิราศมหาชัย สำนวน ขรรค์ชัย นั้น ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่บทสุดท้าย ที่บุคคลผู้นี้จดจารไว้ราวกับพยากรณ์เส้นทางชีวิตของตังเองตั้งแต่เป็นเพียงเด็กหนุ่มคนหนึ่ง จนถึงวันนี้ที่นั่งเก้าอี้ผู้ก่อร่างสร้างอาณาจักรมติชน

“สองมือลูกต่างผกาบุปผาสวรรค์ บังคมคัลเคียมราบก้มกราบไหว้ แว่วเสียงหนึ่งจากแดนไกลแสนไกล มีสิ่งใดลำบากเมื่อพากเพียร?

เด็กคนนี้มีอะไรอีกหลายอย่าง จักต้องสร้างมโหฬารกว่างานเขียน ตราบใดที่ชะตาคนยังวนเวียน มันคงเปลี่ยนสิ่งถ่อยถ่อยคอยดูเอย”

จารไว้ ณ วันที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2507 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง ฉศก เป็นวันพระ จุลศักราช 1326 รัตนโกสินทร์ศก 183 ฯ

นี่คือ “ปฐมบท” แห่งการทอดน่องของสองหนุ่มในวันนั้น สู่สองผู้อาวุโสในวันนี้ พรุ่งนี้และวันต่อๆ ไป ตราบใดที่ชีวิตคือการเดินทาง และลมหายใจมีไว้ให้เรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image