‘ประชาธิปไตย’ ในโรคระบาด ส่องวรรณกรรม มองประวัติศาสตร์ อ่านโลก ‘หลังโควิด’

โรคห่า วัดสระเกศ และวิธีจัดการศพ ด้วยการวางให้แร้งกิน (ภาพจาก คอลัมน์ ภาพเก่าเล่าตำนาน เรื่อง ห่าลง ตายเยอะ เผาไม่ไหว ยกให้แร้งวัดสระเกศ โดย : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก)

หากพูดถึงโรคระบาด หลายคนมักนึกถึงสิ่งที่เรียกกันว่า ความตายสีดำ หรือ Black death ในยุคกลาง ทว่า คำคุ้นหูคุ้นตานี้ หมายความถึงอะไรกันแน่ ส่งผลอย่างไรต่อสังคมมนุษย์บ้าง เพราะ โควิด-19 ก็ถือเป็นไวรัสที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคระบาด ทั้งยังสร้างความหวาดผวาให้กับผู้คนอย่างไม่แบ่งแยกซีกโลก เชื้อชาติ ศาสนา และชนชั้น กระทั่งนักวิชาการและผู้มีองค์ความรู้ต่างออกมาคาดการณ์ทำนายอนาคตกันถึงขั้นมองว่า วิกฤตโรคระบาดหนนี้อาจตัดแบ่งโลกออกเป็น 2 ช่วง คือ “ยุคก่อนโควิด” และ “หลังโควิด” และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกพลันในทุกด้านของมนุษย์

ใครเล่าจะล่วงรู้อนาคตได้ เพราะแม้แต่หมอดู ยังทำนายอนาคตโดยอิงประสบการณ์ในอดีต ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า “ถ้า” การเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากอดีต จึงยังคงเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญในการอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ ในขณะที่หน้าต่างของชาติ อย่าง “วรรณกรรม” ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคมและยุคสมัยได้อย่างชัดแจ้งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ล่าสุด มีการพูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านเฟซบุ๊กไล์ฟเพจ “ศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มธ” นักวรรณกรรมที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์ยุคกลางศตวรรษที่ 14-15 อย่าง ดร.รวิตะวัน โสภณพนิช อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ รั้วเหลืองแดง จับไมค์ให้มุมมองต่อความตาย และโรคระบาดในยุคกลางตอนปลาย จนถึงยุคเริ่มต้นสมัยใหม่ของอังกฤษ (Early Modern) ว่า หากจะนิยามคำว่าความตายสีดำก็อาจกล่าวได้ว่า คือ การแพร่กระจายระบาดอย่างรวดเร็ว และรุนแรงของโรคกาฬโรค

โดยเคสแรกที่ปรากฏในอังกฤษ เกิดขึ้นที่เมือง Dorset ในปี 1348 จากนั้นช่วงหลังซัมเมอร์ในปีเดียวกันก็แพร่ระบาดไปถึงกรุงลอนดอน ต่อมาในปี 1349 ทั่วทั้งอังกฤษรวมถึงไอร์แลนด์ล้วนได้รับเชื้อนี้อย่างเท่าเทียม ทว่าเชื้อค่อยๆ หายไปในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน แต่ที่น่าสนใจคือหายไปเพราะ “อากาศหนาว” และกลับมาอีกทีในช่วง “อากาศร้อน” ซึ่งในปี 1361 กลับมาครั้งรุนแรงขนาดที่ว่าคร่าชีวิตประชากรในอังกฤษประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเขต Norwich ที่คนหายไปทั้งหมู่บ้าน (Plague village)

Advertisement

“โรคระบาดสมัยนั้นสามารถติดคนได้ทุกชนชั้น ด้วยลักษณะบ้านเรือนในยุคกลางที่ตั้งใกล้กัน เพราะคนยังไม่สามารถควบคุมภูมิทัศน์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อบ้านและสิ่งก่อสร้างอยู่ใกล้กัน ชนชั้นสูงและชนชั้นล่างจึงตายมากพอกัน ผลลัพธ์หรือ สิ่งเกิดขึ้นทันที คือ สงครามร้อยปี (The Hundred Years’ War) ระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสที่กำลังรบกัน เป็นอันต้องชะงัก เพราะคนตายไปมาก”

ย้อนอ่าน : ‘โรคระบาด’ ในประวัติศาสตร์ไทย เราผ่านพ้นมาได้อย่างไร?

อ่านการเมือง เรื่องภูมิทัศน์
สังคมหลัง ‘โรคระบาด’ ในอังกฤษ

ดร.รวิตะวันบอกว่า โรคระบาดทำให้ ภูมิทัศน์ เปลี่ยนไป (landscape) ทั้ง

Advertisement

1.ภูมิทัศน์ทางการเมือง (political landscape) เปลี่ยนในแง่ที่ว่าประชากรกว่า 80% (นับแต่ 1348-1361) หายไปจากอังกฤษ แรงงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลอย่างมากับชนชั้นแรงงานภาคการเกษตร ด้วยอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเกษตรและการสงคราม ด้านแรงงานภาคอุตสาหกรรมในครัวเรือน ทำไวน์ ชุดขนแกะ ทำเบียร์ ก็หายไปมาก แรงงานจึงเรียกค่าแรงได้ตามใจชอบ และมักจะย้ายงานไปหานายที่ให้เงินมากกว่า

ช่วงเวลานั้นยังมีการที่รัฐขึ้นภาษี ทำให้ชนชั้นกลาง จับมือกับชนชั้นล่าง มี Wat Tyler ผู้นำกบฏ ในปี 1381

เพื่อบอกว่าภาครัฐไม่สามารถขึ้นภาษีได้ แต่หลักใหญ่คือ การประท้วงครั้งนี้ทำให้เกิดคำว่า “ชาติ”

“คำว่าชาติ (nation) เป็นคำที่มีมานาน ซึ่งคนในยุคกลางก็ใช้อยู่ตลอดเวลาในงานเขียน ในอังกฤษมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน เป็นพวกฉัน และพวกแก (คนยิว) เนื่องจากมีทฤษฎีว่า โรคนี้เกิดจากการที่คนยิวเอายาพิษใส่ในบ่อน้ำ เกิดความรู้สึกต่อต้านคนยิว

ชุดของแพทย์ จะใส่สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมไว้ในปากนก เนื่องจากคนยุคกลางเชื่อว่าอากาศที่ไม่ดีเป็นส่วนหนึ่งของโรคระบาด

อีกประการ ที่ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวคือ ความรู้สึกที่ไม่อยากถูกกดขี่จากข้าราชการอีกต่อไป อยากรวมเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้คำว่า ‘อังกฤษ’ จึงมีการเข้าไปประท้วงกับกษัตริย์ริชาร์ด เพื่อขอยกเลิกการใช้ภาษี และขอเป็นข้าภายใต้กษัตริย์ริชาร์ดแต่เพียงผู้เดียว แต่การประท้วงจบลงด้วยการสั่งประหารผู้นำกบฎ กบฏจึงแตกกระสานซ่านเซ็น”

ชุดของแพทย์ จะใส่สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมไว้ในปากนก เนื่องจากคนยุคกลางเชื่อว่าอากาศที่ไม่ดีเป็นส่วนหนึ่งของโรคระบาด


2.ภูมิทัศน์ทางศาสนา
(Religions landscape) ในศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก มีการขาย “ใบไถ่บาป” อย่างเป็นเรื่องราว เพราะมีความคิดที่ว่าคนที่ยังอยู่สามารถซื้อใบไทยบาปให้คนที่ตายได้ ทำบาปเท่านี้ ต้องซื้อใบไถ่บาปในราคาเท่านี้ เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่สวรรค์ ยุคนี้ราคาใบไถ่บาปจึงสูงขึ้นมาก ผลคือโบสถ์ (Church) รวยขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งความรวยของโบสถ์ในยุคนี้นำไปสู่การปฏิรูปในยุคต่อมา แต่ในขณะเดียวกัน นักเขียนหลายคน เช่น Geoffrey Chaucer ก็ออกมาเขียนเสียดสีพวกขายใบไถ่บาป หรืออย่าง William Langland ผู้เขียน Pires Plowman ก็ออกมาเขียนด่าทอพระที่เอาเปรียบชาวบ้าน ในการหลอกลวงด้วยวาทกรรมสวยหรู

3.ภูมิทัศน์ด้านเสียงและกลิ่น (Sensory scapes) หากหลับตา และนึกถึงเมืองที่เต็มไปด้วยโรคระบาด คุณจินตนาการออกอย่างไร เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในหนังสือ “The Wonderfull Yeare” ของ Thomas Dekker พูดถึงโรคระบาดช่วงปลายศตวรรษที่ 16-17 ตอนต้น เขียนบรรยาย “ผัสสะ” ที่ได้รับเมื่อยืนอยู่กลางเมืองที่เต็มไปด้วยโรคระบาดไว้อย่างละเอียด ว่าการรับรู้ทั้ง 5 ของเขาเปลี่ยนไปทั้งหมด การมองเมือง มองโลก การได้ยิน รับกลิ่นรส และโสตทัศน์เปลี่ยนไป (soundscape) จากเมืองที่เต็มไปด้วยความร่าเริง สดใส ร้องเพลง คนทะเลาะกันในผับ ก็เต็มไปด้วยเสียงแม่ม่ายตบอก เพราะว่าสามีเสียชีวิต เด็กกำพร้าร้องไห้ เสียงคนมากมายร้องไห้โหยหวน รวมถึงความเงียบสงัดในยามค่ำคืนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ความเป็นเมืองหายไป นี่คือสิ่งเกิดขึ้นในกรุงลอนดอน

“ส่วนเรื่องกลิ่น (Smellscape) โรคระบาดทำให้เมืองเต็มไปด้วยซากศพ กลิ่นหนอง ในยุคนั้นจึงสมุนไพรเพื่อดับกลิ่น ‘บ้านไหนมีคนตาย’ จะใช้โรสแมรี่เผาเพื่อดับกลิ่นศพ กลิ่นในเมืองก็เปลี่ยนไปเป็นโรสแมรี่ กลิ่นดอกไม้ และสมุนไพรที่ให้ความหอมปะปนไปกับกลิ่นศพ แต่โรสแมรี่ก็ไม่สามารถกลบกลิ่นศพได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งย้ำเตือนให้คนรับรู้ว่าความตายอยู่ใกล้เราเพียงนิด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าจึงมีการพยายามถมบ่อน้ำ เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็น นำไปสู่การปรับภูมิทัศน์ของเมือง ปรับอากาศด้วยการเผาสมุนไพร รื้อผังเมือง ปรับระบบน้ำเสีย ถมที่ชุ่มน้ำให้เป็นพื้นที่แห้งเพื่อไม่ให้มีไอน้ำเสียลอยขึ้นมา สะท้อนว่า ทฤษฎีเกี่ยวกับกลิ่นสำคัญมากในยุคโรคระบาดนี้” ดร.รวิตะวันกล่าว

ภาครัฐ กับ มาตรการในอดีต

ในส่วนของรัฐสมัยนั้นมีความพยายามดูแลโรคระบาดอยู่บ้าง ดร.รวิตะวัน ยกตัวอย่าง อิตาลี ที่มีการตั้งเฮลท์คอร์ด (Health court) ประกอบด้วย หมอผ่าตัด ทนายความ พยาบาล ช่างตัดผม คนเดินม้า คนเดินเท้า สัปเหร่อ ฯลฯ โดยมีนโยบายคือ บ้านไหนที่มีคนตาย จะมีจดหมายไปแปะหน้าบ้าน และมีการซีลปิดบ้านนั้น โดยคนในบ้านจะถูกปิดให้ตาย

ด้าน อังกฤษ มีความคืบหน้าค่อนข้างช้า ช่วงศตวรรษที่ 15 มีเพียงการมอนิเตอร์เมืองที่ติดโรค เพื่อเตรียมการต้องอพยพ

“มาตรการในยุคนั้นคล้ายยุคนี้ คือ เก็บตัวในบ้าน (social distancing) ส่วนคนรวยจะหนีออกไปชนบทกันมาก แม้จะมีความเชื่อว่าหนีไปชนบทแล้วจะรอด แต่ยิ่งหนีออกไปกลับยิ่งไปตาย ชนบทมีโอกาสที่จะติดมากกว่าในเมืองในแง่ที่ว่า ผู้คนอาศัยอยู่รวมกัน ในพื้นที่แคบ เป็นเรื่องย้อนแย้งที่น่าสนใจ (paradoxical)”

โรคระบาด ลาม ‘สยาม’
ความท้าทายของทางการ สู่ ‘ทางรอด’ ของไทย

หากมองในบริบทประวัติศาสตร์ไทย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ รั้วแม่โดม หนึ่งในผู้ทำงานด้านวรรณกรรม มองว่า คำว่าโรคระบาด หรือโรคระบาทว์ มีการนิยามในแต่ละยุคสมัยต่างกัน เช่น ตาม พ.ร.บ.โรคระบาด ปี พ.ศ.2456 จะนับว่าโรคระบาดมี 3 โรคคือ “อหิวา กาฬโรค และไข้ทรพิษ” แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีการออก พ.ร.บ.ในปี 2477 คำว่า “โรคระบาด” เปลี่ยนเป็น “โรคติดต่อ” และมีโรคอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ คุดทะราด วัณโรค ไข้มาลาเรีย

“ในอดีตเริ่มกล่าวโรคระบาดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พบในบันทึกในจำนวนมาก เช่น บันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสบอกว่า กรุงศรีอยุธยามีโรคอะไรบ้าง แต่ที่มักมีการพูดกัน เช่น ยุคพระเจ้าอู่ทอง มีโรคห่าระบาด (โรคระบาดที่ทำให้สูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก) ซึ่งก็มีข้อถกเถียงว่าโรคห่าในตอนนั้นคือ โรคอะไรกันแน่ เพราะถูกมองว่าเป็นอหิวาตกโรค แต่บางส่วนมองว่าน่าจะเป็น ไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) มากกว่า เช่น ภาพยนตร์สุริโยไท กษัตริย์อยุธยาหลายพระองค์ป่วยเป็นไข้ทรพิษ เป็นแผลตามตัว เป็นต้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังมีไข้ทรพิษอยู่ มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก จนสมัยรัชกาลที่ 3 บุคคลสำคัญ อย่าง หมอบรัดเลย์ ได้มีการปลูกฝี ความน่ากลัวจึงลดลง แต่ไม่ได้หายไปจากสังคมไทยเสียทีเดียว”

ส่วนอีกโรคเกิดสมัยต้นรัตนโกสินทร์คือ อหิวาต์ อาชญาสิทธิ์บอกว่ายุคนั้นมีการระบาดใหญ่ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 ในปี 2363 คนล้มตายจำนวนมาก เกิดพิธีที่สยามด้วยเชื่อว่าจะทำให้โรคทุเลาได้คือ พิธีอาพาธพินาศ มีการยิงปืนใหญ่ ทำพิธีทางศาสนา และมีมาตรการให้คนอยู่บ้านเพื่อให้การแพร่ระบาดทุเลาลง แต่ก็กลับมาแพร่ระบาดอีกหลายครั้ง

“ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 4 และครั้นมาถึงรัชกาลที่ 5 ในบันทึกของรัชกาลที่ 5 บอกว่า พิธีอาพาธพินาศอาจช่วยได้ในทางจิตใจ แต่อาจจะไม่ใช่ช่วยให้โรคหายได้อย่างแท้จริง กอปรกับสมัยนั้นมีการเข้ามาของการแพทย์สมัยใหม่ ชุมชนที่อยู่ตามแม่น้ำลำคลองก็ย้ายมาอยู่บนบกมากขึ้น โรคจึงลดลง แต่คงอยู่ เพราะชาวบ้าน ยังไม่รู้วิธีดูแลสุขอนามัย” อาชญาสิทธิ์กล่าว

ท้ายที่สุด “อหิวาต์” แม้ไม่ได้หมดไปแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะจากที่รักษายากก็รักษาง่ายขึ้น มีการผลิตยาเพื่อป้องกันและรักษา มีโฆษณาว่าโรคนี้สามารถปราบได้โดยขนานต่างๆ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์

โฆษณา “ยารักษาอหิวาตกโรค” ปรากฏตามสื่อสิ่งพิมพ์ (ภาพจาก ศิลป์เสวนา ผ่าน Zoom ในยุคโควิดระบาด)

อย่างไรก็ดี ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้มีเพียง “อหิวาต์” แต่ยังเกิดโรคระบาดสำคัญครั้งใหญ่อย่าง “กาฬโรค” ในปี 2437 ทางสยามรู้ว่ามีโรคระบาดในฮ่องกง จึงเริ่มมีการป้องกันเรือที่มาจากแผ่นดินจีน มีด่านกักกันที่เกาะไผ่และเกาะพระแต่คุมไม่ได้ เพราะระบาดลามไปแล้วหลายแห่ง เริ่มมีการตั้งโรงพยาบาลกาฬโรค ช่วงกุมภาพันธ์ 2448 แต่ด้วยข่าวลือว่า แพทย์สุขาภิบาลจะจับคนที่รักษาไปฆ่าทิ้ง คนจึงไม่ให้ความร่วมมือ และโรคแพร่ก็ระบาดไปทั่ว กลายเป็นโรคสำคัญที่สร้างความวุ่นวาย ท้าทายการจัดการของทางการ โดยบุคคลสำคัญที่เข้ามามีบทบาท อย่าง นพ.ยอร์ช แมกฟาแลน เริ่มพิมพ์หนังสือตำราในการป้องกันรักษากาฬโรค กระทั่งปี 2453 สิ้นสุดสมัยรัชกาลที่ 5 กาฬโรคจึงสงบลง โดยหลังจากนั้นมีการพัฒนาทางการแพทย์เรื่อยมา

ความป่วยไข้ใน ‘วรรณกรรม’
อดีต-ปัจจุบัน กับ ปัญหาคงเดิม

จากนั้น “ไข้หวัดใหญ่” ระบาดในเมืองไทย (ปี 2461-2463) เป็นเวลาเดียวกันกับ ‘ไข้หวัดสเปน’ ระบาดในทวีปยุโรป อาชญาสิทธิ์ เล่าว่า ขณะนั้นสื่อสิ่งพิมพ์เริ่มให้ความสำคัญกับไข้หวัดมากขึ้น หนังสือพิมพ์ขายโฆษณายาเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ แต่อาการที่จะถึงขั้นเสียชีวิตได้คือ ‘อาการปอดอักเสบ’ คนจึงมีความสนใจในการป้องกันโรคปอด เกิดยาบำรุงรักษา ยาซ่อมปอด มีการผลิตตำรายาต่างๆ เช่น หลวงชาญวิธีเวช เขียนหนังสือว่าด้วยโรคหวัด วีธีป้องกัน อาการ และสาเหตุที่ทำให้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้นสังคมไทยเริ่มรู้จักกับ วัณโรค ซึ่งเป็นโรคที่ทำลายปอด ยิ่งส่งผลให้คนสนใจเรื่องปอดมากขึ้น ซึ่งอาชญาสิทธิ์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นักคิด นักเขียน นักประพันธ์ มักป่วยเป็นวัณโรค ทอดยาวมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างนักเขียนชื่อดัง ส. ธรรมยศ ผู้เขียน พระเจ้ากรุงสยาม ก็ป่วยในช่วงทศวรรษ 2490 ซึ่งสร้างความโดดเด่น จากการที่เขียนยังเขียนงานไม่หยุดหย่อนแม้ขณะตนป่วยด้วยวัณโรค ก็ยังเขียนงานกระทั่งเสียชีวิต หรือ อุดากร นักเรียนแพทย์ ที่ติดวัณโรค จึงหันมาเลือกเส้นทางนักประพันธ์ นำเสนอผลงานหลายชิ้นสะท้อนความรู้สึกของการป่วยเป็นวัณโรค โดยส่วนมากเป็นกลุ่มนักเขียน นักประพันธ์ทำงานที่บ้าน ไม่ได้อยู่กลางแจ้ง

นอกจากนี้ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิด ไข้มาลาเรีย มีคนติดและเสียชีวิตจำนวนมาก ยา “ควินิน” ที่ใช้รักษาเป็นของหายากและมีการกักตุนไว้ นำไปสู่การเล่าเรื่องในวรรณกรรม พูดถึงการที่คนได้รับผลกระทบจากการไม่มียารักษาวัณโรค เช่น “ใครกำหนด” ของ ศรีฟ้า ลดาวัลย์ ตัวละครยายของนางเอก เป็นมาลาเรียในช่วงระหว่างสงคราม ในขณะที่พ่อของพระเอกกักตุนยาไว้เพื่อขายโก่งราคา ซึ่งในตอนหลังพระเอกเข้ามาดูแลชีวิต ดีทุกอย่าง แต่ท้ายที่สุดเมื่อนางเอกรู้ว่าพ่อของพระเอกคือคนที่เป็นต้นเหตุกักตุนยา ทำให้ยายต้องตาย จึงกดความโกรธแค้น ส่วนโรคระบาดที่ปรากฏในวรรณกรรมฝรั่ง เช่น รักเมื่อคราวห่าลง (Love in the Time of Cholera) ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นต้น

นวนิยาย “ใครกำหนด” ของศรีฟ้า ลดาวัลย์ พูดถึงโรคระบาด “ไข้มาลาเรีย”

จะเห็นว่าโรคเกิดเป็นช่วงเวลา และจะซาลงไปตามการพัฒนาวิธีป้องกันและรักษาที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อบริบททั้งด้านประวัติศาสตร์ การให้คำนิยามคำว่าโรคระบาด การออกกฎหมาย และการมุ่งนำเสนอความรู้ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และนอกจากจะมีอิทธิพลด้านการเมือง และการสาธารณสุขแล้ว ยังมีอิทธิพลลามไปถึงงานวรรณกรรม อีกด้วย

อีกนัย อาจมองได้ว่า โรคระบาดในอดีตมีความเป็น “ประชาธิปไตย” มากกว่าในปัจจุบัน ค่อนข้างเท่าเทียม ไม่ขึ้นกับชนชั้นและสถานที่ มีการติดโรคพอกัน การรักษาเท่าเทียม ต่างกันประการเดียวคือ คนรวยสามารถซื้อใบไถ่บาปได้มากกว่า แต่ปัจจุบันชัดเจนว่า เกิดจากการเดินทางและติดต่อค้าขาย ผลกระทบมักเกิดกับคนจน อีกทั้งในสมัยโบราณยังถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีจำต้องเผชิญในฐานะตัวเปล่า แต่ปัจจุบันมีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ มีเทคโนโลยีการแพทย์ และการสื่อสาร ทั้งผู้คนยังมีสิทธิที่อยู่บ้านมากกว่า จึงอาจกล่าวได้ว่า โรคระบาดแบบโควิด-19 แทรกซึมลงไปทุกชนชั้น เพียงแต่ปัญหาคือแต่ละชนชั้นมีกำลังทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image